จิตตปัญญาเวชศึกษา 35: ห่วยได้ ไม่ยี่หระ


ห่วยได้ ไม่ยี่หระ

ช่วงสามสี่วันที่แล้ว ก่อนวันพ่อ ได้ไปพบปะกับกัลยาณมิตรใหม่ เก่า ณ บ้านอิงดอย จ.เชียงราย ใน workshop "อ่าน เขียน แปล กระบวนทัศน์ใหม่ Episode II" ถ้าเกิดมีใครคุ้นๆ ก็คงเป็นเพราะเมื่อเก้าเดือนก่อน ผมเคยเขียน "อ่าน เขียน แปล กระบวนทัศน์ใหม ่" มาแล้ว รวม 15 บทความ บวก 2  มองย้อนกลับไป เวลาประมาณเก้าเดือนนี่ ช่างเปรียบเสมือนการปฏิสนธิและตั้งครรภ์ พอครบทศมาศ เราเห็นตัวเองเติบโต จากเซลล์เซลล์เดียว กลายเป็นอะไรอีกอย่างที่แตกต่างไปอย่างมากมาย

ในบทความ "เปราะบาง เปลี่ยนแปลง " มีคำๆหนึ่งคือ "เด็กน้อย" ออกมาเป็นตัวเอก ตัวหลัก ซึ่ีงก็เป็นตัวเอก ตัวหลัก ของการอบรมในครั้งนี้ด้วย เกือบตลอดรายการ คิดว่าน่าจะนำมาขยายความต่อให้พิศดาร สมกับที่เป็นตัวละครทืี่รับบทหนักในครั้งนี้

 ถ้าใครเคยอบรมสุนทรียสนทนา หรือ workshop อื่นๆ ก็ตาม คงจะพอจำได้ว่าเริ่มต้น เรามักจะเจอกระบวนการ "ถอดพฤติกรรม" หรือทีแท้จริงก็คือถอดร่างทรง ถอดหมวก ถอดอะไรที่เราหยิบมาสวมใส่ทุกๆเช้าก่อนไปทำงาน นั่นคือ "กรอบ" หรือบางคนจะเรียก "หัวโขน" รายวัน บางคนอยู่บ้านเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก แต่พอเช้ามาเราก็สวมบท นายใหญ่ ลูกน้อง เลขา หมอ ภารโรง นักเรียน ครู ฯลฯ แต่ละบท เราจะไปได้ดีแค่ไหน บางทีก็ขึ้นอยู่กับเราคล่องบทมากน้อยแค่ไหน และขึ้นกับผู้กำกับวันนั้น จะใจร้ายกับตัวละครของเราแค่ไหน พอดี พอร้าย เราอาจจะได้บทตุ๊กตาทอง หรือได้บทตัวร้าย ตัวอิจฉา มาโดยไม่รู้ตัว บางทีก็จะเกิดการ "miss focus" แทนที่จะไปมีสมาธิที่บท กลับไปมีสมาธิที่อื่น ทีคนดู ที่ตัวประกอบ หรือสัญญา หมายรู้ เวทนา เก่าๆ ของเรา บทก็จะไม่ราบรื่น

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ไม่ว่าเล่นดี หรือไม่ดี ตัวเราก็จะกลัวว่าเราจะเล่นไม่ดีอยู่เสมอ เพราะบทที่เราเล่น บางทีก็จะมีความสำคัญมากต่อเรา (ทั้งหมดนี้เราคิดเอาเอง ว่ามันสำคัญมากขนาดไหน) ยิ่งเราให้ความสำคัญมาก เราก็จะยิ่งเล่นเกร็ง ไม่เป็นธรรมชาติ และไปห่วงเรื่อง rating เรื่องจะดูดี จนในที่สุด สิ่งเหล่านี้เองที่ไปๆมาๆทำให้เราเกิด miss focus จากบท

ดังนั้น workshop สลายพฤติกรรม จึงจงใจช่วยให้เราสลัดความกดดันต่างๆ ที่จะต้องทะนุถนอม "บท" เหล่านั้นไปชั่วคราว เราจะได้มีสมาธิไปอยู่กับเรื่องอื่น ส่วนใหญ่ก็จะดี ในการเตรียมตัวเพื่อ "เรียนรู้ของใหม่ๆ" เราก็ควรจะทำตัวเป็นถ้วยชาที่ว่างพอสมควร ไม่ใช่เปี่ยมล้น จนไม่สามารถจะเติมอะไรลงไปได้เลย สำหรับสุนทรียสนทนา เรามักจะใช้กิจกรรม "กลับสู่วัยเยาว์" ซึ่งทรงพลัง และมีประสิทธิภาพมากๆ

กลับสู่วัยเยาว์ไม่เพียงแต่จะช่วยเรื่องสลัดหมวก เครื่องแบบ และภาระ ตำแหน่ง หน้าที่ อะไรออกไปชั่วขณะเท่านั้น แต่กิจกรรมนี้มีอะไรที่แฝงอยู่มากทีเดียว หลายๆคน เมื่อทำกิจกรรมนี้ สามารถค้นพบตัวเอง และที่มาของอุปนิสัยใจคอของตน ณ ขณะนี้ได้ ทำให้เราเกิดความเข้าใจในตัวเองมากขึ้น และทำให้ดูแลตนเองได้ดีขึ้น รวมทั้ง เป็นโอกาสอันดี ที่เปิดโลกทรรศน์ ทำให้เรามองผู้อื่น ลึกซึ้งมากขึ้น คนมีมิติที่ลึกกว่าเดิม เราจะเพิ่มความเมตตา กรุณา และหน่วงการตัดสิน ฟันธง ตีค่า ประทับตรา คนอื่นๆน้อยลง 

ในขณะเดียวกัน เมื่อจิตเราฟื้นสภาวะเด็กใหม่ นั่นคือสภาวะจิตที่พร้อมที่สุดที่จะเรียนรู้ เด็กเรียนรู้แบบทั้งตัว ทั้งกาย วาจา ใจ ปราศจากความหวาดระแวง ความกลัวใดๆ ลูกสาวผมอายุ 2 ขวบกว่าๆ เคยเห็นงูเห่าเลื้อยอยู่ตรงลานบ้าน ดีอก ดีใจ ร้อง "งู งู" แล้วก็เดินตรงรี่เข้าไป จะไปเขี่ยทักทาย ทำเอาพ่อแม่ คนรอบข้างหวีดว้ายกระตู้วู้ไปพักหนึ่ง ถ้าพวกเราสังเกตเด็กๆเรียนอะไรแล้ว จะทราบเลยว่าทำไมเด็กถึงเรียนภาษาได้ง่ายดาย จำคำเป็นร้อย เป็นพันคำ ทราบไวยากรณ์ ทราบวิธีใช้ เป็นเพราะการปราศจากอุปสรรคในการรับรู้นั้่นเอง ทำให้จิตเปิดกว้าง เป็นฟองน้ำ ดูดซับเอาอะไรก็ได้เข้าไปเป็นของตนเอง

พอเราโตขึ้น สิ่งที่เราพกพาไปด้วยเวลาเรียน บางอย่างกลับกลายเป็น อุปสรรคในการเรียนของเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฐานะ ตัวตน การรักษาฟอร์ม  รักษาหน้า ทีท่าดูดี มาด ฯลฯ อะไรก็ได้ที่เป็น "สิ่งที่คนอื่นเขามองเรา" ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราเข้าใจเราเองเลย ความพยายามในการที่ดูดีนี้ มาจากแรงผลักดันพื้นฐานภายในที่เราต้องการจะถูกรัก ถูกยอมรับ ถูกชมเชย เป็น inner critics ที่อยากจะให้เรามีความสุข เพราะได้รับความรัก การยอมรับ จากคนอื่นๆ ผลสะท้อนข้างเคียงกลับกลายเป็นเราจะเกลียดกลัว การถูกเกลียด ไม่ยอมรับ ตำหนิติเตียน อะไรก็ตามที่เราจะถูก expose ต่อความด้อย เช่น ไม่รู้ ไม่ฉลาด ไม่แข็งแรง ไม่ว่องไว ฯลฯ 

โดยธรรมชาติ เราก็จะค่อยๆเรียนรู้่ในไม่ช้า เราไม่อยากถูกว่าไม่เก่ง ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่อยากถูกตำหนิว่าโง่ ว่าอ่อนแอ ว่าห่วย ทุกๆคนพยายามทุกวิถีทาง ที่จะหลุดจากสถานการณ์อันย้่ำแย่นั้น และวิธีแก้ไข ป้องกัน แม้จะไม่ได้แก้ที่สาเหตุอะไรก็ตาม จะถูกนำมาใช้อย่างไม่สนใจ เช่น กลัวถูกตำหนิว่าไม่รู้โดยครู แทนที่จะไปอ่านหนังสือ ศึกษา เล่าเรียนให้รู้ ก็กลายเป็นหนีโรงเรียน ไม่พบหน้าครู ขอเพียงไม่ได้ยินเสียงติเตียนก็เพียงพอแล้ว

หารู้ไม่ว่าคนที่ติเตียน และรู้เท่าทันว่าเรารู้จริง ไม่จริงแค่ไหน ไม่ใช่ครูที่โรงเรียน ไม่ใช่พ่อแม่ที่บ้าน แต่คือ "ตัวเราเอง" นั่นเอง แล้วเราจะสามารถวิ่งหนีตัวเราเองได้หรือไม่

การกลัวด้อยค่า คนไม่รัก ไม่นับถือ ติดมาจนเรียนจบ เราจะหวาดกลัวการสูญเสียสถานะที่เราอุตส่าห์สร้างมาเป็นอย่างดี อุตส่าห์เรียนสูงๆ อุตส่าห์หาเงิน อุตส่าห์สอบจนได้ตำแหน่งดีๆ เป็นหัวหน้างาน เป็นผู้อำนวยการ กลายเป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นผู้รู้ เป็นหมอ เป็น ฯลฯ

ปรากฏว่ายิ่งได้​ "เป็น" มากขึ้นเท่าไร การ "กลัวห่วย" ยิ่งมากขึ้น ยิ่งแก่กล้ามากขึ้น ทำอะไรก็ตาม เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อสูญเสียสถานะมากขึ้นเป็นทวีคูณ บางทีถึงขนาดสูญเสียความสามารถในการคิดนอกกรอบ ในการคิดหาวิธีใหม่ๆ หมดสภาพความสามารถในการเสี่ยง ทำอะไรที่คนอื่นๆไม่เคยทำ เน้นแต่การไม่เสี่ยง ทำซ้ำของเดิม เพราะอยากจะพยากรณ์ หรือทราบผลล่วงหน้า

ตราบใดที่เรายังกลัวห่วย เราก็จะทุ่มเทพลังงานไปในการป้องกันการถูกตำหนิ จนบางทีเหลือพลังในการทำงานที่แท้นิดเดียว ลงทุนไปหา public relations เก่งๆ สร้างภาพได้ดีๆ หาอะไรมาเสริมบุคลิก (ที่ไม่ได้เกี่ยวกับงานเลยก็มี) ซ่อนตัว ไม่ออกมารับผิดชอบ ใช้นามปากกา ผลกระทบก็คือ สิ่งเหล่านี้เองจะลดสมรรถภาพที่แท้จริง ลดความน่าจะเป็น และลดความเป็นไปได้ของเราไปมากมาย

คำว่า "ห่วยได้ ไม่ยี่หระ" เป็นพี่สมพล ชัยสิริโรจน์ และณัฐฬส วังวิญญู ใช้ ตอนที่เราพูดคุยกันถึงเรื่องศักยภาพของตัวเล็ก ตัวน้อย ของเด็กน้อยๆต่างๆ สำหรับคนจำนวนมาก "ไพ่ห่วยได้" และ "ไพ่ไม่ยี่หระ" เป็นไพ่ที่ทิ้งไปนานเท่านาน (ในภาษาของ voice dialogue หรือ "การสนทนากับเสียงภายในตนเอง ")  เป็นสโลแกนปลุกปลอบเจ้าตัวเล็ก ตัวห่วย (ที่ทุกคนมี) ตัวแห่งเป็นตัวของตัวเอง (ไม่ยี่หระ) ออกมาจากห้องใต้ถุน ห้องขังใต้ดิน ออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ข้างนอกบ้าง

ที่บางครั้งเราจะแปลกใจก็คือ พอเราจะทำอะไรที่ "ห่วยก็ได้" ปุ๊บ ใช่ว่ามันจะออกมาห่วยๆเสมอไปทีไหน บางทีการทำอะไรที่ปราศจากความคาดหวังสูงๆ ก็จะไม่มีแรงกดดัน กลายเป็นเราทำโดยจิตที่ว่าง อุดมสมาธิในการทำงาน ผลงานกลับออกมาดีงาม เป็น masterpiece ทั้งที่ตอนทำตอนแรง เราตั้งจิตแค่่ "ห่วยได้" เท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 151655เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 01:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท