สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ


จิตใจคนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังพร่องอยู่ มักจะดัง มักจะวอกแวกวุ่นวายไปโน่นไปนี่เสมอ แต่ถ้าจิตใจเต็ม จิตนั้นจะปราศจากจากกิเลส ตัณหาและทิฏฐิมานะทั้งหลาย สงบเงียบดังพุทธพจน์นี้แหละค่ะ

ปราสาทเขาพนมรุ้ง

ยทูนกํ ตํ สนติ      ยํ ปูรํ สนฺตเมว ตํ

สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ

พุทธพจน์
คัดจากหนังสือ "ไตรรัตน์ ๓" หนังสือรวบรวมประวัติและคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ดิฉันได้รับหนังสือเล่มนี้จากน้องข้ามสีทันดร  ขออนุโมทนาในธรรมทานด้วยค่ะ ที่ดิฉันติดใจในพุทธพจน์นี้แม้นจะอ่านบาลีไม่ออกเลย แต่คำแปลนั้นตรงใจและเห็นจริงมากๆ ดังตัวอย่างในชีวิตประจำวันของเราง่ายๆ ดังนี้

ดิฉันสอนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพ เคยยกตัวอย่างในการสอนเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพให้กับนักศึกษาฟังว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเดินเข้าไปในห้องน้ำของอาคารไหน แล้วรู้สึกว่าไม่อยากมาที่นั่นอีกแล้ว หรือออกจากห้องน้ำมาแล้วมาบ่นให้เพื่อนฟังว่า ห้องน้ำเหม็น มีน้ำนองเป็นหย่อมๆ เนื่องจากน้ำก๊อกรั่ว หรือเนื่องจากปัญหาอื่นๆ  นั่นคือสิ่งบ่งชี้ถึงการไม่มีคุณภาพของห้องน้ำนั้นๆ หรือไปเข้าห้องน้ำที่สุวรรณภูมิมาแล้วออกมาบ่นให้เพื่อนฝูงพี่น้องฟัง ก็คืออาการไม่มีคุณภาพของห้องน้ำที่สุวรรณภูมิเช่นกัน หรือไปต่อเครื่องบินที่สุวรรณภูมิแล้วเกือบตกเครื่องบินเพราะหาทางไป gate ไม่ถูก ก็คืออาการไม่มีคุณภาพของสนามบินเหมือนกัน

หลายคนอาจคิดว่า...ใช่สิ... ถ้าอะไรมันไม่ดีเราก็คงออกมาบ่นแน่ๆ แต่นัยสำคัญของเรื่องนี้คือ ถ้าเราเข้าไปในห้องน้ำ ทำธุระเสร็จเรียบร้อย ออกมาแล้วลืมทุกอย่างเกี่ยวกับห้องน้ำนั้น แสดงว่าอะไรคะ.... ห้องน้ำนั้นคุณภาพดีมาก จริงๆ นั่นเอง หรือถ้าเราไปสนามบินใด แล้วต่อเครื่องได้อย่างสบายใจ ถามว่าท่านจำอะไรเกี่ยวกับห้องน้ำดีๆ ที่ท่านใช้ กับอะไรที่เป็นสิ่งดีๆ ของสนามบินนั้นๆ ได้อย่างทันทีบ้าง....

ดังนั้นการมีคุณภาพดี มักเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น หรือผู้คนมักมองข้าม(อย่างไม่ได้ตั้งใจ) ในทางตรงกันข้าม ถ้าสิ่งใดไม่ดี มักเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด แบบที่ไม่ต้องสังเกตก็ยังเห็นได้ชัด  ดังพุทธพจน์ที่ว่า "สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ" นั่นแหละค่ะ

จะเห็นได้ว่าธรรมะที่มีอายุกว่า ๒๕๐๐ ปี นี้ทันสมัย และเป็นจริงเสมอ

จิตใจคนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังพร่องอยู่ มักจะดัง มักจะวอกแวกวุ่นวายไปโน่นไปนี่เสมอ ทั้งกังวล ทั้งเครียด ทั้งวิตก ทั้งอยาก ด้วยกิเลส ตัณหาและทิฏฐิมานะทั้งหลาย แต่ถ้าจิตใจเต็ม จิตนั้นจะปราศจากกิเลส ตัณหาและทิฏฐิมานะทั้งหลาย สงบเงียบดังพุทธพจน์นี้แหละค่ะ

เราควรหันมามองจิตใจเราให้มากขึ้น ถ้ายังว้าวุ่นใจอยู่เสมอ ก็แสดงว่าบางอย่างยังพร่องไปอยู่ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่จิตใจยังพร่องอยู่ ตราบใดที่เรายังเป็นปุถุชน แต่เมื่อเราสังเกตเห็น"ความพร่อง"ของจิตใจของเราแล้ว เราควรจะทำอะไรบางอย่างกับความพร่องนั้นๆ เหมือนกับถ้าเราเห็นแล้วว่าห้องน้ำที่บ้านมีก๊อกรั่ว เราก็ต้องซ่อมก๊อกน้ำนั้นๆ นั่นเองค่ะ ค่อยๆ ซ่อมทีละอย่าง ทีละเรื่อง ที่สำคัญคือต้องซ่อม..อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้จิตใจเสียหาย หรือจิตตกไปเรื่อยๆ นั่นเองค่ะ...

หมายเลขบันทึก: 117415เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2007 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)
  • "สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ"
  • สิ่งใดพร่อง ก็เติมด้วยการ"หยุด" หยุดอะไร ก็หยุดกังวล หยุดเครียด หยุดวิตก หยุดอยาก ด้วยการทำใจให้นิ่ง ใส กิเลส ตัณหาและทิฏฐิมานะทั้งหลาย ก็จะหมดไป และเมื่อจิตใจเต็ม จิตนั้นจะปราศจากจากกิเลส ตัณหาและทิฏฐิมานะทั้งหลาย สงบเงียบ ก็คือหมดิกเลส นั้นเอง 
  • ถ้าหากหลุดพ้นจากวงจรนี้ได้

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.กมลวัลย์

  • อ่านบันทึก พุทธพจน์ ของท่านแล้วได้ความรู้สึกดีๆขึ้นมาเยอะ ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะครูเสือ

ภาพวงจร ที่ให้มาในข้อคิดเห็นเนี่ยเด็ดขาดและ ชัดเจนจริงๆ ค่ะ ถ้าไม่อยากให้วงจรยังเป็นวงจรที่หมุนวนเช่นนั้นอยู่ ก็คงจะต้อง"หยุด"อย่างที่ครูเสือ ว่าไว้เลยค่ะ

บันทึกนี้ตั้งใจเขียนเพื่อให้ผู้อ่านได้สังเกตเห็นอาการ"ดัง" ของจิตใจของเราค่ะ จะได้รู้ว่าอาการ"ดัง" ที่ว่านี้คืออาการพร่องของจิตที่ไม่มีวันเติมเต็มด้วยเงิน ความต้องการหรือกิเลสตัณหาใดๆ เหมือนน้ำรั่วนั่นแหละค่ะ ถ้าจะเติมจิตให้เต็มกลับต้อง"หยุด" โดยการซ่อมก๊อกไม่ให้รั่วแทน

ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร อย่างรวดเร็วนะคะ (สงสัยวันนี้ อ.ขจิต ยังไม่ on-line ^ ^ )

สวัสดีค่ะคุณสะ-มะ-นึ-กะ

แหะๆ ^ ^ อย่าเรียกท่านเลยค่ะ รู้สึกห่างเหินไปหน่อย แล้วก็ชีวิตนี้ไม่ค่อยอยากเป็น"ท่าน"กับเขาเลยค่ะ รู้สึกว่าเกินตัวค่ะ ^ ^

ตัวเองก็ชอบพุทธพจน์นี้เหมือนกันค่ะ ตอนอ่านแล้วรู้สึกชัด..มากๆ เลยเอามาเขียนเป็นบันทึกค่ะ   ดีใจมากที่เป็นประโยชน์ค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาให้ข้อคิดเห็นนะคะ ^ ^

  • กราบสวัสดีครับอาจารย์
  • ผมก็เป็นคนหนึ่งครับที่ชอบศึกษาธรรมะ
  • ผมขออนุญาตยกคำสอนของหลวงปู่เทศน์ เทศรังษี  มาร่วมอนุโมทนาด้วยครับ 

                 ผู้ใดทำใจให้เป็นกลางได้  ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

ขอบคุณน้องสายลม มากๆ เลยค่ะ ที่หาคำคมดีๆ มาฝากกัน

การทำใจเป็นกลาง การใช้ชีวิตแบบกลางๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็นค่ะ

จิตใจที่หนักไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ชีวิตที่หนักไปยังเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป ย่อมก่อให้เกิดทุกข์เสมอค่ะ

ขอบคุณนะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะอาจารย์กมลวัลย์ พุทธพจน์นี้ทันสมัยอย่างที่อาจารย์กล่าวและยกตัวอย่างในชีวิตปัจจุบันให้เห็นจริง

เป็นสิ่งที่ช่วยสะกิดให้มองเห็น ความพร่องที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน และหันมาเอาใจใส่ขัดเกลาจิตใจ ให้เกิดความสงบเย็นในชีวิต

มีสติเมื่อไหร่ก็สามารถหยุดวงจรที่คุณครูเสือกล่าวถึงได้ค่ะ

ขอบคุณนะคะสำหรับอาหารใจ อิ่มธรรม ก่อนจะปิดเครื่องไปรับประทานอาหารเย็น

 

สวัสดีค่ะคุณพี่คุณนายดอกเตอร์

ปัจจุบันนี้สิ่งที่ดีมักถูกมองข้าม หรือถูกเรื่องที่ไม่ดีกลบเรื่องดีๆ ในเสมอ.. เรื่องไม่ดีสังเกตได้ง่าย แต่มักไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องที่ต้นเหตุ เรื่องที่ดีมักถูกมองข้าม ทำให้ถูกละเลยไม่ได้ถูกนำมาขยายผลปฏิบัติกันต่อ

เราได้เห็นตัวอย่างเรื่องไม่ดีกันเยอะแยะในสื่อต่างๆ แต่เรื่องคุณธรรมจริยธรรมของคนดีๆ กลับเห็นได้ยากมากในสื่อปัจจุบัน

ประเทศไทยมีเรื่องดีๆ ที่ถูกมองข้ามไปเยอะเลยค่ะ ทั้งศิลปวัฒนธรรม คนดีๆ หรือคุณธรรมจริยธรรมต่างๆ เรามักจะเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้เมื่อมันไม่มีคุณภาพไปแล้ว หรือเราสูญเสียมันไปแล้วนั่นเอง.. น่าเสียดาย แต่ก็เป็นวัฎจักร เป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ

ก็คงต้องรักษาจิต เจริญสติกันต่อไปค่ะ

ขอบคุณคุณพี่นะคะที่แวะเข้ามา ลปรร กันเสมอค่ะ ^ ^

เข้ามาเสพธรรมครับ

เตือนสติเราดีจังเลย

เตือนบ่อยๆจะได้ไม่งุ่นง่าน

เอ..เพื่อนๆ G2K ที่ใฝ่ธรรมมีมากนะครับ ต่อไปอาจจะมีการจัดเสวนาเฉพาะเรื่องนี้กันบ้างละมั๊ง

สวัสดีค่ะคุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

พยายามเตือนตัวเองบ่อยๆ เหมือนกันค่ะ บางทีก็หลุดจากการเจริญสติ วันหนึ่งๆ ก็หลุดบ่อยเหมือนกัน  ^ ^  การได้มาอ่าน ได้มาเขียน และมีกัลยาณมิตรช่วยส่งเสริม โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน gotoknow นี้ดีจริงๆ เลยค่ะ ผลัดกันเตือนไม่ให้สติหาย จะได้เห็นสิ่งดีงามที่มีอยู่ในมนุษย์ ในตัวเรา ในครอบครัวและเพื่อนฝูงกัลยาณมิตรของเรา มันเป็นกำลังใจดีค่ะ

การจัดเสวนาเฉพาะเรื่องธรรมะอาจจะจำกัดผู้เข้าร่วมสัมมนาไปนิดหนึ่งค่ะ อาจเป็นการสัมมนาที่เงียบมากกกกกก เน้นเจริญสติ เข้าสมาธิวิปัสนากันเป็นแถว... อาจหาคนเข้าฟังได้น้อย และวิทยากรก็เน้นปลีกวิเวกมากกว่าค่ะ 55555

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ

555 เข้ามาดูเพราะตกใจคิดว่า IE มี bug ทำให้ preview ตัวหนังสือแปลกๆ พยายามอ่านไม่รู้ออกเสียงถูกหรือเปล่า ช่วยแก้ให้ด้วยนะคะ "ยะทูนกัง ตังสนติ ยังปูรัง สันตะเมวะ ตัง" ขอบคุณค่ะที่เอามาฝาก พุทธศาสนานี่เป็นปรัชญาจริงๆ

เอ่อ.... ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ที่อ่านบาลีออกด่วนค่ะ  55555  ไม่สามารถตรวจการออกเสียงของคุณLittle Jazz \(^o^)/  ได้ค่ะ

ลอกมาจากหนังสือทั้งหมดเลยค่ะ กว่าจะหา ตัวจุดล่างฺ จุดบนํ เจอใน key board ก็เกือบตาลายค่ะ ^ ^ รู้ด้วยค่ะว่ามีชื่อเรียกเฉพาะ แต่ไม่รู้เลยค่ะ ขอความรู้ผู้รู้ด้วยนะคะ ^ ^

ปรัชญาในศาสนาต่างๆ นั้นน่าจะมีเยอะเลยนะคะ เป็นปัญญาของศาสดา และคนรุ่นก่อนๆ ที่เห็นสัจธรรม นำมาถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลังอย่างพวกเราได้เรียนรู้  เฉพาะพุทธศาสนาก็มีเยอะเลยค่ะ เพิ่งเริ่มศึกษาไปเรื่อยๆ และยิ่งรู้สึกถึงสัจธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

ได้ข่าว(จากบันทึกอ.พิชัย) ว่าทำงานหนักมาก พักผ่อนด้วยนะคะ เดี๋ยวถึงวันงานจะหมดแรงข้าวต้มเสียก่อน จะกินได้ไม่เยอะนะ อิอิ ^ ^

สวัสดีครับพี่ดร.กมลวัลย์

ก่อนอื่น...ขออนุโมทนากับธรรมที่พี่เกี่ยวและเก็บได้จากหนังสือ และที่ผุดขึ้นเองในใจ...สาธุ

เรื่องทำนองนี้ ท่านเจ้าคุณนรฯ ก็กล่าวว่า "ของจริงนิ่งเหมือนเป็นใบ้ ของพูดได้นั้นไม่จริง"

สวัสดีค่ะน้องข้ามสีทันดร

ต้องขอขอบคุณที่ช่วยต่อยอดโดยการส่งหนังสือมาให้ด้วยค่ะ อนุโมทนาเช่นกัน

ขอบคุณนะคะ ^ ^

  • แวะมาเรียนรู้ครับ
  • เห็นด้วยกับพี่บางทรายนะครับ  แต่ก็เห็นหลายท่านได้เสวนาธรรมะกันบ้างแล้วนะครับ.. 
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • อ่านเรื่องนี้แล้วทำให้ผมหวนคิดถึงเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง
  • คนที่รู้จักพอ มีสันโดษ เหมือนคนที่เต็ม ไม่พร่อง ย่อมมีความสงบ
  • แต่คนที่ยังมากด้วย กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ย่อมวุ่นวายแน่นอน
  • สาธุวันนี้ได้ข้อคิดดีๆ จาก อ.กมลวัลย์ และน้องข้ามสีทันดร
  • ขออนุโมทนา

สวัสดีค่ะคุณสิงห์ป่าสัก

วันหลังถ้าจัดเฮฮาศาสตร์แล้วได้ไปอีก อาจจะไปสนทนาธรรมกันก็ได้ค่ะ ^ ^ 

แต่ที่แลกเปลี่ยนกันผ่าน gotoknow ก็ได้เรียนรู้จากกันและกันมากอยู่ค่ะ ตั้งแต่มาเข้า gotoknow ก็ได้พัฒนาความรู้และการปฎิบัติไปมากเลยค่ะ ต้องขอบคุณ gotoknow จริงๆ ^ ^

ขอบคุณที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นนะคะ

สวัสดีค่ะอ.พิสูจน์

นี่คือข้อดีของพระธรรมค่ะ สั้นๆ ง่ายๆ ลึกซึ้ง ใช้ได้กับทุกเรื่อง

แต่ละคนที่อ่านพุทธพจน์นี้สามารถเห็นคำสอนนี้เป็นจริงได้ในหลากหลายแนว แต่ละแนวความคิดล้วนแล้วแต่ดีๆ ทั้งนั้น

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมนะคะ ^ ^

สวัสดีครับอาจารย์

  - ผมได้รับความเมตตากรุณาจากคุณ 

P
ข้ามสีทันดร   เช่นกันครับ
  - แต่ว่ายังไม่ได้อ่านเหมือนอาจารย์เลยนะครับ
  วันนี้มาเก็บเกี่ยวอีกครับ
 - พุทธพจน์อันนี้อ่านและทบทวนแล้วรู้สึก จริง ตรงกับสิ่งที่เป็น สิ่งที่มีในตัวผมมากๆครับ
  - เพราะว่าเมื่อพิจารณาไตร่ตรองดูๆแล้ว  มีสิ่งที่ส่งเสียงดัง พลุกพล่านอยู่ในจิตของผมมากมายเลยครับ  บางอันก็ดังมากๆ  บางอันก็น้อยหน่อย
  - บางอันนั้นเสียงดังเข้มแข็ง  ดังจนบางครั้งเราก็ยอมแพ้  หรือว่าวิ่งหนีหรือหลบไปก่อน เพราะว่าพ่ายแพ้ต่อความดังอันนั้น  
  - บางครั้งเราก็ยังไม่สามารถหาเจอได้ว่าสิ่งที่ดังอยู่นั้นคืออะไร  หรือบางครั้งมันอาจจะดังจนหูเราแทบไม่ได้ยิน  หรือไม่รู้ว่ามันดัง
  -เอะ  ผมชักงงๆ  กับสิ่งที่ผมเข้าใจ(ตามสติปัญญาที่มี)    ...หรือว่าผมไม่เข้าใจนะ?? ^_^  ..ขอคำชี้แนะด้วยนะครับอาจารย์...

ตามมาแวะสาธุด้วยคนครับ

แต่ไม่มีแรงจะต่อความ...:)

ต๊ะไว้ก่อน ขอแค่สาธุคราวนี้ครับ

สวัสดีครับอาจารย์

พุทธพจน์นี้สามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้หลากหลายเลยเชียวครับ

  • ลองเอาน้ำใส่หม้อ  ใบหนึ่งใส่น้ำไม่เต็ม  อีกใบใส่เต็ม  ถ้าได้หม้อใบใหญ่ยิ่งดี  ปิดฝาให้สนิท  แล้วอุ้มเดินดู  จะสังเกตว่าหม้อใบที่ใส่น้ำไม่เต็มจะมีเสียงดัง  ส่วนอีกใบกลับเงียบกริบ
  • คนขาดความมั่นใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  จะหลุกหลิก  อยู่ไม่นิ่ง  กระสับกระส่าย  แต่คนที่มีความมั่นใจกลับนิ่งสงบ
  • คนมีธรรมะ หรือปฏิบัติธรรม (ไม่ว่าแบบไหน ในระบบ นอกระบบ มีคนสอน ศึกษาเอง ฯลฯ) จิตใจจะนิ่งไม่ร้อนรน  เย็นเฉียบน่าเข้าใกล้  ส่วนคนที่ไม่มีธรรมะในหัวใจจะร้อนรน ดิ้นพล่ากๆ กลางคืนเป็นควัน  กลางวันเป็นไฟ  ไม่น่าเข้าใกล้  เพราะร้อนเหลือทน

ผมชอบพุทธพจน์นี้มากครับ  ฟังดูง่ายๆ ลึกซึ้ง ตีความได้หลายระดับ  ผมสังเกตว่าพุทธพจน์ที่ได้ยินมาจะเป็นแบบนี้ทั้งนั้น  ลองสังเกตพระราชดำรัสในหลวงซิครับ  จะเป็นทำนองนี้เช่นกัน  ผมพยายามสังเกตมานานแล้ว  ใช้คำไทยๆ สั้นๆ กระชับ เข้าใจได้ง่าย  ขึ้นอยู่กับภูมิของผู้ตีความนั้นๆ แต่ก็ได้ประโยชน์ในทุกความหมาย

ช่วงนี้ผมกำลังสนใจเรื่อง กฏอิทัปปัจจยตา และ ปฏิจจสมุปบาทอยู่ครับ  เคยเห็นแวบๆ หลายครั้งแล้ว  มาช่วงนี้อยากรู้ให้ลึกอีกนิด  รู้สึกว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากครับ  ถือได้ว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาทีเดียว  ทุกอย่างเป็นระบบ  เป็นขั้นเป็นตอน  พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง  ว่างๆ อาจารย์ลองศึกษาดูนะครับ  อ้อ ในหนังสือพุทธธรรมของ พระพรหมคุณาภรณ์ทั้งเล่มก็กล่าวถึงเรื่องนี้แทบทั้งนั้น

ผมว่าเมื่อศึกษาเรื่องนี้แล้ว  การปฏิบัติธรรมจะมีทิศทางที่แน่ชัด  และอาจตรงแน่วมากขึ้นครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีค่ะน้องหมอ kmsabai

ช่วงที่ผ่านมาก็มีเสียงในจิตใจของพี่ไม่น้อยทีเดียว แต่ก็ไม่มากนัก และก็ดังเป็นระยะๆ ที่สำคัญคืออย่างน้อยเรายังได้ยินว่ามันดัง นั่นคือเรายังรู้ตัว มีสติ อยู่บ้าง ดีกว่าไม่รู้เลยค่ะ

การที่เราพ่ายแพ้ หรือมีความเข้มแข็งเป็นบางครั้งนั้น พี่คิดว่ามันเป็นธรรมชาติของเราค่ะ ที่เมื่อยังไม่บรรลุ ก็ยังต้องมีเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก่อน แต่ดีที่เราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาฝึกให้จิตใจเรานิ่งขึ้นได้ เหมือนคุณหมอมีคนไข้มาให้รักษาเรื่อยๆ ยิ่งรักษาก็ยิ่งเชี่ยวชาญ ยิ่งมีความรู้หลากหลายมากขึ้น

ก็คงต้อง"ดู" กันต่อไป ถึงแม้บางครั้งจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเห็น หรือไม่รู้ว่าเราสามารถ"ผ่าน" สิ่งเหล่านั้นได้หรือไม่ ก็ไม่เป็นไร พี่ว่าถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ คุยกันหารือกันไปเรื่อยๆ จะประสบความสำเร็จในที่สุดค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะ อ.พิชัย กรรณกุลสุนทร

อาจารย์คงจะได้พักผ่อนหลังจากงานสัมมนาบ้างแล้วนะคะ แต่หนูว่าอาจารย์ยังคงต้องทำงานที่ค้างอยู่แน่ๆ ^ ^

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาเยี่ยม ไว้ว่างๆ แล้วค่อยคุยกันใหม่ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์สำหรับทุกอย่างที่งานสัมมนาด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณธรรมาวุธ

ยกตัวอย่างเสมือนจริงได้ดีมากเลยค่ะ ใบที่ใส่น้ำเต็มนั้นจะยกง่ายกว่าใบที่ไม่เต็มด้วยค่ะ เพราะจะไม่มีแรงเหวี่ยงของน้ำที่ไม่ค่อยเต็มที่อยู่ในหม้อค่ะ

เรามีจริตที่คล้ายกันมากค่ะ ที่ชอบพุทธพจน์ที่เรียบง่ายนี้มาก เพราะพุทธพจน์นี้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ มากมายเหลือคณานับ

เรื่องกฏอิทัปปัจจยตา และ ปฏิจจสมุปบาทอยู่ครับ  นั้น ยังไม่ได้ศึกษามากนัก เพียงแต่ผ่านไปผ่านมา พอเข้าใจอย่างผิวๆ เท่านั้น ขอบคุณที่ช่วยแนะนำแนวทางการศึกษาธรรมต่อให้นะคะ กำลังอยู่ในช่วงนิ่ง ขาดความก้าวหน้าอยู่พอดี

ขอบคุณมากๆ ค่ะ สำหรับข้อคิดเห็นและแนะนำดีๆ เสมอนะคะ ^ ^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท