ชีวิตที่พอเพียง 2963. ไปร่วมการประชุมวิชาการพันธุศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ ๒๐



การประชุมนี้ จัดระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ในหัวข้อหลัก พันธุศาสตร์บูรณาการ จากการค้นพบสู่นวัตกรรม”  จัดโดยสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    มีผู้บรรยายพิเศษและอภิปรายกลุ่ม ๒๒ ท่าน    ผู้เข้าร่วมประชุม ๔๐๐ คน   

ผมไม่ได้ไปร่วมการประชุมวิชาการพันธุศาสตร์แห่งชาติ เสียหลายปี    ปีนี้โชคดีมีโอกาสไปร่วม ครึ่งวันแรก และหวังว่าจะได้สนุกสนานจากการฟังคำกล่าวเปิดของ ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์  ที่เมื่อก่อนท่านจะมีเกร็ดเรื่องราวต่างๆ มาเล่าสนุกสนานมาก    ที่ผมติดใจท่านมากคือคำกล่าวเปิดการประชุม ประจำปีของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๑๔(๒๕๔๐ - ๒๕๕๓) จึงยุติกิจการ    โดยปีนี้ท่านอายุ ๘๗ ปีแล้ว    ไม่คล่องแคล่วเหมือนแต่ก่อน    และไม่ได้กล่าวเปิดในสไตล์เดิมเสียแล้ว


ผมได้ไปเปิดหูเปิดตาฟังการบรรยายของผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ ๓ คนรวด คือ

 

The NIH undiagnosed diseases program and network : diagnoses and discoveries

โดย Prof. William A. Gahl, NIH, USA

        

เป็นการเล่าผลงานบางส่วนของ UDP (เริ่ม ค.ศ. 2008)   ที่เวลานี้ขยายเป็น UDN ของ NIH ที่ใช้พลังของ genomics ร่วมกับพลังของ สรีรวิทยาสมัยใหม่ ในการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ยังวินิจฉัยไม่ได้    ทำให้วินิจฉัยโรค พันธุกรรมแปลกๆ ได้เพิ่มขึ้น   


จำได้ว่า หลายปีมาแล้วผมเคยไปฟัง brief เรื่องนี้ที่ NIH และได้เรียนรู้ว่า เมื่อประสบความสำเร็จ ของโครงการ Human Genome Sequence ก็มีความหวังกันว่า จะนำไปสู่ความเข้าใจพันธุกรรมของโรคมากมาย    แต่เวลาผ่านมากว่าสิบห้าปี  เป็นที่ผิดหวัง ว่าความรู้ทาง genome ยังไม่ใช่ตัวเปิดประตูสู่ความลี้ลับของโรคต่างๆ    ยังต้องใช้ศาสตร์อื่นช่วยไขด้วย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคในกลุ่ม multifactorial  


อย่างไรก็ตาม โครงการ UDP ได้รายงานผลการค้นพบกลไกการเกิดโรคที่พบไม่บ่อยจำนวนมากมาย    ผมเข้าใจว่าทางจุฬาฯ (ภายใต้การนำของ ศ. นพ. วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์) ได้เข้าไปร่วมมือใน UDN ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยมาก 

 

Functional discoveries through genome manipulation

โดย Prof. Luca Comai, UC Davis, USA


นี่คือเรื่องของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีตัดต่อยีนในพืช โดยใช้เทคโนโลยี tilling, CRISPR-Cas9, และ INDEL (insertion and deletion)    ผมได้ตื่นตาตื่นใจกับเทคนิคใหม่ๆ ในการปรับปรุงพันธุ์พืช    ที่รวดเร็วและทรงพลังยิ่งกว่ายุคห้าสิบปีก่อน อย่างมากมาย    โดยใช้วิธี reversed genetics  คือได้ยีน แล้วจึงรู้ลักษณะ (phenotype)    สามารถทำได้ทั้งเปลี่ยนยีน และขยายจำนวนยีน    

 

Natural non-antibiotic antibacterials for food safety and medicine

โดย Prof. Yuri Gleba, Nomad Bioscience, Gmbh, Germany

 

ผมได้เรียนรู้เป็นครั้งแรกในชีวิตว่า มีสารต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช่ แอนติไบโอติกส์    โดยที่แอนติไบโอติกส์เป็นสารอณูเล็ก    แต่สารต้านเชื้อแบคทีเรียที่นำเสนอในการบรรยายนี้เป็นโปรตีน เป็นสารอณูใหญ่    และสร้างจากพืช    สร้างโดยบังคับให้พืชสร้างตามที่เราต้องการ    โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง พันธุกรรมของพืชเลย    เพียงแต่ใส่กลไกสัญญาณเข้าไปบังคับ ให้พืชสร้างสารที่เราต้องการ (เรียกว่าเป็น transient platform)    และสารที่ต้องการในที่นี้เอาไปใส่เนื้อสัตว์ ป้องกันการติดเชื้อ ที่นำไปสู่โรคติดเชื้อจากอาหาร    และใช้เป็นยาบำบัดโรคติดเชื้อแบคทีเรีย     


ที่สำคัญคือ เวลานี้เชื้อโรคต่างๆ ดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้นๆ    เขาผลิตและทดลอง ยืนยันว่ายาฆ่าแบคทีเรีย แบบใหม่นี้เกิดเชื้อดื้อยาในอัตราที่ต่ำกว่ามาก   


ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่เขาเสนอขอการรับรอง GRAS (Generally Recognized As Safe) จาก US FDA คือ colicin สำหรับใช้เป็น food additive  ป้องกันโรคติดเชื้อจากอาหาร    นอกจากนั้นยังมี Salmicins, Pyocins และอื่นๆ สำหรับป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียรายตัว     


ฟังแล้วผมตีความว่าบริษัท Nomad เป็น startup   แต่มีเทคโนโลยีที่ทรงพลัง  และต้องการ partner สร้างผลิตภัณฑ์สู่ตลาด 

 

ที่จริงผมฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง    ความประทับใจที่ได้คือ โลกมันหมุนเร็วเหลือเกิน    ความรู้และเทคโนโลยีสำหรับนำมาทำประโยชน์มีอยู่มากมาย    แต่ทำไมคนเก่งๆ ของไทยเรามัวแต่ ทะเลาะกันเองก็ไม่รู้ ... ไม่เข้าใจ



วิจารณ์ พานิช

๑๖ มิ.ย. ๖๐

 


หมายเลขบันทึก: 631280เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2017 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2017 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"...แต่ทำไมคนเก่งๆ ของไทยเรามัวแต่ ทะเลาะกันเองก็ไม่รู้ ... ไม่เข้าใจ..."

Are limited support and limited funding causing struggles and fights to access resources?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท