เก็บตกวิทยากร (63) : ติดอาวุธทางความคิด (แนวคิดการจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาในชุมชน)


ผมกำลังจะบอกว่า นิสิตก็ยังเป็นเด็ก - เด็กก็คือเด็ก การบอกย้ำถี่ๆ อย่างมีศิลปะยังจำเป็นเสมอสำหรับการเรียนรู้ ยิ่งออกไปเรียนรู้กับชุมชน ยิ่งต้องเติมเต็มความคิด สะกิดเตือนให้เขาตื่นตัว และมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเรียนรู้ มิใช่ “ปล่อยไปตามมีตามเกิด”



จากบันทึกที่แล้ว เก็บตกวิทยากร (62) : ติดอาวุธทางความคิด (ว่าด้วยเรื่องสัตว์หลากชนิด) – 

คราวนี้ก็ถึงประเด็นการติดอาวุธทางความคิดในเรื่องของการจัดกิจกรรมเรียนรู้ในชุมชน  โดยกระบวนกรคราวนี้ก็คือ คุณสุริยะ สอนสุระ  ผู้ซึ่งผมเรียกขานว่า “นวัตกรรมข้ามคืน”

เดิมประเด็นทำนองนี้ ผมจะเป็นผู้รับหน้าที่ผ่องถ่ายความรู้และประสบการณ์เสียมากกว่า  หากแต่ในระยะปีสองปีให้หลังมานี้  ผมไหว้วานให้ “เจ้ายะ”  ทำหน้าที่ตรงนี้  เพราะคิดว่าได้เวลาที่เขาจะต้องรับช่วงต่อจากผม และใช้ประเด็นนี้ในการพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ


ประเด็นหลักที่นำมาบอกเล่าแก่นิสิต  ยังคงใช้กรอบแนวคิด “9 ข้อการจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนบนฐานวัฒนธรรมชุมชน” อันเป็นข้อคิดข้อเขียนที่ผมสังเคราะห์ขึ้นเมื่อหลายปีก่อน  หากไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป นัก  ผมก็คิดว่าสาระที่ว่านั้น “ยังร่วมสมัย” และมีกลิ่นอายความเป็น “กิจกรรมนอกหลักสูตร” อยู่เต็มตัวเลยทีเดียวแหละ นั่นคือ

  • รู้ตัวตนโครงการ
  • ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า
  • เราไม่ใช่นักเสกสร้าง
  • ทุกเส้นทางมีปัญหา
  • คลังปัญญาชุมชน
  • เราคือคนต้นแบบ
  • อย่าแยกส่วนการเรียนรู้
  • หันกลับไปดูบ้านเกิด
  • ก่อเกิดองค์ความรู้ใหม่


เท่าที่ผมสังเกตการณ์และประเมินผ่านมุมมองของตนเอง  ผมว่าคุณสุริยะ หรือ “เจ้ายะ” อดีตหัวหน้างานกิจกรรมนิสิต รับบทบาทนี้ได้ดี “คม ชัด ลึก” และที่สำคัญคือ “กระชับ-ตรง”  สมแล้วที่เติบโตมาจาก “สายวิทย์”

และสไลด์ที่นำมาเสนอนั้น ก็มีภาพประกอบทุกสไลด์ ช่วยให้นิสิตมองเห็นภาพอันเป็นเนื้อหาที่กำลังสื่อสาร  หรือกระทั่งช่วยให้นิสิตได้เกิดแรงบันดาลใจตามรูปภาพ – เกิดความกระหายที่จะเป็น “คนค่าย” ที่มีคุณภาพเหมือนเช่นที่ปรากฏในภาพ

ไม่แต่เฉพาะประเด็นข้างต้นเท่านั้น  แต่เจ้าตัวยังเสริมหนุนด้วยแนวคิดอื่นๆ ในเชิง “แนวปฏิบัติและข้อพึงระวังในการไปค่ายอาสาพัฒนา”  โดยน่าจะประมวลมาจากฐานคิดอันเป็นประสบการณ์ของเขาเอง


ผมนั่งฟัง – ผมมองเห็นถึงกลิ่นอาย “กฎค่าย” หรือกฎกติกาของค่ายอาสาพัฒนาไปในตัวอย่างไม่ต้องกังขา  

จะว่าไปแล้ว ในประเด็นนี้  จะไม่พูดเลยก็ยังได้  เพราะนิสิตหลายคนอาจกำลังย้อนแย้งในใจว่า “รู้แล้วๆ ไม่พูดก็ได้-เสียเวลาเปล่าๆ” 

แต่สำหรับผมและทีมงานกลับมองว่า “รู้แล้ว-ก็จำเป็นต้องพูดและนิสิตก็จำเป็นต้องฟัง” 

อย่างน้อยจะได้เตือนความจำอีกรอบ และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า "เราได้บอกกล่าวเล่าความแล้วนะ-ขึ้นอยู่กับว่า นิสิตจะเปิดใจรับรู้ หรือตระหนักรู้แค่ไหน”

ใช่ครับ – ผมกำลังจะบอกว่า นิสิตก็ยังเป็นเด็ก - เด็กก็คือเด็ก การบอกย้ำถี่ๆ อย่างมีศิลปะยังจำเป็นเสมอสำหรับการเรียนรู้  ยิ่งออกไปเรียนรู้กับชุมชน ยิ่งต้องเติมเต็มความคิด สะกิดเตือนให้เขาตื่นตัว และมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเรียนรู้  มิใช่ “ปล่อยไปตามมีตามเกิด”


ครับ – เท่าที่ผมจับใจความได้ในประเด็นที่นอกเหนือจากเนื้อหาที่ผมสังเคราะห์ขึ้น  คุณสุริยะ ได้สะท้อนมุมมองเชิงการนิยามความหมาย หรือสถานะของค่ายอาสาพัฒนาอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น

  • ค่าย คือ การพัฒนาความเป็นผู้นำผ่านการลงมือทำจริง
  • ค่าย คือ การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ตัวเอง
  • ค่าย คือ การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองและองค์กรตัวเอง
  • ค่าย คือ การอยู่ร่วมกัน เรียนรู้เรื่องราวและกติกาเดียวกัน
  • ค่าย คือ การอยู่ร่วมบนฐานวัฒนธรรมของชุมชนที่เราไปทำค่าย
  • ค่าย คือ การบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา -จิตสาธารณะ
  • ฯลฯ


แน่นอนครับ  ฟังดูอาจมองว่าเป็น “เรื่องพื้นๆ”  แต่สำหรับผมยืนยันว่า “สำคัญ” มาก –

ครับ – สำคัญมาก  "ไม่พูดไม่ได้ ยังไงๆ ก็ต้องพูด พูดแล้วจะถูกมองว่าน่าเบื่อน่ารำคาญก็ต้องพูด" 

แม้พูดแล้วไม่มีใครฟังก็ช่างเถอะ  อย่างน้อยเราก็แสดงเจตนารมณ์แล้วว่า “เราใส่ใจนิสิต”  และเราก็อยากให้นิสิตใส่ใจต่อการจัดค่ายอาสาพัฒนาในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” ได้อย่างถูกต้อง หรือเหมาะสมกับบริบทของชุมชนนั้นๆ นั่นเอง

สำหรับผมแล้ว  ผมไม่ได้แต่งเติมอะไรต่อจากที่คุณสุริยะมากมายนัก  เพราะคิดว่า "ครบถ้วนแล้ว"  ได้แต่ย้ำว่า  สิ่งเหล่านี้คือแนวคิด-ทฤษฎี  จะเกิดผลในเชิงความรู้และทักษะหรือไม่  ขึ้นอยู่กับว่านิสิตจะทำไปใช้ในค่ายหรือไม่  ใช้อย่างจริงจังแค่ไหน  หรือมีกระบวนการในการประยุกต์ใช้ได้ดีแค่ไหน ต่อเนื่องแค่ไหน -

ทุกอย่างมันอยู่ที่ความตั้งใจ หรือต้นทุนของแต่ละบุคคล


เวที : วันพุธที่ 11 มีนาคม 2563
เขียน : วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563
ณ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 676152เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2020 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2020 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท