"Home stay" และ "Stay home" นิยามที่สับสน มาตรฐานที่ไม่ลงตัว


หากเอาการท่องเที่ยวชุมชนเป็นธุรกิจแล้วละก็ น่าเป็นห่วงชุมชนครับ

เช้าวันจันทร์ที่สดใส ที่เชียงใหม่

ได้รับการติดต่อจาก มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น  เชิญให้เข้าร่วมประชุม ตามโครงการ "พัฒนามาตรฐานที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (Home Stay) " ที่ทาง สกว.สำนักงานภาค ส่วนของการท่องเที่ยว และ องค์กร REST. ร่วมกับทางมหาวิทยาลัย พัฒนามาตรฐาน Home Stay ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับชุมชน ความเป็นจริง และสามารถยอมรับได้

งานนี้มีภาคีเข้าร่วมหลากหลาย ทั้งหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ชมรมธุรกิจท่องเที่ยว ททท. ภาครัฐ มหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคเหนือ พร้อมกับภาคชุมชน เข้ามาร่วม ระดมความคิด

ซึ่งประเด็นนี้ตรงใจผมมาก ก็อึดอัดมาหลายปีกับ เรื่อง "Home stay" วันนี้คงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้กันอย่างจริงจัง

ค่ำคืนหนึ่ง ที่ผมไปพักโฮมสเตย์กับพี่น้องลาหู่ บ้านจะแลเชียงราย

ด้วยกระแสการท่องเที่ยวที่เป็นกระแสแรงในขณะนี้ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก็เช่นเดียวกัน เป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการท่องเที่ยวแบบเรียนรู้ และได้มากกว่าการท่องเที่ยวที่ให้ความสนุกแต่เพียงอย่างเดียว

นิยามที่หลากหลาย ของ Home stay  ทำให้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวระดับชุมชนเปลี่ยนแปลงไป home stay ก็มีหลากหลาย และทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนอยู่ภายใต้ชื่อโฮมสเตย์แทบทั้งสิ้น...

แล้วนิยามจริงๆคือ อะไร???นิยามคงต้องชัดเจนก่อนครับ

นิยาม Home stay ที่ผมเห็นว่า ครอบคลุมและถูกต้อง น่าจะเป็น

การมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย แบบสังคมชนบท เป็นจุดขายที่สำคัญ ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ การจัดกิจกรรม ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท จึงเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน และเป็น ตลาดการท่องเที่ยวทางเลือกในท้องถิ่น ที่ไม่ใช่คู่แข่งในเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ที่มีโรงแรม รีสอร์ต จึงไม่ถือว่าเป็นการประกอบการที่พักเชิงธุรกิจ

อย่างไรก็ตามนิยามที่สับสนที่แต่ละบุคคล หน่วยงาน ตั้งนิยามต่อ Home stay ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์พัฒนาที่หลากหลาย คนละทิศ คนละทาง กลุ่มที่ทำงานด้านมาตรฐานhome stay ก็ค่อนข้างหนักใจที่จะใช้มาตรฐานเข้าไปจับ ไปวัด

ถึงแม้วันนี้จะคุยเข้มข้นลงเฉพาะ Home stay แต่ผมก็คิดว่า พูดถึงเรื่องนี้ ก็หมายถึง การท่องเที่ยวโดยชุมชน ในความหมายที่ไม่แตกต่างกัน Home stay ก็เป็นหนึ่งในนั้น เกี่ยวเอานิยามการท่องเที่ยวโดยชุมชนไว้หมด

ส่วนมาตรฐานของ Home stay มีความเห็นว่าควรปรับรื้อใหม่ ให้ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับวิถีความเป็นจริงมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวแสวงหาความเป็นจริงที่เป็นธรรมชาติ ...เวทีมาตรฐาน จึงจะมีเวทีที่สอง สาม ต่อไปอีก...

มีความเห็นที่ผมนำเสนอในเวทีนี้ และ ทางกลุ่มธุรกิจก็แย้ง ขึ้นมาทันใด!!!!

ในเรื่อง การทำให้การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจ และรายได้หลักของชุมชน

ในวันนี้ผมไม่เชื่อว่า ชุมชนจะทำธุรกิจการท่องเที่ยว และ ให้การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก เพราะพื้นฐานของคนไทยคืออาชีพเกษตรกรรม นั่นคืออาชีพหลัก อาชีพอื่นรองมาก็น่าจะเป็นอาชีพเสริม

เมื่อไหร่ก็ตามที่การท่องเที่ยวรุกคืบเข้าไปในชุมชน ชุมชนต้องจัดการให้ได้ และเท่าทัน แต่ไม่ได้หมายความว่าชุมชนต้องทำธุรกิจ...ชุมชนไม่ทันกลุ่มธุรกิจข้างนอกที่แฝงตัวมาเป็น แนวร่วมเพื่อกอบโกยผลประโยชน์อย่างแน่นอน

 

วิถีชีวิตลาหู่ ที่รองรับการท่องเที่ยว "เต้นจะคึ"

ในวันนี้ผมจึงคิดว่าเรา ยังไม่พร้อมเรื่อง ธุรกิจ กับ ชุมชน ในด้านการท่องเที่ยว

ผมมองเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาชุมชนมากกว่า ครับ เป็นเครื่องมือที่สำคัญเลยทีเดียวสอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวทางเลือกที่เป็นอยู่ขณะนี้

การท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มีการจัด Home stay น่าจะเป็นอย่างไร ???(ในความคิดผม)

  • ·       เป็นการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีมนุษย์ที่ชอบรวมตัวเป็นสังคม
  • ·        ไม่ใช่ธุรกิจ เป็นการท่องเที่ยวทางเลือก
  • ·        เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน
  • ·        เป็นเพียงอาชีพเสริม
  • ·        เป็นไปเพื่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยน
  • ·        เป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ส่วนประเด็น เป็นอาชีพหลักนั้น ผมก็คิดว่า ไม่น่าจะเป็นแนวคิดที่เราตั้งเป้าไว้ นักธุรกิจกับนักพัฒนาจึงมองไปคนละเป้าหมาย...ซึ่งก็ไม่แปลก การมองกำไร ขาดทุน เป็นเรื่องของโลกทุนนิยมอยู่แล้ว ผมไม่ปฏิเสธ แต่หากเอาการท่องเที่ยวชุมชนเป็นธุรกิจแล้วละก็ น่าเป็นห่วงชุมชนครับ

หมายเลขบันทึก: 88219เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2007 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

อ่านเรื่องราวที่ผมได้มีโอกาสไปพักแบบโฮมสเตย์ที่บ้านจะแล อ.เมือง จ.เชียงราย

ลาหู่ - พรานภูเขา: วิถีตัวตนคนชายขอบ กับการท่องเที่ยวโดยชุมชน

พี่เอกครับ

เห็นด้วยทุกกระบวนท่าเลยครับ   เมื่อไหร่ที่ตั้งธงธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรอย่างสุดความสามารถละก็ อันตรายมากเลยทีเดียวเพราะทรัพยากรในพื้นที่ที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น คนพื้นถิ่น  ป่าเขา ต้นไม้  หลายอย่างจะเปลี่ยนไปด้วยการปรุงแต่งสารพัดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค 

เป็นกำลังใจให้นะครับ "ความสมดุลกับการพัฒนา" นั่นคือความพอเพียง แต่ไม่รู้ว่านักธุรกิจเค้าจะเข้าใจหรือเปล่า???? น่าจะเข้าใจนะ ถ้าเค้าเป็นคนพื้นถิ่นคงไม่อยากทำลายสิ่งที่หล่อเลี้ยงเค้ามา แต่ถ้าเป็นนักธุรกิจคนนอกพื้นถิ่น (อันนี้ไม่แน่ใจ) คงยากที่จะทำให้เค้าอินไปกับชุมชนได้  คิดว่าทีมงานทุกคนของพี่เอกคงช่วยกันคิดหาทางออกได้ครับ

 

มีเพื่อนฝรั่งคนนึงเคยไปเดินป่าแล้วก็อยู่ home stay ทางเหนือบ้านเรา แล้วเค้าผิดหวังนิดหน่อยที่เมื่อเดินทางถึงหมู่บ้านแล้ว คนในหมู่บ้านออกมาต้อนรับอย่างดีโดยการยกถาดที่ เต็มไปด้วยน้ำอัดลมชนิดต่างๆ  พ่อหนุ่มที่ให้การต้อนรับก็พูดด้วยความหวังดีกว่าเนี่ยะ  อยากดื่มน้ำอัดลมรสไหนมีให้หมด ไม่ต้องห่วง อยากได้อะไรเดี๋ยวเอากะบะออกไปหาให้ได้ ไม่ต้องกลัวอยู่ลำบาก

เพื่อนฝรั่งคนนี้บอกว่า น้ำใจของชาวบ้านนั้นมากนัก ทุกคนยิ้มแย้ม เป็นกันเอง  แต่อารรมณ์เค้าแกร่วไปมากเมื่อได้รับการต้อนรับแบบนั้นหน่ะค่ะ

เพราะฉะนั้น เห็นด้วยกับคุณเอกที่ชวนหยุดคิดเรื่องนี้ให้ดี ก่อนดำเนินการต่อไปอย่างรวดเร็วเกินไปเพียงเพราะมัน "บูม" อยู่

 

  • รออ่านผลการประชุมครับ
  • ผมเองก็สับสนเหมือนกัน
  • เห็นด้วยในเรื่อง Homestay ควรเป็นเพียงเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และ       เป็นเพียงอาชีพเสริม
  • การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในความคิดของผม คือ การท่องเที่ยวที่ปรุงแต่งให้น้อยที่สุดครับ
  • การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ถ้ามุ่งไปที่เงิน รายได้ มุ่งไปที่จำนวนนักท่องเที่ยว มุ่งไปที่การจัดการให้มีมาตรฐานแบบสากล...ผมคิดว่าก็คงหลงทางเต็มทีแล้วล่ะครับ...เพราะหมายถึงการปรุงแต่งชุมชนจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม...แต่จะกลายเป็นเอาวัฒนธรรมมาขายซะอีก...
  • ถ้าจะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในงานพัฒนา...ผมคิดว่าคงต้องเริ่มทบทวนตั้งแต่ว่า หมู่บ้านนี้จำเป็นต้องมี home stay ด้วยหรือ?

น้อง Del piero

P

มีผู้ที่พยายามให้ชุมชนทำธุรกิจ เพียงเพราะมีผลประโยชน์ล่อใจ และฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์คือนายทุน

หากชาวบ้านพร้อม และมีกระบวนการจัดการความรู้ พัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ ทำธุรกิจระดับชุมชน มันก็ไม่แปลก แต่ที่ผ่านมาไม่ใช่ครับ มันมีผลประโยชน์แฝงในความปรารถนาดีของนายทุนเหล่านั้น

ประเด็นนี้เองที่ผมไม่ค่อยสบายใจ

ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ดีกว่า พอเพียง และเพียงพอ

แต่คิดแบบนี้ พูดแบบนี้ นายทุนไม่ชอบผมนะครับ 555

 

P
อาจารย์ มัทนา

เรื่องนี้เป็น นาฎกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ผิดทิศ ผิดทางกันไปใหญ่

การท่องเที่ยวที่เสแสร้ง แกล้งเป็น ไม่ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ...ขาดจิตวิญญาณของสังคม วิถีชาวบ้านที่เป็นอยู่ ไม่มีเสน่ห์เลยครับ

ด้วยปัญหาที่ผมเขียนในบันทึก บ้าง นั่นหละครับ เป็นต้นตอส่วนหนึ่งของปัญหา

ธุรกิจที่เชี่ยวกราก ผลประโยชน์ที่นายทุนเข้าไปส่งเสริมโดยขาดฐานของความรู้ การพัฒนาที่เข้าใจ ทำร้ายชุมชนตลอดเวลา

คิดว่า...เรามีทางออกที่ดีขึ้น

ตอนนี้ผมอยู่ร่วมในทีมวิจัย การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ทำในระดับประเทศครับ อีกทั้งยังผลักดัน การจัดตั้งสถาบันการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนด้วยครับผม

นี่เป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ในส่วน CBT. ครับ

P
อ.ดร.Panda

อาจารย์ครับ

ตอนนี้ผมอยู่ในส่วนของนักวิจัย การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ทำในระดับประเทศครับ  ส่วนของงานที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่อง การท่องเที่ยวโดยชุมชน และเกี่ยวข้องโดยตรงกับมาตรฐานโฮมสเตย์ด้วย

ด้วยปัญหาอย่างที่ท่านอาจารย์รับทราบมาตลอด ทำให้การพัฒนากันไปคนละทิศละทาง ...ส่งผลเสียมากกว่าดี

และเร็วๆนี้จะมีการทำประชาพิจารณ์ เรื่องนี้ครับ

และ ตอนนี้มีทีมวิจัย ที่รับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อ.จาก ศิลปากร) อาจจะได้ติดต่อทางผู้เกี่ยวข้องทางภาคอิสานบ้าง เพื่อเราจะเก็บข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน ครับ

งานนี้ทางศิลปากร เป็นโต้โผใหญ่ ผมเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ...ผลการทำงานจะนำมารายงาน และเขียนบันทึกเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเรื่อยๆครับ

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

P

เราคุยกันเรื่องนี้ค่อนข้างมากครับในเวลา เรื่อง มาตรฐานกับคววามเป็นจริง และประเด็นความต้องการของนักท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

เรากำลังระดมสมองเรื่อง "มาตรฐาน" ว่าควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เป็นเรื่องสากลที่เราจะนำมาปรับให้สอดคล้องกับวิถีไทย เรื่องสำคัญน่าจะเป็นเรื่อง ความปลอดภัย และสุขภาพมากกกว่าครับ

ชุมชนทำการท่องเที่ยว ไม่จำเป็นต้องทำ Home stay เสมอไปนะครับ เป็นเพียงทางเลือก แต่ช่วงหลังมีกระแสเรื่องนี้แรงครับ

ขอบคุณครับที่มาแลกเปลี่ยนกันครับ

ยังไม่ได้ติดตามประเด็นความเคลื่อนไหวโดยละเอียด

ทั้งจากการประชุม และจากรายงานการศึกษาในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่เป็นทางเลือกหนึ่งของการท่องเที่ยว

แต่ก็พยายามติดตามเป็นระยะ  เพราะโดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบการเดินทาง ชื่นชอบเดินทาง เหมือนการอ่านหนังสือ เขียนงาน พูดคุยกับผู้คน

แต่ไม่บางด้าน ผมกลับไม่เห็นมิติมุมมองในด้านความแข็งแกร่งของ Home Stay ในรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ไม่แน่ใจว่า เป็นผลจากความพยายามในการผลักดันให้เกิดคำตอบเชิงปริมาณหรืออย่างไร แม้จะสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยว โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง บริหารจัดการ และเรียนรู้ เพื่อนำเสนอมุมมองความคิดเห็น วิถีชีวิต และตัวตนของชุมชนเป็นที่ตั้งก็ตาม แต่บางอย่างที่เห็นก็ดูจะยังไม่ค่อยเข้ารูปเข้ารอยเท่าใดนัก

 ผมคิดว่า ประเด็นสำคัญที่เราไม่ควรหลีกเลี่ยงพิจารณาก็คือ

โดยความเป็นจริงแล้ว กระแสการผลักดัน ให้เกิดประเภทการท่องเที่ยวแบบนี้

เป็นผลโดยตรงจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกระแสหลัก หรือพูดอีกอย่างก็คือ ทุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นตัวกำหนดทิศทาง

คิดค้น ประดิษฐ์ และค้นหานวัตกรรมการท่องเที่ยว หรือกระทั่งสร้างเรื่องราวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขึ้นมา

สร้างรายละเอียดและประเด็น ที่สามารถนำเสนอเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ

สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ

บทบาทการช่วงชิงการนำ หรือช่วงชิงการนิยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่มีผู้ตั้งใจดี เพื่อสร้างและกำหนดกรอบ ให้ชุมชนได้มีอำนาจต่อรอง กำหนดทิศทาง และจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น

ผมเชื่อว่า ในขณะที่เราพยายามมองเห็นถึงสิ่งที่ควรจะเป็นของชุมชน ในท่ามกลางความแข็งแกร่งของทุน

การประนีประนอม ต่อรอง ช่วงชิงการนำ หรือกระทั่งการกำหนดให้เนื้อหาและทิศทางไปในรูปแบบที่เอื้อประโยชน์มากที่สุดให้กับชุมชน ก็อย่าพึงละเลยมุมมอง แรงกดดันและต่อรองของกลุ่มทุน ด้วยนะครับ

ยินดีมากครับ สำหรับความพยายามและเจตนาดีในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม

หากมีข้อมูลข่าวสารใดที่น่าสนใจ ยินดีช่วยกันสร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์ ถือว่า เป็นหนึ่งในแนวร่วมสนับสนุนการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้สังคมไทยนะครับ

P
คุณKati

ด้วยกระแสการท่องเที่ยวแบบ deep in ที่เน้นการเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีมากขึ้น ชุมชนกลายเป็นแหล่งทรัพยากรที่เป็นเสมือนเค้กชิ้นโตของนายทุน ที่มองอย่างหื่นกระหาย

ชุมชนที่รู้ไม่เท่าทัน เมื่อมีผลประโยชน์แม้เพียงเล็กน้อย เข้ามานำเสนอ ก็อาจเผลอเอาชุมชนของตนเองเป็นตัวประกันได้

ฉุดรั้งยากนักครับ เรื่องของผลประโยชน์

ในส่วนของงานพัฒนาที่ขับเคลื่อน เราค่อนข้างโชคดีว่า ททท. และ กระทรวงพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬา(ไทย)  ให้ความสนใจและเปิดโอกาสให้กับทีมวิจัย ได้ทำงานกันเต็มที่ในเวลานี้

เราคาดหวังถึง การพัฒนาชุมชนที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ เสริมความเข้มแข็งแข็งให้เกิดขึ้น

แม้ว่าการท่องเที่ยวจะอยู่ในฐานะใดก็ตามนะครับ...ผมคิดว่า  เนื้อหาที่แท้จริง คือ การแสดงตัวตนของคนชนบท และเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม

ผมเคยไปยังหลายๆหมู่บ้าน เพื่อไปเที่ยว พร้อใมเก็บข้อมูล พบว่า การท่องเที่ยวเป็นตัวแทน ที่ชุมชนกับกำลังบอกบางอย่างแก่สังคม เช่นที่ หมู่บ้านกระเหรี่ยงเล็กๆแถบสาละวิน ชุมชนใช้การท่องเที่ยว บอกกับสังคมว่า พวกเขาไม่ใช่คนทำลายป่า และต่อรองกับทุนจนาดใหญ่เรื่อง การสร้างเขื่อนที่กำลังจะมา...ไม่มีสื่ออื่นใดที่จะช่วยเขาให้เปิดเผยสิ่งที่เขาเป็นอยู่ เขาเลยมีแนวความคิดว่า จะใช้การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่บอกกล่าวกับสังคม

และสิ่งที่ผมเขียนข้างต้น ว่ามันคือกระแส...มีโจทย์ที่ท้าทายว่า เราจะใช้กระแสนั้น ให้เป็นผลบวกกับชุมชนได้อย่างไร เราจะให้ชุมชนรู้ตัว รู้เท่าทันได้อย่างไร ในที่สุดก็จะนำไปสู่การต่อรองกับกลุ่มทุนที่จ้องมองชุมชนอย่างหิวกระหาย

ผมเชื่อครับ เชื่อในพลังของชุมชน เพียงแต่ให้โอกาส และ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น อาจจะใช้เวลา บ้าง แต่ก็คุ้มค่ามิใช่หรือ บางครั้งอาจจะยาวนานถึงขั้นต้องเสียในบางส่วนที่เราปกป้อง ควบคุมไม่ได้ไป แต่ก็รักษาจุดใหญ่ๆไว้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี

งานวิจัยที่ผมพูดถึงกำลังเดินหน้าครับ...ผมคิดว่ากระบวนการแบบนี้เอง เป็นฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจทางนโยบาย คิดว่า ผลกระทบจากงานวิจัยที่เราทำกันหลายๆส่วน จะมีผลในการผลักดันทางนโยบาย

ผมขอบคุณมากครับ มีโอกาสจะได้ร่วมด้วยช่วยกัน

หากคุณ Kati เป็นกลุ่มของคนทำสื่อ กลุ่มแบบนี้หละครับ ที่เรายังขาด

ผมต้องขอฝากประเด็นนี้ด้วยครับผม และผมจะส่งข่าวสารผ่านบันทึกของผม และ สามารถติดต่อผมผ่านโทรศัพท์ และอีเมลล์ได้ตลอดเวลา ยินดีแลกเปลี่ยนข้อมูลครับ

การที่รัฐบาลและหน่วยงานรับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวในเมืองไทย กำลังพยายามเหลือเกินที่จะให้มีการจัดการท่องเที่ยวแบบ Home stay นั้น น่าเป็นห่วงเหลือเกินกับสิ่งเหล่านี้ รัฐไม่มีนโยบายที่จะสอนคนให้เป็นคน นั่นหมายความว่ารัฐได้แต่โยนนโยบายที่ตัวเองคิดว่าดีลงไปสู่ชุมชน โดยขาดการศึกษาที่ดี การทำการท่องเที่ยวแบบนี้เหมือนเท่ากับการเวี่ยงแห แต่ไม่รู้ว่าในห้วยมีปลาหรือเปล่า แต่กว่าจะรู้ในห้วยมีแต่ของไม่น่าดู การกำหนดมาตรฐานที่เกินกว่าความเป็นจริงนั้นย่อมส่อให้รู้ว่าคนทำงานดังกล่าวไม่มีความรู้เลย  ทางหน่วยงานต้องนำกลับมาคิดใหม่ และวางแผนงานใหม่ มันควรที่จะออกมาจากใจกลางของชุมชน และต้องเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน "คุณต้องสอนผมอย่างที่ผมอยากเรียนรู้ คุณต้องแนะในสิ่งที่จะเกิดขึ้น" ครับ โฮมสเตย์คงมีหวังที่จะถูกพัฒนาในทางที่ถูกต้องอย่างวิถีชุมชนจริงๆ

Khun Surasit Donjaipraiwan

http://www.meukakeecotour.com/

ขอบคุณมาก เมอเก่อคี ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น ผมคิดว่า น้องเป็นผู้รู้และมี Tacit knowledge ที่ดีมากสำหรับ ประเด็น Home stay และในที่ประชุมวันนั้นเองที่น้อง ปฏิเสธ มาตรฐานที่เคยมีการตั้งไว้ ผมคิดว่าไม่แปลกและชื่นชมในจุดยืนที่เข้มแข็งของชุมชน แต่อย่างไรก็ตามครับ มาตรฐานจะมีการปรับและเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีคนไทย และชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น

แต่ผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากการประชุมเพียงนัดเดียวตรงนี้นะครับ เพราะกิจกรรม วิธีการเบาบางเหลือเกิน

หรืออาจเป็นเพียงโยนหินถามทาง ให้ครบถ้วนกระบวนความแล้วก็เงียบหายไป พร้อมกับได้มาตรฐานใหม่ อีก

ก็ยินดีครับ ที่ได้ร่วมตั้งแต่เบื้องต้นในการคิดใหม่อีกครั้ง ยังไงน้องมีรายละเอียดที่ต้องการเพิ่มหรือเสนอแนะกรุณาส่งตรงไปยัง ม.ฟาร์อีสเทริน เชียงใหม่ ได้เลย หรือ เขียนในบันทึกของผมก็ได้ครับ

ร่วมด้วยช่วยกันครับ เพื่อจุดยืนของชุมชนท่องเที่ยว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท