ลุงจันทร์ เชื้อเพชร (2/2)


...ในเมื่อข้าวไม่เป็นโรค ไม่มีเพลี้ย ผมก็ไม่ปวดหัว...
"เรื่องการผสมพันธุ์ข้าวนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะมีหลายขั้นตอน แต่ผมรู้หลักการทำแล้ว และผมก็จะทดลองทำต่อ เอาไว้สอนให้ลูกหลาน ตอนผสมไม่ยาก ยากในตอนที่จะต้องมาคัดเอาลักษณะต้นอย่างไร ซึ่งคัดเพียงสักสองครั้งไม่ได้ ต้องทำถึง ๘ ครั้ง จะเอาแบบไหนอย่างไรต้องจดรายละเอียดเอาไว้ พอได้ต้นหนึ่ง เมื่อออกรวงมากี่ร้อยเมล็ดก็ตาม ต้องนำเมล็ดทั้งหมดไปเพาะ ได้แล้วก็มาคัดกันอีก ทำเช่นนี้ ๘ ครั้ง ใช้ระยะเวลา ๔ ปี นี่แหละคือเรื่องยากสำหรับผม ยอมรับว่ายาก แต่สำหรับผม...ทำได้ไม่ได้...ก็ต้องทำ (หัวเราะ) สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ใหม่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้เรียน”

ลุงจันทร์กับความสำเร็จที่ทำมากับมือ
"ผมคิดว่าผมทำแล้วได้ผลเชียวแหละ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียด ตั้งแต่ตอนคัดพันธุ์ข้าวกล้อง อย่างบริษัทที่ขายพันธุ์ข้าว เขาขายเป็นข้าวเปลือก ใช้เครื่องคัดเมล็ด เขาทำกันอย่างนั้น เปลือกอาจจะดี แต่ข้างในเป็นเมล็ดเป็นอย่างไร ส่วนผมดูจากข้าวกล้อง เมล็ดหักก็ไม่เอา เมล็ดบิดก็ไม่เอา เป็นท้องไข่ก็ไม่เอา ผมทำถึงขั้นผสมเกสร ด้วยการตัดเมล็ดข้าวครึ่งหนึ่ง เอาเกสรตัวเมียไว้ เอาเกสรตัวผู้พันธุ์อื่นมาใส่ จะผสมพันธุ์อะไรก็ได้”

สภาพดินนาที่เปลี่ยนไปเมื่อเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์
“เวลามีเพลี้ยแมลงอะไรลงแปลงนา ก็จะทำสารสมุนไพรไปฉีดไล่แมลง ไม่ได้ฆ่านะ ไล่อย่างเดียว และทันการณ์ด้วย เพราะผมไปนาทุกวัน เพื่อไปสังเกตว่าข้าวเป็นอย่างไร ต้องไปจับต้นข้าวแล้วเขย่าดูว่าเป็นอย่างไร ก็...เห็นว่าดีแล้ว”
"ตอนที่ข้าวยังไม่ออกรวงก็สังเกตดูที่ต้นกับใบ มันมักจะมีจุด แต่ถ้าไม่มีก็แสดงว่าไม่มีโรคไม่มีอะไรไปรบกวน พอข้าวออกรวง ถ้าใบไม่ด่างหรือเป็นอะไรก็แสดงว่าไม่มีอะไรรบกวน ผมไปแค่ดูเฉยๆ กะดูว่าควรใส่น้ำไหม มีหญ้ามากน้อยก็ถอน”
“ในเมื่อข้าวไม่เป็นโรค ไม่มีเพลี้ย ผมก็ไม่ปวดหัว”

ต้นข้าวที่สมบูรณ์จากฝีมือการคัดพันธุ์ข้าวของลุงจันทร์
“ต่อไปถ้าผมทำนาไม่ไหวก็จะให้ลูกชายทำต่อ เวลาไปโรงเรียนชาวนา ถ้าผมไม่ได้ไปเพราะติดธุระ ก็จะให้ลูกชายไป ไปเรียนพร้อมกันไม่ได้ เพราะไม่มีคนทำงาน (หัวเราะ) ไม่ว่าผมจะไปเรียนหรือลูกชายผมไปเรียน เราจะมีสมุดจดเรียน ใครไปเรียนก็จะต้องจด แล้วในช่วงหลังจากกินข้าวเย็นแล้วจะดูทีวี เราก็เอาสมุดมาเปิดดูกัน นั่งคุยกัน เนื่องจากความสนใจทำให้จดจำอะไรได้”
"ลูกชายเองเขาก็ทำนาเช่านะ ตอนนี้ได้เปลี่ยนมาทำนาปลอดสารเคมีแล้ว เปลี่ยนตามพ่อ  เริ่มด้วยการให้เขาฉีดสารสมุนไพร เราเอาปุ๋ยหมักเอาจุลินทรีย์ของเราไปใส่ในนาของเขา  ก็ช่วยปรับดินให้นาของเขาไปด้วย”
"นา ๑๔ ไร่ มีค่าใช้จ่ายเรื่อง
  • น้ำมันขุบนา ๒ รอบ ประมาณ ๒๕ ลิตร (ลิตรละ ๒๕ บาท)
  • ค่าจ้างคนหว่าน ไร่ละ ๓๐ บาท (๓๐ บาท x ๑๔ ไร่ = )
  • ปุ๋ยชีวภาพ ตันละ ๕๐๐ บาท ใส่ ๒ ตัน เป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท ใส่รอบเดียวใช้ตอนขุบหมักรองพื้น
  • ข้าวปลูกไร่ละ ๓ ถัง อนาคตจะลดลงเป็นไร่ละ ๒ ถึงครึ่ง ตอนนี้ถังละ ๑๒๐ บาท คิดตามราคาตลาด
  • ค่าฮอร์โมน ๒๐ ลิตร
  • ค่าเกี่ยว ไร่ละ ๓๕๐ บาท
  • ค่าน้ำมันพ่นฮอร์โมน ๒ ลิตร เพราะพ่น ๒ ครั้ง (น้ำมันเบนซิน ๒๙ บาท)
  • ค่าขนเกวียนละ ๑๐๐ บาท เมื่อก่อนเกวียนละ ๘๐ บาท”
"แต่ถ้าเมื่อก่อนต้องซื้อปุ๋ยเคมี ลูกละ ๖๐๐ บาท ตันละ ๑๒,๐๐๐ บาท นา ๑๐ ไร่ ใส่ ๑๐ ลูก (เป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท) เป็นอย่างน้อย ส่วนยาฉีดนั้นกำหนดไม่ได้เลย บางทีก็ ๓ ครั้ง หรือ ๔ ครั้ง ฉีดครั้งหนึ่งก็พันกว่าบาทนะ ไม่ใช่น้อยเลย”
“ถ้ามีปัญหาก็ฉีดถึง ๔ ครั้งเลยนะ เพราะใส่ปุ๋ยเคมีนั้น พอข้าวงามได้สัก ๗ – ๘ วัน ก็จะมีเพลี้ยลงตามเลย ทุกครั้งด้วย หมดเงินหลักๆ กับเรื่องปุ๋ยเรื่องยานี่แหละ”
“แต่ถ้าไม่มีปัญหา ก็ ๒ ครั้ง คือช่วงข้าว ๓๐ วัน ครั้งหนึ่ง แล้วก็ ๕๐ วัน อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นตอนที่ข้าวกำลังท้อง”
“แต่ละที่ใส่ปุ๋ยต่างกันนะ แม้กระทั่งที่นาเดียวกันก็มีความต่างกัน นักเรียนชาวนาแต่ละคนก็มีสูตรไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าใครจะทำอย่างไร ถึงเวลาก็แลกเปลี่ยนกันตอนที่ไปเรียน”
"ทำกันเองทุกอย่าง สุดท้ายแล้วก็จะไปลงในแปลงนา ใช้อะไรกันไปบ้าง...ให้ไปพิสูจน์กันที่แปลงนา”
อ้อม สคส.
ที่มา : รายงานความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (เมษายน 2550)
อาจารย์พรหม 1/2   อาจารย์พรหม 2/2   ลุงสุข   ลุงประทิน 1/2   ลุงประทิน 2/2  ลุงทวน 1/2   ลุงทวน 2/2   ลุงจันทร์ 1/2
หมายเลขบันทึก: 103396เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2007 07:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
        ขอบพระคุณมากครับที่บันทึกมาแลกเปลี่ยน

สวัสดีครับผมมาแวะเยี่ยมครับ ขอบคุณมากเลยครับที่ได้นำสิ่งที่ดีฯฯมาแบ่งปัน

ยินดีค่ะ,  ขอเชิญติดตามบันทึกการประเมินภายในฯ กระบวนการโรงเรียนชาวนา ด้วยนะคะ จะทยอยนำเสนอไปพร้อมๆ กันเลย

อ้อม สคส.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท