ถ้า Maslow ถูก


Abraham Maslow (1908-1970) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งเคยเสนอทฤษฎีบรรลือโลก Maslow's hierarchy of needs ในปี 1954 ซึ่งเป็นพื้นฐานของจิตวิทยามนุษยนิยม (humanistic psychology ว่าด้วยเรื่องของแรงจูงใจ แรงผลักดัน แรงบันดาลใจ ฯลฯ อันเป็นเบื้องต้นของพฤติกรรมและการกระทำต่างๆ)

ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ พยายามอธิบายโดยการศึกษาคน และพยายามจัดชั้นความต้องการ เบื้องต้นแบ่งออกมาเป็นห้าระดับ ซึ่งคุณเบิร์ดได้อธิบายไว้ดีแล้วครับ ผมขอลอกมาเลย...

NEEDS THEORY  ความต้องการ 5 ระดับของมนุษย์ (ซึ่งถ้าแบ่งละเอียดจริงๆจะมีอยู่ 7 ระดับค่ะ โดยในขั้นที่ 4 จะมีซ่อนอยู่ 2 ระดับ)

...ตาคนนี้เค้าบอกว่าภายในความต้องการของมนุษย์มีความกลัวซ่อนอยู่ค่ะู่ จึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง โดยเริ่มจากความขัดแย้งในตัวเอง และ ขัดแย้งกับบุคคลอื่น (เราเป็นพวกถึงแม้จะสงบ เราก็รบไม่ขาดน่ะค่ะ)

ประเด็นสำคัญของ MASLOW ก็คือ เมื่อมนุษย์ได้รับความพอใจจากแต่ละขั้นแล้วก็ยังไม่หยุด แต่ยังมีความต้องการในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง..

หลายคนอาจเชื่อ MASLOW นะคะ เพราะทฤษฎีนี้กว้างขวางมากเลย แม้แต่ในหลักการของการตลาด ก็ยังเอ่ยอ้างอยู่บ่อยไป ..คุณความดีอันหนึ่งที่เ็ห็นชัดในเรื่องของการตลาดก็คือทฤษฎีนี้ทำให้เรา รู้ว่ายังมีอีกหลายๆช่องทางเหลือเกินในการเล่นกับความต้องการของมนุษย์ น่ะค่ะ ^ ^

แต่ถ้าเราดูสังคมปัจจุบันแล้วจะเห็นว่ายังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มีความต้องการอย่างไม่เป็นไปตามขั้นตอนของมาสโลว์เสมอไปนะคะ เพราะเรามีความต้องการหลายขั้นตอนในเวลาเดียวกันอย่างน่าปวดหัวเชียวล่ะค่ะ และสนองตอบได้ยากเย็นกว่าสถานการณ์ที่เป็นไปตาม แบบที่ คุณ MASLOW ท่านเคยว่าไว้..

เอาเรื่องแฟชั่นนะคะ..มนุษย์ตามแฟชั่น ก็เพราะความต้องการการยอมรับ (Esteem needs) และต้องการการเป็นส่วนหนึ่งเช่นเดียวกับคนอื่นๆ (BELONGINGNESS) ตลอดจนการต้องการความรัก (LOVE NEEDS) .. เพราะเมื่อเราใช้สินค้าแฟชั่นที่ผู้คนเขานิยมใช้กัน เราก็กลายเป็นพวกเดียวกันกับเค้า..ซึ่ง เท่ากับเราได้รับการยอมรับ..นอกจากนี้ เพศตรงข้ามก็ยังนิยมคนในรูปแบบเดียวกันอีก.. ดังนั้น จึงมีโอกาสนำไปสู่ความรักได้เช่นเดียวกันค่ะ

ความต้องการของเราคงไม่ได้เป็นเส้นตรงตามหลักปิระมิดของท่านมาสโลว์เสมอไปมั้งคะ ^ ^

ผมตีความตามความเข้าใจของตนเองอย่างนี้ครับ

นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจสัมปทานขนาดใหญ่ แต่ภายหลังมาตั้งพรรคการเมือง มีลักษณะของระดับที่สามครบถ้วน แต่ยังแสวงหาความต้องการในระดับที่สี่ ท่านยังต้องการพิสูจน์อะไรบางอย่าง ต้องการการยอมรับ ยกย่องจากคนทั่วไป ต้องการให้ผู้คนเห็นว่าตัวท่านถูก ท่านได้รับการยกย่องด้วยอำนาจที่ท่านมี ท่านบอกใครๆ ว่าท่านมีพร้อม แต่ท่านก็แสดงออกในอีกหลายมุมว่าท่านขาดอีกมากมาย 

ถึงอย่างไรก็ตาม คนเราจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง ฝ่าฟันอุปสรรค ความทุกข์ยากต่างๆ ได้ ไม่น่าจะขาดความต้องการในระดับที่สามเป็นขั้นต่ำครับ; แรงผลักดันในใจคน ไม่เกี่ยวกับความสำเร็จ ไม่เกี่ยวกับความร่ำรวย ไม่ใช่ความใจบุญ หรือประชานิยม แต่อยู่ที่ว่าการกระทำอย่างนั้นเกิดจากแรงผลักดันอะไร 

น่าเสียดายที่มีคนเป็นจำนวนมาก อยู่ไม่ถึงระดับที่สามนี้ด้วยซ้ำ คนเหล่านี้กลับต้องการสิ่งที่ไม่ใช่ของตัว ยอมทำผิดเพื่อให้ได้มา มีแรงผลักดันเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นหลักครับ 

ความต้องการในระดับที่สี่ เป็นระดับของคนที่เข้าใจตัวตนแล้ว รู้จักตัวเองดี ทั้งข้อดี ข้อบกพร่อง แต่ยังมีแง่คิดมุมมองออกไปจากตนเองอยู่  ยังมีอาการ ...ตัวฉัน ...ของฉัน

คนในระดับนี้ กล้ารับฟังคำวิจารณ์เกี่ยวกับตนเองได้ (ต่างกับการไม่ชอบให้ใครชมเพราะความถ่อมตัว) เพราะเขารู้ว่าตัวเขาเป็นอย่างไร ใครจะคิดอย่างไรกับตัวเขา ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเป็นคนอย่างไรไปเลย -- จริงก็ปรับปรุง ไม่จริงก็ปรับปรุง ดังนั้นคนในระดับนี้ จึงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา -- ชื่นชมผู้อื่นได้ด้วยความจริงใจ เพราะการชื่นชมผู้อื่น (ทำให้ผู้อื่นมีค่าสูงขึ้น) ไม่ได้ลดค่าของตัวเองลง 

ถึงกระนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะก้าวไปถึงขั้นต่อไปได้ เนื่องจากติดตัวตน! แต่อย่างไรก็ตาม คงจะเป็นการดีหากผู้บริหารองค์กรทุกระดับ จะไม่อยู่ต่ำกว่าระดับนี้ การศึกษาของไทยจะประสบความสำเร็จที่สุด หากสามารถผลิตคนที่มี self-esteem ออกมาได้เป็นจำนวนมากพอ ผมคิดว่าความแตกฉานในเรื่องวิทยาการยังเป็นเรื่องรองครับ

คนที่อยู่ในระดับที่ห้า ต่างกับระดับที่สี่ในแง่ที่ คนในระดับที่ห้าไม่(ค่อย)สนใจเรื่องของตัวตนอีกแล้ว แต่จะมองหมู่คณะและประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ทำงานเพื่องาน ทุ่มเท มีความรักในงาน รู้ว่าสิ่งที่ทำ มีประโยชน์ต่อผู้อื่น

คนในระดับนี้ดูเหมือนกับเป็นคนในอุดมคติ แต่เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนในอุดมคติเสียก่อนจึงจะสามารถสังเกตคนเหล่านี้ได้ เพียงแต่เราหัดมองเรื่องราวต่างๆ จากมุมของส่วนรวมบ้าง ก็จะสามารถสัมผัสความคิดของคนในระดับที่ห้าได้ เป็นรูปแบบที่ไร้รูปแบบ

ในปี 1970 ซึ่งเป็นช่วงปีสุดท้ายในชีวิตของมาสโลว์ ท่านตีพิมพ์บทความแก้ไขโมเดลความต้องการของมนุษย์เดิม โดยต่อยอดขึ้นมาอีกสองชั้น คือ ความต้องการเกี่ยวกับการรับรู้/การเข้าใจ (cognitive needs) และ ความต้องการเกี่ยวกับสุนทรียภาพ (aesthetic needs)

ความต้องการในระดับที่หก (cognitive needs) เป็นความต้องการที่ไม่เกี่ยวกับกายภาพ เป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ เมื่อตัวตนไม่มี มนุษย์เริ่มมองหาจุดมุ่งหมายของชีวิต เป็นการมองย้อนกลับมาในจิตใจของตน ผมคิดว่าเป็นระดับของปรัชญาและอภิปรัชญา เป็นเรื่องของธรรมชาติ คือเรื่องของความจริง เป็นการ "บรรลุ" ทางโลก ซึ่งในบางครั้ง ทำให้เข้าใจถึงศักยภาพที่แท้จริงของมนุษยชาติ ซึ่งมาสโลว์บรรยายไว้ใน The Farther Reaches of Human Nature ซึ่งตีพิมพ์หลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว

ส่วนความต้องการในระดับสุดท้ายที่มาสโลว์เสนอไว้คือความต้องการ(เสพ)สุนทรียภาพ (aesthetic needs) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยงาม ความละเมียดละไม ไม่มีเชื้อชาติ ความแตกต่างใดๆ สิ่งต่างๆ จะดีหรือไม่ดี มีความสมบูรณ์ในตัวของตัวเอง ไม่ขึ้นกับผู้สร้างสรรค์ ไม่ขึ้นกับว่าผลจะตกอยู่กับใครหรือทำให้ใคร ทำงานเพื่องาน ทำดีเพื่อให้เกิดสิ่งดี ทำสิ่งสวยงามเพราะความสวยงาม 

เขียนไปเขียนมา ยังไม่สะใจครับ

  • ผมว่ายังขาดไปอีกระดับหนึ่ง คือความไม่ต้องการอะไรเลย
  • ไม่น่าเป็นไปได้ที่เราจะจัดความซับซ้อนของจิตใจคนเป็นชั้นๆเพียงห้าหรือเจ็ดชั้น อย่างไรก็ตามทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์ ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ศึกษาความต้องการของคนอย่างเป็นระบบ
  • หากเชื่อตามทฤษฎีนี้ ก็จะช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจถึงแรงบันดาลใจ แรงกระตุ้นที่มีต่อพนักงานแต่ละคน อันนี้ต้องนับว่าเป็นประโยชน์ถ้าอ่านคนเป็นและนำเอาทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้ครับ

{แก้ไข: เรียงลำดับใหม่ครับ}

ของฝากครับ ผมชอบจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 151877เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีครับคุณ Conductor

            ผมคิดว่างานนี้ต้อง WIN-WIN ครับ ระหว่างผู้บริหารกับพนักงานแต่ละคน...

                                            ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

อ่านด้วยความสนใจมากค่ะ และได้ความรู้ความเข้าใจกลับไปมากด้วย

ประเด็นคงอยู่ที่  MASLOW บอกว่า  เมื่อมนุษย์ได้รับความพอใจจากแต่ละขั้นแล้วก็ยังไม่หยุด ยังมีความต้องการในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

และคุณConductor กำลังบอกว่า  ปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากมีความต้องการอย่างไม่เป็นไปตามขั้นตอนเสมอไป

โดยมีความต้องการหลายขั้นตอนในเวลาเดียวกัน และการสนองตอบ  กลับยากเย็นกว่าสถานการณ์ที่เป็นไปตาม MASLOWด้วยซ้ำ

อย่างเรื่องแฟชั่นที่คุณเบิร์ดกล่าวถึง

 พี่ก็อยู่ในจำพวกนี้เช่นกันค่ะ แต่ เป็นพวกทางสายกลาง ไม่ต้องแฟชั่นจนเกินเหตุ คือ ชอบได้รับการยอมรับ และรู้สึกว่า เป็นพวกเดียวหมู่เดียวกัน ถ้าใส่อะไรคล้ายๆกัน

จะว่าถูกครอบงำโดยพวกนักออกแบบก็ได้ แต่ทุกคนก็ยินดีให้ถูกครอบงำไม่มากก็น้อย จะมีคนที่เป็นตัวของตัวเองแท้จริงตลอดเวลา ไม่มากนัก ในเรื่องแฟชั่นนี้

ส่วนระดับสูงสุด จะเป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ  ซึ่งจะมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยน้อยมาก

 ไม่ใช่เรื่องสุขภาพกาย ที่ส่วนหนึ่ง ต้องใช้เงินมาดูแล ให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ

แต่กระนั้น คนเรา เมื่อสุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็มักจะพลอยดีไปด้วยค่ะ

ความเห็นส่วนตัวจริงๆ.... เลยอยากสรุปให้ตัวเองฟังว่า

คนที่มีเงินพอประมาณ สามารถที่จะเป็นคนที่มีความสุขได้มากกว่าคนที่มีเงินเหลือล้น  เพราะเงินนั้นซื้อความสุขได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

   ถ้าเราเป็นคนที่มีเงินพอประมาณ และใช้ชีวิตที่พอประมาณ ก็น่าเชื่อได้ว่า จะมีชีวิตที่มีความสุขไม่แพ้คนรวยมากๆๆโดยทั่วๆไปแน่นอน

ขอโทษค่ะลืมไปอีกนิดคือ ประเด็นที่คุณConductor กล่าวถึงในช่วงสุดท้าย ขอร่วมshare ประสบการณ์บางส่วน ด้วยดังนี้ค่ะ

แรงบันดาลใจ แรงกระตุ้นที่มีต่อพนักงานแต่ละคน อันนี้ต้องนับว่าเป็นประโยชน์ถ้าอ่านคนเป็นและนำเอาทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้ครับ

ข้อนี้ ต้องขอยอมรับว่า ได้นำทฤษฎีนี้ไปใช้ตลอดค่ะ จนไม่ต้องนึกถึงกฏเกณฑ์อะไรแล้ว มันเป็นธรรมชาติไปเลย และได้ผลดี มาหลายกรณีด้วยกัน

ข้อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยนั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่เป็นความสุขในระดับหนึ่งเท่านั้น

ไม่ใช่มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น แล้วจะเกิดความสุขเพิ่มขึ้น เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ความสุขจะเพิ่มขึ้นไม่มากไปกว่าที่มีแล้ว   ตั้งแต่ครั้งแรก 

การได้รับการยอมรับในหมู่ญาติมิตรและเพื่อนฝูงนั้น เงินก็ไม่สำคัญมากนัก   แต่การมีน้ำจิตน้ำใจเอื้ออารีน่าจะมีความสำคัญกว่า

 ความสุขจากการที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ก็เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเงินเลย

การมีสถานะที่โดดเด่นในสังคมเป็นความต้องการในพนักงานระดับที่สูงขึ้นมา

 ซึ่ง พนักงานระดับผู้จัดการ ต้องการมาก สิ่งนี้ พี่ ถือว่า พี่ ต้องให้ความมีหน้ามีตาแก่เขา พอควร  และพวกเขาจะมีความสุขมากๆค่ะ

เช่นการให้โอกาส แสดงความเป็นผู้นำ ต่อหน้าพนักงานระดับแรกจำนวนมากๆ / การให้สิทธิ์ในการประเมินผลงานรอบแรกๆ /   การเป็นตัวแทนไปประชุมกับทางราชการ หรือสมาคมต่างๆ   /  การให้รถประจำตำแหน่ง  การได้รับค่าตอบแทน ไม่น้อยไปกว่าในตลาด / การส่งไปอบรมสัมนา/ การสนับสนุนให้ไปต่างประเทศ เป็นต้น

เหล่านี้ ต้องมีให้ครบ อย่าให้เขารู้สึกว่าด้อยกว่า คนระดับเดียวกัน ในองค์กรอื่นๆ

 มิฉะนั้นคนเก่งๆ จะอยู่ไม่นาน ต้องถูกพวก Head hunter ฉกตัวไปในที่สุด แล้วเราก็มาต้องนั่งปั้นคนใหม่ ไม่คุ้มกันเลยจริงๆ

ขอบคุณค่ะ


 

นายช่างใหญ่: ผมคิดว่าทฤษฎีวางอยู่เฉยๆ ครับ จะเกิดผลกับใครนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครหยิบเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ -- แล้วผลที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์หรือไม่ ก็แล้วแต่เราเข้าใจเครื่องมือเหล่านั้นแค่ไหน และประยุกต์ใช้ได้ถูกต้องหรือไม่ครับ ไม่มีเครื่องมือใดที่เหมาะกับทุกสถานการณ์ 

นายช่างใหญ่เป็นช่าง ย่อมเข้าใจความสำคัญของการเลือกใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสมดีครับ

พี่ศศินันท์: สิ่งภายนอก ยากจะสร้างความสุขภายในได้ครับ เงินทองอาจจะช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย แต่เมื่อมีพอแล้ว อะไรที่เกินจากนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ใช่ไหมครับ

คำว่า "พอ" นี้ สำหรับแต่ละคนมีความหมายไม่เหมือนกัน พนักงานของเราไม่ใช่ผู้ละกิเลสได้หมด ตัวเราก็ไม่ใช่เช่นกัน (อย่างน้อยผมก็ไม่ใช่) ต่างมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ต่างมีแรงจูงใจที่ไม่เหมือนกัน

ถ้าเพียงแต่เราละเอียดอ่อนต่อความต้องการและแรงจูงใจของผู้อื่นมากขึ้นสักนิด ชีวิตอาจจะเป็นสุขมากขึ้นกว่าการพยายามทำให้ทุกคนเป็นไปตามความต้องการของตัวเรานะครับ 

แต่เรื่องนี้พี่เข้าใจดี เพราะพิสูจน์มาจนไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีกแล้วครับ 

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

ยิ้มมมมมมมม ปากถึงหู   ^                                  ^

เอารูปบ๊ะจ่างความต้องการของท่านมาส ฯ ที่มี 7 ขั้นมาฝากค่ะพร้อมการเปรียบเทียบกับพุทธธรรม

Motives2

ที่เบิร์ดสงสัยในทฤษฎีของท่านมาส ฯก็คล้ายๆกับที่คุณ Conductor ตั้งข้อสังเกตไว้นั่นแหละค่ะ

เพราะขอบข่ายของท่านมาสฯจะอยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐานสามข้อ คือ 1.บุคคลคือ สิ่งมีชีวิตที่มีความต้องการ ความต้องการของบุคคลสามารถมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของพวกเข้าได้  ความต้องการที่ยังไม่ถูกตอบสนองเท่านั้นสามารถมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม..ความต้องการที่ถูกตอบสนองแล้วจะไม่เป็นสิ่งจูงใจอีกต่อไปน่ะค่ะ 2.ความต้องการของบุคคลจะถูกเรียงลำดับตามความสำคัญ หรือเป็นลำดับชั้นจากความต้องการพื้นฐาน (เช่น อาหารและที่อยู่อาศัย) ไปจนถึงความต้องการที่ซับซ้อน (เช่น ความสำเร็จ) 

3.บุคคลที่จะก้าวไปสู่ความต้องการระดับต่อไปเมื่อความต้องการระดับต่ำลงมาได้ถูกตอบสนองอย่างดีแล้วเท่านั้น  อย่างเช่น คนงานจะมุ่งตอบสนองความต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยก่อน  ..ก่อนที่จะถูกจูงใจให้มุ่งไปสู่การตอบสนองความต้องการทางสังคมน่ะค่ะ

เบิร์ดดูว่าความต้องการของมนุษย์ไม่มีข้อจำกัด ซับซ้อน วุ่นวายและไม่ " พอ "  ..การที่จะมีการตอบสนองความต้องการในระดับต่ำจนพอนั้นควรจะมีตัวอื่นมากำกับตัวกำกับใจถึงจะสามารถก้าวไปสู่สิ่งที่ละเอียดปราณีตขึ้นได้น่ะค่ะ  และสิ่งที่กำกับให้ " พอ " นี่แหละค่ะคือสิ่งที่มาสโลว์ตอบไม่ได้ และน่าจะทำให้บ๊ะจ่างความต้องการของมาสโลว์เปลี่ยนไป เช่นสลับเอาความต้องการขั้นสูงสุดกลายเป็นฐานของสามเหลี่ยมได้มั้ยคะ น่าจะทำให้เรามีความต้องการของปัจจัยสี่น้อยลงเหลือเพียงแค่เท่าที่อยู่ได้แบบพอเพียง ไม่ใช่ต้องการบ้านหลังใหญ่เบ้อเริ่มจนเกินความสามารถในการครอบครอง กลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวได้หรือเปล่า ? เข้ามาป่วนแค่นี้ก่อนนะคะ ^ ^ ยิ้มตาปิดให้อีกทีค่ะ อิ อิ อิ 
 

 

P

Conductor

เข้ามาชมสองสามครั้งแล้ว แต่ไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้...

ชุดคำอธิบายความต้องการของมนุษย์ทำนองนี้ คำสอนทางปรัชญาหรือศาสนามีเยอะ...

ตามความเห็นส่วนตัว Maslow เพียงแต่เอาของเก่าๆ มาบรรจุใส่ภาชนะที่ตนเองสร้างขึ้นมาแล้วก็ปิดฉลากสวยๆ เท่านั้น...

เฉพาะแท่งปิรามิดชุดใหม่ด้านซ้ายมือ ที่คุณ เบิร์ด  นำมาแสดงนั้น ลำดับที่ ๕-๖-๗ ตรงกับแนวคิดเรื่อง พรหมันของปรัชญาฮินดู

อธิบายย่อๆ ว่า พรหมันเป็นหนึ่งเดียว แต่มีสามคุณลักษณะ เรียกว่า สัจจิทานันทะ

  • สัต + จิต + อานันทะ = สัจจิทานันทะ

สัต คือ ความจริง

จิต คือ ความรู้

อานันทะ คือ ความพึงใจ

.....

ซึ่งเที่ยบได้ดังนี้

  • 5 ความรู้ = จิต
  • 6 สุนทรียภาพ = อานันทะ
  • 7 ความจริงแท้แห่งตน = สัต

การเข้าถึงพรหมัน หรือรู้แจ้งพรหมัน ก็คือการเข้าถึงคุณลักษณะเหล่านี้นั้นเอง... และปรัชญาฮินดูบอกว่า สามสิ่งนี้เป็นหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้

............ 

จะเห็นได้ว่าคำสอนทำนองนี้มีมาก่อนและไปไกลกว่าแนวคิดของ Maslow  หลายช่วงตัว...

โดยส่วนตัว อาตมาคิดว่า ชุดคำอธิบายทำนองนี้ เพียงแต่สนองตอบอาหารสมองสำหรับคนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วราก็ยังคงเป็นตามที่เราเป็น... ประมาณนั้น

เจริญพร 

ขอบคุณคุณเบิร์ดและพระอาจารย์ชัยวุธที่มาต่อยอดบันทึกครับ เรื่องจิตใจคน ยิ่งเรียนยิ่งโง่ สัมผัสเอาดูจะเข้าถึงได้มากกว่า 

ทีนี้ก็มีปัญหาใหญ่ตามมา คือจะรู้ได้อย่างไรว่าถูกต้อง  -- แม้แต่ในกระบวนการเรียน จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้สอน สอนถูกต้อง หรือว่าที่เราเรียนมานั้น รับมาอย่างถูกต้อง หรือหนังสือเขียนถูกต้อง -- ถ้าสิ่งที่พูดๆกันเป็นจริงตลอด เวลาฟังแคมเปญการเมือง เมืองไทยก็คงเป็นมหาอำนาจไปแล้วนะครับ

ดังนั้นไม่ว่าเรียนรู้อะไรมา ก็น่าจะประเมินด้วยว่าใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน เพราะว่าเราก็ยังคงเป็นตามที่เราเป็นครับ เราไ่ม่เป็นไปตามที่คนอื่นบอกให้เป็น หรืออยากให้เป็น ใช้ได้ก็ใช้ ใช้ไม่ได้ก็ไม่ใช้

ในมุมของการจัดการ เรื่องของคนเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะคนแตกต่างกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนเป็นไปอย่างที่หัวหน้า/องค์กรต้องการ แต่หัวหน้า/องค์กรส่วนใหญ่ก็ยังพยายามบังคับให้ทุกคนเป็นไปตามแบบแผนเดียวกันหมด เพื่อความง่ายในการจัดการ

ผมว่าอันนี้เป็นการหาความทุกข์ใส่ตัวเองนะครับ

ขอเข้ามา สนับสนุนพระอาจารย์ชัยวุธฯอีกนิดค่ะ

รู้สึกว่า เราจะถูกครอบงำจากทางฝ่ายตะวันตกทางด้านแนวคิดอยู่ไม่น้อยทีเดียวนะคะ ทั้งๆ ตามความเป็นจริง ทางด้านปรัชญาก็ไม่มีอะไรใหม่เท่าใดค่ะ

มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง แปลเป็นไทยว่า จิตสำนึกใหม่แห่งเอเซีย มีคนบอกว่า ดี ก็ยังไม่ได้อ่านสักทีค่ะ

 

 

P

Conductor

 

คุณโยมศศินันท์เข้ามาสนับสนุนก็ขอเพิ่มอีกนิด ซึ่งใคร่จะเพิ่มเดิมในครั้งก่อนเพราะยังไม่ตรงกับประเด็นของบันทึกนี้...

จิตวิทยาตะวันตกปัจจุบันของ Maslow หรือของคนอื่นๆ ก็ตาม  มุ่งที่จะอธิบายว่า พฤติกรรมของคนเป็นอย่างไร ... และต่อมากลุ่มนักจิตวิทยาเอง หรือกลุ่มอื่นๆ ก็นำมาประยุกต์ใช้เพื่อจะได้จัดการคนให้เกิดประโยชน์สุดสุด... ซึ่งตามนัยนี้ อาจแตกสาขาออกไปอีกเพื่อศึกษาการนำมาจัดการโดยเฉพาะ

ขณะแนวคิดปรัชญาหรือศาสนาเดิมๆ โดยเฉพาอย่างยิ่งทางตะวันออก แม้จะมีชุดคำอธิบายว่า พฤติกรรมของคนเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้นัก กล่าวคือ จะให้ความสำคัญในประเด็นว่า พฤติกรรมของคนควรจะเป็นอย่างไร มากกว่า ซึ่งนั้นก็คือวิชาจริยศาสตร์ในปรัชญานั่นเอง

............ 

เฉพาะพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่่า คนมีความต้องการไม่แตกต่างกัน ๔ ประการ กล่าวคือ

  • ลาภ หมายถึงทรัพย์สมบัติ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความมั่นคงแห่งความมีชีวิต
  • ยศ หมายถึงการยอมรับจากสังคม ซึ่งเป็นคุณค่าบางอย่างทางจิตใจ
  • อายุ หมายถึงสุขภาพ ซึ่งเป็นการสืบต่อตัวตนของตัวเอง
  • สวรรค์ หมายถึงชีวิตที่ดีกว่าหลังจากตายไปแล้ว

แต่ ๔ ประการนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ได้ยาก... และพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าความแสวงหาสุข ๔ ประการ กล่าวคือ

  • สุขเกิดจากการมีทรัพย์
  • สุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์
  • สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
  • สุขเกิดจากการงานที่ไม่มีโทษ

ทั้ง ๔ ประการนี้ พระองค์ตรัสว่า สามข้อแรกรวมกัน ยังไม่ถึงเสี้ยวที่สิกหกของข้อสุดท้าย...

..........

อีกนัยหนึ่ง อาจจำแนกได้ว่า จิตวิทยาตะวันตกสมัยปัจจุบันนั้น เน้นอธิบายเพื่อจะส่งเสริมหรือควบคุมความต้องการของคนเพื่อให้เกิดประโยชน์ (กำไร) สูงสุดต่อองค์กร...

ขณะที่จิตวิทยาตะวันออกแบบเดิมๆ มุ่งที่จะอธิบายเพื่อการรู้แจ้งธรรมชาติของตนเอง และเพื่อควบคุมวิถีชีวิตของตนเองให้เป็นไปในฐานะที่ควรจะเป็นไปตามความเชื่อนั้นๆ ... ประมาณนี้

บ่นไปบ่นมา รู้สึกว่าจะออกนอกลู่นอกทางของบันทึกนี้อีกแล้ว (.......)

เจริญพร 

 

สุมิตรชัย คำเขาแดง

  สวัสดีครับ

         ผมเข้ามาเก็บความรู้ด้วยอีกคนครับ

         ขงจื้อ กล่าวว่า "เมื่ออายุ 15 ปีตั้งใจใฝ่ศึกษา อายุ 30 ปีก็ตั้งตัวได้ อายุ 40 ไม่หลงงงงวย อายุ 50 รู้ลิขิตสวรรค์ อายุ 60 ฟังไม่ขัดหู  อายุ 70 ทำอะไรตามใจโดยไม่ผิดแบบแผน"

            ขอสนับสนุนความคิดที่ว่าทางตะวันออกเน้นไปที่การมุ่งสั่งสอนให้ผู้คนดำเนินชีวิตไปตามหลักของธรรมชาติจริง ๆ ครับ

ขอบคุณทุกความเห็นครับ ประเด็นของบันทึกนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจกว่าการสรุปว่าแนวคิดจากภูมิภาคไหนถูกต้องลึกซึ้งกว่ากันครับ 

  1. เราคงจะไม่สามารถจะเลือกได้อย่างฉลาด หากเราไม่เข้าใจว่าทางเลือกแต่ละทางนั้นคืออะไรบ้าง
  2. เพื่อที่จะเข้าใจแต่ละทางเลือก ก็ควรจะศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อน จึงจะรู้ข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด  และเลือกได้อย่างชาญฉลาด
  3. อยากชวนอ่านพระสูตรครับ, พจนานุกรมพุทธศาสตร์, บันทึกของอาจารย์คนไร้กรอบ
  4. เท่าที่ศึกษาผ่านมา ผมเห็นด้วยว่าความรู้เกี่ยวกับจิตใจทางตะวันออก ลึกซึ้งกว่าจากทางตะวันตกครับ
  5. ความคิดทางตะวันตก มีรากฐานจากอารยธรรมกรีก ซึ่งเป็นสังคมที่ไม่ซับซ้อน ขนาดที่มีประชาธิปไตยทางตรงได้ด้วยซ้ำไป
  6. ความก้าวหน้าของทางตะวันตก เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าชีวิตทุกข์ยาก (สภาพอากาศ เพาะปลูกไม่ได้ตลอดปี) จึงเกิดการกักตุน การปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นจำนวนมาก ความแตกต่างของมนุษย์ลดลง บวกกับความสะดวกในการศึกษาวิทยาการ จึงมีการจัดชั้นจัดกลุ่ม taxonomy/generalization -- ซึ่งหากไม่ระวังก็จะไม่เข้าใจถึงความเป็นปัจเจกในระดับจุลภาค
  7. ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดจากสำนักไหน จะมีค่าต่อตัวเราก็ต่อเมื่อเราสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ (หมายความว่านำไปใช้) ถ้ารู้เฉยๆ แต่นำไปใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ครับ
  8. อริสโตเติลกล่าวไว้ว่า

    To Thales the primary question was not what do we know, but how do we know it.

    It is the mark of an educated mind to be able to entertain a thought without accepting it.

    Those who educate children well are more to be honored than parents, for these only gave life, those the art of living well.

    It is the mark of an instructed mind to rest assured with that degree of precision that the nature of the subject admits, and not to seek exactness when only an approximation of the truth is possible.

    The gods too are fond of a joke.

บันทึกนี้ทำให้ได้คิดหลายๆ เรื่องเลยค่ะ แต่ยังต้องค่อยๆ ย่อยอยู่  ตัวเองก็เคยใช้ model ของ Maslow ในการสอนมาบ้าง ใช้ในการประเมินความต้องการของคนบ้าง แล้วก็เคยคิดเปรียบเทียบกับโมเดลในทางธรรมเหมือนกัน...แต่ไม่ได้คิดไกลไปมากนัก ... ได้แต่ดู กับเลือกใช้ เลือกปฏิบัติที่เราเข้าใจ และเข้ากับสถานการณ์ค่ะ

ขอบคุณคุณ conductor สำหรับบันทึกดีๆ และขอบคุณข้อคิดเห็นของคุณเบิร์ดกับหลวงพี่มหาชัยวุธด้วยค่ะ 

อ่านครบของทุกท่านแล้วรู้สึกว่าดีกว่าตำราที่เคยอ่านมามากมาย เป็นการผสมผสานแนวคิดตะวันตก-ตะวันออก ถกกันในสาระ (ไม่มีเถียง) สมเป็นวงสนทนานักปราชญ์จริงๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท