คิดใหญ่ ใช้ใจร้อย : เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนประเทศไทย


เรียนรู้จากปัจเจก ดึงเอามาคิดร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดเวลาที่วิจัยและพัฒนาผมเห็นความหลากหลายของความรู้ เห็นศักยภาพของบุคคล ชุมชนที่ซ่อนไว้อย่างน่าทึ่ง ผมเริ่มเห็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนที่ใช้พลังของการเข้ามาเกี่ยวก้อยร้อยรัด

"คนทำงานวิจัย" ที่ทำงานอย่างหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา ผมหมายถึง เหล่าบรรดา นักวิจัย เช่นผมที่ เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวเที่ยวโดยชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แต่ละภาคมีนักวิจัยสองท่านที่คอยเกื้อหนุนกระบวนการ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และอีสาน พร้อมกับมีทีมงานส่วนกลางดูแลงานวิชาการหลัก ประสาน+หนุนเสริม ทีมงาน ก็ถือว่าเป็นทีมงานวิจัยที่ทำงานแล้วอบอุ่นมากที่ผมเคยสัมผัสมา

 

ที่ว่าทำงานหนักหน่วงเพราะงานพัฒนาประเด็นเครือข่ายเป็นงานหนัก เป็นงานที่ใช้ใจของคนเข้ามาเกี่ยวรัด เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ร่วมกัน   แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงวันที่ได้นั่งพูดคุย เรื่องเดียวกัน เห็นภาพที่ปลายฟ้าเดียวกันเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย

ปัจเจกเข้มแข็งขนาดไหนก็ตาม ก็ขาดอำนาจต่อรอง ดังนั้นการมาคนเดียวกับมาเป็นทีมศักยภาพแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงประเด็นที่เสนอแนวทางใหม่ๆให้กับประเทศเช่นเดียวกับ การพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) เป็นประเด็นที่ใหม่สำหรับประเทศเรา ทุกอย่างดูไม่ชัดเจนมากนัก ในการพัฒนาการท่องเที่ยวทางเลือกนี้ในพื้นที่ชนบท การสนับสนุนการพัฒนาจึงไม่สอดคล้องกับแนวคิดหลักของการท่องเที่ยวโดยชุมชนเท่าไหร่นัก และแน่นอนว่าเกิดปัญหาขึ้นต่อจากนั้นมากมายในการคิดนโยบาย แนวทางการพัฒนาที่ไม่สอดคล้อง

การท่องเที่ยว เมื่อเข้ามาในชุมชนสุ่มเสี่ยงมากในการเปลี่ยนแปลงชุมชนไปในทางลบหากชุมชนนั้นยังไม่เข้มแข็งและมีระบบการบริหารจัดการที่ดีพอ ขาดการพูดคุยแนวคิดการพัฒนาชุมชนโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ หวังผลที่จะให้ชุมชนเข้มแข็ง เรียนรู้ได้ไปด้วยกัน แต่มักจะมีผลประโยชน์เรื่อง เงิน เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จบกันเป็นรายๆไป เมื่อเริ่มต้นคิดว่า การท่องเที่ยวมุ่งเน้นที่ตัวรายได้

เรื่องที่น่ากังวลไม่ได้อยู่ที่ประเด็นที่นำมากล่าวข้างบนแต่เพียงอย่างเดียว การท่องเที่ยวเป็นกระแสโลก และกระแสการท่องเที่ยวแบบเรียนรู้พัฒนามากขึ้น นักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์นี้มากขึ้น ประเทศลาวเพื่อนบ้านของเราก็ใช้ประเด็นนี้เองในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจ จะถูก ผิด จะไม่ขอวิพากษ์ตรงนี้   ...อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ ในเมื่อใครๆก็พูดถึงการท่องเที่ยว พูดถึงโฮมสเตย์ การพูดคุยออกไปในวงกว้างมากขึ้น นิยามของโฮมสเตย์ก็หลากหลาย และในที่สุดที่เห็นที่ประชาสัมพันธ์กลายเป็นโฮมสเตย์กลายพันธุ์ เพื่อหวังมูลค่าโดยไม่สนใจมูลค่า เป็นที่พักราคาถูกเลียนแบบในเมืองแต่เข้ามาอยู่ในชนบท ...แนวทางการพัฒนาต่อของภาครัฐที่เกี่ยวข้องเองก็ยังไม่ชัดเจน และไม่เข้าใจ แต่ก็สนใจที่จะพัฒนาโดยใช้งบประมาณทุ่มลงไปยังชุมชนอย่างนี้ น่าเป็นห่วงเหลือเกิน

งานวิจัยประเด็นการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนฯ จึงเกิดขึ้น เพื่อศึกษาองค์ความรู้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มีพัฒนาการมาส่วนหนึ่งแล้วที่ภาคเหนือและภาคใต้ของไทย ผ่านงานวิจัยและพัฒนาที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และเห็นผลได้ เข้าไปเรียนรู้ได้ และยังมีชุมชนเล็กๆที่กระจายอยู่ทั่วประเทศลองผิดลองถูกอยู่

กระบวนการจัดการความรู้ จึงเป็นเส้นทางสำคัญที่จะนำไปสู่การรวบรวมองค์ความรู้เหล่านั้น พร้อมกับสร้างเวทีให้ชุมชนทั้งหมดเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลักดันให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ เครือข่ายการพัฒนา ซึ่งมีความพยายามในการทำเครือข่ายแล้วที่ นครศรีธรรมราช และที่เหนือ โดยเฉพาะชุมชนสามจังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน) ที่มีการท่องเที่ยวทางเลือกแบบเข้มข้น

งานนี้สนุกครับ เรียนรู้จากปัจเจก ดึงเอามาคิดร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดเวลาที่วิจัยและพัฒนาผมเห็นความหลากหลายของความรู้ เห็นศักยภาพของบุคคล ชุมชนที่ซ่อนไว้อย่างน่าทึ่ง ผมเริ่มเห็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนที่ใช้พลังของการเข้ามาเกี่ยวก้อยร้อยรัด

งานวิจัยระดับภาคเสร็จสิ้นลง เราได้เห็นการก่อตัวของเครือข่ายระดับภาคตามแต่ละความพร้อมและบุคลิกของแต่ละภาค เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาเครือข่ายฯ ที่ บ้านผู้หว่าน จ.นครปฐม (วันที่ ๕-๗ ก.ย.๕๐)

จะดุเดือด เข้มข้นขนาดไหน เป็นการก้าวย่างของการพัฒนาเชิงประเด็นและการพัฒนาเครือข่ายที่น่าจับตามมองเป็นอย่างยิ่ง...ผมพาเหล่าจอมพลจากภาคเหนือไปร่วมงานนี้กว่า ๔๐ ท่าน แต่ละท่านล้วนเป็นนักพัฒนาที่เป็นชาวบ้านคุณภาพคับแก้ว ส่วนการเรียงร้อยถ้อยคำจากเวทีในงานนี้ผมจะนำมาเขียนบันทึกเพื่อแลกเปลี่ยนในลำดับต่อๆไปครับ   

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ค่ำคืน ที่บ้านผู้หว่าน จ.นครปฐม

๕ ก.ย.๕๐

หมายเลขบันทึก: 126317เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2007 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

สวัสดีครับน้องเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

  • ภารกิจการสัมมนาเสร็จสิ้นแล้วใช่ไหมครับ
  • ขอให้ประสบความสำเร็จยิ่งๆขึ้นไปนะครับ
  • ขอเอาใจช่วยทุกๆคน
  • แวะมาชื่นชมคะ
  • ที่ทุกฝ่ายช่วยกันผักดัน
  • ต้องทำทั้งระบบคะ
  • โดยเฉพาะระดับล่างสุด
  • คนทั้งประเทศต้องร่วมด้วยคะ
  • ไม่ทำร้ายและเอาเปรียบนักท่องเที่ยว
  • บางครั้งคนๆเดียวทำผิดพลาดเป็นข่าวเสียหายไปทั้งโลก...เลยคะ

สวัสดีครับเพื่อน

  • สบายดีไหมครับ
  • ผมรู้จักคำว่าปัจเจกก็เพราะตอนที่สมัยร่วมรณรงค์ให้ใช้หมวกกันน็อคครับ เพราะหลายคนบอกว่าจะเป็นการทำให้เกิดความเป็นปัจเจกสูงขึ้น เพราะจากเมื่อก่อนขับรถสวนทางกันก็ทักทายกันแบบในชุมชนนะครับ พอมาตอนหลังจะให้สวมหมวกก็เกิดการทำให้มีกำแพงกั้นระหว่างแนวทางเดิมครับ
  • แต่ก็มีทั้งสองทางในการมองเป็นอย่างน้อยครับ
  • แต่การพูดคุยการดึงปัจเจกมาคุยแล้วหากทางการทำงานร่วมแบบเครือข่ายจำเป็นต้องถอดหมวกกันน็อคออกกันก่อนครับ เพราะหมวกกันน็อคนั้นปิดประสาทหลายๆ อย่างของตัวเราไว้เยอะพอสมควรครับ
  • เข้ามาทักทายนะครับผม ไม่มีสาระไรมากครับช่วงนี้ ขอให้เพื่อนสนุกในการทำงานครับ

สวัสดีครับพี่สมนึก

P

เหตุเกิดเมื่อวาน...

เราเดินทางจากนครปฐม เผลอแปบเดียวขึ้นทางเดินเข้า กทม.แบบไม่ตั้งใจ ทะลุไปยังสนามหลวง รถติดระห่ำ ค่ำวันศุกร์...โอ้..เกือบหาทางออกกลับเมืองเหนือไม่ได้ คิดถึง Blogger ทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพเลยครับ ยิ่งเห็นสถานีรถไฟทีไร ใจประหวัดคิดถึงพี่สมนึกทุกที

- -- - - - -

งานในส่วนของงานวิจัยเสร็จสิ้นลงเเล้วครับ ตอนนี้ก็เหลือเพียงนั่งสรุป วิเคราะห์ สังเคราะห์ไปตามเรื่องราว แต่ในเรื่องของปฏิบัติการนั้น ถือว่ากำลังเริ่มต้น เด็กหัดเดิน ช่วงแรกต้องฟูมฟักพอสมควรครับ...งานนี้เหนื่อยและท้าทายดี ต้องรอดูกันครับ ว่าทางก้าวของการพัฒนาเชิงประเด็นนี้จะเป็นไปอย่างไร

อย่างไรก็ดี ผมเห็นสัญญาณที่น่าดีใจจากภาครัฐแล้ว ในกรณีนี้ เพียงแต่ ชุมชนเราเข้มแข็งจรองหรือไม่- จากนั้นเราก็สานรับนโยบายระดับชาติได้ ต้องมียุทธศาสตร์ กระบวนการ ชัดเจน ผมคิดว่าเดินไปได้ไม่หลงทางและยั่งยืนในอนาคต

อีกยาวไกลเหมือนกันครับผม

 

P

สวัสดีครับ คุณ naree ครับ 

ผมนั่งฟังท่านภราเดช พยัพวิเชียร บรรยายในงานครั้งนี้ ก็เห็นด้วยตามที่ท่านได้กล่าวว่า การทำงานพัฒนาการท่องเที่ยว จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีตัวช่วย

ตัวช่วยในที่นี้คือ ภาครัฐ เอกชน ที่สามารถเกื้อหนุนชุมชนได้ การพัฒนาในอุดมคติจากล่างขึ้นบนเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาจากบนลงมาก็ต้องมีแต่มาบูรณาการความคิดกัน หาเลือก ทางออกที่เหมาะสม

ดังนั้น ครั้งนี้เป็นการประกาศศักดาของความเข้มแข็งของชุมชน และโชว์ พร้อมแชร์ กระบวนการพัฒนาชุมชนของตนเองที่เป็น "บทเรียนที่ดี" ผมเห็นภาพเหล่านี้เเล้ว อยากให้ภาครัฐเข้ามาร่วมด้วยเหลือเกิน

จริงๆในส่วนของภาคเหนือ ผมเองได้เชิญภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วยส่วนหนึ่ง แต่ก๋มีอีกส่วนที่ไม่ได้มาเนื่องจากภาระกิจปลายเดือน ปลายปีงบประมาณหนักหน่วงมาก ก็น่าเสียดายครับ...อยากให้มาเรียนรู้กับชุมชน

โดยเฉพาะประเด็น "ผลิตภัณฑ์ชุมชน"  ผมและพี่หนุ่ย แห่งคีรีวง นครฯ เป็นผู้ชวนคุย เราได้ประเด็นที่ผมคิดว่า รัฐเองก็คงต้องทบทวนตัวเองอย่างมากในการส่งเสริมงวานพัฒนาอะไรสักอย่างในชุมชน มิฉะนั้นกลายเป็นโศกนาฎกรรม OTOP อย่างที่ชาวบ้านเจอ แข่งกันเจ๊ง...

ในส่วนประเด็นเล็ก ประเด็นน้อย ผมจะทยอยนำมาเเลกปลี่ยนเป็นบันทึกครับ

ขอบคุณคุณ naree มากครับ ที่มาเยี่ยมและให้ข้อเสนอแนะ

 

 

 

 

 

P

งานนี้ผมได้เจอเสียง ตัวจริงของนักพัฒนาที่มาจากเมืองจตุคาม - นครศรีธรรมราช หลายๆคน คาดว่า ครูนงเองก็คงคุ้นเคยกับคนเหล่านี้ดีครับ เพราะผมถามหลายๆท่านก็รู้จักครูนงครับผม

บุคลิกนักพัฒนาเมืองใต้ โดดเด่นมากในสายตาผม ทั้งการพูด การนำเสนอ การใช้โวหาร คมคาย ฟันธง และเสริมด้วยมุขเด็ดๆ สมรรถนะที่เด่นๆเหล่านี้ ผมพบเห็นจากพี่น้องคนใต้ที่มาในงานนี้

ผมได้ตามไป อ่านบันทึกที่ครูนงทำลิงค์มาให้แล้วครับ และดีใจที่ชุมชน "คนนอกระบบ" ได้นำร่องการพัฒนาทางปัญญาได้อย่างสวยงาม

เป็นกำลังใจให้ครูนงครับ

ด้วยความเคารพครับ

P
  • ด้วยความคิดถึงครับ
  • ผมสบายดี เดินทางเป็นว่าเล่นหน่อย แต่ระหว่างทางมีเรื่องราวน่าเรียนรู้มากมาย น่าตื่นตามากครับ
  • อย่างที่ผมเกริ่นในตอบข้อเสนอแนะ ครูนง ในเวทีครั้งนี้ได้พบนักพัฒนาชาวใต้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากเมืองนคร ผมคิดถึงเพื่อนขึ้นมาทันที จากที่คุยกันผมเห็นศักยภาพและบุคลิกที่โดดเด่น (อย่างที่ไม่มีใครเหมือน) ของพี่น้องชาวนคร เป็นเรื่องที่ดีครับ ผมได้เรียนรู้ตัวอย่างดีๆเหล่านั้น
  • ที่พูดคุย มาทั้ง อ.ลานสกา อ.ร่อนพิบูลย์ กิ่ง อ.ช้างกลาง และหลายท่านจากเขาหลัก พังงา งานนี้เรียกว่าได้พันธมิตรที่เป็น "ปัจเจก" คุณภาพเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
  • ชอบใจที่เพื่อนเขียนถึง ความเป็นปัจเจก โดยการเทียบกับการสวมหมวกกันน๊อคครับ เห็นภาพได้ชัดดี ม่านบางๆที่กั้นระหว่างบุคคล กว่าจะเห็นหน้า เห็นทรงผม บางทีก็จำไม่ได้ เลยเหมือนเส้นคั่นบางๆระหว่างกันไปโดยปริยาย
  • หากให้เกิดพลัง คงต้องย้อนมาดูปัจเจกที่เข้มแข็ง ผมเชื่อแน่ว่า หากกระบวนการดีๆเชื่อมร้อยบุคคลเหล่านี้เข้าด้วยกัน จะเกิดพลังในการทำงานพัฒนาอย่างล้นเหลือ
  • ขอบคุณมากครับ ก็ขอให้ดูแลสุขภาพด้วย พร้อมกับทำงานชิ้นสำคัญให้เสร็จโดยเร็ว ผมรออยู่ครับที่เมืองไทย ให้กำลังใจกันครับผม

 

สวัสดี คุณจตุพร

ยังทำงานหนักเหมือนเดิมนะ

การทำงานหลายคน ย่อมดีกว่าคนเดียว

หลายความคิด ย่อมจะได้ความรู้เพิ่มขึ้น

การพัฒนา เป็นสิ่งที่ดีงาม นั่นหมายถึง เป็นการพัฒนาทั้งคน ทั้งจิตใจด้วย พร้อมกันไป

อย่าลืม ส่งเสริมทางด้านจิตใจด้วย

จะเป็นกำลังใจให้เสมอ

สุข สงบ เย็น

rainalone

สวัสดีค่ะ..คุณเอก

กำลังปั่นงานวิจัยล้านปีอยู่เหมือนกันค่ะ..จนเกือบจะเป็นไดโนเสาร์แล้วค่ะ..แหะแหะ  ทำไปด้วยแวะเยี่ยมเยียนพี่น้องในบล็อกด้วย..รื่นรมย์เชียวค่ะ..

ยังไงก็เป็นกำลังใจให้งานเสร็จสมใจนะคะ.

มีความสุขกับการทำงานและชีวิตในทุกๆวันค่ะ..

 

น้องเอกครับ

เรื่องงานวิจัย การท่องเที่ยว สังคมชุมชน การอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น

ผนวกกับการจัดการอย่างชาญฉลาดของผู้ประกอบการ หรือของชาวบ้านในชุมชน

เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง หรือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ล้วนเป็นโจทย์ให้ขบมาหลายสมัยของรัฐบาล ผู้ประกอบการและชุมชน

องค์ประกอบดังกล่าวต้องผสมผสานอย่างลงตัว

เรือนแรม พักยาว พักสั้น

เป็นจุดขาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับรับรู้ถึงแก่น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ในชุมชนนั้นๆ ผ่านการพักแรมเพียงชั่วยาม

ต้องให้เขาได้เรียนรู้สิ่งดีดี ในชุมชนต้องมีสิ่งดีดีก่อน

ที่เป็นของจริง ไม่ใช่จัดฉากหรือออเดอร์มา

ผมเคยฝันถึงกระบวนการบ่มเพาะให้นักศึกษาที่มาเรียนให้กลับไปในแต่ละท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ไปสร้างสิ่งเหล่านี้

ไปเป็นผู้ประกอบการ ไปเป็นผู้สื่อสาร ไปเป็นนักอนุรักษ์ สร้างชุมชนท้องถิ่นของตนเองให้รุ่งเรืองอย่างยั่งยืน

ผมกำลังคิดจะปักป้าย ชุมชนราชภัฏ โดยปลูกฝังความคิดนี้ นำเอากระบวนการดังกล่าวไปสร้างตัวอย่างในชุมชน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

ผมกำลังจะฝันไป หรือน้องเอกจะมาช่วยกันทำฝันให้เป็นจริง?

 

สวัสดีครับ ท่านrainalone

P

 

ทำงานไปเรื่อยๆครับ ผมหนักบ้าง เบาบ้างสลับกันไป ก็ไม่สำคัญเท่ากับทำแล้วมีความสุขในการทำงาน ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยน

การทำงานเพื่อพัฒนาจำเป็นต้องขยายเครือข่ายคนทำงานครับ เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ที่หลากหลาย กำลังใจก็มีส่วนสำคัญ และการต่อรองในหลายๆประเด็น พร้อมกับจุดยืนในสังคมไทย

เห็นด้วยว่า ต้องพัฒนาทางจิตใจด้วย หากมุ่งแต่ความสำเร็จไม่ได้ดูแลจิตใจก็ไม่ควร ทำสิ่งใด เรื่อง "ความสุข" เป็นสิ่งสำคัญ

 

ขอบคุณมากครับ ที่เเวะเวียนมาให้กำลังใจผมบ่อยๆ

 

 

 

 

P

เห็นข้อคิดเห็นของครูแอ๊ว แล้ว ขำๆครับ งานวิจัยล้านปี อย่างนี้หากเป็นงานนวัตกรรมคงช้าไม่ทันการละครับ

งานวิจัยให้ดี มีข้อมูลให้เขียนๆไว้ก่อนเพื่อได้นำมาสังเคราะห์ค่อยๆทำไป หากทำทีเดียวก็เหนื่อยครับ

ทำไปแวะเยี่ยมพี่น้องใน gotoknow ไป ข้อดีก็คือ คลายเครียด ส่วนผลที่ตามมาก็คืออาจเพลิดเพลินจนงานต้องทำต่ออีก ล้านปีครับ อิอิ

มีความสุขกับการทำงานเช่นกันครับ

ขอบคุณเสมอกับมิตรภาพดีๆครับผม

 

 

 

สวัสดีครับอาจารย์

P
อาจารย์ พิชัย กรรณกุลสุนทร  ที่เคารพรัก

ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎ มีหลักสูตรเกี่ยวกับทางด้านท่องเที่ยวด้วย และเทรนท์ของการท่องเที่ยวในอนาคต ecotourism กำลังได้รับความสนใจ เพราะเราเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น

ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเพราะมีทั้งตัวคุณค่า และมูลค่าอยู่ ที่สำคัญที่สุดเราหนีไม่พ้นจากกระแสฟ้ามิอาจกั้นได้เลย การท่องเที่ยวที่มาจากทุนนิยมเข้าไปหาชุมชนแน่

โจทย์ที่น่าจะท้าทาย โปรแกรมการท่องเที่ยวของ มรภ. น่าจะเน้นประเด็นนี้ครับ เพราะ การท่องเที่ยวกระแสหลักทำความบอบช้ำให้ผู้คนทรัพยากรมานาน  ตราบใดที่เรายังผลิตบัณฑิตที่รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่เพียงแนวทางเดียว ก็หมายถึงวิถีคิดเด็กเหล่านั้นมุ่ง กำไร ขาดทุน คิดในเชิงธุรกิจแบบนี้ห่างไกลชุมชนมากขึ้นทุกที

พันธกิจของ มรภ.นั้น หากเน้นการรับใช้ท้องถิ่น ผลิตคนที่มีปัญญา พัฒนาท้องถิ่น การเรียนการสอนอาจต้องให้ชัดเจนว่า ผลิตเด็กออกมาแล้วเพื่อสนองตลาดไหน สนองชุมชนด้วยหรือไม่

เป็นไปได้ว่าต้องผลิตออกมาทั้งสองแบบ หรือผสมผสานกัน

ทั้งหมดผมเองได้ทำงานในส่วนของนักพัฒนา และใช้ประเด็นการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน ผมเห็นว่าในส่วนของกระบวนการทำให้คนเข้ามาร่วมคิด ร่วมกันวางแผนกำหนดวิถีตนเองได้ สรางภูมิคุ้มกันไว้ก่อน ที่การท่องเที่ยวจะมา หรือ มาแล้วชุมชนจัดการได้ เป็นเรื่องที่เราต้องการเลยครับ

เป้าหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้น เรามองใน ๓ ประเด็นหลักด้วยกันครับ

  • ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม หากเราจัดการ สวล.ไม่ดีพอก็เกิดปัญหา ผลกระทบต่างๆมากมาย การท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ จะช่วยในการฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรไว้
  • ความยั่งยืนของสังคมและวัฒนธรรม เช่นเดียวกันครับ การท่องเที่ยวโดยชุมชนก่อให้เกิดการรื้อฟื้นความรู้เดิมของชุมชน นำมาบอกกล่าวเล่าขาน ให้กับลูกหลานและนักท่องเที่ยว
  • ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ส่วนนี้อาจไม่เน้นมาก แต่ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่ง ที่หารท่องเที่ยวจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ครับ

ในส่วนฝันของอาจารย์นั้น ผมขอสนับสนุนเต็มที่ครับ และมีโอกาสผมขอร่วมด้วยช่วยกัน มีช่องทางใดที่ผมสามารถทำได้ แจ้งมาได้ครับ

ส่วนเนื้อหาที่เป็นความรู้ประเด็น "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" สามารถอ่านได้จากบันทึกผม ที่เขียนเกี่ยวกับการพัฒนาเชิงประเด็นเหล่านี้ครับ

ชื่อบันทึก
ท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT : ขุมเรียนรู้เพื่อการพัฒนาชุมชนด้านการท่องเที่ยว
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
“วิจัยเพื่อท้องถิ่น” กับการพัฒนาชุมชน จุดเริ่มต้นของ “อปท”
กระบวนการสำคัญกว่าเป้าหมาย : ท่องเที่ยวชุมชนภูชี้ฟ้า
การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการท่องเที่ยว เพื่อการเรียนรู้
การท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวแบบ "พอเพียง"
กระบวนการการจัดการความรู้ การท่องเที่ยวโดยชุมชนแม่ฮ่องสอน
การท่องเที่ยวโดยชุมชน เปรียบเสมือนดาบสองคม
ขุมความคิด : การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การท่องเที่ยวโดยชุมชน
บ้านลีซูน้ำริน...หมู่บ้านกลางหุบเขาปางมะผ้า
ทำทริปท่องเที่ยวให้สนุก...ท่องเที่ยวชุมชน
ร้อยรัดนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น...ท่องเที่ยวโดยชุมชน
การท่องเที่ยวที่กำลังจะตาย...หากคิดแต่เรื่องรายได้
เครือข่าย...จำเป็นอย่างไรกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน
บางเสี้ยว...แห่งลุ่มน้ำสาละวิน...มุมมองที่ถูกมองข้าม (ตอนที่ ๑)
บางเสี้ยว...แห่งลุ่มน้ำสาละวิน...มุมมองที่ถูกมองข้าม (ตอนที่ ๒ จบ )
ขอโทษครับ ผมนักวิจัยนะ ไม่ไช่ไกด์มืออาชีพ
การท่องเที่ยวโดยชุมชน แก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวกระแสหลัก
ก้าวย่างของ...สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประเทศไทย
ตลาดที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชน : ประเด็นที่ต้องช่วยกันคิด
ลุ้น KM เครื่องมือพัฒนา เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนประเทศไทย
สัประยุทธ์ การเคลื่อนตัว การท่องเที่ยวโดยชุมชนแม่ฮ่องสอน
ผลกระทบเชิงบวก"การท่องเที่ยวโดยชุมชน" แม่ฮ่องสอน
รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนแม่ฮ่องสอน
การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจริงหรือไม่?
เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนก้าวไปพร้อมกับการจัดการความรู้
เรียนรู้ - แลดูตนเอง เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือ
การท่องเที่ยวโดยชุมชน "ดาบสองคม" ในการพัฒนาชุมชน
ท่องเที่ยวโดยชุมชน กับ ความสมานฉันท์ - ประเด็นคิดจากโฮมสเตย์กลางเมืองหลวง

ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ สำหรับขวัญกำลังใจที่อาจารย์มีให้ผม

 

ขอให้อาจารย์ดูแลสุขภาพด้วยครับ

สวัสดีค่ะคุณเอก ดีใจด้วยที่งานเวทีแลกเปลี่ยนฯที่เพิ่งผ่านไปได้ให้แนวทางที่จะทำให้ทีมงานสร้างเครือข่ายพันธมิตร สานต่อไปอย่างเข้มแข็ง และมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจความสำคัญของ "ตัวช่วย" มาร่วมให้ข้อคิดและรับฟังสิ่งที่ทีมงานร่วมกันทำมาอย่าง "คิดใหญ่ ใช้ใจร้อย"

คิดว่าประสบการณ์และข้อมูลที่ทำงานวิจัยมา น่าจะเขียนเป็นหนังสือที่อ่านสนุกและได้ความรู้อย่างเป็นเรื่องเล่า(ไม่ใช่รายงานการวิจัย) จะได้ทำให้สิ่งที่ค้นพบ และแนวคิดเผยแพร่ออกไปได้อีกกว้างไกล ชื่นชมมากที่คุณเอกมองอย่างครบมิติ มีความเข้าใจจริงๆที่มาจากการไปสัมผัสพื้นที่และผู้คน

เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดที่ต้องมีความเข้าใจที่ถูกทาง ทำอย่างถูกวิธี หาไม่การท่องเที่ยวจะทำลายยั่งยืน แต่สร้างมูลค่ารวดเร็วอย่างที่เป็นอยู่

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.ยุวนุช

P

งานนี้ไม่ได้เจออาจารย์ครับ ...บรรยากาศการแลกเปลี่ยน Alert มากครับ เพราะเป็นการรวมเอาภาคประชาชนที่มีคุณภาพมารวมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงสนุก หากเราให้คะเเนนกระบวนการจัดการความรู้ข้อนี้ผ่านครับ

เรื่องเครือข่าย คงต้องทำความเข้าใจครับ ปรากฏการณ์ที่พบได้ในงานคือ ความหลากหลายของกระบวนการคิดแต่ละภาคอาจจะคลิ้กตรงกันยาก การเชื่อมร้อยที่มีดุลยภาพต้องคุยกัน นี่อาจเพียงการเริ่มต้น

งานนี้มีหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เกิดขึ้นระหว่างทางในการทำงานวิจัย ผมเองได้เขียนในส่วนหนึ่งเป็นหนังสือที่ภาคภูมิใจมากครับ ผมจะแจ้งให้น้องธันยพรนำไปให้มอบให้อาจารย์

 

 

ขอบคุณอาจารย์ครับ- - - สำหรับการติดตามและให้กำลังใจทีมงานเสมอมา

 

ไม่ยักกะรู้ว่าไปงานเดียวกัน ฮ่า.....

 

 

P

คิดว่าผมคงเด่นไม่พอที่คุณหุยจะจำได้...อิอิ

เป็นทีมงานของ ภาคเหนือครับ และเป็นนักวิจัยที่เราเป็นเจ้าภาพงานที่คุณหุยไปร่วมหละครับ

เสียดายนะครับ ในห้องประชุมก็ไม่ได้กว้างมาก เเต่ ไหงไม่เจอกัน

ผมได้เจอและคุยกับ คุณหญิง แห่ง สคส. ครับ คนนี้ก็หากไม่ได้นั่งทานข้าวข้างๆ คงไม่ได้เจอกันอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท