ADT Attention Deficit Trait มองมุมใหม่ : โรคร้ายใหม่ในการทำงาน


มองมุมใหม่ : โรคร้ายใหม่ในการทำงาน
ผศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
[email protected] mailto:[email protected]
 

ท่านผู้อ่านเป็นผู้หนึ่งที่ชอบทำงานในลักษณะของ Multitasking หรือไม่ครับ?
คนกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่สามารถหรือชอบที่จะทำงานหลายๆ อย่างไปในขณะเดียวกัน
เช่น ในขณะที่กำลังเช็คอีเมลทางคอมพิวเตอร์ ก็กำลังคุยโทรศัพท์สั่งงานกับลูกน้อง พร้อมทั้งดื่มกาแฟไปพร้อมกัน หรือในขณะที่กำลังนั่งประชุม ก็สั่งงานพร้อมทั้งหาข้อมูล และตัดสินใจผ่านทางเครื่องโน้ตบุ๊คที่ตั้งอยู่ข้างหน้า


ในอดีตผมก็เคยชื่นชมคนพวกนี้นะครับว่า มีความสามารถมาก สามารถทำงานได้หลายอย่างในขณะเดียวกัน สามารถทำงานได้ออกมาเยอะ และดูยังสงบไม่ตื่นเต้นโวยวายเท่าใด แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า การทำงานในลักษณะ Multitasking นั้น กลับเป็นสาเหตุประการหนึ่งของโรคร้ายใหม่ในที่ทำงาน ที่เราเรียก
Attention Deficit Trait หรือ ADT โรคนี้เป็นโรคที่เราจะเจอมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแวดล้อมที่บังคับให้คนทำงานจะต้องทำงานด้วยความรวดเร็วมากขึ้น ทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน จะต้องตื่นตัวตลอดเวลา ไม่มีเวลาหรือโอกาสได้สงบพัก

ท่านผู้อ่านลองพิจารณาตัวท่านเองหรือบุคคลรอบข้างนะครับว่าเป็นโรคนี้หรือไม่?
ผมอ่านพบเจอโรคนี้จากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคม 2548
ในบทความชื่อ Why Smart People Under perform เขียนโดย Edward M. Hallowell
ซึ่งเป็นจิตแพทย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรคที่เกี่ยวกับสมองและสมาธิทั้งหลาย
คุณหมอท่านนี้ทำการรักษาอาการ Attention Deficit Disorder หรือ ADD มากว่า 25 ปี
และ โรค ADD นี้เราเริ่มรู้จักกันมากขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน เรามักจะเรียกโรคนี้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้น


ผู้เขียนบทความนี้เขาพบว่า ในช่วงหลังๆ เริ่มมีผู้ใหญ่เข้ามารับการรักษาในอาการที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้นกันมากขึ้น แต่เมื่อวินิจฉัยดูก็ไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น แต่เป็นโรคอีกชนิดหนึ่งที่มีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้น คุณหมอท่านนี้เลยตั้งชื่อใหม่ว่าเป็น Attention Deficit Trait หรือ ADT


โดยสาเหตุของ ADT จะต่างจากโรคสมาธิสั้น เนื่องจากโรคสมาธิสั้นจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสภาวะแวดล้อม แต่ ADT นั้น จะมาจากสภาวะแวดล้อมเป็นหลัก


ผู้ที่เป็นโรค ADT นั้น มักจะมีอาการสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่งได้นานๆ ก็จะถูกดึงดูดด้วยงานอย่างอื่น มีความวุ่นวายอยู่ข้างใน (แต่มักจะไม่แสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็น) ไม่ค่อยอดทน มีปัญหาในการจัดระบบต่างๆ (Unorganized) การจัดลำดับความสำคัญ และการบริหารเวลา


โรค ADT นี้ มักจะเริ่มก่อเกิดขึ้นเมื่อเราก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ การที่มีความรู้สึกว่ามีงานด่วน หรือสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องทำเข้ามาเรื่อยๆ และท่านพยายามที่จะจัดการกับงานด่วนเหล่านั้นให้สำเร็จ จะเป็นบ่อเกิดที่สำคัญของโรค ADT เพราะเมื่อเรามีงานที่เร่งด่วน หรือจำเป็นเข้ามาเรื่อยๆ เราก็มักจะรับภาระความรับผิดชอบต่องานเหล่านั้น อีกทั้งไม่บ่นไม่โวยวายต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้น เราจะก้มหน้าก้มตาพยายามทำให้งานสำเร็จ ทั้งๆ ที่กำลังความสามารถ และเวลาของเราไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณของงานที่เข้ามา ดังนั้น เมื่อเจอกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและเร่งด่วนขึ้น เราก็มักจะอยู่ในอาการของความรีบร้อนตลอดเวลา พยายามทำงานให้เสร็จโดยเร็ว การทำงานหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน และขาดสมาธิต่อการทำงานๆ หนึ่ง (Unfocused) แต่ในขณะเดียวกัน บุคคลเหล่านี้ก็จะไม่บ่นไม่โวยวาย ดูจากภายนอกแล้วเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น


ทีนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยครับว่าโรค ADT จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้น? ง่ายๆ ก็คือ ทำให้สมองเราสูญเสียความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และทำงานอย่างละเอียดลึกซึ้ง จะส่งผลให้งานที่ออกมาเป็นงานที่เร็วแต่ไม่ลึก จะทำให้ความสามารถในการทำงานของเราลดน้อยลง การที่สมองเราจะต้องรับวิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ก็ลดลง อีกทั้งความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้มากขึ้น โรคนี้ถือเป็นโรคใหม่ในที่ทำงานอย่างหนึ่งครับ เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการทำงาน ที่ต้องการความรวดเร็ว และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สมองเราจะต้องรับและประมวลผลข้อมูลต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม วัฒนธรรมในการทำงานในปัจจุบันก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเกิดโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของความเร็วในการทำสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันดูเหมือนว่าเราต้องการความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ (เรามักจะคิดว่าในเมื่อคนทุกคนมีเวลาเท่ากัน ดังนั้น ผู้ที่มีความเร็วมากกว่าจะทำงานได้มากกว่า) 

ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับเวลาท่านขึ้นลิฟต์ ปุ่มไหนที่ท่านจะกดบ่อยที่สุด ปุ่มนั้นก็คือปุ่ม "ปิดประตู" เนื่องเพราะทุกคนเป็นทาสของความเร็ว ไม่สามารถรอให้ลิฟต์ปิดได้เอง ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเป็นโรค ADT กันบ้างไหมครับ ผมลองสังเกตตัวเองก็รู้สึกว่าเป็นเหมือนกันครับ ทั้งสาเหตุและอาการก็เหมือนกับที่คุณหมอเขาเขียนไว้ในบทความของเขาเลยครับ เพียงแต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจนะครับ ถ้ารู้สึกว่าตนเองเป็น ADT เนื่องจากคนแต่ละคนจะมีวิธีการในการบริหารและจัดการกับโรค ADT ที่ต่างกัน (เนื่องจากสมองของคนแต่ละคนต่างกัน)

หมายเลขบันทึก: 67010เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ว้าย! ตายแล้วดิฉันก็เป็น...ทำไงดีจะเป็นพวกที่สามารถหรือชอบที่จะทำงานหลายๆ อย่างไปในขณะเดียวกันเช่น ในขณะที่กำลังเช็คอีเมลทางคอมพิวเตอร์ ก็กำลังคุยโทรศัพท์สั่งงานกับลูกน้อง พร้อมทั้งดื่มกาแฟไปพร้อมกัน หรือในขณะที่กำลังนั่งประชุม ก็สั่งงานพร้อมทั้งหาข้อมูล และตัดสินใจผ่านทางเครื่องโน้ตบุ๊คที่ตั้งอยู่ข้างหน้า

น้องอึ่งอ๊อบคะ

  • ครูอ้อยคิดว่าทุกคนต้องเป็นโรคนี้นะ  โดยเฉพาะผู้หญิง  รวมทั้งครูอ้อย  ที่ชอบทำอะไรหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน  เช่น  บนโต๊ะทำงานก็มีงานที่ค้างอยู่  ที่โต๊ะคอมพิวเตอร์  ก็มีงานที่ใช่เครื่องคอมรออยู่
  • ดีนะงานบ้านไม่ต้องทำ  ลูกทำให้แล้ว  โชคดี  ไม่งั้น  โรคนี้หนักกว่านี้อีก
  • ทุกคนมีหาทางแห่งการกำจัดโรคนี้ค่ะ  ตามครรลองของแต่ละคนค่ะ

ขอบคุณค่ะ  บทความที่ดี  และนำมาเผยแพร่  เยี่ยมค่ะ

สรุป.....ไม่กลัวโรคนี้แฮะ

  • เป็นโรคที่น่ากลัวเหมือนกันนะครับ
  • ชอบทำด้วยซิ สงสัยต้องลดงานครับ
  • ขอบคุณมากครับ

คุณเมตตาคะ

  • สมพรว่า เรา ๆ หลาย ๆ ท่านใน G2K น่าจะเป็นโรคนี้แน่ ๆ เลย  ต้องส่งให้ใครไปวิเคราะห์ดีคะเนี่ย

 ครูอ้อยขา

  • ครูอ้อยเป็นแบบนี้ด้วยหรือคะ นึกว่าครูอ้อยเป็นครูมหัศจรรย์ แต่ก็จริง ทุกคนมีหาทางแห่งการกำจัดโรคนี้ค่ะ  ตามครรลองของแต่ละคนค่ะ

ผู้หมวด เฮ้ย....คุณขจิตคะ

  • อย่าลดงานเลย เดี๋ยวแฟน ๆ ใน blog จะคิดถึง เพราะงาน 1 อย่างของคุณขจิตคือ ตามไปให้กำลังใจเพื่อน ๆ ใน G2K ค่ะ

แวะมาเยี่ยมตอนใกล้รับประทานอาหารเที่ยงค่ะ และขอบคุณที่คอยถามไถ่ และแวะเวียนเข้าไป ลปรร. กัน ขอบคุณค่ะ คุณ somporn poungpratoom แล้วจะเข้ามาอ่านบันทึกเรื่อย ๆ นะคะ เอะ!! วันนี้เรากินข้าวตอนเช้าหรือยังนะ

มีความสุขกับการรับประทานอาหาร และการทำงานนะคะ

วันนี้แวะมาอ่าน  ADT Attention Deficit Trait มองมุมใหม่ : โรคร้ายใหม่ในการทำงาน   อ่านคราใดทำให้มีสติในการใช้ชีวิตและการทำงานมากขึ้น เพราะจะใช้เวลาวิเคราะห์ ในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เสมอ เช่นการทำงาน เคยทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน โดยคิดว่าทุกอย่างสำคัญหมด บางครั้งทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ จึงต้องกลับมาบริหารเวลาตัวเองใหม่ รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ฝึกรู้สติตัวเองมากขึ้น .....

ยอมรับว่าเป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน  ไอ้โน่นก็จะทำ ไอ้นี่ก็จะทำ   จนกระทั่งต้องหยุดคิดว่าจะทำอะไรก่อนดีหว่า

ความหมกมุ่น  ในการทำหลายสิ่งหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน พบว่าบางครั้งทำให้ระบบหายใจสั้น  เหมือนกับจะลืมหายใจค่ะ   

ขณะนี้ กำลังหัดหายใจใหม่   และทำงานทีละอย่าง ๆ

ขณะทำงานก็สังเกต สำรวจการหายใจของตนเองให้เป็นไปอย่างช้า ๆ ลึก ๆ   ไปด้วย  ......เฮ้อ 

คุณอิ่งอ๊อบคะ..

  • แต่ก่อนตอนทำงานบริหาร...ดิฉันก็เป็นค่ะ
  • ตอนนี้หายแล้ว..เพราะทำงานติด(ดิน)คนไข้....
  • เมื่อไหร่ที่ทำงานตืดคนไข้...ทำให้เราไม่กล้าวอบแวบไปไหน...สมาธิจึงติดตัวอยู่..แต่พอออกจากประตูOR..ก็ไม่แน่ค่ะ...บางครั้งก็กลับมาเป็นบ้างนิดๆหน่อยๆพอคุยกับเขาได้..เช่นจิบกาแฟไป  คุยโทรศัพท์ไปค่ะ
  • ขอบคุณที่ให้ความรู้ดีไค่..
  • รูปไม่จ๊าบเอาออกไปแล้วค่ะ..ขอบคุณที่แนะนำค่ะ...
  • comment ข้างบนบ่งบอกว่า...โรคนี้ยังไม่หายขาด...
  • แก้ไข "ตืดคนไข้"...เป็น..."ติดคนไข้"  และ
  • "ความรู้ดีไค่"...เป็น... "ความรู้ดีดี" ค่ะ..
  • ขอบคุณค่ะ

อ่านแล้วต้องรีบปรับพฤติกรรมตัวเองซะแล้ว..เป็นเหมือนกันในบางทีค่ะ(เรื่องกดปุ่มปิดลิฟท์นี่ชัดเจนเลย...)...ขอบคุณที่เอามาบันทึกนะคะ....จะขอส่งพิมพ์ไปให้คนอื่นอ่านด้วยนะคะ...ขอบคุณล่วงหน้าเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท