ซีรี่ส์ใหม่ล่าสุดมาแว้ว............


...ผมมีความสุขกับการทำนามาก...
แต่เป็นซีรี่ส์เกี่ยวกับนักเรียนชาวนานะคะ อย่าเพิ่งทำหน้าผิดหวังอย่างนั้น เพราะเรื่องราวนับจากนี้ไปอีกกว่า 20 ชีวิต จะทำให้คุณติดใจจนไม่อยากละสายตาไปที่อื่น ว้าว!    ซีรี่ส์ชุดนี้เป็นภาพรวมการทำนาปลอดสารเคมีตั้งแต่เรื่องแมลงดี แมลงร้าย การปรับปรุงดิน และการพัฒนาพันธุ์ข้าว  ถ่ายทอดจากชาวนาแต่ละคน ว่าเคยคิด เคยทำอย่างไรมาก่อน ทำไมจึงเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำได้  เชิญติดตามกันได้เลยค่ะ
อาจารย์พรหม ภูธรานนท์  (1/2)

นักเรียนชาวนา
โรงเรียนชาวนาบ้านดอน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
"เดิมทีผมเป็นข้าราชการ นาให้เขาเช่า ผมไม่มีเวลาทำนา จริงๆแล้วผมมีความสนใจในเรื่องทำนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ชอบปลูกต้นไม้ บ้านผมเต็มไปด้วยต้นไม้ ให้อากาศดี”
“พอผมเกษียณอายุราชการ ไปสำรวจนาที่เขาเช่าอยู่ เขาใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น ก็รู้สึกสงสารแปลงนา ดินจะแข็ง เดินเหยียบดูก็แข็งมากๆ พื้นแห้ง นี่คือดินที่เสียแล้ว ผมตั้งใจจะฟื้นฟูผืนนาใหม่”
“ส่วนหนึ่งผมพอมีความรู้พื้นฐานเรื่องทำนา แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร ผมเป็นเจ้าของนา และสนใจเรื่องนาอยู่ ข้าวที่กินอยู่ก็คิดว่าเต็มไปด้วยสารพิษ ตรงจุดนี้จึงอยากจะเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่รอบๆตัว โดยเฉพาะผืนนาของผมเอง แล้วผมเองก็จะได้มีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย”
"ผมเกษียนเมื่อปี ๒๕๔๓ ยังไม่ได้ทำทันที สักปี ๒๕๔๕ จึงเริ่มทำนา เหตุผลด้วยเรื่องตัวสารเคมีเป็นตัวกระตุ้น ผมมีสวนมะม่วง ใช้สารเคมี โดยใช้เครื่องมืออย่างดีเลยป้องกันตัวเอง ตอนที่เดินเครื่อง อยู่ห่างตั้ง ๑๐ วา ละอองยังตกมาถูก ได้กลิ่นเหม็นมาก ผมเองแพ้ รู้เลยว่าไม่ใช่สิ่งดีแน่ ก็คิดว่าใครบ้างที่ประสบปัญหาแบบคล้ายกัน และอยากมีเพื่อนที่มีความคิดคล้ายกัน และอยากจะหนีสารเคมี มาชวนการทำนาอินทรีย์ ตัวผมอยากจะหลุดพ้นสารเคมีและอยากจะชวนคนอื่นเขามาหลุดพ้นด้วยกัน”
"ตอนนั้นยังไม่มีโรงเรียนชาวนา ผมหาความรู้จากตำรา เอกสารเกษตร ดูโทรทัศน์ สื่อต่างๆ แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านที่เคยถูกน็อคยามาก่อน แบบว่าสลบคานาคาถังฉีด”
“พอดีมูลนิธิข้าวขวัญมีนักเรียนชาวนารุ่นแรกๆอยู่ เขามาชวนว่ามูลนิธิข้าวขวัญมีทางเลือกดีๆ สอนเรื่องการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งจะเป็นตัวเลือกที่แทนสารเคมีได้ ฟังในทีแรกผมยังไม่มั่นใจ แต่ผมต้องลองไปดู อย่างน้อยจะเจอเพื่อนที่ร่วมทางกัน นี่คือจุดเริ่มต้น”
"วันแรกมีการตั้งโจทย์ปัญหาว่ามีปัญหาอะไรบ้างเกี่ยวกับการทำนา เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ การซื้อพันธุ์ข้าวแพง การได้อาหารที่ไม่ปลอดสารพิษ ทางมูลนิธิข้าวขวัญให้ชาวนาเล่าปัญหาก่อน แล้วค่อยให้ชาวนาฝันอยากได้อะไรบ้าง นักเรียนชาวนาในวันนั้นอยากได้พันธุ์ข้าว อยากจะหนีสารเคมีบ้าง อยากจะได้ปุ๋ยหมักที่ทดแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งได้มีการจดเอาไว้ แล้วนำมาสร้างเป็นหลักสูตรในการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา ฝันเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ให้มาลองกันดูก่อน แล้วก็สรุปได้เป็น ๓ หลักสูตร คือ หลักสูตรแมลง หลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดิน หลักสูตรการคัดเลือกพันธุ์ข้าว ซึ่งโดนใจ”
“ทั้ง ๓ หลักสูตรทำให้ได้เรียนรู้ไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นเวลานานถึง ๒ – ๓ ปี และพบว่าสิ่งที่ไม่รู้ยังมีอีกเยอะ เป็นความรู้ที่พิสูจน์ได้และเป็นจริง อย่างเช่นแมลง ก็ไม่รู้ว่ามีแมลงที่เป็นมิตรกับชาวนาอย่างตัวห้ำตัวเบียน จึงต้องลองไปหาแมลงในนาด้วยสวิง แล้วเอามาวิเคราะห์ ผมไม่ได้เชื่อเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิข้าวขวัญทั้งหมดนะ แต่ผมเอาตัวแมลงที่ได้ไปเปรียบเทียบกับภาพ แล้วจึงได้รู้ว่ามีแมลงที่เป็นมิตรเยอะจริงๆมากกว่าแมลงที่กำจัดศัตรูข้าว”
“เรื่องปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้รู้ว่าไม่ต้องใช้สารเคมี ไนโตรเจน โปเเตสเซียม ฟอสฟอรัส โดยตรง แต่มีอยู่แล้วในปุ๋ยหมักชีวภาพ แล้วเวลาเรียนเรื่องจุลินทรีย์ก็สนุกสนานมาก ไม่ต้องไปเก็บในป่าก็ได้ สามารถที่จะเพาะเชื้อขึ้นมาโดยนำอาหารประเภทรำ/จมูกข้าว โมลาสหรือกากน้ำตาล ผสมกับน้ำ เอาไปใส่ในดิน หรือใส่จุลินทรีย์ เปลือกสัปปะรด น้ำมะพร้าว เคล้ากับ โมลาส ตามส่วนสัด ๓ : ๒ : ๑ พึงประสงค์ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้ดั่งใจจง หมักใส่โอ่ง ๗ วัน พลันใช้เลย แต่เปลือกสับปะรดจะต้องมาจากแปลงที่ไม่ใช้สารเคมีนะ”
“ผมได้ค้นพบว่า ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปลาหมัก หอยเชอร์รี่หมัก น้ำหมักผลไม้ สิ่งเหล่านี้คือปุ๋ยอย่างดีเลย ได้ทดลองและการได้ค้นพบด้วยตัวของเราเอง ลองเอาไปใส่พืชสวนครัวก็งามดี นี่เป็นความสำเร็จ เห็นผล แล้วมันยังสอนผมอีกว่า ถ้าใส่มาก มันมีฤทธิ์จริงๆ ทำให้ปลายต้นข้าวฝ่อ ซึ่งจะต้องใส่ตามสูตรที่คนอื่นเขาได้ทดลองมาแล้ว ในกลุ่มของนักเรียนชาวนาก็จะขอให้นำเรื่องอย่างนี้มาช่วยเล่าในกลุ่มด้วย เป็นข้อตกลงในกลุ่ม แล้วให้เล่าไปตามศักยภาพความสามารถของแต่ละคน ผมฟังแล้วจับประเด็นเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ อย่างเช่น แม่บ้านของผมนำปลาหมักไปฉีดต้นข้าวตั้ง ๑๐๐ ซี.ซี ซึ่งตามสูตรให้ใช้เพียง ๓๐ ซี.ซี.ต่อน้ำ ๑ ลิตร แล้วปรากฏว่าข้าวปลายมันหงิกไหม้ แต่ไม่ตายนะ”
ทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ใบหญ้าที่ร่วงหล่นจากต้นใหญ่จากทั่วบริเวณบ้านและสวน
"ดินนาของผมมันเสียแล้ว ดินแข็ง ดินไม่ฟู ข้าวไม่งาม ยิ่งถ้าเป็นหน้าแล้ง ดินจะแข็งมาก ผมจึงคิดที่จะปรับปรุงบำรุงดินโดยเอาปุ๋ยหมักจากกองทุนปุ๋ยหมักที่พวกเราช่วยกันทำ โดยมีสูตรง่ายๆ ๑ : ๒ : ๔ : ๘ หัวเชื้อจุลินทรีย์ ๑ ส่วน อาหารของจุลินทรีย์ เช่น ขี้ลำพวน (ภาษาท้องถิ่น – จมูกข้าว) ขี้แกลบ หรือรำ (แต่ราคาแพง) ๒ ส่วน ใบไม้ใบหญ้าสารพัดใบ ๔ ส่วน และมูลสัตว์ต่างๆตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น ๘ ส่วน นำมาผสมกัน”
"ผมมีความสุขกับการทำนามาก เพราะประการแรก ผมเป็นเจ้าของนาเอง ประการที่ ๒ การทำนาเป็นการออกกำลังกาย ประการที่ ๓ ทำให้ชีวิตดีขึ้น ได้อาหาร ได้สุขภาพ และเป็นรายได้เสริม นี่แหละที่ทำให้ผมมีความสุข เพราะได้ทำนา ได้มีเพื่อนนักเรียนชาวนาซึ่งต่างเพศต่างวัย ตั้งแต่อายุ ๘๐ กว่าๆ ลงมาถึงเยาวชนอายุน้อยๆ”
อ้อม สคส.
ที่มา : รายงานความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวฯ (เมษายน 2550) 
หมายเลขบันทึก: 96559เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2007 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ตั้งใจจะติดตาม series นี้ ให้ครบทุกตอนเลยครับ
  • บล็อกสวยมาก (สวยเกินไป) อ่านจนตาลายเลยครับ
  • อ่านไปรอบหนึ่งแล้ว ถ้าเขียนถึงตอนที่ห้า จะกลับมาอ่านซ้ำอีกครั้ง
  • ได้ความรู้ดีครับ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์,

theme ที่ copy เขามา สวยจริงๆ ค่ะ สวยเกินไป อย่างที่อาจารย์บอกด้วย

ก็เลยเสี่ยงเข้าไปแก้ เดาว่าต้องเป็นบรรทัดนี้แน่เลย

background-image:
url(
http://gotoknow.org/file/minisock/bg9.gif);

ปรับใหม่แล้ว น่าจะสบายตาทั้งคนบันทึกและคนอ่าน

ซีรี่ส์นี้ จะมีจุดพลิกกลับ (กลับตัวกลับใจ) มาทำเกษตรอินทรีย์เยอะ  น่าติดตามมากค่ะ

                                                 อ้อม สคส.

  • เก่งมากเลย แก้ Theme ได้
  • ถ้าเกิดผมไป copy เขามา จะได้จำไปแก้บ้าง
  • อ่านสบายตาขึ้นเยอะเลย
  • แต่ว่า series นี้มีกี่ตอน ขอทราบล่วงหน้า
  • จะได้วางแผนติดตามได้ถูก
  • ขอให้กำลังใจในการเขียนครับ จะติดตามครับ

ซีรี่ส์นี้ เป็นเรื่องราวของคุณกิจ (นักเรียนชาวนา) 23 คน รวม 46 ตอน  หลังจากนั้นจะมีเรื่องราวของคุณอำนวย (บุคลากรของมูลนิธิข้าวขวัญ) อีกประมาณ 4 ตอน รวมแล้วก็ครึ่งร้อยพอดีค่ะ

เป็นการกลั่นกรองมาจากรายงานความก้าวหน้าของมูลนิธิข้าวขวัญ  โดยเน้นเนื้อหาของการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการทำนา ไม่เน้นสูตรน้ำหมักหรือสูตรปุ๋ย

ขอบคุณอาจารย์ที่จุดประกายให้นะคะ เดี๋ยวต้องเข้าไปอ้างอิงซะหน่อยแร้ววววววววววววววว

                              อ้อม สคส.

  • เป็นเรื่องการเปลี่ยน Paradigm ของนักเรียนชาวนา น่าสนใจมาก
  • พยายามจะติดตามทั้ง ๕๐ ตอน แต่ขอให้ใส่คำหลักเหมือนกันทุกตอน หรือ ทำเมนู Link ให้ด้วยนะครับ
  • ความรู้อันนี้ เผื่อผมเอาไปใช้ในกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้ง (เกษตรกร) ได้บ้าง
  • ผมคิดเล่นๆ ว่า ต่อไปอาจมี "โรงเรียนผู้เลี้ยงผึ้ง" ก็ได้ครับ
  • พอดีต้องไปเป็นวิทยากร แทรกเรื่อง KM เข้าไปในกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับผึ้งของประเทศครับ
  • มีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร, กรมปศุสัตว์ และ กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้ง ในวันที่ 23-25 พฤษภาคมนี้ ที่เชียงใหม่ งานนี้น้องๆ การสัมมนา "การเลี้ยงผึ้งแห่งชาติ" เลยครับ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์   ต้องให้อาจารย์ทักท้วงอยู่เรื่อยเลย   ล่าสุดก็เรื่องทำลิ้งค์อีก แหะ แหะ   จะรีบเข้าไปเพิ่มเติมให้นะคะ

อาจารย์ค่ะ ดูข่าวเมื่อ 2 - 3 วันก่อน ต่างชาติพูดถึงการใช้น้ำผึ้งรักษาโรค  ซึ่งศาสตร์นี้มีมานานแล้วไม่ใช่เหรอค่ะ หรือว่าเป็นการใช้กับโรคใหม่ๆ 

อ้อม สคส.

  • มีข้อผิดพลาดทางเทคนิคครับ Link ไม่ไป
  • สรุปว่า เขียน 3 บันทึก ซีรี่ส์เดียวกันไม่ไปอยู่ด้วยกัน ทำให้ติดตามเรื่องยากครับ....
  • ส่วนเรื่อง "การใช้น้ำผึ้งรักษาโรค" อยู่ในหมวดของเรื่อง "Apitherapy" การใช้อะไรที่เกี่ยวกับผึ้งรักษาโรคครับ เป็นเรื่องที่คนไทยยังรู้จักไม่นานครับ เป็นซีรี่ส์หนึ่งที่ผมพยายามจะนำมาเขียนเล่าสู่กันอ่านครับ
  • ส่วนต่างชาติ เขารู้จักกันมานานแล้วครับ แต่ก็มีวิทยาการใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท