ปฏิรูปการศึกษาด้วย PLC “ความหวังที่พอมี”


การสั่งให้ทำด้วยรูปแบบเหมือนๆกัน ง่าย เป็นระเบียบ ไม่วุ่นวาย เห็นผลเร็ว แต่ไม่สามารถตรงกับความต่างในบริบทของแต่ละสถานศึกษาได้เป็นแน่ ในขณะที่การคิดเองทำเอง ด้วยรูปแบบเฉพาะของตนเอง อาจยาก สับสน วุ่นวาย หรือเห็นผลช้า แต่เชื่อมั่นได้ ว่าจะตรงกับบริบทของแต่ละสถานศึกษากว่า

ผู้เขียนได้ยิน PLC (Professional Learning Community)ครั้งแรก จากวงเสวนา “เวที 21st Century Skills กับการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์” ซึ่งร่วมจัดและดำเนินการโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์กับมูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อหลายปีที่ผ่านมา การเสวนาครั้งนั้น น่าจะกระทำไป เพื่อขยายเครือข่าย หรือสร้างชุมชนการเรียนรู้ของครู หรือ PLC นั่นเอง

แรกที่ได้ยินมีความคิดว่า ทำไมเราไม่นำวิธีนี้มาใช้พัฒนาการจัดการศึกษาตั้งแต่แรก คงเพราะเราเชื่อในปริญญาบัตรหรือตำแหน่งมากกว่าเชื่อประสบการณ์ การทำงานของราชการบ้านเราจึงยังเป็นแบบบนลงล่างเสมอมา แม้ที่ผ่านมาสังคมจะพูดถึงในประเด็นเหล่านี้บ้างก็ตาม

PLC เน้นประสบการณ์ของคนทำงาน การพัฒนา การแก้ไขปัญหา การจัดการในงานนั้นๆ มีวิธี มีองค์ความรู้ในตัวผู้ปฏิบัติอยู่เต็มเปี่ยม การระดมสมอง ร่วมปรึกษาหารือ ถึงสาเหตุ ที่มาที่ไป จนถึงร่วมมือร่วมทำตามแนวปฏิบัติ หรือวิธีแก้ไขจากการร่วมคิด จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก

หลักการ PLC ดูดี ตรงเป้า อย่างไรก็ตาม คำถามที่วนเวียนในขณะนั้นก็คือ PLC จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ การประเมินผลงาน ความก้าวหน้า หรือความดีความชอบของครู ก็ไม่ได้พิจารณาจากเรื่องดีๆเหล่านี้ ยิ่ง PLC ช่วงนั้น ไม่ได้มาจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เองด้วย “หลักการดีแน่ แต่จะเกิดขึ้นได้หรือ ถ้าได้ จะไปต่ออย่างไร แบบไหน” ถ้าสภาพแวดล้อมยังเป็นตามที่กล่าว

แต่วันนี้ไม่เหมือนวันนั้นแล้ว PLC ถือกำเนิดเป็นนโยบายสำคัญของศธ.เองเลย โดยกำหนดให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาครู แต่เรื่องดีๆใช่ว่าจะเติบโตยั่งยืนได้โดยง่าย เพราะปัจจัยสำคัญบางประการ ซึ่งต้องใคร่ครวญ พินิจพิเคราะห์ ตลอดจนมีการจัดการที่ดี

ประการแรก ต้องทำ PLC ให้เป็นธรรมชาติ หรือกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร อย่าให้รู้สึกว่า PLC เป็นการทำตามนโยบายหรือคำสั่ง ไม่เช่นนั้นเนื้อหาสาระที่ร่วมคิดร่วมทำจะแข็งทื่อ ไร้ชีวิต ทำเพราะถูกควบคุม หรือกำกับให้ทำ ไม่ได้ทำด้วยใจ จึงไม่เป็นธรรมชาติ จนกระทั่ง อาจไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้เลย ทำจากใจกับถูกกำหนดให้ทำ ประสิทธิภาพงานที่ได้อาจต่างกันราวฟ้ากับดิน

ดังนั้น PLC จะเติบโตยั่งยืน จนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ต้องไม่สั่ง ไม่กำหนด ต้องเปิดเสรีทางความคิด อย่าแนะจนมากเกิน อย่ากำกับ ควบคุม ติดตาม จนรู้สึกว่า PLC เป็นของพื้นๆ หรือก็เหมือนงานนโยบายทั่วไป PLC ยากตรงนี้  ถ้าไม่เกิดจากใจ แนวคิดแนวปฏิบัติ ซึ่งร่วมกันสรรสร้าง ยากจะใช้การได้ เพราะขาดเทคนิค ขาดหัวใจ อันเนื่องมาจากประสบการณ์ดีๆของคนทำงานจะไม่ถูกแต้มแต่งลงไป จนอาจทำให้ PLC ล้มเหลวเหมือนกับเรื่องอื่นๆก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง เวลาให้ครูและโรงเรียนต้องมีพอ PLC เป็นการร่วมคิดร่วมทำ เมื่อมาจากหลายคนคิด ด้วยความเคารพความคิดกันและกันอย่างแท้จริง กว่าจะหลอมลงตัว จึงไม่ใช่จะเร็วได้อย่างใจ                                                           

การสั่งให้ทำด้วยรูปแบบเหมือนๆกัน ง่าย เป็นระเบียบ ไม่วุ่นวาย เห็นผลเร็ว แต่ไม่สามารถตรงกับความต่างในบริบทของแต่ละสถานศึกษาได้เป็นแน่ ในขณะที่การคิดเองทำเอง ด้วยรูปแบบเฉพาะของตนเอง อาจยาก สับสน วุ่นวาย หรือเห็นผลช้า แต่เชื่อมั่นได้ ว่าจะตรงกับบริบทของแต่ละสถานศึกษากว่า

ฉะนั้น ครูและโรงเรียนต้องมีเวลาพอ ระดับนโยบายต้องใจเย็น อดทน รอให้วิธีปฏิบัติกลั่นมาจากความคิดและประสบการณ์ของแต่ละสถานศึกษาจริงๆ อีกอย่างนโยบายต่างๆที่มีอยู่อย่างมากมายในปัจจุบันต้องลดจำนวนลง ภารกิจยิ่งมาก คุณภาพก็ด้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญจะปล่อยให้ข้อจำกัดเรื่องเวลา ลดคุณภาพ PLC ลงไม่ได้อีกแล้ว มิเช่นนั้น PLC ก็อาจจะไม่ใช่ของดีอีกเช่นเคย ถ้าโรงเรียนและครูมีเวลาไม่พออย่างที่แล้วมา

การปฏิรูปการศึกษา ที่รัฐบาลว่าเร่งมือทำในปัจจุบัน หลายเรื่องถ้าเทียบกับอดีต ซึ่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันเรื่อยมา ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ การปรับแต่โครงสร้างการทำงาน จนย้อนไปคล้ายกับอดีตอีกครั้ง มีศึกษาธิการภาค อดีตคือศึกษาธิการเขต มีศึกษาธิการจังหวัด แต่ยังคงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ คล้ายรัฐก็ยังไม่แน่ใจ ที่แน่ๆตำแหน่งผู้บริหารเพิ่มจำนวนขึ้น ขณะของเดิมก็ยังคงอยู่ ไม่แน่ใจเช่นกันว่า การทำงานจริงในวันหน้า จะวกวน สับสน อย่างไรหรือไม่ เวลาจะเป็นคำตอบให้

ขณะที่โรงเรียน ซึ่งเป็นด่านหน้าสุด หรือผู้ปฏิบัติตัวจริงเสียงจริง แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ว่าจะเน้นให้เรียนรู้จากกิจกรรม โดยเฉพาะลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ บัดนี้ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ก็เปลี่ยนโฉมไป อาจเนื่องด้วยเวลาตามหลักสูตรมีไม่มากพอ จะบอกว่า “กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จางลงไปแล้ว จากการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี ก็คงไม่เกินความจริงนัก

สิ่งที่ชัดเจน มองเห็น และพอเป็นความหวัง ว่าจะทำให้สถานศึกษาเปลี่ยนแปลงหรือเกิดการปฏิรูปได้จริงจากนโยบาย มีอย่างเดียวคือ PLC แต่ก็อีกนั่นแหละ นโยบาย หนังสือสั่งการ หรือแม้แต่เงื่อนไขเพื่อพัฒนาครู ซึ่งทำให้ PLC เกิด ก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะทำให้ PLC เติบโตต่อเนื่องไปได้ เนื่องจากปัจจัยบางประการยังคงทะมึนอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าการทำ PLC อาจไม่เป็นธรรมชาติหรือทำด้วยใจ ตลอดจนเวลาที่ครูและโรงเรียนมีอยู่ในปัจจุบัน

ความหวังหนึ่งเดียวที่มีต่อการปฎิรูปการศึกษาครับ PLC ของดีนี้..ชัดเจนที่สุดแล้ว

หมายเลขบันทึก: 631287เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2017 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2017 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

"PLC จะเติบโตยั่งยืน จนเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ต้องไม่สั่ง ไม่กำหนด ต้องเปิดเสรีทางความคิด อย่าแนะจนมากเกิน อย่ากำกับ ควบคุม ติดตาม จนรู้สึกว่า PLC เป็นของพื้นๆ หรือก็เหมือนงานนโยบายทั่วไป "

ได้ยินคำนี้ PLC จากการอ่านในบ้านโฏทูโว์ โดนใจประโยคนี้ของอาจารย์ เหมือนการทำHAของโรงพยาบาล

มาเชียร์พี่ครู

เนื่องจากทำเรื่องนี้นานมากแล้ว

เลยช่วยขับเคลื่อนแต่วิทยากรหลักของ สพฐ ยังเข้าใจผิดพลาด

ยังทำ การบรรยายแบบ passive learning อยู่เลยครับ  เอาที่ชุมพรมาฝากครับ

https://www.gotoknow.org/posts...

  • บัดนี้ PLC กลายมาเป็นเรื่องหลักในการพัฒนาครูของศธ.แล้ว แต่บางประเด็นที่พบเห็นในการทำงานจริงที่โรงเรียนอาจเป็นอุปสรรคได้ เป็นห่วง ไม่อยากให้ของดีๆ ซึ่งอาจจะกลายเป็นของธรรมดาๆไปได้ ถ้าการปฏิบัติจริงนั้น ไม่มองหรือปรับเปลี่ยนในประเด็นเหล่านี้ครับ
  • ขอบคุณท่านวอญ่าครับ
  • นึกเหมือนกันครับ แม้จะเป็นนโยบายสำคัญแล้ว เป็นการพัฒนาครูเรา มีผลได้ผลเสียต่อครู แต่บางเรื่องก็ยังอาจจะทำให้ไม่ราบรื่นได้ หากเหตุการณ์เป็นอย่างนั้นจริงๆเข้า เสียดายของดีๆแย่เลยครับ..
  • ขอบคุณอ.ขจิตมากครับ

อ่านบทความนี้แล้ว ผมเกิดปัญญาสว่างไสว ..ขอบคุณจริงๆครับ

  • ภาพโรงเรียน ทำให้เห็นโรงเรียน..
  • ขอบคุณท่านผอ.ชยันต์ครับ

ตอนนี้เขียนได้เพิ่มแต่ยังไม่จบ

พี่ครูก็แลกเปลี่ยนแบบครูวิทย์นะครับ

แล้วนำข้อดีข้อเสียมาแลกเปลี่ยนกัน พยายามปรับการสอนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากๆ

ใช้ log book แบบ www.gotoknow.org ช่วยบันทึกครับ

https://www.gotoknow.org/posts...

-สวัสดีครับ

-คนนอกวงการศึกษา..

-ขอตามมาอ่านข้อมูล PCL ครับ

-ครูสบายดีนะครับ ได้ติดตามภาพสวยๆจาก"สวนสอน"ทาง FB ชื่นชอบมุมมองภาพครับ

-หากมีโอกาสคงได้ขอคำแนะนำและร่วมเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพบ้างนะครับ

-ขอบคุณครับ


  • ครูภาษาอังกฤษและวิทยากรยอดเยี่ยมเลยครับ..Active มากๆ
  • ขอบคุณอ.ขจิตอีกครั้งครับ
  • อาหารที่นำเสนอ น่าทานๆทั้งนั้นเลยครับ ที่สำคัญเป็นพืชพรรณของบ้านเราเอง..
  • ขอบคุณเพชรน้ำหนึ่งครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท