เมื่อฉันเรียนปรัชญาเซนพร้อมเด็กอนุบาลญี่ปุ่น


เห็นคนญี่ปุ่นเขาฝึกระเบียบเด็กอนุบาลแล้ว นักศึกษาปริญญาเอกคนไทยอย่างฉันรู้สึกอายเล็กน้อย(ถึงอายมาก) ไม่ใช่เพราะฉันเป็นคนไม่มีระเบียบขนาดนั้น แต่เป็นเพราะว่ากว่าฉันจะรู้จักวิธีการเจริญสตินั้น ก็ปาเข้าไปค่อนชีวิตแล้วมั้ง

cleaning dojo

 ภาพการทำความสะอาดพื้นสำนักหลังเลิกเรียน ที่จะมีให้เห็นกันในสำนักศิลปป้องกันตัวของญี่ปุ่นทั่วไป 

เสน่ห์ของการเรียนศิลปป้องกันตัวญี่ปุ่นกับเซนเซที่มีความอนุรักษ์มาก ๆ ก็คือ ท่านจะใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องการถ่ายทอดความสำคัญของการพัฒนาจิตวิญญาณของมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด

ไม่เว้นแม้กระทั่งหมดคาบเวลาเรียนแล้ว อย่างเช่นธรรมเนียมการขัดพื้นสำนัก ที่ทุกคนต้องลดอัตตาตัวตนลงมาทำอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะสายอะไร อายุเท่าไหร่ ฝึกมานานหรือยัง

ฉันพบว่า มันเป็นการฝึกความสามัคคี ความมีน้ำใจให้กันได้ดีมาก ๆ เพราะมันยากที่จะทำให้ได้พร้อม ๆ กัน และมันก็จะหกคะเมนตีลังกาลื่นลงไปนอนเหยียดยาวกันทีละคนสองคน รวมถึงผู้ช่วยสอนอย่างฉันด้วย แต่ทุกคนก็จะคอยช่วยกันตลอด จะรอกัน จะมองกัน จะไปพร้อม ๆ กัน

ไม่มีใครทิ้งกันเลย เป็นกิจกรรมที่ทำให้รักกันมากเลยแหละ ขอบอก

ไม่นับประโยชน์ที่ทำให้ได้ฝึกหลายกล้ามเนื้อไปพร้อม ๆ กันเป็นการ วอร์ม ดาวน์ ได้ทั้งยืดเส้น และกึ่ง ๆ แอโรบิคส์ไปในตัวนะฉันว่า

วิธีการทำ ก็คือ เซนเซจะแจกผ้าขาวสะอาดใหม่เอี่ยมให้คนละผืน พร้อมกับสอนวิธีการพับให้ ฉันต้องพยายามอ่านปากเซนเซไปด้วย เพราะเซนเซพูดภาษาญี่ปุ่นเร็วปรื๋อ

อย่าว่าแต่ฉันเลย เจ้าคุมะ น้องหมีอ้วน เด็กอนุบาลญี่ปุ่นตากลมโต แก้มยุ้ย ขาวจั๊วะ ที่ชอบนั่งข้างฉัน ก็ยังตามเซนเซไม่ทันเลย เจ้าหมีน้อยทำหน้าเหยเก แล้วก็พับบิดเบี้ยวไปมา

ลำบากฉันต้องแอบชะโงกดูของเด็กอีกคน คือ อิบุกิ ซึ่งพับเสร็จก่อน แล้วก็พยายามพับตามให้ ตกลงเสร็จพร้อม ๆ กันพี่หมี กับน้องหมี

เสร็จแล้วทุกคนก็เข้านั่งเรียงแถว โหย่งตัวอย่างในภาพ (ซึ่งเป็นของสำนักอื่น ขอยืมมาประกอบการเล่า) แล้วเซนเซเป็นคนให้สัญญาณ ก็ไถปื๊ดดดดดด กันไปจนสุดโถง Dojo

พอสุด ก็จะกระเถิบขึ้นไปหนึ่งแถวไม้กระดาน แล้วก็กลับตัว (เหมือนว่ายน้ำ) ทุกคนตั้งแถวเตรียมพร้อม รอเซนเซให้สัญญาณ แล้วก็ถูไปพร้อม ๆ กันใหม่

ระหว่างนั้น ก็จะได้ยินเสียงหัวเราะคิกคักของเด็ก ๆ สลับกับเสียงร้องโอดโอยของคนที่ล้ม และเสียงฟืดฟาดของลมหายใจหอบ กับสารพัดเสียง รวมทั้งเสียงเร่งจังหวะแบบดุไม่มากของเซนเซ คือเสียงใหญ่ ๆ ทุ้ม ๆ กึ่งเป็นทางการแบบอมยิ้มเล็กน้อย เพราะถือว่าหมดคาบการฝึกแล้ว

แต่จะว่าไปแล้ว สำหรับการเรียนกับเซนเซ ตลอดเวลาคือการฝึก เพราะจุดประสงค์ของการที่ผู้ปกครองพาเด็ก ๆ มาฝากให้เซนเซฝึก ก็คือ ให้เด็กมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานี่แหละ

เห็นคนญี่ปุ่นเขาฝึกระเบียบเด็กอนุบาลแล้ว นักศึกษาปริญญาเอกคนไทยอย่างฉันรู้สึกอายเล็กน้อย(ถึงอายมาก) ไม่ใช่เพราะฉันเป็นคนไม่มีระเบียบขนาดนั้น แต่เป็นเพราะว่ากว่าฉันจะรู้จักวิธีการเจริญสตินั้น ก็ปาเข้าไปค่อนชีวิตแล้วมั้ง

และก็รู้จักในคอร์สวิปัสสนาเสียด้วย

แต่เด็กพวกนี้ เซนเซสอนให้รู้ตัวทั่วพร้อม เหมือนที่ฉันรู้จักในคอร์สวิปัสสนาเลย ไม่ว่าจะลุกขึ้นยืนจากท่านั่งเอี้ยมเฟี้ยมคุกเข่าน่ารักมาก เอามือเล็ก ๆ สองข้างวางบนตัก ว่าต้องเอาเข่าไหนขึ้นก่อน (สำหรับซามูไรแล้ว ต้องขาขวาก่อน เพราะดาบจะอยู่ข้างซ้าย) 

และช่วงเวลาพัก ก็เดินเหมือนเราเดินจงกรมนี่แหละ คือรู้ตัว ไปถึงประตูก็โค้ง และมีคำบริกรรมเหมือนเรามีด้วย และออกไปจัดรองเท้าให้เป็นระเบียบ

การจัดรองเท้าของตัวเองนี้ ก็เป็นปรัชญาเซนชั้นสูงเหมือนกัน เรียกว่า Kykkashoko แปลได้ประมาณว่า  การก้มลงมองหาตัวเอง หรือการเรียนรู้ชีวิตตัวเองด้วยการก้มลงมองดูเท้าตัวเอง โอ้โห...

ไม่นับที่เรียนเสร็จ วอร์มดาวน์เสร็จ แล้วต้องจบลงด้วยการนั่งสมาธิทุกครั้ง ถ้าใครได้เคยเห็นเด็กอนุบาลญี่ปุ่นนั่งสมาธิอย่างเรียบร้อยตั้งอกตั้งใจหลับตาปี๋มือวางบนตัก คุกเข่าแบบซามูไร หลังตรง แต่บางทีมีเอนไปข้าง ๆ บ้าง หน้าตาหน้าเอ็นดูบางครั้งห่อปากจู๋เหมือนจะงอนใคร บางคนหน้าลอย รับรองจะต้องตกหลุมรักเด็กน้อยเหล่านี้แน่ ๆ  อารมณ์ประมาณอิ๊กคิวซังยังไงยังงั้น  

จริง ๆ แล้วมีอีกแยะ แต่เอาเป็นว่า แค่เรื่องจัดรองเท้า เพื่อให้หมั่นสำรวจตนเอง และเรื่องขัดพื้นสำนัก ให้ถ่อมตัว รู้รักสามัคคี มีน้ำใจห่วงใยเพื่อนฝูง แค่นี้ ก็เป็นวิธีเรียนที่แสนจะได้ผลโดยไม่ต้องสอนปากเปียกปากแฉะเท่าไหร่แล้ว เพราะมันได้โดยตรงจากการปฏิบัติ เด็ก ๆ เขาเข้าใจ และทำกันได้เอง เมื่อเห็นแล้วก็ชื่นใจ 

แล้วเซนเซก็มีวิธีพูดต่อด้วยว่า  พอรู้วิธีถูพื้นแล้ว วันหยุดหรือปิดเทอมก็ต้องหัดช่วยคุณแม่ทำอย่างนี้ที่บ้านด้วยนะ  เด็ก ๆ ก็ตอบเสียงยานคางว่า "ฮา-อัย..."  ทำเอาบรรดาคุณแม่บ้านญี่ปุ่นทั้งหลายที่มานั่งเฝ้าลูก ๆ เรียนอยู่ข้าง ๆ ห้องต่างพากันยิ้มน้อยยิ้มใหญ่

อือ...หวังว่าสักวันหนึ่ง เมืองไทยจะทำอย่างนี้ได้อย่างแพร่หลายบ้างตั้งแต่อนุบาล เพราะถ้าทำได้ เราก็คงจะได้พลเมืองที่มีวินัย มีน้ำใจ อ่อนน้อมถ่อมตน คิดช่วยงานบ้านโดยแม่ไม่ต้องขอและรู้รักสามัคคีเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย

โอ้โฮ...ฝันแต่วันเลยนี่ฉัน

my class

เด็ก ๆ อนุบาลและป.๑ รร.ญี่ปุ่นในประเทศไทย กับผู้ช่วยสอนใจดี  น่าเสียดายที่เด็ก ๆ ที่ฉันสอนประจำหลายคนเปลี่ยนชุดเสียแล้ว เพราะเวลาเขาใส่เครื่องแบบแล้วน่าเอ็นดูมาก วันนี้มีเด็กบางคนมาดูการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกด้วย  ไม่บอกก็คงเดาได้ว่าใครเป็นเด็กที่เรียนกับฉันอยู่ประจำ  และไม่บอกก็คงเดาได้เหมือนกันว่าคนไหนชื่อเล่นแปลเป็นภาษาไทยแล้วเหมือนฉันคือ น้องหมี ฮิ ๆ

หมายเลขบันทึก: 71379เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 04:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
อ่านแล้วชอบมากเลยคะ ต้องขอเป็นแฟนคลับด้วยคนค่ะ ชอบอ่านเรื่องซามูไร อย่าง มูซาชิ อยากนิ่งแบบนั้นแหละคะ น่าสนใจมากคะ การมองเรื่อง การเรียนการสอน และคำนี้ก็ประทับใจมากคะ " ให้เรียนรู้ชีวิตตัวเองด้วยการก้มลงมองดูเท้า "

อุ๊ย...เขิน แหะ ๆ ขอบพระคุณค่ะ คุณดอกแก้ว  ดีใจที่คุณดอกแก้วชอบเรื่องเล่าเล็ก ๆ น้อย ๆ   นี้ค่ะ  ชอบมูซาชิหรือคะ  ถ้าอย่างนั้นวันหลังจะหาเกร็ดการฝึกคล้าย ๆ มูซาชิมาเล่าให้ฟังนะคะ  (ตามใจท่านผู้อ่าน ฮิ ๆ)

สวัสดีค่ะ,

ณัชร

ชอบใจมากครับ

โดยเฉพาะแนวความคิดเรื่องการสอนที่ครอบคลุมไปทุกๆเรื่อง

แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่นความรับผิดชอบในการทำความสะอาดในพื้นที่ที่ตนใช้สอย

เป็นการสร้างความรับผิดชอบ สร้างวินัย และปลูกฝังนิสัยไม่เห็นแก่ตน ได้เป็นอย่างดี

หนูก็เริ่มทำได้โดยนำมาใช้กับศิษย์ของหนูไงล่ะ

อาจารย์ดุรูปแล้ว มีแววเป็นคุณครูใหญ่รร.อนุบาลได้แจ๋วเลย จะตั้งชื่อให้ว่า "อนุบาลหมีน้อย" เอาไหม?

ขอบพระคุณค่ะ อาจารย์ ที่กรุณาแวะมา

หนูก็ชอบแนวคิดของคนญี่ปุ่นโบราณเหมือนกันค่ะ ที่สอดแทรกการสอนเด็กและฝึกเด็กของเขาไปในทุก ๆ ขณะของชีวิต ไม่เว้นแม้ในรายละเอียดปลีกย่อย

มีอีกประโยคที่เซนเซหนูชอบพูดบ่อย ๆ ให้หนูคิดเป็นการบ้านว่า  "เป้าหมาย" ของการกระทำนั้น ๆ คืออะไร

เช่น แม้แต่การออกดาบจากฝักท่านี้  แม้นเพียงครึ่งลำดาบ ก็มีความหมายน่ะค่ะ

เพราะมันขึ้นอยู่กับว่า "เป้าหมาย" ของการกระทำนั้น ๆ คืออะไร

นั่นคือเป้าหมายของการฝึกในระดับต้น ๆ

แต่ "เป้าหมายรวม" นั้น ยากกว่าเยอะเลยน่ะค่ะ หนูก็ยังงง ๆ จับแพะไทยชนแกะญี่ปุ่นอยู่นี่น่ะค่ะ   เพราะมันเป็นเรื่องของจิตใจล้วน ๆ ตามที่เซนเซย้ำนักย้ำหนา

การที่พูดหรือสื่อสารทางวาจากับเซนเซไม่ค่อยจะรู้เรื่องก็ดีไปอย่างค่ะอาจารย์   คือต้องทำให้ใช้ "ใจ" เรียนดี

สรุปว่า ภาษาญี่ปุ่นหนูก็ยังไม่ไปถึงไหน ถึงแม้ภาษาไทยเซนเซจะดีวันดีคืนแล้วก็เถอะ แหะ ๆ

สวัสดีค่ะ,

ณัชร

ป.ล. หนูน้อมรับคำอวยพรของอาจารย์เรื่องมีแววเป็นครูใหญ่รร.อนุบาลได้นะคะ หนูก็อยากเป็นเหมือนกันค่ะอาจารย์  แต่อยากไปเปิดเชียงใหม่ได้ไหมคะ?  ฝากอาจารย์เช็คทีสิคะว่า ที่เชียงใหม่มีอนุบาลชื่อ "หมีน้อย" หรือยัง  ฮิ ๆ  เดี๋ยวหนูไปเปิดอนุบาลอินเตอร์สามภาษาเสียเลย ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น  เน้นสอนการเจริญสติให้เด็กเล็ก  รออาจารย์ส่งหลานตามาเรียน  อุ๊บส์ส์...ไม่ควรเรียกคุณตา.... ฮิๆ

 

  • ชอบดูเด็กๆครับมีความสุขดี
  • จะไปเปิดโรงเรียนอนุบาลเลยเหรอ
  • เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอนุบาลหมีใหญ่ดีไหมครับเอหรือ

ดีใจๆ ได้อ่าน blog พี่ Nash : ) 

dojo ที่แวนคูเวอร์ก็ให้เด็กไทยโข่งสองคนนี้ ถูพื้นค่ะ เพราะเป็น สมาชิกใหม่ ที่ดันมาก่อนเวลาทุกครั้ง เซนเซไม่ได้สั่งแต่ท่านป้า สมาชิกเก่าแก่ให้ทำ

ถูท่านี้เลยค่ะ ถูไปขำไปเพราะมันไม่ชิน ถูไปล้มไป ทำมาสองเดือนแล้วเริ่มชิน เริ่มไม่ล้มแล้ว รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วม แถมมีสมาชิกใหม่เข้ามารวมวง สงสัยอีกสองเดือนคงได้เลื่อนขั้นไปตั้งเป้ายิง (mato) ซะที ตอนนี้อยู่เมืองไทยค่ะ ไม่ได้ยิงธนูมาจะสามอาทิตย์แล้ว คิดถึงมากๆค่ะ 

กลับมาเรื่องน้องๆญี่ปุ่น ชอบเรื่อง Kykkashoko จังค่ะ 

ขอบคุณน่าค่ะ สำหรับ blog ดีๆ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท