มีป่าไม้ เสมือนมีฟองน้ำไว้ดูดซับน้ำ ที่บ่าไหล จริงหรือ


หากต้นไม้หลายๆ ต้นหล่ะครับ กลายเป็นป่าไม้ ก็จะเป็นเหมือนกับฟองน้ำที่ว่านั่นหล่ะครับ มันจะช่วยดูซับแล้วเก็บน้ำไว้ส่วนหนึ่งในลำต้น

สวัสดีครับ

       วันนี้ผมในนามนักปลูกป่าตัวปลอม ที่เรียกว่าตัวปลอมก็คือไม่ได้มีโอกาสปลูกป่าและดูแลผืนป่าจริงๆ ได้แค่เขียนบทความเพื่อร่วมรณรงค์ให้เห็นคุณค่าของผืนป่าก็เท่านั้นครับ

       คิดว่าหากเราเทียบพื้นที่ป่าทึบ กับพื้นที่เขาหัวโล้น คงเทียบกันได้ชัดเจนครับ หากมีฝนตกห่าใหญ่ หรือมีพายุพัดเข้ามาซักลูกหนักๆเลยครับ

      หากเป็นพื้นที่เขาหัวโล้นหรือทำไร่เลื่อนลอยหรือไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย น้ำส่วนใหญ่ที่ตกลงมาก็จะซึมลงดินตามสภาพความแข็งของดิน จนดินอิ่มตัว ในขณะที่การไหลของน้ำออกไปทางด้านที่ต่ำกว่าระดับที่น้ำอยู่อยู่ตรงนั้น เพราะว่าอัตราการไหลลงดินกับไหลบ่าไปด้านข้างจะต่างกันครับ

     การไหลซึมของน้ำในระดับดินที่ยังไม่ลึกมาก น้ำจะไหลลงด้านล่าง แต่เมื่อลงลึกลงไป น้ำจะไหลในแนวราบ พอดินอิ่มน้ำต่อไปน้ำก็จะต้องไหลไปในทางที่ระดับต่ำกว่าไปตามระบบการไหลของน้ำตามแรงโน้มถ่วง

     การที่ฝนตกหนักแล้วไม่มีป่าไม้ ก็เหมือนกับการที่เราทำน้ำหกบนโต๊ะนะครับ  หรือโต๊ะทำงานก็ได้ครับ  ตรงไหนมีกระดาษก็เหมือนมีป่า มันจะซับน้ำไว้ ตรงไหนผิวโต๊ะล้วนๆ ก็น้ำไหลราดไปอย่างเร็ว หากดินตรงนั้นแข็งเหมือนผิวโต๊ะ ก็เหมือนกับว่าดินแข็งโป๊ะ ขุดลงไปจอบร้องไห้เลย

    หากทดสอบให้น้ำหกบนโต๊ะ แล้วเอาฟองน้ำลงไปวาง ฟองน้ำก็จะทำหน้าที่ดูดน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในตัวก้อนฟองน้ำ ลดการไหลของน้ำที่วิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เหมือนกับป่าไม้นั่นเอง เพราะว่าต้นไม้มีระบบรากที่แผ่นขยายเป็นวงกลมหากมองจากด้านบน ว่างๆ คนที่เคยตัดแต่ต้นไม้อย่างเดียว ลองๆ ขุดระบบรากดูด้วยก็ได้ครับ ว่าเป็นรูปอย่างไร มีระบบรากที่แผ่นเป็นวงกลมออกรอบทรงพุ่ม แล้วก็หยั่งลึกไปด้านล่างด้วย ซึ่งต้นไม้จะมีระบบรากหลายๆ ระดับ ขึ้นอยู่กับว่า จะเป็นรากแก้ว รากแขนง รากแยกย่อยลงไปอีก จนถึงรากฝอยกันเลยทีเดียวครับ หากจะมี สี่ ห้า หก ระดับ แล้วแต่ชนิดของพื้น หรือน้อยกว่า

   พอน้ำฝนตกลงไป น้ำก็จะไหลไปตามดิน ตามร่องราก รากฝอยก็จะทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำ ดูดซับน้ำขึ้นไปไว้ในลำต้นส่งผ่านไปยังใบ แล้วคายทิ้งไปส่วนหนึ่งเพื่อปรับสมดุลด้วย ตลอดจนลดความร้อนในร่างกายของลำต้น เหมือนคนเราต้องดื่มน้ำเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายนั่นหล่ะครับ แต่คนเราเดินไปกินน้ำเองได้ ต้นไม้ต้องรอฝน รอชะตากรรม

   ใบไม้พุ่มไว้ช่วยชะลอการชะล้างของน้ำฝน ให้ตกลงมาให้กลายเป็นหยดน้ำตกลงไปบนดิน มีตัวกั้นลดความเร็วของน้ำที่จะไหลบ่าบนผิวดิน ไม่ให้ไหลราดไปตามแนวราบมากนัก แล้วหากต้นไม้หลายๆ ต้นหล่ะครับ กลายเป็นป่าไม้ ก็จะเป็นเหมือนกับฟองน้ำที่ว่านั่นหล่ะครับ มันจะช่วยดูซับแล้วเก็บน้ำไว้ส่วนหนึ่งในลำต้น พอแผ่นดินเกิดความชุ่มชื้น ต้นไม้ในป่าก็จะคายน้ำออกไปเป็นไอน้ำออกไปสู่อากาศ ลอยขึ้นไป จับกลุ่มกันเป็นกลุ่มเมฆ เมฆพวกนั้นก็จะอยู่ไม่สูงจากพื้นที่ป่า เราจะเห็นป่าไม้ใหญ่ จะมีเมฆให้เห็นบ่อยๆ ตอนเช้าจะเห็นหมอกและเมฆลอยต่ำ แบบว่าขึ้นไปจับสัมผัสได้ ไม่ต้องนั่งเครื่องบินก่อนจะเห็นเมฆ

    เป็นไงบ้างครับเห็นความสำคัญของป่าใช่ไหมครับ แต่ที่ว่านี้คือ ป่านะครับ ไม่ใช่สวน ต้องลองช่วยกันคิดต่อครับ ว่าประเทศมีความสำคัญไหมที่จะมีป่า แล้วจะกระจายหรือเพิ่มพื้นที่ป่านั้นได้อย่างไร แทนการบุกรุกป่าทุกๆ ปีด้วยสิ่งเร้าต่างๆ ไม่ว่าจะปัญหาปากท้องหรืออย่างอื่นใด ถามว่าหากมีป่าไม้เราจะหากินกับของป่าได้ไหม ผมว่าคนไม่น่าจะอดตาย

    หากให้คุณเลือกระหว่างมีกินมีใช้ทุกวัน แต่ไม่มีเงิน กับมีเงินใช้แต่อยู่แต่ในห้องแคบๆ แล้วมีแต่ควันพิษ ที่ต้องกลั้นหายใจหรือสวมเครื่องมือช่วยกรองอากาศ คุณจะเลือกอะไร คุณอาจจะเลือกทางสายกลาง อยู่ที่ตัวคุณครับ เพราะโลกนี้คือเรารับผิดชอบร่วมกันครับ

    โปรดอ่านด้วยเหตุผลและทบทวน อย่าเชื่อโดยไม่มีเหตุผลอื่นประกอบครับ

    มีความเห็นใดแย้ง ด้วยความยินดีสำหรับทุกความเห็นครับผม ยิ้มๆ ครับ อ่านมาแล้วท่าทางจะเครียด อิๆ

ขอแสดงความนับถือครับ

สมพร ช่วยอารีย์

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทความต้นไม้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ที่

หมายเลขบันทึก: 83311เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2007 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สำหรับชาวบ้าน....ป่าเป็นซุปเปอร์มาเก็ตชั้นเยี่ยมของชาวบ้าน 

ชาวบ้านที่ผมเคยไปร่วมกิจกรรมและช่วยเหลือเกี่ยวกับการประสบอุทกภัย น้ำท่วม โคลนถล่ม  เกือยทั้งหมดจำนนต่อปัญหาหลักคือ  การทำลายป่าไม้

..ช่วงนี้ดูจะมีพลังเขียนบันทึกอย่างมากมายเลยนะครับ...

เป็นกำลังใจให้นะครับ

  • ขอบคุณมากครับคุณแผ่นดิน
  • ช่วงนี้มีพลังครับ เดี๋ยวก็คงหดหายครับ อิๆ อาจจะเหลือวันละบทความหรือลดลง ตามสถานการณ์ครับ
  • เห็นด้วยว่าป่าคือ supermarket ครับ เพราะมีให้เก็บกินแบบยั่งยืน เลี้ยงป่าไว้ ก็ได้กินผลผลิตจากป่า เหมือนเลี้ยงปลาไว้ในสระ จะไปกินตอนไหนก็ได้ หากเอาบ่อเลี้ยงปลาเปรียบเสมือนตู้เย็นที่เก็บของสด แต่หากเราจะฝากตู้เย็นไว้กับตลาดอย่างเดียว รายจ่ายก็คงเยอะขึ้นครับ
  • เวลาผมนึกไรออกผมจะมาเขียนไว้ครับ เมื่อก่อนผมก็สมัครไว้ แต่ไม่ค่อยมีคนมาอ่านเลยไม่ได้โต้ตอบอะไรมาก ก็ไม่ต่างไรกับเก็บไว้ในสมองตัวเอง (หมายถึงสมัยที่ gotoknow ยังเพิ่งเริ่มต้นนะครับ)
  • หากมีคนมาต่อยอดก็ทำให้ยอดเราแตกกิ่งก้านได้ วันหนึ่งกิ่งก้านเหล่านี้ก็คงไปเชื่อมต่อกับกิ่งก้านของคุณแผ่นดินและคนอื่นๆ ก็คงได้ป่าชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่เอาไว้ดูดซับความรู้ เปรียบเสมือนผืนป่าแห่งการเรียนรู้เช่นกัน สามารถค้นไปได้เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุดในป่าแห่งการเรียนรู้แห่งนี้ ค้นไปก็เจออาหารสมองไป เหมือนชาวบ้านที่มีป่าให้ค้นหาหน่อไม้ ผักกูด ข่าป่า อะไรต่ออะไรมากมายครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • ยกมือ เห็นด้วย
  • พี่มีประสบการณ์ 2 ประการที่สำคัญคือ
  • เมื่อสมัยทำงานกับ DANCED  ที่กลุ่มป่าห้วยขาแข้ง จ.สครสวรรค์ จ.ชัยนาท พบว่าการทำงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ป่า ในทัศนของเราเห็นว่าจะต้องทำวันนี้ เดี๋ยวนี้ แต่ชาวบ้านยังเฉยๆ ก็พบว่ามีงานวิจัยที่ทางสถาบันวิจัยสังคมตจุฬาฯอ้างอิงว่า กิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในทัศนของชาวบ้านเป็นเรื่องไกลตัว จะต้องใช้เวลามากกว่า 3-5 ปีขึ้นไป ขณะที่กิจกรรมที่เกี่ยวกับปากท้องโดยตรงนั้นชาวบ้านตอบสนองโดยตรงภายใน 1-2 ปีเท่านั้น  ความจริงเราก็พอเดาได้อยู่ แต่มีงานวิจัยทางวิชาการมายืนยันอีกก็ยิ่งทำให้เราต้องคิดมากขึ้นถึงเรื่องการสร้างจิตสำนึก และหาเครื่องมือต่างๆมาใช้ในการกระตุ้นให้เกิดความสำนึกครับ
  • เรื่องที่สอง พี่มีโอกาสบินด้วย แฮลิคอบเตอร์ของกรมป่าไม้ดูป่าห้วยขาแข้ง พร้อมกับนักป่าไม้ พบว่าป่าห้วยขาแข้งเป็นแหล่งซับน้ำลงเขื่อนศรีนครินทร์ และผันเข้าไปสู่กรุงเทพฯให้คนกรุงเทพฯนำไปทำประปาใช้  เลยเกิดความคิดกันว่า คนกรุงเทพฯควรมีส่วนสำคัญในการต้องเข้ามาร่วมดูแลป่าห้วยขาแข้งและที่อื่นที่สร้างน้ำให้กรุงเทพฯใช้ประปากัน 
  • แต่ที่ผ่านมาใช้งบประมาณของรัฐมาดูแลรักษาเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น  แนวคิด Who use who pay ยังไม่ได้คุยกันมากนักครับ
รีบ ๆ กลับมาช่วยกันปลูกป่าเร็ว ๆ นะครับ
  • ขอบคุณพี่ไพศาลมากนะครับ
  • ผมดีใจมากๆ เลยครับ ที่ได้รู้จักคนทำงานอย่างพี่แล้วเอาเรื่องดีๆ มาเล่าให้ฟังร่วมกัน ผมเองไม่เคยเดินทางไปเลยครับ ทางเหนือหรืออีสาน ได้เพียงแค่ตามข่าว ไม่รู้ว่าเป็นอยู่กันอย่างไร ทำโครงการส่วนหนึ่งช่วยเหลือเด็กแถวสุรินทร์ สกลนครอยู่ แต่ว่าก็ไม่เคยได้เยี่ยมเด็ก
  • เพียงแต่เราติดต่อกับเค้าทางจดหมายครับ และได้รูปภาพมาจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิพร้อมคำบรรยาย
  • ผมเห็นถึงความเห็นอยู่ที่อาจจะลำบากกว่าทางใต้จากสิ่งที่ผมคิดเอาเองดังนั้นผมรู้สึกเป็นห่วงโดยเฉพาะเรื่องป่าครับ
  • ทางใต้เองก็เจอปัญหาในการทำลายป่าครับ บางที่ก็มีการให้ชาวบ้านเข้าไปรุกป่าเพื่อปลูกยางพารา จากนั้นนายทุนก็ค่อยเข้าไปซื้อ
  • แนวทางในการสวนทางของสองแนวคิด คือการวิ่งไปหาแบบเดิม กับแนวทางการวิ่งไปหาแนวใหม่อย่างทุนนิยม ซึ่งไม่สอดคล้องกันครับ
  • วันหนึ่งคงมีโอกาสได้เรียนรู้จากพี่อีกนะครับ
  • ขอบคุณล่วงหน้าเลยครับ
P

ครับผมเคยทำโครงการไปปลูกป่ากับเด็ก นศ.ใน มอ.ปัตตานี ครับ ที่วัดแห่งหนึ่ง ได้ความประทับใจมากมาย ในการร่วมมือกันระหว่างชาวมุสลิมและคนไทยพุทธ เค้ามาช่วยเหลือกันดีมากครับ ได้ร่วมทำงานกับธนาคารแล้วพนักงานธนาคาร นักศึกษา ได้ทำงานร่วมกัน

เป็นภาพที่ดีๆ ครับ แต่ไม่ได้ติดตามว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง เป็นห่วงมาก เพราะวัดนั้นสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยครับ

เวลาได้ยินข่าวต่างๆ ผมมักจะนึกถึงวัดนั้นครับ ไม่แน่ใจว่าได้รับผลกระทบไรบ้าง

วันหนึ่งคงได้ร่วมงานกันครับผม รบกวนช่วยดูแลต้นไม้ใน มอ.ให้อยู่ครบนะครับ เพราะเมื่อก่อนทะเลาะกับฝ่ายอาคารบ่อย เรื่องตัดต้นไม้ครับ

ตอนนี้ต้นสนขนาดใหญ่ถูกตัดไปหลายต้นแล้ว ลูกหม้อ มอ.ปัตตานี ปฏิบัติการด่วน!!!!
  • คนปลูกไม่ได้ตัด คนตัดไม่ได้ปลูก ลำบากจริงครับ ปัญหาระดับประเทศครับ
  • ตัดโคนหรือว่าตัดยอดครับ ปกติหากฝนตกหนัก มอ.ตานีน้ำจะท่วมเร็วครับ แปปเดี๋ยวก็ท่วมล้นแล้วครับ ปัจจุบันไม่แน่ใจครับ
  • คิดว่าคนตัดคงมีเหตุผลดีๆ ในการอธิบายครับ
  • ตัดยอดดีกว่าตัดโคนครับ
  • ตัดยอดแตกกิ่งข้าง
  • ตัดโคนขาดใจครับ
แต่ถ้าตัดเยื้อขาดใยก็ไม่นะครับ

เรื่องนี้ยังขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และมีนักวิชาการบางคนอาศัยช่องว่างนี้สร้างความสับสนโดยไม่ทราบว่าตั้งใจหรือเปล่า ว่า

  • มีต้นไม้ดินจะแห้งยาวนานกว่าดินที่ไม่มีต้นไม้ เพราะต้นไม้ต้องใช้น้ำ (Microscale)
  • แต่เขาลืมดู hydrology ของระบบป่าไม้ ที่จะอุ้มน้ำไว้ในระบบ perched และ ground water
  • แต่การชะล้างของดินป่าจะน้อยกว่าที่โล่ง ทั้งๆที่ดินป่าก็มี free ion เหมือนกัน ซึ่งแสดงถึงความรุนแรงของการไหลที่ต่างกัน

ดังนั้นป่าจึงทำให้ดินดีขึ้นด้วยเหตุนี้ และการซึมซับน้ำไว้ในระดับลึก มากกว่าระดับผิวดิน ที่ทำให้คนเข้าใจผิดถึงบทบาทของป่า

แต่ภาพรวมก็อุ้มน้ำได้ดีนั้นแหละครับ

  • ขอบคุณ อ.แสวง มากๆ เลยนะครับ
  • ที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทำให้ผมเข้าใจความคิดอะไรหลายๆ อย่าง ว่ายังมีอีกมุมหนึ่งของความเข้าใจอยู่ในสังคมเรา
  • เวลาผมไปน้ำตก ผมมักจะหาโอกาสขึ้นไปให้ถึงยอดเขาน้ำตก คือชั้นสูงสุดหากเป็นไปได้ แล้วที่เคยไปหลายๆ ที่มา ผมมักจะพบว่าชั้นบนสุดหากสูงพอเราจะพบว่าฝนตกที่ชั้นบนสุดครับ น้ำไหลออกจากรากไม้ ไหลต่อเนื่องครับ ฝนตกอยู่ตรงนั้น ที่ยอดไม้ เมฆก็ลอยอยู่ตรงนั้นหล่ะครับ
  • ถามว่าหากตัดต้นไม้ออกเรียบ จะยังเห็นเมฆก้อนนั้นที่ปกคลุมยอดน้ำตกอยู่อีกหรือไม่
  • ตัดโคนต้นไม้ให้หมด น้ำจะยังไหลออกจากรากหรือไม่
  • ขาดต้นไม้ ขาดป่าไม้ อารมณ์ของคนไทย คงร้อนขึ้นครับ น่าดูครับ เพราะไม่มีสีเขียวช่วยสร้างสมดุลให้เกิดกับโทนสีร้อนในใจ
ตัดเพื่อให้สวนหย่อมหน้าบ้านพักอาจารย์  ดูสวยครับ (ไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่)
  • สวัสดีครับ อ.ย่ามแดง
    P
    บ้านพักหลังไหนครับ เรือนรับรองหรือเปล่าครับ หรือว่าแฟลตอาจารย์
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ...หนูเป็นคนที่เริ่มพึ่งมาสนใจ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า หรือสิ่งแวดล้อม..

หนูอยากได้นำแนะนำจากพี่ๆ..ถึงความสัมคัญ หรือการชักจูงผู้อื่น..

หนูขอขอบคุณพี่ๆล่วงหน้านะค่ะ...กับการให้คำแนะนำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท