การแปล: ใคร่ครวญ... แล้วเราจะกลายเป็นคนอย่างไร?


การแปล: ใคร่ครวญ...แล้วเราจะกลายเป็นคนอย่างไร?

ในงาน อ่าน เขียน แปล ครั้งนี้ (Episode II: The Child Strikes Back) มีนักแปล บรรณาธิการ จริงๆมาร่วมงานด้วย ก็ได้รสชาติอีกแบบหนึ่ง นอกเหนือจาก style dialogue คือ beyond wording ที่คนมาร่วมพอถูกขอให้อธิบายว่ามาแล้วได้อะไร มักจะตอบอุบๆอิบๆ ยิ้มแป้นให้หนึ่งที แลบล้ินหลอกแล้วก็วิ่งหนี ปล่อยให้คนถามตีความโกอัง (Koan) ชนิด Zen master ยังส่ายหน้าแต่เพียงผู้เดียว เราก็ได้มีการพูดจาแลกเปลี่ยนเรื่องการแปลอย่างค่อนข้างเป็นเรื่องเป็นราว (เป็นเรื่องเป็นราวขนาดมีคนพกดิกชันนารีมาด้วยนะเนี่ย)

จริยธรรมการแปล

นักแปลก็เป็นอาชีพหนึ่ง เป็นการถ่ายทอดข้ามภาษา แน่นอนอะไรก็ตามที่เป็นข้อมูลข่าวสาร ก็จะมีศักยภาพที่เราไม่อาจจะประเมินต่ำเกินไปได้ การถ่ายทอดสาระข้ามภาษาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ในการสนทนาหลายช่วง ตั้งแต่ระหว่างการเดิน ไป_กลับ ข้ามสนามบินเก่าระยะทางกว่า 4 กิโลเมตรตอนหกโมงเย็น และกลุ่มย่อย (ที่เขียนป้ายไว้คำเดียว โดดๆว่า "แปล" มีเนื้อที่เหลือไว้เต็มกระดาษ flip board ซึ่งไม่มีคนเขียนเติมลงไปเลย) โยดาทำหน้าที่โยนคำถามกวน (โอ๊ย) เป็นระยะๆ ทำให้เราเดิน 4 กม.โดยไม่เหนือย (body heat ขึ้นเรื่อยๆเสียด้วยซ้ำ)
ภาษาที่สวยเป็นอย่างไร?
การแปลคืออะไร?
ภาษาที่เข้าไปนั่งในใจ สวยไหม?
แค่เข้าไปในนั่งในใจพอไหม? หรือต้องเอาไปทำอะไรอย่างอื่นด้วย?
ภาษาที่เข้าไป "สั่น" สะเทือนใจ สะเทือนอารมณ์ล่ะ? สวยไหม? เป็นภาษาแบบไหน?

นักแปลจะพยายามถ่ายทอดสิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะถ่ายทอดออกมา อย่าง "authentic ที่สุด" ตรงนี้มีอุปสรรคนอนขวางอยู่เบื้องหน้า หลายประการ อาทิ

ผู้ประพันธ์เองก็อาจจะไม่สามารถใช้ภาษาที่มีอยู่ถ่ายทอดสิ่งที่คิด สิ่งที่รู้สึกออกมาได้ทั้งหมด

ภาษาที่ใช้ มีรากเหง้า ที่มา วัฒนธรรม ความเชื่อ ตัวตนของผู้ประพันธ์ปะปนอย่างแยกไม่ออก

คำที่ใช้เต็มไปด้วยประสบการณ์ ไม่ได้มีเพียงแต่ semantic หรือ wording ถ้อยคำ แต่วรรณกรรมที่สั่นสะเทือนใจ มักจะมี element of episodic ปะปนอยู่เสมอ

Episodic เป็นของปัจเจกบุคคล ยากที่ภาษาใดๆจะมาทดแทน ทำให้เข้าถึงได้ เช่น "ยามฉันได้ยินคลื่นสุนามิกระแทกชายหาดครั้งแรก เสียงคนหวีดร้อง เสียงแม่แผดก้องเมื่อมือของลูกน้อยหลุดมือ" พวกเราก็ได้แต่จินตนาการว่ามัน "น่าจะ" เป็นอย่างไร มีใครกล้าบอกเต็มปาก เต็มคำว่า "ฉันสามารถบรรยาย แปล ได้ว่า แม่คนนั้นกำลังรู้สึกเช่นไรอยู่"ฮืม และคนที่ได้ยินคนนี้่ เขาน่าจะรู้สึกเช่นไร? เราก็ได้แต่เพียงจินตนาการ ว่า "ถ้าเป็นเรา เราจะรู้สึกอย่างไร แค่ไหน?"

"ยามเมือทหารเกสตาโป พังประตูเข้ามา พ่อแม่จับฉันยัดไว้ในตู้กับข้าว เสียงตะโกนของทหารเยอรมันดัง ฉันฟังไม่รู้เรีื่อง ฉันกลัว" ใครจะสามารถบรรยาย "ความกลัว" นี้ออกมาอย่าง authentic ได้บ้าง?

คนอังกฤษมี islander mentality ที่พิศดาร ครั้งหนึ่ง มีหมอกจัดลงมา จนกระทั่งการเดินทางข้าม English Channel (ทางเรือ) ทำไม่ได้ในวันนั้น หนังสือพิมพ์อังกฤษก็ลงพาดหัว "Today Continent is Cut-Off!!"  แทนที่จะเป็น England is cut-off เราจะบรรยายความรู้สีกเช่นนี้ไม่ออกเลย ว่าเป็นอย่างไร ความเป็น "ชาวเกาะ" มันหมายถึงหลายๆอย่าง ความปลอดภัย ความรู้สึก reassure ว่าไม่มีใครบุกมาโดยไม่รู้ตัว ความเป็นสันโดษ ฯลฯ

ความสัมพันธฺระหว่างชนชาติ ที่คนอื่นๆยากจะเข้าใจ เช่น ทำไมคนอังกฤษจึงได้รู้สึกพิสดารกับคนฝรั่งเศส ทำไมจึงมีคำ French word, Frog, Dutch Wife, Forgive my french, etc ของเราเองก็ใช่ย่อย เวลาเราพูดถึงพม่า ลาว จีน (เจ๊ก) แขก เราก็มีภาษิต คำพังเพย ที่คนชาติอื่นๆจะฟังแล้ว "ไม่ make sense" สักเท่าไร เต็มไปหมด

โยดาเล่าให้ฟังว่า ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ก็ได้แปลหนังสือหลายเล่ม ล้วนเป็นหนังสือที่ทรงพลัง สร้าง กระตุ้นแรงบันดาลใจ แน่นอน หนังสือภาษาไทยก็มี หนังสือต่างประเทศก็มี ที่มีแรงบันดาลใจ ในที่นี้ คงจะหมายถึงหนังสือภาษาอังกฤษ ปรากฏว่า การแปลหนังสือในแต่ละครั้ง เราแทบจะถอดจิตวิญญาณของเรา เพื่อให้ซึมซับ เข้าถึง สภาวะจิตของผู้เขียน มีช่วงที่ดำรงชีวิตเหมือนอดัม เคิร์ลบ้าง เหมือนคาปราบ้าง (for the figure of speech) อันนี้น่าจะเป็นอุปมา อุปมัย เวลาเราพยายามสร้าง episodic หรือประสบการณ์ตรงจากเครื่องมือที่เป็น semantic หรือภาษา ถ้อยคำ (เนื่องจากสองคำนี้เป็นคำจำเพาะ เวลาบังอาจแปล ขอใส่คำเดิมเพื่อความสมบูรณ์)

ฮัมเบอร์โต มาตูรานา และฟรานซิสโก วาเรลา คงจะบอกเราได้ถึงความพิศดารในการสื่อสาร ความสับสนที่การันตีว่ามีอยู่ต่อไป ความแน่นอนของการที่เราจะต้องใช้การอ้างอิงตนเอง มารับรู้สิ่งเร้า สิ่งกระทบต่างๆ ในทางปฏิจจสมุปบาท ใครจะตัดทอนขันธ์ 5 ออกไปได้อย่างสิ้นเชิง เราอาศัย สัญญา ความทรงจำ มาทำให้เกิดความรู้สึก เกิดอุปาทานต่างๆ ว่ามี/ไม่มี ดี/ไม่ดี จนกว่าเราจะ "จำลอง" ประสบการณ์ตรงที่ทรงพลังใกล้เคียงกับผู้ประพันธ์ ที่เราอาจจะเข้าใกล้ authenticity ได้ มิฉะนั้น เราพยายามที่จะจำลอง ก็แค่นั้น

การแปลอีกปะเภทคือ การจับใจความ

เป็นการทุ่มเท self ลงไปรับรู้ความคิด ห้อยแขวน และรอให้ความจริงลงไปคลุกเคล้า ซึมซับกับตัวตนของเรา ผุดบังเกิดเป็นพลัง authentic ของเราเอง เป็นของเราที่แท้ ไม่ปรุงแต่ง และนำไปใช้ นั่นคือความหมายที่ว่า เราจะแปลอย่างไร แบบไหนนั้น สิ่งสำคัญที่สุด อาจจะเป็นว่า หลังจากแปลแล้ว เรากลายเป็นคนเช่นไร มันอาจจะไม่สำคัญเท่าไรนักว่า version ไหนของการแปล จะตรงกับคนเขียนมากที่สุด แต่หลังจากอ่านไปแล้ว คนอ่านกลายเป็นอะไร หรืออย่างไร ตรงนี้ที่จะมีผลต่อคนอ่าน ต่อชุมชนคนรอบข้าง ต่อสังคม ว่าเราแปลเสร็จ กลายเป็นคนหวาดระแวง คนขี้กลัว คนมีความสุข คนมีความทุกข์ คนที่สับสน คนที่มั่นใจ คนที่เกิดแรงบันดาลใจ ตรงนี้อาจจะเป็นเรื่องสำคัญมาก รึเปล่า?

ในภาพยนต์เรื่องราโชมอน เราดูจบ ก็ไม่ทราบว่าเรื่องไหนเป็นเรืองจริง แท้ที่จริง ทุกๆ version นั้น จริงที่สุดสำหรับแต่ละคน เพราะเราจะเติมคำลงในช่องว่างของ episodic ด้วย self reference ทั้งสิ้น เวลาเราอ่านคัมภีร์ หรือ scripture หรือ pali canon หรือพระไตรปิฏก เราก็กำลังอ่านหนังสือแปลเช่นเดียวกัน ของคนในยุคกว่า 2500 ปีก่อน คิดว่า "บริบท" จะมีผลต่อภาษา ความหมาย และ authenticity หรือไม่? อย่างไร?

แปลอย่างที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ / แปลอย่างที่คนแปลรู้สึก และเกิดแรงบันดาลใจ / แปลออกเป็นความเป็นไปได้ทั้งหมด ว่ามีีกี่แบบ กี่ประเภท จากมุมมองต่างๆ

แปลอย่างไร?

ในสามแบบที่กล่าวมา เป็นการแปลที่เกิดขึ้นจริง มาก น้อย ตามบริบทของแต่ละคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน นักแปลอาชีพจะแปล (หรือพยายาม) แบบแรก คนที่อ่านเพื่อนำไปใช้ ก็จะแปลแบบที่สอง คนที่อ่านแบบวิเคราะห์ สอนการอ่าน สอนการแปล ก็อาจจะจำแนกแจกแจงในแบบที่สาม

ไม่ว่าจะแปลอย่างไร ถ้าคนแปลทุ่มเททั้งกาย ใจ สติ อารมณ์ความคิด ก็จะส่งผลต่อตัวตนของคนแปล การทุ่มเทนี้เป็นการจำลอง episodic experience เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งขึ้นมาได้

ภาษาที่สวยงามนั้นเป็น subjective ความสวยเป็นความรู้สึกที่ immediate ออกมาฉับพลันทันที ไม่สามารถจะคิดล่วงหน้า จะเตรียมล่วงหน้า แต่เป็นการปลดเปลือยอารมณ์ให้สั่นไหวไปตามการรับรู้ ในขั้นแรก "ความรู้สึกสวยงาม" บังเกิดทันที บางครั้งโดยยังไม่ทันมี "ความคิด" เสียด้วยซ้ำ เช่น การฟังเสียงธรรมชาติ น้ำไหล ฝนตก คลื่นซัด ก็เป็นชุดภาษาที่สวยงามได้ ต่อจากนั้น เมื่อมีสัญญา เวทนา ขึ้น ก็เกิดความหมาย เข้าไปจับต้องความทรงจำ ให้ความหมายต่างๆ เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความสะเทือนใจ เกิดอารมณ์ และอาจจะกระทบถึงตัวตนของผู้รับได้

การที่ภาษาเข้าไปนั่งในใจ นั่งแล้วทำอะไรต่อ ก็คงจะเป็นประสบการณ์ตรง ส่วนตัว แบบเดียวกับเรื่องราวราโชมอน บางคนฟังลำตัด เพลงฉ่อย ก็ได้ยินเสียงสัมผัส คำหลากหลายมาเรียงร้อย เกิดจังหวะจะโคน เกิดความไพเราะ เกิดความผ่อนคลาย เกิดความสนุกสนาน ภาษาลำตัด และเพลงฉ่อย เพลงร้องเหล่านี้ อาจจะพรรณนาเรื่องราวพื้นๆ ไม่วิลิศมาหรา ไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่ก็ทำให้ชีวิตรื่นรมย์ไประยะหนึ่ง ใครจะสามารถเปรียบเทียบ ความยิ่งใหญ่เล่านี้ได้? บางที ความรื่นรมย์เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะเพียงพอที่จะช่วยให้ใครบางคนที่เศร้าเสียใจ อยากจะฆ่าตัวตาย ล้มเลิกความคิดไป คนๆนั้นต่อมา อาจจะกลายเป็นนักดนตรียิ่งใหญ่ เป็นรัฐบุรุษ เป็นมหาบุรุษก็ได้ ความยิ่งใหญ่ สวยงาม ของภาษาเราจะวัดจากอะไรดี? จำเป็นต้องเป็นเพลง classic เพลงพื้นบ้าน จังหวะเคาะดึกดำบรรพ์ หรือแม้กระทั่งเสียงฮึมฮัม chanting ของชนเผ่าพื้นเมือง ก็แฝงแรงบันดาลใจ ความหมาย มานานนับหลายชั่วอายุคน

คำถามที่น่าสนใจอาจจะเป็น ที่จริงแล้ว ภาษาสวยงาม หรือเข้าไปนั่งในใจเรานั้น เป็นเพราะเรา หรือเพราะภาษานั้นๆกันแน่?

ป็นไปได้ไหมที่เราอาจจะยอมให้ภาษาที่ใครคนอื่นบอกว่า ไม่เห็นสวย ไม่เห็นงาม เข้ามานั่งในใจของเรา? เมื่อนั้น เราจะเป็นคนแบบไหน เราจะกลายเป็นอะไร?

หมายเลขบันทึก: 151864เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

ในเรื่องของการแปล

ความเห็นของดิฉันว่า....

การแปลภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งนั้น ถ้าว่ากันถึงที่สุดแล้วทำยากมากค่ะ   เพราะถึงอย่างไรก็ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนหรือไขว้เขวในด้านความหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บางที  ความหมายมันกว้างขึ้นบ้าง, แคบลงบ้าง, เน้นผิดที่บ้าง, ให้นัยะประวัติที่แตกต่างกันบ้าง, แสดงสีสันและน้ำหนักที่ต่างกันบ้าง ฯลฯ

ดิฉันเคยอ่านพบนานมาแล้วว่า  คำว่า school ซึ่งไทยบัญญัติศัพท์ว่า "โรงเรียน" ขึ้นใช้นั้น    ใความหมายให้ความสำคัญแก่สถานที่หรืออาคารอย่างมาก

แต่ คำว่า school ในภาษาอังกฤษ มีรากมาจากคำว่า schole ในภาษากรีก ซึ่งแปลว่าเวลาว่างที่ใช้ในการเรียนรู้ คำนี้กลายเป็น schol(a) ในภาษาละติน กลายเป็นคำว่า scol ในภาษาอังกฤษเก่า กลายเป็น scole ในภาษาอังกฤษสมัยกลาง และเป็นคำว่า school ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน

คือ.... ไม่เกี่ยวกับอาคารสถานที่ ไม่เกี่ยวกับระบบระเบียบอะไร  แต่การเรียนรู้ เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง

จะ แปลว่าสำนักคิดก็ได้ แปลว่าระเบียบวิธีการศึกษาก็ได้ เป็นต้น เพราะรากของคำมาจากเรื่องของการเรียนรู้ไม่ใช่อาคาร

  ดังนั้น การ"แปล" คือการหาคำที่ใกล้เคียงกับคำๆนั้นในภาษาของเราที่สุดมาใช้ต่างหาก ฉะนั้น ส่วนใหญ่แล้วจึงไม่ค่อยจะตรงกันจริงสักที 

ทั้งนี้ เพราะความหมายของคำไม่เคยอยู่ลอยๆ แต่จะต้องมี "บริบท" เสมอ

คือ บริบททางภาษา  และอีกบริบทหนึ่งที่มีความสำคัญเท่าๆ กัน  คือบริบททางวัฒนธรรมหรือทางสังคม ซึ่งจะ ต้องเรียนรู้เอาจากประสบการณ์จริงเท่านั้น

โดยสรุปก็คือ การแปลภาษา คือการถ่ายเทความหมายอย่างหยาบๆ จากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งเท่านั้นค่ะ

ผมเห็นด้วยว่าเป็นการถ่ายเทความหมายนะครับ

แต่อย่างหยาบหรือละเอียด ตรงนี้เป็นประเด็นเหมือนกัน

คนเรานี่ อ่าน แปล เกือบตลอดเวลาเลยนะครับ ทั้งหนังสอหนังหา ภาพยนต์ เสียงดนตรี การละเล่นเต้นรำ ฯลฯ

ตัวเราเองที่เป็นคนกำหนดความหยาบ ความละเอียดตอนแปลสิ่งต่างๆรอบๆตัวเรา

ตอนผมไป gallery หรือพิพิธ๓ัณฑ์ ผมสังเกตเห็นบางคน จะ in กับผลงานเบื้องหน้ามากมาย หรือไม่สนใจเลย คุยกัน แซวกัน นั่นเป็นเพราะผลงานนั้นๆ สื่อตรงหรือไม่ตรงใจคนรับ ไม่ได้หมายความใครดี/ใ่ดี เก่ง/ไม่เก่ง ดังนั้นเองนักแปลบางคน เมื่อหยิบหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจในการดำรงชีวิต คนแปลแทบจะเรียกได้ว่า "ทุ่มเทชีวิตจิตใจ" ลงไปเพื่อรับรู้ และถ่ายทอด

บางคนพยายาม "เดาใจ" ว่าเขียนมาหมายถึงอย่างไร แต่บางคนเห็นว่า การถ่ายทอดว่าคนแปล "โดนใจ" แบบไหน อย่างไร ก็จะมีใครบอกได้ว่าผิดวิธี? 

บางคนแปลหนังสือบางเล่ม บางเรื่อง ด้วยความรู้สึกอย่างที่เรียกว่าเป็นกิจกรรมสุดท้ายแห่งชีวิตที่จะทำ นั่นลยทีเดียว

อาจจะไม่ถึงกับหยาบซะทีเดียวก็ได้ครับ 

ค่ะ เห็นด้วยอย่างที่คุณหมอบอกค่ะ แต่มีน้อยหน่อยนะคะ

อีกปัญหาหนึ่ง คือ ทุกภาษามี การสร้างศัพท์ใหม่ๆมาตลอด คนแปลก็ต้องคอยup date ตัวเอง  เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงของภาษาที่กิดขึ้นเช่นกัน

มีหนังสืออยู่หลายเรื่อง ที่ยากจะมีคนแปลได้อรรถรส ตามที่คนเขียนๆนะคะ เช่น Tuesdays with Morrie โดยMitch Albom เป็นหนังสือขายดีตลอดกาลของNew York Times

ลูกชายเอามาให้อ่านค่ะ และบอกว่า แม่คงใช้เวลานานหน่อยที่จะอ่านให้จบเพราะ อ่านไปร้องไห้ไปแน่ๆ

ครูมอร์รี่ ที่เป็นครุตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

สวัสดีครับ

จริงครับ ขึ้นอยู่กับพลังสภาวะด้วยครับ การรับรู้เรื่องราวของคนเรา และชุดภาษามักจะขาดอะไรบางอย่างไปจาก "ประสบการณ์ตรง" เสมอ

แต่ไม่ได้แปลว่าเรารับรู้ไม่ได้ บ่อยครั้งถ้าเรื่องราวตรงกับเรื่องราวที่เราเข้าใจ หรือมีประสบการณ์ เราสามารถจะเกิดแรงบันดาลใจ ที่อาจจะทรงพลังเสียยิ่งกว่าเจ้าของเรื่องที่เราอ่านได้ด้วยซ้ำไป มันคงไม่ได้เป็นกฏตายตัวว่าเราจะได้อะไรน้อยกว่าที่เขาเขียนเสมอไป

"อรรถรส" นั้นเป็นของปัจเจกบุคคลนะครับ เวลาเราอ่านเรื่องๆหนึ่งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการมองชีวิต มองประสบการณ์ อย่างขอยืมเรื่องราวของคนประพันธ์ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นการอนุญาตให้ชีวิตเรา มุมมองของเรา ประสบการณ์ ความเชื่อ และคุณค่า ของตัวเราเอง เข้าไปสอดประสานกับเรื่องนั้นๆ 

คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราอ่านอะไรก็แล้วแต่ จะสามารถทำให้รู้สึกเหมือนกับอ่าน masterpiece ตลอดเวลานะครับ นั้นแปลว่าเราเปิดหัวใจรับรู้ประสบการณ์ได้หลากหลายมากมายไร้ขอบเขตเลยทีเดียว 

 P

โอ้โฮ ยอมแพ้อาจารย์ค่ะ เป็นระดับครูของครู อย่างแท้จริง นะคะ จริงๆด้วย

คิดว่าคุณหมอ คงมีประสบการณ์แบบ  Tuesdays with Morrie นะคะ คือได้พบcase คล้ายๆอย่างนี้

เป็นเรื่องที่กินใจจริงๆ ดิฉันอ่านแล้ว เศร้าค่ะ แต่ได้ข้อคิดและได้พลังเพิ่มขึ้นอีกมากมายค่ะ

คนเขียนๆได้ดีมากค่ะ

เห็นด้วยครับ คณะแพทย์ ม.อ. ใช้ DVD เรื่องนี้สอนนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ใช้ทุน เรื่อง Ethics and Palliative care คือ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายครับ ใช้ได้ดีจริงๆ

แวะมาอ่านมุมมองอาจารย์ครับ ผมเองไม่เคยเขียนหนังสือ แต่ก็ชอบอ่าน อ่านแล้วบางครั้งก็อยากรู้จักคนแปลเพราะ บาประโยคบางคำแฝงความหมายที่ประทับใจหลายหลาก

คนอ่าน 2 คนแม้อ่านเรื่องเดียวกันก็จับใจความที่สนใจได้ไม่เหมือนกัน นานาจิตตังครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท