การรู้เท่าทันการสื่อสาร....เป็นงานวิจัยได้ไหม?


ดิฉันอยากสื่อสารและส่งกำลังใจให้พี่ๆ น้องๆ และเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องคล้ายๆกันนี้ พิจารณาเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้ ในมุมมองของท่าน หรืออาจเลือกการเขียนบทความวิชาการ ทำงานวิจัย หรือฯลฯ ก็น่าจะเป็นคุณูปการแก่วงวิชาการ ทั้งด้านนิเทศศาสตร์ และด้านการเรียนการสอน สุดแท้แต่จะมองโดยหลักคิดของศาสตร์ใด

(48)

 

 


ดิฉันอยากเชียร์เด็กๆทุกคนที่สนใจและสนุกที่จะค้นคว้า ได้ลองศึกษาเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร ในมุมมองของเด็กๆ แล้วลองทำรายงานในหัวข้อนี้ หรือเลือกทำเป็นงานวิจัยเล็กๆส่งคุณครู ....ดูน่าสนุกดีนะคะ

ขณะเดียวกัน ดิฉันก็อยากสื่อสารและส่งกำลังใจให้พี่ๆ น้องๆ และเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องคล้ายๆกันนี้ พิจารณาเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy) เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการสร้างความรู้     ในมุมมองของท่าน หรืออาจเลือกการเขียนบทความวิชาการ ทำงานวิจัย หรือฯลฯ ก็น่าจะเป็นคุณูปการแก่วงวิชาการ ทั้งด้านนิเทศศาสตร์ และด้านการเรียนการสอน สุดแท้แต่จะมองโดยหลักคิดของศาสตร์ใด

เชื่อว่าท่านที่เข้าใจการทำวิจัย และเข้าใจเรื่องการสื่อสาร หรือเรื่องการเรียนการสอนเป็นอย่างดี ท่านจะมองเห็นกระบวนการวิจัย เรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร ไปจนตลอดสาย และสามารถสร้างองค์ความรู้ชุดนี้ได้อย่างลึกซึ้ง แจ่มแจ้ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความตระหนักรู้ และพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสารของเด็กๆเป็นอย่างมาก

ดิฉันเองก็ได้ทุ่มความตั้งใจไปที่การฝึกและสอนนักศึกษาตามแนวคิดนี้   (คือฝึกแบบบ้านๆ ไม่ได้มีหลักขั้นสูงอะไรนะคะ) 

หลังจากหนึ่งปีผ่านไป ก็พบว่าได้ผลอยู่บ้างเล็กๆน้อยๆในห้องเรียน   คือที่ฝึกมาเป็นปี   ก็เริ่มปรากฏผลให้พอเห็นได้บ้าง    ขอเรียนเชิญท่านผู้สนใจ ลองอ่านความคิดเห็นของเด็กๆได้ที่ learners.in.th ป้ายคำหลัก สอนเด็กนิเทศศาสตร์ (PR.2) นะคะ

ต้องเรียนว่าการฝึก "ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร" นี้ ดิฉันไม่มีความรู้มาก่อน  และไม่ทราบจริงๆว่าเด็กๆเขาจะเกิดทักษะชุดนี้อย่างถาวรหรือไม่  แต่ดิฉันก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกอย่างเอาจริงเอาจัง  เพระเชื่อเอาเองว่าเกิดได้แน่นอน 

ส่วนจะถาวรหรือไม่นั้น...ดิฉันก็หนักใจที่จะยืนยัน  คนที่จะตอบได้คือเด็กๆเท่านั้น  ซึ่งดิฉันจะไปบังคับให้เธอตอบตามใจดิฉันไม่ได้เลยสักคนเดียว 

สิ่งที่ดิฉันให้ความสำคัญกว่าทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร คือการฝึกนิสัยควบคู่ไปกับการฝึกเขาที่จิตใจ  ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี ในการทำความเข้าใจเขา และปรับตัวเข้าหากัน  

จากนั้นก็เพียรฝึกให้เด็กๆทั้งห้องพยายามทำความเข้าใจการอยู่ร่วมกัน   ดิฉันสอนพวกเขามาสองปี และพบว่าหลังจากที่เข้าใจนิสัยใจคอของกันและกันแล้ว  เด็กๆก็เริ่มมองออกว่าดิฉันพยายามฝึกสิ่งต่างๆต่อไปนี้

  • ความฉลาดในการสื่อสาร(ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา)  

 คือบังคับเอาดื้อๆ ว่า   ถึงแม้จะคุ้นเคยกันแล้ว   ก็ห้ามโผล่มาดุ่ยๆแบบว่า "....จารย์ๆขอดาษแผ่นดิ่....." 

แต่ต้องเข้ามาแล้วสวัสดีสวยฮาม แล้วก็ขอความช่วยเหลืออย่างสุภาพว่า ".....ขอโทษค่ะอาจารย์  หนูขออนุญาตขอกระดาษอาจารย์แผ่นนึงได้มั้ยคะ....."

อะไรอย่างนี้เป็นต้น    เพื่อนดิฉันบอกว่าพูดอะไรยืดยาดน่ารำคาญ  ดิฉันก็ไม่ได้หันไปเถียงเธอแต่อย่างใด  แค่ค้อนให้นิดๆหน่อยๆเท่านั้น....

  • มารยาท (ทักษะทางสังคม  EQ)   
  • การทำงานร่วมกับผู้อื่นแบบไม่รู้อะไรมาก่อนก็ทำทะลุ่มทะลุยกันไปได้    (ทักษะการทำงานเป็นทีมในภาวะโกลาหล) 
  • การตัดสินใจและความรับผิดชอบ (เน้นวุฒิภาวะในการทำงาน  คือเก่งอย่างเดียวไม่ได้เด็ดขาด  แต่ต้องรับผิดชอบผลของการตัดสินใจด้วยเสมอ)

link ข้างต้นนี้ดิฉันให้เด็กๆเขียนสะท้อนข้อคิด  ที่เขาได้จากการฝึก    โดยให้เขียนอย่างเป็นธรรมชาติตามที่เขารู้สึก .... 

มีอยู่บางคำที่เด็กๆเขียนสะท้อนออกมา  ทำให้ดิฉันคิดแบบเข้าข้างตัวเองว่าสองปีที่ผ่านมานั้น  ดูจะได้ผลอยู่บ้าง   การที่เด็กๆบอกว่าเขาเกิดพัฒนาการอะไรสักอย่างเช่น สังเกตมากขึ้น คิดมากขึ้น    เพียงนิดๆหน่อยๆเท่านี้ดิฉันก็โล่งใจเป็นอันมาก........

(ดิฉันกลัวว่าเธอจะบอกว่า หนูไม่รู้สึกอะไรเลยฮ่ะ นอกจากคิดว่าจารย์สอนไม่รู้เรื่อง..!...)

ส่วนรุ่นพี่เธอที่เพิ่งเสร็จจากการฝึกงานมาหมาดๆก็อุตส่าห์แวะมาปลอบใจสั้นๆว่า

“...ที่อาจารย์สอนก็พอใช้ได้นะคะ หนูก็ได้ใช้ตอนทำงานด้วย...”

ดิฉันก็ต้องแปลไทยเป็นไทยอยู่อีกพักใหญ่ว่าเธอได้ใช้อะไร?... จะเห็นได้ว่าตัวชี้วัดของดิฉันเร้าใจมาก... นอกจากมีปริมาณน้อยจนน่าหวาดเสียวแล้ว ยังหาค่าความไม่เชื่อมั่นได้เต็มไปหมดอีกด้วย

แต่ดิฉันก็มิได้ย่อท้อ ยังคงตั้งหน้าตั้งตาเชียร์ตัวเองให้ทำต่อไป แถมเชียร์เพื่อนฝูงพี่น้องให้เขาทำวิจัยอีกต่างหาก

เพื่อนคนหนึ่งถามตรงๆว่า การฝึกเก็บขยะ ฝึกจัดเก้าอี้ ฝึกเด็กทำงานธุรการทั่วไป เกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ตรงไหน แล้วจำเป็นอะไรจะต้องมาทำวิจัยเรื่องเล็กๆอย่างนี้
........คำตอบที่ได้ในห้องเรียนเล็กๆจะไปสร้างเป็นทฤษฎีอะไรได้...?.....

ดิฉันถึงแก่อึ้งไป คือกำลังนึกๆอยู่เหมือนกันว่าเกี่ยวตรงไหน เพราะคิดเอาเองมานานว่าเกี่ยว แต่พอจะหาที่เกี่ยว ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปเกี่ยวหรือเอาไปแปะไว้ตรงไหน

ดิฉันตอบเพื่อนไปว่า.....กระบวนการฝึกด้วยการสื่อสารเพื่อการสอนให้คนจัดเก้าอี้อย่างเข้าใจและรู้เท่าทันการสื่อสาร หรือการสื่อสารเพื่อฝึกให้คนเห็นขยะแล้วรู้จักคิด และฝึกให้เก็บขยะอย่างมีจิตสำนึกตระหนักนั้น ออกจะยืดยาว ....เลยต้องเขียนให้อ่าน เพื่ออธิบายว่าที่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆน่ะ ที่จริงเป็นเรื่องการปลูกฝังนิสัย ที่ครูที่รักเด็กทุกคนต้องทุ่มใจสร้าง และเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากด้วย

ส่วนการทำวิจัยนั้น ดิฉันยอมรับว่าตอนนี้ยังทำเองไม่เป็น ทำเป็นแต่เล่าประสบการณ์ และคิด (เอาเอง)ว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนครูที่มีความสนใจตรงกันอยู่บ้าง ก็เลยพยายามเขียนเล่าให้ครบ

ตอนเขียนสั้นๆ เธอก็ว่าเขียนอะไรก็ไม่รู้ เป็นท่อนๆ อ่านไม่รู้เรื่อง...
พอเขียนยาวๆ เพื่อนก็บ่นว่าย้าว..ยาว..ไม่อยากอ่าน แถมง้อยังไงก็ไม่ยอมอ่านอีกต่างหาก

(ที่จริง ..ดิฉันก็นึกเห็นใจเธอนะคะ เพราะดิฉันก็เขียนยาวย้าวยาวจริงๆ แถมมีน้ำมากกว่าเนื้ออีกต่างหาก)

ดิฉันเลยกะว่าเดี๋ยวปิดเทอมนี้พอมีเวลาว่าง จะเขียนเรื่อง

 “วาทกรรมขยะ”


ว่าด้วยการฝึกและสอนนักศึกษาให้รู้จักเก็บขยะในห้องเรียน
เชื่อมโยงกับการละเลยเพิกเฉยในการเก็บขยะในห้องเรียนมหาวิทยาลัย
เชื่อมโยงกับการแบ่งงานกันทำ ( Division of Labour)
เชื่อมโยงกับการละเลยเพิกเฉยในจริยธรรมขั้นต้นของบัณฑิต
เชื่อมโยงกับกระบวนการสร้างค่านิยมใบปริญญา
เชื่อมโยงกับวิธีคิดการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา
เชื่อมโยงกับเด็กอุดมศึกษา ความรับผิดชอบและจิตสำนึกสาธารณะ
เชื่อมโยงกับการละเลยคุณค่าแท้ของการศึกษา ฯลฯ
แล้ววกกลับมาเชื่อมต่อกับการฝึกและสอนนักศึกษาให้รู้จักเก็บขยะในห้องเรียน

.......ให้เธออ่านแล้วบ่นว่าย้าว..ยาว..ว..ววๆๆๆๆ จนพอใจไปเลย....

 

...................................................................

 

 ปรับเพิ่มเติมจาก เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy)  ความเห็นเพิ่มเติมที่ 84  20 ก.พ. 2550   

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 83309เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2007 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ รู้สึกว่าเราจะมีความคิดแบบเดียวกัน แต่ดิฉันยังทำไม่ได้เลยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณloveangel

           ขอบคุณมากค่ะสำหรับกำลังใจ   ดีใจจังค่ะถ้าเรารู้สึกคล้ายๆกัน  ดิฉันก็สื่อสารเรื่อง"การรู้เท่าทันการสื่อสาร" ไปตามที่ได้ลงมือทำแล้ว  และที่อยากทำเพิ่ม  เพื่อเล่าสู่กันฟังนะคะ   
          และการฝึกเด็กๆที่ทำไปแล้วก็แบบว่าล้มลุกคลุกคลานทำไป  .....แต่ก็ตั้งใจทำน่าดูอะค่ะ 
: )
         เป็นกำลังใจให้เช่นกันนะคะ  ขอให้คุณloveangel ได้ทำในสิ่งที่รักและอยากทำนะคะ  : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท