ยุบสภา ยุบอำนาจ ยุบพรรค ยุบทรัพย์


ยุบสภา ยุบอำนาจ(ยึดอำนาจ) ยุบพรรค ยุบทรัพย์(อายัดทรัพย์)

ยุบสภา ยุบอำนาจ(ยึดอำนาจ) ยุบพรรค ยุบทรัพย์(อายัดทรัพย์)

อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ท่านมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องยุบ ๆ ที่ผมจะพูดถึงนี้ตลอด ประเด็นแรก ยุบสภา เห็นได้ว่ามีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ด้วยเหตุผลของปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 2 เมษายน 2549

ยุบสภา ตรงนี้เป็นเรื่องของรัฐสภาที่มีอยู่ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฏร และวุฒิสภา ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะใช้การยุบสภาเมื่อเกิดปัญหาในทางการเมือง ก็จะเหลือแค่วุฒิสภา ก็ถือว่า ลดลง เหลือแค่สภาเดียว

ยุบอำนาจ(ยึดอำนาจ) เมื่อเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 แล้วปัญหาทางการเมืองก็ยังคงดำเนินการต่อไป และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คณะผู้ก่อการที่เรียกว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จึงเข้ายึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากท่านนายกฯทักษิณ ในขณะนั้นโดยมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันมีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้สึกรู้รักสามัคคี ของ คนในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ประชาชนส่วนหนึ่งเคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหา และ อุปสรรค หลายประการ แม้หลายภาคส่วนของสังคม จะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์ มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้

ภายหลังจากการยึดอำนาจก็ให้พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วแปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

แต่เห็นได้ว่าแม้มีการยึดอำนาจแล้ว เราก็ได้ยินว่า "กลุ่มอำนาจเก่า" อยู่เรื่อย ๆ มีปัญหาคลื่นใต้น้ำ ปัญหาความไม่สงบต่าง ๆ ก็ระบุว่าเป็นเรื่องของกลุ่มอำนาจเก่า จึงมาถึง "ยุบ" ตัวที่ 2 ของผมว่าเป็นเพียงการยุบอำนาจเท่านั้น คือ อำนาจของรัฐบาลชุดก่อนลดลง

มาถึงยุบที่ 3 คือ ยุบพรรค ตรงนี้ คือ ยุบจริง คือพรรคไทยรักไทย ได้ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 พร้อมกับการตัดสิทธิ์ทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเป็นเวลา 5 ปี โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย ด้วยมติ 9 ต่อ 0 และมีมติให้ตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ด้วยมติ 6 ต่อ 3

แต่อย่างไรก็ตามภายหลังคำตัดสิน สมาชิกพรรคดังกล่าวก็บอกว่าจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปในนามกลุ่มไทยรักไทย และพร้อมจะจดทะเบียนพรรคใหม่หลังจากได้รับอนุญาตภายใต้ชื่อเดิม คือ พรรคไทยรักไทย และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของคณะต่าง ๆ ที่รัฐบาล และคมช. ยอมรับว่าเป็นกลุ่มคนที่นิยมพรรคไทยรักไทย เดิม

และเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2550  โฆษกคตส. นายสัก กอแสงเรือง แถลงว่า ผลจากการตรวจสอบและไต่สวนในคดีต่างๆของ คตส. ได้ลุล่วงถึงขั้นมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก ได้ทุจริตประพฤติมิชอบ และร่ำรวยผิดปกติได้ทรัพย์สินโดยมิสมควรจากการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุให้ได้ประโยชน์ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยรวม ซึ่งจากผลการตรวจสอบและไต่สวนของอนุกรรมการชุดต่างๆของ คตส.แล้วพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ทุจริตประพฤติมิชอบ จึงมีคำสั่งที่ คตส.016/2550 โดยให้อายัดบัญชีเงินฝากที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก รวม 21 บัญชี ทั้งในชื่อของพ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน บุตรและญาติ 2.คำสั่ง คตส.ที่ 017/2550 ให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ทุกบัญชีเงินฝากและทุกสถาบันการเงิน เนื่องจากคตส.ตรวจสอบแล้วพบว่า มีพยานหลักฐานจนถึงขั้นถูกกล่าวหา 5 คดี

หากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ 23 ก.พ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. คณะนายทหารที่ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอกอิสระพงษ์ หนุนภักดี และพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ

คณะ รสช. ให้เหตุผลในการยึดอำนาจว่า

รัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นรัฐบาล บุฟเฟ่ต์คาบิเนต ร่ำรวยผิดปกติ
เพื่อขจัดภยันตรายที่มีต่อประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากรัฐบาลละเลยคดีลอบสังหารเชื้อพระวงศ์ โดยอ้างอิงคำสารภาพของ พันเอกบุลศักดิ์ โพธิเจริญ ส.ส. พรรคพลังธรรม จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งให้การซัดทอด พลตรีมนูญ รูปขจร (พลตรีมนูญกฤต รูปขจร)
ภายหลังการยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้แต่งตั้งให้ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดในขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง ประธาน รสช.

คณะ รสช. ได้ออกคำสั่งคณะ รสช. ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) มีพลเอกสิทธิ์ จิรโรจน์ เป็นประธาน ทำการอายัติและตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จำนวน 23 คน ผลการตรวจสอบทรัพย์สิน สรุปให้ยึดทรัพย์ของอดีตรัฐมนตรีจำนวน 10 คน

กลับมาที่ปัจจุบันคำสั่งอายัดทรัพย์ของคตส.ก็เป็นไปตามความคาดหมายของหลายฝ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลในการยึดอำนาจของคมช.ที่ว่าไว้แล้ว

คำสั่งอายัดทรัพย์ดังกล่าว ผมถือว่าเป็นการทำให้ทรัพย์ของอดีตนายก ฯ ลดลงเท่านั้น จึงเป็นที่มาของ "ยุบ" ตัวที่ 4

และก็ย้อนกลับไปในเหตุการณ์ของ รสช. พบว่าในเวลาต่อมา ผู้ถูกยึดทรัพย์ได้ฟ้องคดีต่อศาลว่า คำสั่งของ รสช. และ คตส. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกามีคำพิพากษาในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2536 ว่าคำสั่งดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งการยึดทรัพย์

ส่วนกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร จะเป็นอย่างไรคงต้องตามดูกันต่อไปเป็นหนังชีวิตเรื่องทีเดียวละ

จึงเป็นที่มาของคำว่า ยุบสภา ยุบอำนาจ ยุบพรรค ยุบทรัพย์ ที่ผมว่าไว้ข้างต้น

คำสำคัญ (Tags): #ยุบ
หมายเลขบันทึก: 103389เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2007 06:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ยุบจริง ๆ ซักทีก็ดีค่ะ่

     สวัสดีค่ะ  ดิฉันมีความเห็นเกี่ยวกับการยุบพรรคว่า

เป็นการดีที่ได้มีการยุบพรรคเพราะจะได้ให้ประชาชนร่วมลงประชามติใหม่    เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิ์ออกเสียงในระบอบประชาธิปไตย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท