ชีวิตที่พอเพียง 4113. เณรน้อยอ่านหนังสือประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน


 

นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๑๒ และเป็นตอนสุดท้าย   ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ได้ที่  (๑),  (๒)  (๓)  (๔) (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)    (๑๐)   (๑๑)

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ และสะท้อนคิดเขียนบันทึกลงแลกเปลี่ยนด้วยสายตาของ “เณรน้อย” (novice)   คือไม่มีพื้นความรู้เรื่องประชาธิปไตยมาก่อน    และแม้อ่านหนังสือเล่มนี้จบ ก็ยังเป็นเณรน้อยอยู่ดี   

สรุปประโยคเดียวได้ว่า ประชาธิปไตยจีน เป็นประชาธิปไตยที่มีการเรียนรู้สูง   

หนังสือเล่มนี้เขียนแบบนักวิชาการ หรือนักวิจัยทางสังคมศาสตร์   อ่านแล้วผมสรุปว่า การพัฒนาประชาธิปไตนต้องการการวิจัยทางสังคมศาสตร์ และการวิจัยด้านการเมือง อย่างเข้มข้น    นี่คือเครื่องมือหนึ่งของการเรียนรู้เชิงระบบ  ที่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ    ที่ทำให้ประชาธิปไตยจีน “มีพัฒนาการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์”    โดยมีหลักฐานเชิง “ภววิสัย” (objectivity)     

หนังสือเล่มนี้ สรุปหลักการ หรือทฤษฎีจากการปฏิบัติ และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง    ที่มีทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ   ช่วงสามสิบปีแรกหลังการเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มเหลวมากกว่า    ยิ่งช่วง ๑๐ ปีของการปฏิวัติวัฒนธรรมยิ่งล้มเหลว   ช่วงสามสิบปีหลังสำเร็จอย่างน่าทึ่ง แต่ในความสำเร็จก็มีความล้มเหลว เช่นเหตุการณ์เทียนอันเหมินปี 1989    และขณะนี้เหตุการณ์ในฮ่องกงก็ยังต้องระมัดระวัง   

ประชาธิปไตยเป็นสิ่งผุดบังเกิด มาจากสารพัดเหตุปัจจัยของสังคมนั้นๆ   โดยหนังสือเน้นปัจจัยเชิงประวัติศาสตร์   มีผลให้รูปแบบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน   

ประชาธิปไตยจีน เป็นประชาธิปไตยสังคมนิยม จึงย่อมแตกต่างจากประชาธิปไตยเสรีนิยมในตะวันตก   หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกันของประชาธิปไตยสองแนวนี้    ซึ่งหมายความว่า ในโลกนี้ไม่มีทางมีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ   

ผมตีความว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมาย  เป้าหมายแท้จริงคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในสังคมที่เจริญก้าวหน้าทั้งด้านวัตถุ ด้านสังคม และด้านจิตใจ   ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าประชาชนแต่ละคนมีเสรีภาพไร้ขอบเขต    ต้องมีความรับผิดชอบด้วย    และต้องเคารพความแตกต่างด้วย 

ความท้าทายของประชาธิปไตยในอนาคตคือ จะดำเนินการให้คนที่โตมาในสภาพอุดมสมบูรณ์วัตถุปรนเปรอ อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุขได้อย่างไร   และจะเป็นประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ ในท่ามกลางสังคมที่ผู้คนมีความแตกต่างกันในหลากหลายด้าน และแตกต่างกันอย่างรุนแรง ได้อย่างไร

ขอขอบคุณ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้ 

 

ปรับปรุงเพิ่มเติม ๑๒ ธ.ค. ๖๔

ช่วงนี้มีการต่อสู้สงครามเย็นระหว่าง สรอ. กับจีนเรื่องประชาธิปไตย    โดย สรอ. จัดประชุม Summit for Democracy (๑๒)    และจีนตอบโต้รุนแรง ดังข่าวนี้

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย. ๖๔  วันมหิดล    ปรับปรุง ๑๒ ธ.ค. ๖๔

   

 

 

หมายเลขบันทึก: 694517เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2021 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2021 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท