ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ๗. เรียนรู้ระดับเชื่อมโยง


  บันทึกชุด ครูเพื่อศิษย์ สอนสู่รู้เชื่อมโยง ตีความ (ไม่ใช่แปล) จากหนังสือ Visible Learning for Literacy, Grades K-12 : Implementing the Practices That Work Best to Accelerate Student Learning (2016)    เขียนโดย Douglas Fisher, Nancy Frey, และ John Hattie    ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเอาหลักการ Visible Learning ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย John Hattie ในช่วงเวลาเกือบ ๔๐ ปี สู่ภาคปฏิบัติ   

บันทึกชุดนี้ต้องการสื่อความและสื่อวิธีการเรียนรู้ที่ประจักษ์ชัดในสองมุม    คือมุมนักเรียนที่เรียนอย่างชัดเจนในเป้าหมาย  ในความก้าวหน้าของตน ทั้งในการเรียนวิชาและวิธีเรียน    และมุมของครู ที่สอนอย่างประจักษ์ในผลที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน  และโดยใช้การกระตุ้นสายตาของนักเรียนด้วยเป้าหมายการเรียน    เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา   

บันทึกที่ ๗ เรียนรู้ระดับเชื่อมโยงนี้ ตีความจากบทที่ 4  Teaching Literacy for Transfer  ในหนังสือ หน้า ๑๐๕ – ๑๓๑   

สาระสำคัญของบันทึกนี้คือ ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนรู้ ๓ ระดับ (ระดับผิว  ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง) เกิดขึ้นแบบผสมกลมกลืนกัน การแบ่งออกเป็น ๓ ระดับในหนังสือเล่มนี้ ก็เพื่อช่วยให้ครูทำหน้าที่ส่งเสริมและจุดประกายการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน    เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ผลกระทบสูง

การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยงเปรียบเสมือนการเรียนรู้วิธีขับรถยนต์    เมื่อขับรถยนต์เป็นก็ขับได้ทุกยี่ห้อ ทุกโมเดล     แต่ที่เรากำลังทำความเข้าใจเน้นกระบวนการทางสมอง ที่ต้องการการฝึกฝนที่แยบยลกว่า     โดยมีหลักการ ๔ ข้อ สำหรับฝึกมือใหม่

  • ให้เริ่มจากเรื่องที่แตกต่างจากความรู้เดิมของเด็กเพียงเล็กน้อย
  • ครูส่งเสริมให้เด็กตรวจสอบความคล้ายคลึง (analogy) ระหว่างเรื่องราวหรือสิ่งของต่างๆ     เพื่อให้เด็กมองเห็นแบบแผน (pattern) ของเรื่องนั้นๆ
  • ครูต้องเข้าใจระดับพัฒนาการของเด็ก    และสอนเพื่อเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ให้สอดคล้องเหมาะสมต่อระดับพัฒนาการนั้น    ซึ่งหมายความว่า การสอนเด็กเล็ก เด็กประถม และเด็กมัธยม แตกต่างกัน  
  • เป็นการฝึกทักษะในการมองเห็น หรือเข้าใจความเหมือน หรือความคล้ายคลึงระหว่างสถานการณ์ หรือกิจกรรมต่างๆ    ทักษะนี้สำคัญที่สุดในการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง    

จากเรียนรู้ระดับลึก สู่เรียนรู้ระดับเชื่อมโยง (Transfer)

นักเรียนที่เรียนอ่อน มักเชื่อมโยงโดยใช้การจำ เพื่อให้ทำข้อสอบได้    ซึ่งจะไม่นำไปสู่การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยงได้จริง    เพราะในการเรียนรู้ระดับนี้ นักเรียนจะเป็นเสมือนครูของตนเอง    คือการเรียนรู้จะมีลักษณะ “อำนวยการด้วยตนเอง” (self-directed)    นักเรียนจะตั้งคำถามด้วยตนเอง  และมีเครื่องมือในการตอบคำถามนั้นด้วยถ้อยคำของตนเอง     โดยนักเรียนประจักษ์ในความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตน     ทำให้เกิดความสุขความพอใจในการเรียนรู้     เป็นแรงกระตุ้น (catalyst) ให้ดำเนินการเรียนรู้ต่อเนื่อง     

ครูสอนด้วยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน คือเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้และหลอมรวมทักษะ และกระบวนการ รวมทั้งทักษะตระหนักในการเรียนรู้ของตน  เพื่อนำไปสู่การเป็นคนที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (self-directed learner)  

หลักการสำคัญคือ การเชื่อมโยง (transfer) เป็นทั้งเป้าหมายของการเรียน  และเป็นทั้งเครื่องมือของการเรียนรู้     ในภาษาทั่วไปเราพูดกันว่า เป็นทั้งเป้าหมาย (end) และวิธีการ (means)   

หน้าที่ของครูคือ ทำความเข้าใจกลไกการเชื่อมโยงในกระบวนการเรียนรู้  และเรียนรู้วิธีที่ครูทำหน้าที่จุดประกายให้ศิษย์เรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ต้องการการสอนที่มองเห็นชัดเจน (visible teaching)  และการเรียนที่มองเห็นชัดเจน (visible learning)    ดังแสดงในตารางที่ ๗.๑


ชนิดของการเชื่อมโยง : ใกล้และไกล

การเชื่อมโยงเกิดขึ้นตลอดการเรียนรู้ระดับผิวและระดับลึก    อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้ทั้งหมดเป็นการเชื่อมโยง    ซึ่งหมายความว่า เป็นการเรียนรู้ที่เลยจากการท่องจำ ไปสู่ความตระหนักรู้ว่าตนกำลังทำอะไร หรือเรียนรู้อะไร    การเรียนรู้นั้นมีคุณค่าอย่างไรต่อตน   ตนกำลังใช้วิธีเรียนรู้แบบไหน  เกิดการเรียนรู้ก้าวหน้าไปแค่ไหนแล้ว    จะต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้อย่างไร เพื่อให้การเรียนรู้ประสบผลดียิ่งขึ้น    

เพื่อให้ครูเข้าใจ และมีวิธีการช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง    ควรทำความเข้าใจการเชื่อมโยงชนิดใกล้ และชนิดไกล  

การเชื่อมโยงชนิดใกล้ หมายถึงเรื่องที่จะเรียนใหม่นั้น แตกต่าง หรือเพิ่มเติม จากความรู้เดิมของเด็กเพียงเล็กน้อย     มองเห็นการเชื่อมโยงได้ไม่ยาก    ส่วนการเชื่อมโยงชนิดไกลก็ตรงกันข้าม เรื่องที่จะเรียนรู้ใหม่แตกต่างจากความรู้เดิมของเด็กมาก    ต้องคิดซับซ้อนจึงจะมองเห็นความคล้ายคลึง    เป็นการเรียนแบบก้าวกระโดดไกลมาก   

เพื่อให้ครูเข้าใจว่าบทเรียนนั้นๆ เป็นการเชื่อมโยงแบบใกล้หรือไกล  ครูต้องเข้าใจระดับพัฒนาการของศิษย์    เข้าใจระดับความรู้เดิมของศิษย์    ที่ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาเรียกว่า met before  

ในความเป็นจริง ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการเชื่อมโยงแบบใกล้และแบบไกล     ระยะห่างระหว่างบทเรียนใหม่กับความรู้เดิมมีความต่อเนื่องจากใกล้มากไปสู่ไกลมาก    แต่การที่ครูตระหนักในบทเรียน ว่าต้องการการเชื่อมโยงที่ใกล้หรือไกลประมาณใด จะช่วยให้ครูช่วยเอื้อการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ได้อย่างเหมาะสม        

ระดับของการเชื่อมโยง : ต่ำและสูง

การเชื่อมโยงระดับต่ำ หมายถึงเชื่อมโยงระหว่างความรู้หรือทักษะ    การเชื่อมโยงระดับสูง หมายถึงเชื่อมโยงแนวคิดหรือหลักการ (concept)   

บทบาทของครูแตกต่างกันในการฝึกเชื่อมโยงสองระดับนี้ให้แก่ศิษย์     ในการฝึกเชื่อมโยงระดับต่ำ ครูเข้าไปช่วยโดยตรง    แต่ในการฝึกเชื่อมโยงระดับสูง ครูช่วยออกแบบสะพานเชื่อม ให้นักเรียนเดินข้ามสะพานเอง    ดังแสดงในตารางที่ ๗.๒





การเชื่อมโยงในฐานะกลไกการเรียนรู้เกิดขึ้นในทุกช่วงอายุของผู้เรียน    และเมื่อผู้เรียนเติบโตพัฒนาขึ้น กลไกนั้นก็ต้องพัฒนารูปแบบตามไปด้วย  

กระบวนการเชื่อมโยง ช่วยให้การเรียนรู้ระดับผิวพัฒนาสู่การเรียนรู้ระดับลึก    หรืออาจกล่าวใหม่ได้ว่า ทำให้เด็กคิดเชิงหลักการเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หยุดอยู่แค่ระดับความรู้    หรืออาจกล่าวว่านักเรียนพัฒนาจากเรียนความรู้ (declarative knowledge)   สู่การเรียนวิธีใช้ความรู้ (procedural knowledge)   สู่การเรียนรู้ว่าในสถานการณ์ใดจะใช้ความรู้ชุดไหน (conditional knowledge)   หรือเป็นการพัฒนาการเรียนรู้จากระดับ what   สู่ระดับ how   และ why นั่นเอง      

กำหนดเงื่อนไขเพื่อเรียนรู้สู่การเชื่อมโยง             

การเรียนรู้สู่ความเชื่อมโยงจะเกิดขึ้น เมื่อผู้เรียนมีเป้าหมายของการเรียนรู้  และเป้าหมายนั้นมีความหมาย หรือมีคุณค่า ต่อตนเอง   

ดังนั้น หน้าที่ของครูคือ ทำให้การเรียนรู้มีเป้าหมายที่ชัดเจนมองเห็นได้ และผู้มองเห็นคือนักเรียน    และนักเรียนมองเห็นไปถึงคุณค่าของเป้าหมายนั้นต่อตนเอง หรือต่อชีวิตในอนาคตของตนเอง     ครูจึงต้องหมั่นสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้ผ่านเป้าหมายที่นักเรียนรู้สึกว่ามีคุณค่า    และต้องช่วยให้นักเรียนวัดความก้าวหน้าของตนเองได้    ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงบันดาลใจต่อการเรียน   

วิธีสร้างความก้าวหน้าที่นักเรียนมองเห็นได้ชัด คือหาปัญหามาให้นักเรียนฝึกแก้    นี่คือที่มาของ การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning)       

สอนให้จัดระบบความรู้เชิงหลักการ

ความรู้เชิงหลักการเกิดจากการนำความรู้ย่อยๆ มาหลอมรวมเข้าด้วยกัน   หรือนำมาสร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่ระหว่างส่วนย่อยนั้น   เกิดเป็นความรู้ใหม่ที่มีคุณค่าลึกซึ้งกว่าเดิม    หรือเกิดการให้ความหมายใหม่    กระบวนการนี้นักเรียนต้องทำเอง หรือฝึกเอง    ครูทำแทนไม่ได้    แต่ทำหน้าที่เป็นครูฝึกได้    และที่สำคัญ นักเรียนช่วยฝึกให้แก่กันและกันได้    หน้าที่ของครูคือ สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทื่เอื้อต่อการฝึกนี้   

นักเรียนฝึกมองเห็นความเหมือน (Analogy)

นักเรียนควรได้รับการฝึกมองหาความเหมือน (และความต่าง) ของสิ่งต่างๆ    ฝึกจัดกลุ่มสิ่งของ    ฝึกบอกความคล้ายคลึงของสิ่งต่างๆ    โดยอาจจัดให้เล่นเกม  เช่น

  • งวงช้างคล้ายอะไร .......
  • มดกับผีเสื้อเหมือนกันอย่างไร ......  ต่างกันอย่างไร
  • นกกับผีเสื้อเหมือนกันอย่างไร .............. ต่างกันอย่างไร  
  • ต้นขนุนกับต้นมะม่วงเหมือนกันอย่างไร ...................  ต่างกันอย่างไร ...........................

โดยเกมนี้เล่นได้ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก ไปจนถึงชั้น ม. ๖   แต่ต้องเปลี่ยนคำถามให้ซับซ้อนขึ้นตามระดับอายุและพัฒนาการ  

ผมขอเพิ่มเติมว่า   นอกจากมองเห็นความเหมือน นักเรียนต้องฝึกมองเห็นความสัมพันธ์ด้วย    เพื่อนำไปสู่การจัดกลุ่มสิ่งของ และจัดกลุ่มความรู้    ES ของการจัดระบบ (organizing) ความรู้  ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ เท่ากับ  0.85     

นักเรียนติวซึ่งกันและกัน

การให้นักเรียนติวซึ่งกันและกันก่อผลดีต่อการเรียนรู้ในระดับ ES = 0.55    โดยมีหลัก ๓ ประการคือ

  • มีการจัดโครงสร้างของการติว
  • ผู้ติวได้รับการฝึก
  • ผู้ติวกับผู้รับการติวอายุต่างกัน  หรือเป็นการติวแบบพี่สอนน้อง   

แต่การติวระหว่างเพื่อนที่เรียนชั้นเดียวกันก็มีประโยชน์    และไม่จำเป็นว่าผู้ติวต้องเป็นนักเรียนที่เรียนเก่งกว่าผู้รับการติวเสมอไป   หากยึดตามหลัก Learning Pyramid แล้ว ผู้ติวเกิดการเรียนรู้มาก   

ผู้เขียนแนะนำเทคนิค PALS (Peer-Assisted Learning Strategies) ที่สามารถดัดแปลงใช้ได้หลากหลายรูปแบบ  และใช้ได้ในหลากหลายวิชา     หลักการคือให้นักเรียนที่ผลการเรียนต่างกันมากจับคู่กัน ผลัดกันเป็นโค้ช กับเป็นผู้เรียน    โค้ชทำหน้าที่ตั้งคำถาม  ประเมิน และให้คำแนะนำป้อนกลับ   

หนังสือเล่าวิธีการของครูชั้น ป. ๕ สอนวิชาภาษาอังกฤษ    ว่าครูจัดให้นักเรียนจับคู่ทำกิจกรรม PALS    โดยให้คนทำหน้าที่เป็นผู้รับการติวอ่านหนังสือหนึ่งย่อหน้า อ่านดังๆ    แล้วกล่าวสรุปความบอกประเด็นสำคัญ และทำนายว่าตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร    ติวเตอร์ใช้คู่มือติวเตอร์เตือนใจให้ทำหน้าที่ต่อไปนี้

  • ชี้ให้เห็นจุดที่อ่านผิด หรือเว้นจังหวะผิด  และบอกให้อ่านใหม่
  • ช่วยบอกใบ้คำหรือหลักการเพื่อให้ผู้รับการติวตอบคำถามได้
  • คอยเตือนผู้รับการติวให้พูดสั้นลง หากเพื่อนบอกประเด็นสำคัญยาวกว่า ๑๐ คำ
  • คอยเตือนให้ผู้รับการติวทำนายว่าเรื่องตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร
  • เขียนถ้อยคำของผู้รับการติว เอาไว้อภิปรายกัน 

จะเห็นว่า การติวจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง ต้องไม่ใช่การติวแบบบบอกความรู้เป็นชิ้นๆ    แต่เป็นการช่วยให้ผู้รับการติวคิดซับซ้อนขึ้น และได้ฝึกเชื่อมโยงความรู้    การติวในหนังสือเล่มนี้จึงต่างจากการติวที่ใช้กันในระบบการศึกษาไทยโดยสิ้นเชิง           

อ่านเอกสารหลายฉบับ

เมื่อนักเรียนอ่านเอกสารฉบับหนึ่ง  แล้วเกิดคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือและความครบถ้วนของเรื่องนั้น     รวมทั้งมีข้อสงสัยว่าบางประเด็นที่เขียนจะผิด    นักเรียนจึงค้นคว้าหาหนังสือหรือเอกสารอื่นมาอ่านเปรียบเทียบ     เพื่อให้ได้สาระที่ถูกต้องครบถ้วน    นักเรียนคนนี้กำลังฝึกเชื่อมโยงความรู้ และฝึกคิดเชิงหลักการ (conceptual thinking)   

ในกระบวนการนี้นักเรียนจะตั้งคำถาม  ตั้งข้อสงสัย  ค้นคว้าเพิ่มเติม  และหาข้อยุติ       

สอนแก้ปัญหา (PBL – Problem-Based Learning)

PBL ที่ใช้เร็วเกินไป ไร้ประโยชน์ ES = 0.15    เพราะใช้ในช่วงที่นักเรียนยังมีพื้นความรู้แค่ระดับรู้ (declarative knowledge) และนำไปใช้เป็น (procedural knowledge) ไม่แน่นพอ   

PBL ที่ได้ผลดี ผู้เรียนต้องเข้าสู่การเรียนรู้ระดับลึกไปขั้นหนึ่งแล้ว    ซึ่งจะให้ ES = 0.61   

หนังสือเล่าเรื่องครูชั้น ม. ๒  ที่ให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องการใช้สัตว์ทดลองในการวิจัย    และในขณะเดียวกันก็เรียนรู้เรื่องขบวนการต่อต้านการทารุณสัตว์    ซึ่งให้ข้อมูลหลักฐานขัดแย้งกัน    ครูจึงจัดเตรียมให้นักเรียนจัดทีมโต้วาที โดยใช้หลักการของ Middle School Public Debate Program    โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “การวิจัยด้วยสัตว์ทดลองมีความจำเป็น  ต้องคงไว้ ภายใต้การดำเนินการตามกฎหมายและตามหลักจริยธรรม”    นักเรียนที่เป็นทีมโต้วาที ต้องอ่านเอกสารมาก และเชื่อมโยงความรู้ในเอกสารเหล่านั้น นำมาเป็นประเด็นเสนอและโต้แย้ง     ผู้ฟังก็ได้รับความรู้ที่มองจากหลายมุม      

สอนให้นักเรียนเปลี่ยน (Transform) ความรู้เชิงหลักการ

ในกระบวนการเชื่อมโยงหลอมรวมความรู้เชิงหลักการ (ส่วนหนึ่งผ่านการนำไปใช้ และใคร่ครวญสะท้อนคิด)     จะเกิดความรู้ใหม่ขึ้น    กระบวนการจัดระบบความรู้จึงเคลื่อนเข้าสู่การยกระดับความรู้    นักเรียนจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตนเองไปเป็น “ผู้สอนตนเอง” หรือ “ผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง”  (self-directed learner)    โดยมีเครื่องมือช่วยต่อไปนี้

สัมมนาแนวโสกราตีส (Socratic Seminar)

ต้องอย่าสับสนว่า Socratic seminar   เป็นสิ่งเดียวกันกับ Socratic method หรือ Socratic discussion     สองวิธีการนี้มีเป้าหมายต่างกัน    Socratic seminar มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมทำความเข้าใจความจริงในเรื่องนั้นๆ    ในขณะที่ Socratic discussion ต้องการตะล่อมให้สมาชิกเชื่อความจริงชุดหนึ่ง     คำถามที่ใช้ใน Socratic seminar จึงเป็นคำถามปลายเปิด   ในขณะที่ Socratic discussion ใช้คำถามปลายปิด    

สัมมนาแนวโสกราตีส มีเป้าหมายช่วยการอ่านหนังสือหรือเอกสารให้ได้ประเด็นลึกขึ้น    โดยนักเรียนทุกคนต้องอ่านหนังสือตอนที่ตกลงกันมาจากบ้าน หรืออ่านก่อนตั้งวง    ในการตั้งวงมีคนหนึ่งทำหน้าที่ดำเนินรายการ    ในช่วงแรกๆ ที่นักเรียนยังไม่คุ้นเคยวิธีการนี้ ครูทำหน้าที่ดำเนินรายการ    ต่อไปเมื่อนักเรียนคุ้นแล้ว นักเรียนผลัดกันดำเนินรายการ ครูกลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของวง

ผู้ดำเนินรายการคิดคำถาม (ปลายเปิด) ขึ้นมาชุดหนึ่ง     โดยอาจขอคำถามจากเพื่อนสมาชิกด้วยก็ได้    แล้วนำคำถามมาให้วงสัมมนาออกความเห็น โดยเน้นให้หลักฐานประกอบความเห็นด้วย    วงนี้ใช้เวลาราวๆ ๓๐ นาที    หลังจากนั้นครูอาจให้นักเรียนไปทำการบ้านเขียนข้อสรุป ความยาว ๒๐๐ คำ    โดยใช้เวลา ๑๕ นาที นำมาส่งครูในวันรุ่งขึ้น         

เขียนขยายความ

การเขียนเป็นการสร้างความรู้  ซึ่งก็คือกระบวนการเชื่อมโยงความรู้ (transfer)     ผู้เขียนได้ฝึกทำความขัดเจนในเป้าหมาย  และเกณฑ์ความสำเร็จ    ซึ่งเชื่อมโยงกับผู้อ่าน  เป้าหมายของการเขียน  และรูปแบบการเขียน    รวมทั้งเป็นกลไกให้ความคิด และกระบวนการคิด แสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัด (visible)    

การเขียนให้ ES = 0.44

ค้นคว้าและผลิต

การเชื่อมโยงความรู้เห็นชัดจากผลผลิตชิ้นงาน ที่มีการค้นคว้าข้อมูลหลักฐานประกอบ     ซึ่งหมายความว่านักเรียนต้องสวมวิญญาณ “ผู้กระทำ” (agent)    ไม่ใช่ผู้รอรับการกระทำ    ครูต้องสวมวิญญาณผู้สนับสนุนให้นักเรียนเป็น “ผู้กระทำ”    ด้วยคำถามที่สะท้อนท่าทีดังกล่าว    “นักเรียนจะใช้ความรู้นี้อย่างไร”   “นักเรียนจะเอาความรู้นี้ไปใช้ทำอะไร”    เท่ากับครูทำหน้าที่สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่คาดหวังการเชื่อมโยงความรู้  ให้คุณค่าต่อการเชื่อมโยงความรู้ ด้วยคำพูดตามปกติของครู   

นี่คือคุณค่าสูงส่งที่ครูทำให้แก่ศิษย์โดยไม่มีข้อยุ่งยากใดๆ เลย    ฝึกเพียงไม่นานก็ชิน    โดยครูต้องเข้าใจคุณค่าของบรรยากาศนี้    และนี่แหละคือความหมายของหน้าที่ครูในการสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของการเรียนรู้ ... ที่มุ่งการเรียนรู้ระดับเชื่อมโยง (transfer) เป็นเป้าหมายปลายทาง 

ในการนี้ หน้าที่หลักของครูคือตั้งคำถาม    มีผู้เสนอ ๑๒ คำถามชั้นยอด สำหรับครูใช้คุยกับศิษย์ ได้แก่

  1. 1. เราจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร    เราจะช่วยให้เพื่อนดีกว่านี้ได้อย่างไร
  2. 2. เรารู้เรื่องนี้ได้อย่างไร
  3. 3. นี่คือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดแล้วหรือ
  4. 4. เราต้องการบรรลุผลอะไร   อะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค
  5. 5. เรื่องอะไรที่เราภูมิใจที่สุด
  6. 6. อะไรบ้างที่เป็นไปได้
  7. 7. เราจะเริ่มเมื่อไร
  8. 8. เราจะป้องกันความล้มเหลวได้อย่างไร
  9. 9. เราจะทำให้บรรลุสิ่งนี้ได้อย่างไร
  10. 10. เราเสียใจที่สุดในเรื่องอะไร
  11. 11. เราจะใช้ ... ให้เกิดประโยชน์ที่สุดได้อย่างไร
  12. 12. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรา .... (ฝันใหญ่)

ครูไทยสามารถดัดแปลงหรือคิดคำถามใหม่ที่เหมาะสมต่อบริบทของนักเรียนได้    โดยเน้นคำถามที่มองนักเรียนเป็นผู้กระทำ (agent)    งดเว้นคำถามที่ชักจูงให้นักเรียนหวังเป็นผู้รอรับ   

กิจกรรมค้นคว้าและผลิตอย่างหนึ่งคือ Project-Based Learning    โดยนอกจากจะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย  สู่การเรียนรู้ระดับเชื่อมโยงแล้ว    นักเรียนยังได้ฝึกการทำงานเป็นทีม และทักษะอื่นๆ แห่งศตวรรษที่ ๒๑    และที่สำคัญได้ฝึกกระบวนทัศน์การเป็นผู้กระทำ    ในการตั้งโจทย์ Project-Based Learning ครูต้องมีทักษะชวนศิษย์คิดเชื่อมโยงจากประเด็น (topic)  สู่ปัญหา (problem) เพื่อให้คิดโฟกัสขึ้น       

สรุป

การเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง คือการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ลงมือทำ หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) นั่นเอง    จึงเป็นการ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ไปในตัว

จะเห็นว่า ครูมีโอกาสสร้างคุณูปการต่อศิษย์ได้สูงมาก ผ่านการจัดการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง     คือครูทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  โดยการชวนนักเรียนตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ ที่มีความหมายในมุมมองของเด็ก    ทำหน้าที่สังเกตการณ์และจุดประกายแรงบันดาลใจสู่การลงมือทำเพื่อการเรียนรู้    และสังเกตความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์    แล้วใคร่ครวญสะท้อนคิดเพื่อหาวิธีทำหน้าที่ครูที่ดีมีผลกระทบสูงยิ่งขึ้นต่อผลลัพธ์การเรียนรู้   

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๖๓

หมายเลขบันทึก: 676158เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2020 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2020 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท