ลุงประทิน ห้อยมาลา (1/2)


...ถ้าขายข้าวที่มีสารเคมี คิดแล้วบาปนะ..ผมคิดอย่างนี้นะ...
  
ลุงประทิน ห้อยมาลา นักเรียนชาวนาบ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
ลุงประทิน หรือคุณประทิน ห้อยมาลา ประธานกลุ่มนักเรียนชาวนาบ้านดอน ได้เปิดใจและเล่าความดีๆให้ฟังว่า “ชาวนาบ้านเราทำนาด้วยการใช้สารเคมี แต่สำหรับการทำเกษตรแบบอินทรีย์ได้เรียนรู้จากทางมูลนิธิข้าวขวัญ ก็คิดว่าตรงจุดนี้จะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ดี จึงเริ่มมาคุยกันว่าจะทำกันอย่างไร”
"ปัญหาของชาวนาเรื่องการทำนา…มีเรื่องแมลงและเรื่องดิน เมื่อก่อนไม่รู้นะ พอเห็นแมลงบินผ่านในนาข้าว เห็นหนอนกอที่เกิดในนา ก็คิดว่าเป็นปัญหาแมลงมากินข้าวในนาแล้ว  เมื่อไม่รู้ก็จึงฉีดยา พอมาเรียนรู้เรื่องสมุนไพรแล้ว จึงหันมารักษาแมลงดีไว้ เลือกใช้สมุนไพรที่มีในพื้นที่ หาง่าย
"ตอนนี้ปล่อยให้มีหญ้าตามคันนาอยู่บ้าง เพราะจะเป็นที่อยู่อาศัยของแมลง ไม่ทำให้เตียน ต้องให้มีหญ้าอยู่บ้าง หากไม่มีหญ้าเลยแมลงก็จะหนีไปอยู่ที่อื่นหมด ก็สังเกตว่าถ้าหากแมลงอยู่นะ พอหว่านข้าว พอประมาณสูงสักศอก แมลงจะมาอยู่ในต้นข้าวแล้ว มาคอยดูแลให้ ... ตรงนี้แหละที่ทำให้มีความมั่นใจเรื่องแมลง ถ้าไม่ฆ่าไม่ไล่แมลง...แมลงก็จะอยู่ในแปลงนา แล้วสังเกตแปลงนาที่เขาฉีดสารเคมีอยู่ข้างๆ แต่แปลงนาของผมไม่ได้ฉีดสารเคมี แต่มีแต่สมุนไพรนะ แมลงก็จะชอบมาอยู่อาศัยในแปลงนาของผม ซึ่งเห็นได้ชัดๆ เลย อย่างเช่นแมลงปอ...ในตอนเช้ามันจะบินจับเพลี้ยกระโดดหรือเพลี้ยอะไรต่างๆ ทำไมมันไม่ไปบินในนาของคนอื่นเขา มาบินแต่ในนาของผมเยอะแยะไปหมด หากผมเอายาฆ่าแมลงไปฉีดนี่ซิจึงจะเรียกว่าผมเดินไปไม่ถูกทาง
"สังเกตความแตกต่าง (การใช้สารเคมีกับสมุนไพร) ถ้าฉีดสารเคมีก่อน แมลงก็จะหายไปสักพักหนึ่ง แล้วก็จะวนกลับมาลงนาอีก ซึ่งจะต้องสลับฉีดยาอยู่ตลอด แล้วมันก็ทำให้เปลืองเงินอยู่ตลอด”
"ถ้ามาใช้สมุนไพร แมลงตัวดีไม่ตายไม่หนี แมลงจะกินกันเองในระบบนิเวศ  อันนี้จึงไม่ต้องเป็นห่วงแล้ว เรื่องอย่างนี้ผมสังเกตเอาเองนะ”

ปลูกสมุนไพรพื้นบ้านไว้กินและทำน้ำหมัก
"ก่อนหน้านี้ยังไม่รู้จักการทำปุ๋ยอินทรีย์และไม่รู้คุณค่าของมัน ไม่รู้ว่าวัตถุดิบ เช่น ขี้วัว เศษใบไม้ มีธาตุอะไรอยู่ มองเห็นแค่ว่ามันคือขี้วัว หรือเป็นเพียงเศษใบไม้เฉยๆ  แต่ผมสังเกตว่าในสมัยก่อน ก่อนที่จะมีชลประทาน น้ำในหมู่บ้านของเราจะไหลลงสู่ทุ่งนา ที่ตรงนั้นจะงามเพราะได้เศษอะไรต่างๆ   นี่ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งนะ หากเอาขี้วัวและเศษต่างๆ มาหมักใส่ที่นา จะทำให้ดีขึ้น ทำให้ดินปรับสภาพได้”
"ระหว่างการใช้ปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ทำให้ผมเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเลย แล้วยิ่งตอนนี้ผมมาทำปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ทำให้ผมสามารถลดต้นทุนลงได้อย่างชัดเจนเลย”
"ก่อนที่จะเรียนในโรงเรียนชาวนา ผมไม่เข้าใจไม่รู้จักหรอกว่าจุลินทรีย์...มันเป็นตัวอย่างไร พอได้เรียนรู้ว่าสามารถทำจุลินทรีย์ได้เอง ขอให้มีวัตถุดิบ เช่น ใบไผ่ น้ำโมลาส รำ เอามาคลุกเคล้ากัน แล้วหมักไว้สัก ๗ – ๑๐ วัน ถ้าเชื้อมันเดิน (แพร่ขยาย) ดีแล้วจะขึ้นขาวก็นำมาขยาย ผมเองได้ทดลองทำดูกับฟาง ปรากฏว่ามันสามารถย่อยสลายฟางได้นี่แหละ...จึงได้รู้”
"ถ้าเผาฟางไป ก็จะไม่เหลืออะไรให้กับดินเลย มีแต่ขี้เถา แต่ถ้าไม่เผา แล้วหมักฟางด้วย จุลินทรีย์ก็จะกลายเป็นปุ๋ย  แต่การเผาฟางของชาวนาที่คิดกันอยู่ที่วันนี้นะ เพื่อให้การทำนาง่ายขึ้นก็เท่านั้นเอง  ถ้ารู้จักวิธีการหมักฟางด้วยจุลินทรีย์สัก ๕ วัน จะทำให้การไถง่ายขึ้น ฟางข้าวจะไม่ติดรางไถ  ถ้าชาวนาคิดกันในแนวนี้เขาก็จะไม่เผาฟางกันหรอก”
"ผมสนใจเรื่องการลดต้นทุน ซึ่งเคยลงทุนไร่ละ ๒,๐๐๐ กว่าบาท แล้วเหลือไร่ละ ๘๐๐ กว่าบาท ถึง ๑,๐๐๐ บาท  คนที่เขาทำด้วยการลงทุนสูง พอหักกลบลบหนี้แล้วจะไม่มีเหลือหรอก แต่ที่ผมทำ...ต้นทุนถูก”
“ผมทำปลอดสารเคมีเอง เพราะผมกินข้าวของผมเอง ไม่ใช่ว่าทำแล้วขายทั้งหมด ต้องทำเองกินเอง ส่วนที่เหลือจึงจะขาย ถ้าขายข้าวที่มีสารเคมี...คิดแล้วบาปนะ ผมคิดอย่างนี้นะ … เมื่อก่อนไม่รู้นี่นา ทำแล้วขายหมด ใส่สารเคมี ผมเองก็กินข้าวสารเคมีเข้าไปตั้งเยอะ”
อ้อม สคส.
ที่มา : รายงานความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวฯ (เมษายน 2550)
อาจารย์พรหม (1/2) อาจารย์พรหม (2/2) ลุงสุข
หมายเลขบันทึก: 97605เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2007 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 01:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท