ลุงทวน เตียะเพชร (2/2)


...ลุงทวนเลยหันมาใส่ปุ๋ยหมัก เพื่อให้ดินมันนิ่ม นี่เป็นการเริ่มต้นปรับปรุงบำรุงดิน...
"พันธุ์ข้าวปรังมาจากไหนจำไม่ได้ รู้แต่ว่าไปซื้อเขามาอยู่เรื่อยๆ ส่วนพันธุ์ข้าวปี สมัยก่อนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ทำกันมา เก็บพันธุ์ข้าวกันมา ไม่ต้องไปซื้อหรอก เก็บเอาไว้เอง พันธุ์ข้าวในสมัยก่อนตอนนั้น เขายังไม่ได้ทำข้าวพันธุ์ขายกัน”
“พันธุ์ข้าวปรังมันกลายพันธุ์เร็ว อย่างมากไม่เกิน ๓ – ๔ รุ่น ต้นที่สูงก็สูง ต้นที่เตี้ยก็เตี้ย มีทั้งเมล็ดขาวเมล็ดแดง พันธุ์หลายพันธุ์ปนกัน นึกถึงตอนสมัยก่อนที่ทำนาปี ถ้ามีข้าวปนก็ลงไปตัดออก คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำมากันอย่างนั้น ถึงจะกลายพันธุ์ ถึงมันจะแดง เขาก็คัดกันอย่างนี้แหละ แต่คนสมัยนี้ขี้เกียจ”
"คัดข้าวในสมัยก่อนจะไม่เหมือนกับในปัจจุบัน คัดพวกเมล็ดขาว เมล็ดแดงไม่เอา เอาแต่รวงที่สวยๆ สมัยก่อนใช้คนเกี่ยว พอเกี่ยวแล้วก็ชักเอารวงที่ต้องการทำพันธุ์ออกมาต่างหาก รวมเป็นฟอนๆ แล้วก็เข็นจากนามาไว้บริเวณลานหน้าบ้าน เอาขี้ควายมาทาลานบ้าน เอาไม้กวาดกวาดให้เรียบทั้งลาน เพื่อไม่ให้ขี้ฝุ่นฟุ้งขึ้นมา ขี้ควายแห้งแล้วไม่มีกลิ่นเหม็น เอารวงที่เกี่ยวมาทั้งหมดนามากองกันไว้บนลาน แล้วก็เลือกเมล็ดขาวรวงสวยเก็บไว้ ได้สักสิบมัดแล้วก็เอามาทุบให้เป็นเมล็ด แล้วก็เก็บใส่กระสอบไว้ แต่ในสมัยนี้ใช้รถเกี่ยว ก็ทำอย่างเก่าไม่ได้”
“ข้าวบุญนาค ข้าวหอมทอง เป็นข้าวเจ้า เป็นข้าวลอย อายุหลายเดือน ถ้าน้ำท่วม ข้าวพันธุ์เหล่านี้จะยาวขึ้น ซึ่งต่างจากข้าวปรัง ต้นเตี้ย หนีน้ำไม่พ้น  ส่วนนาที่ดอนก็จะปลูกข้าวตูดมอญ  ข้าวสายบัว ข้าวศรีเมฆ ข้าวหลวงน้ำค้าง ซึ่งพันธุ์พวกนี้อายุสั้น ๓ เดือนกว่า หรือร้อยกว่าวัน เป็นข้าวเบา”
“ข้าวหนัก ถ้าหว่านตั้งแต่เดือนเจ็ด ก็จะออกรวงตอนเดือนสิบสอง หรือเดือนอ้าย หรือเดือนยี่ ส่วนตรงไหนที่น้ำท่วมช้าหน่อย ก็จะหว่านตอนเดือนเก้าหรือเดือนสิบ ซึ่งจะไปออกรวงพร้อมกับพันธุ์อื่นๆ”
“ช่วงหลังๆไม่ได้ทำนาปีแล้ว พอมาทำนาปรัง นาปีก็เลิกทำกันหมด พันธุ์ข้าวก็หายไปด้วย สมัยนี้ทำนาปี ทำในนามนาปี แต่เป็นข้าวปรัง เอาข้าวเบามาใส่นาปี นาปีจริงๆไม่มี”
“เมื่อก่อนมีควายเป็นสิบ เวลาใครแยกเรือนออกไป พ่อแม่ก็จะแบ่งให้ไป ให้ไปเลี้ยงเอาเอง ก็จะออกลูกออกหลานขยายพันธุ์”
“ควายมากระทบตอนทำนาปรัง เกี่ยวหญ้าไม่ไหว ที่คับแคบจนไม่มีที่เลี้ยงควาย เพื่อนบ้านใกล้เคียงทยอยขายควาย พอพรรคพวกขาย ก็ต้องขายตาม ขายได้ห้าพันกว่า ตอนที่คิดขายควายนั้น ก็มีรถไถกันแล้ว”
“ตอนใช้ยาใหม่ ยังไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นอันตราย แล้วก็ไม่มีใครบอก ใช้มาเรื่อยๆ ต่อมาก็เริ่มรู้เพราะว่าลูกหลานที่เขาไปฉีดกัน เขาน็อค (หัวเราะ) จึงรู้ว่ายามีอันตราย  แต่ก็จำเป็นจะต้องใช้อยู่นะ  ก็เลยแก้ด้วยใช้ผ้าปิดจมูกปิดปาก”
“จากคำโฆษณาจากทีวีก็มีออกมาเรื่อย ดูกันใช่ไหม คำโฆษณาก็ออกมาทุกวัน ก็ดูอยู่เห็นอยู่ เขาชักชวนว่ายานี้ดี ศัตรูข้าวตาย อย่างนี้ก็นิยมใช้กัน ใช้ยานี้ ใช้ปุ๋ยนี้ ใช้ฮอร์โมนนี้ เขาก็ถ่ายภาพมาให้ดู ภาพต้นข้าวงาม ต้นสูง ชาวนาก็เชื่อ แต่รู้ไหมว่าตอนแรกๆ ทำตาม ก็ได้ผลอย่างที่เขาว่าจริงๆ อย่างเช่นทำนาปรัง ใส่ปุ๋ยครั้งเดียว ต่อมาต้องใส่ ๒ ครั้งแล้ว ต่อๆ มา ปัจจุบันบางรายใส่ปุ๋ยถึง ๓ ครั้ง หรือบางราย ๔ ครั้งก็มี นี่แหละที่ลุงทวนมีนึกขึ้นมาทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราก็ยังไม่รู้หรอกนะ”
“จนกระทั้งมูลนิธิข้าวขวัญเข้ามาแนะนำ ก็พิจารณาดูแล้ว ก็เห็นว่าเป็นไปเช่นนั้นจริงๆ เรื่องดินก็สังเกตได้ ดินพื้นนาของเรา ที่ตรงไหนที่ใส่ปุ๋ยเยอะๆ โอ้โห...ถ้าดินแห้งๆ แล้วถอดรองเท้าเดินดูนะ...ตีนพัง เพราะดินแข็ง ในน้ำก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าไถแล้ว หว่านข้าวลงไปแล้ว ดินก็ยังแข็งอยู่ ลุงทวนเลยหันมาใส่ปุ๋ยหมัก เพื่อให้ดินมันนิ่ม นี่เป็นการเริ่มต้นปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นผลได้ผลแน่นอนแล้ว แต่ว่ารอบข้างเขาก็บอกว่าใช้ปุ๋ยหมักเป็นผง เปื้อน หว่านยาก เพราะหว่านปุ๋ยเป็นฝุ่นผงมันฟุ้ง แต่ก็ลืมนึกไปว่าปุ๋ยหมักไม่เป็นอันตราย ปุ๋ยหมักมาจากขี้วัว ขี้หมู ขี้เป็ด แกลบ แล้วใช้จุรินทรีย์ย่อยสลาย ไม่มีสารเคมี ถึงจะมีฝุ่นเปื้อนบ้าง แต่ไม่เป็นอันตราย"
"สมัยนั้น ปุ๋ยตันหนึ่งก็สองพันกว่า เกือบสามพัน แล้วก็แพงขึ้นมาๆ จนตอนนี้ตันหนึ่งมี ๒๐ ลูกๆ ละตั้ง ๕๐๐ กว่าบาท ตันหนึ่งก็หมื่นกว่า”
“ตอนแรกมีผสม(ปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยหมัก) เพราะยังไม่ไว้ใจ และเพราะว่ากลัวว่าคุณภาพจะไม่ได้เหมือนกับใช้ปุ๋ยเคมี กลัวว่าใส่ปุ๋ยหมักแล้วข้าวจะไม่งาม พอทำมาได้หลายรุ่น ๕ – ๖ รุ่น ก็ชักคิดว่าดี พอเราหว่านข้าวลงไป แล้วเอาปุ๋ยหมักไปหว่านใส่ข้างบน ข้าวจะงามช้า ไม่งาม ทำท่าจะไม่ได้ผล ก็จึงต้องใส่ปุ๋ยเคมี นั่นคือการแก้ไขของเราเอง...ใจร้อนไปหน่อย แต่พอต้นข้าวมีกำลัง คงดูดซึมกินปุ๋ยหมักที่หว่านลงไป ข้าวจะเขียวทน...ต้นจะเขียวอยู่เสมอ”
“ถ้าใส่ปุ๋ยเคมีจะเขียวไม่ทน อย่างทุกวันนี้ที่ใส่ปุ๋ยเคมีลงไปสักครั้งหนึ่ง เขียวได้สัก ๒๐ วัน ต้นข้าวจะเริ่มเหลืองแล้ว เพราะปุ๋ยหมดฤทธิ์แล้ว ก็ต้องมาใส่อีกครั้ง ก็ได้อีกสัก ๒๐ วัน ซึ่งข้าวยังไม่ตั้งท้อง ยังไม่ออกรวง ข้าวก็จะกลับมาเหลืองอีกแล้ว ก็ต้องใส่อีก จนดินมันแข็ง คิดในใจนะ จริงๆ เป็นอย่างไม่รู้ คิดว่าดินคงแน่น รากไม่เดิน รากจะซอนไซหากินได้น้อย แต่ถ้าเขียวอยู่ทน ลองไปเหยียบดูซิดินจะนิ่ม รากจะชอนไช”
“จากนั้นก็พลิกแพลงอีก ลองทำ ๕ ไร่ ก่อนที่จะหว่านข้าว จะเอาปุ๋ยหมักไปใส่ก่อนรองพื้นไว้ แล้วจึงไถกลบไปประมาณสัก ๒ สัปดาห์ หมักลงไป ทำอย่างนี้ข้าวจะเขียว”
“ตอนนี้ก็เผยแพร่อยู่เรื่อยๆ คนอื่นเขาก็รู้อยู่เพราะมีสื่อเผยแพร่ แต่มีคนมาสอบถามว่าได้ผลไหม”
"ปลูกชัยนาทกับสุพรรณ ๖๐ ชัยนาทได้เกวียนละ ๖,๔๐๐ บาท ราคาดีกว่าพันธุ์อื่นๆ หน่อยหนึ่ง ส่วนสุพรรณ ๖๐ ได้เกวียนละ ๖,๒๐๐ – ๖,๓๐๐ บาท ราคาเหล่านี้พ่อค้าเขาตีให้เรานะ เราไม่ได้ตีค่าเอง ก็ในเมื่อลุงทวนเข็นไปให้เขาแล้ว ไม่เอาตามราคาของเขา แล้วจะให้เข็นไปขายให้ใครล่ะ ก็ต้องขายให้เขานั่นแหละ”
“ค่าไถ ไร่ละ ๒๕๐ บาท ค่าเกี่ยว ไร่ละ ๒๘๐ บาท ค่าเข็นขนส่ง เกวียนละ ๑๐๐ บาท (คิดเป็นตัน) ค่ายาคุมหญ้า ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน และค่าปุ๋ย ซื้อครั้งตันครึ่ง ใส่ไร่ละลูก (๕๐ กิโลกรัม) ต่อมาต้องเพิ่มเป็นไร่ละ ๒ ลูก (๑๐๐ กิโลกรัม)”
“ตอนนี้ไถเอง ปุ๋ยหมักก็ทำเอง หมดต้นทุนไปราว ๕๐๐ บาท”
"การคัดพันธุ์ข้าวสมัยก่อนกับสมัยนี้แตกต่างกัน สมัยก่อนคัดเป็นรวง เมล็ดแดงไม่เอา ตัวเมล็ดเหมือนกัน แต่เมล็ดในเป็นสีแดง พอมาเรียนการคัดข้าวพันธุ์ ต้องกะเทาะเอาเปลือกออก คัดเอาเมล็ดที่สวยที่สุด เมล็ดยาว เมล็ดมัน เมล็ดที่บิดที่เบี้ยวนั้นไม่เอา จมูกข้าวใหญ่ก็ไม่เอา เอาแต่จมูกเล็กๆ เพราะโรงสีต้องการ”
"พอเริ่มคัด นำข้าวพันธุ์เหลืองทอง คัดแล้วก็นำมาเพาะ ๓๐ เมล็ด เพาะใส่กระถาง รอจนกระทั่งออกรวง แล้วก็เกี่ยว จนมาฝัด ได้ข้าวเปลือกกิโลครึ่ง เอาไว้สำหรับทำพันธุ์ต่อ”
“คงจะปฏิบัติแบบนี้ต่อไป จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ การผสมพันธุ์ข้าวจะไม่หยุดนิ่ง แต่จะทำได้แค่ไหนก็ยังไม่รู้ ทำได้ขนาดนี้ก็ภูมิใจ เพราะสารเคมีสามารถเลิกได้แล้ว เราปลอดสารเคมี คนกินก็ได้ข้าวปลอดสารเคมีไปด้วย พอใจแล้ว”
อ้อม สคส.
ที่มา : รายงานความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวฯ (เมษายน 2550)
อาจารย์พรหม (1/2) อาจารย์พรหม (2/2) ลุงสุข  ลุงประทิน (1/2) ลุงประทิน (2/2) ลุงทวน (1/2)
หมายเลขบันทึก: 99287เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2007 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
    ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท