ชีวิตที่พอเพียง : 2960a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๘) แก่อย่างสง่า


ต้นไม้ตาย แต่จะยังประโยชน์แก่ป่าต่อไปอีกเป็นศตวรรษ

ชีวิตที่พอเพียง : 2960a. ความหมายของไม้ยืนต้น  : (๘) แก่อย่างสง่า

บันทึกชุด ความหมายของไม้ยืนต้น ตีความจากหนังสือ The Hidden Life of Trees     บอกว่า ต้นไม้ก็มีวงจรเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน   

คำว่า “แก่อย่างสง่า” เป็นคำที่ผมเอามาจากศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์    จำได้ว่าเกือบห้าสิบปี มาแล้ว     ตัวท่านอายุใกล้ ๗๐ ปี    ได้กล่าวปาฐกถาในวันประชุมวิชาการประจำสัปดาห์ของศิริราช ในหัวข้อ “แก่อย่างสง่า”  ที่คนเข้าฟังล้นหลาม รวมทั้งผมด้วย (ทั้งๆ ที่ผมไปทำงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่แล้ว)     และผมจำชื่อเรื่องได้แม่นยำ แม้จะจำสาระไม่ได้    จำได้แต่ว่า ท่านแนะวิธีมีสุขภาพดียามสูงอายุ     ผมเคยเล่าเรื่องนี้ไว้ ที่นี่   

 รายละเอียดของความสูงวัยของต้นไม้อยู่ในบทที่ 11 Trees Aging Gracefully    บอกว่าต้นไม้แก่ก็ ผิวหนังเหี่ยวย่นเหมือนคน    โดยผิวหนังของต้นไม้เรียกว่าเปลือก (bark)    ต้นไม้แก่เปลือกจะหนาขึ้น และแตกระแหง    แต่ก็ขึ้นกับชนิดของต้นไม้ด้วย    ต้นบีช มีเปลือกสีเทาเงินบางเรียบสวยงามอยู่ถึงสองร้อยปี    เพราะเขาปล่อยให้เซลล์เปลือกที่ตายหลุดออกไป และสร้างเซลล์เปลือกใหม่ทดแทนได้รวดเร็ว     ทำให้เปลือก ไม่แตกระแหงเมื่อลำต้นขยายตัว  

แต่ต้นสนมีนิสัยตรงกันข้าม  เก็บเปลือกตายไว้กับตัว ทำให้พอกพูนหนาขึ้น    และเมื่อลำต้นขยายตัว เปลือกก็ปริเป็นร่อง ยิ่งเปลือกหนาและร่องลึก แสดงว่าต้นไม้มีอายุมาก   

เมื่อต้นบีชแก่ตัวลง เปลือกจะหนาและมีร่อง ซับน้ำไว้    ความชื้นเชื้อเชิญให้มอสมาเกาะเป็นผิวสีเขียว สวยงาม    ความแก่ที่แสดงออกทางเปลือกของต้นไม้นี้ จะเริ่มจากด้านล่างของต้นขึ้นข้างบน    ดังนั้นเมื่อเข้าไป ในป่าบีช  เราบอกอายุของป่าได้โดยดูที่ความสูงของมอสที่เกาะลำต้น   

รังสีอุลตราไวโอเล็ตไม่ใช่แค่ทำให้ผิวหนังคนเหี่ยวย่น    ยังทำให้เปลือกไม้เกิดเปลือกหนาและมีร่อง แสดงความแก่ได้เหมือนกัน   

เรื่องความแก่ ต้นไม้เป็นรายต้นแสดงเอกลักษณ์ของตนด้วย    บางต้นอายุไม่มาก (เช่นแค่ร้อยปี) แต่เปลือกแสดงความแก่เหมือนอายุสองสามร้อยปีก็มี    และลักษณะของเปลือกไม้ ไม่ใช่แตกต่างกันเพราะ อายุเท่านั้น     ยังแตกต่างกันเพราะโรคผิวหนัง  และการบาดเจ็บอีกด้วย   

คนแก่ผมบนศีรษะมักบางลง  ต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน    ความหนาแน่นของพุ่มก็ลดลงด้วย    จนในที่สุด จะหยุดสูง  แต่เติบโตออกทางข้างแทน    ข้อแตกต่างตรงข้ามกับคนคือ เมื่อคนมีอายุเข้าวัยผู้ใหญ่จะหยุดเติบโต (ยกเว้นลงพุง)    แต่ต้นไม้เติบโตไม่หยุด ไปจนตาย    และยิ่งแก่ยิ่งโตเร็ว (แต่ไม่สูงขึ้น)    

คนแก่มีบทบาทต่อสังคมในฐานะผู้อาวุโส มีประสบการณ์ คอยเอื้อต่อการเรียนรู้และมีชีวิตที่ดี ของคนรุ่นหลัง     ต้นไม้แก่ก็มีบทบาทพิเศษคล้ายๆ กัน  ผ่านการมีมอสและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อิงอาศัยบนลำต้น    เช่นที่ลำต้นและกิ่งมีมอสเกาะแน่นความชื้นสูง     จึงมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินมาเกาะอีกที และทำหน้าที่จับ ไนโตรเจนจากอากาศ สร้างเป็นอาหารของพืช    แล้วน้ำฝนชะปุ๋ยนี้ลงไปตามลำต้น เพิ่มความโอชะให้แก่ดินในป่า  

ต้นไม้ที่แก่หง่อม เดินทางสู่ความตายจะค่อยๆ ทิ้งยอด ทิ้งกิ่ง    เริ่มจากกิ่งสูงสุดลงมาเรื่อยๆ    มองแต่ไกลก็เห็นความโกร๋นของต้น    จนในที่สุดเชื้อราจะเข้าไปกินลำต้นผ่านทางแผลเล็กๆ ที่เปลือก    การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดอาจใช้เวลานับสิบปี    ก่อนที่ชราและพยาธิจะชนะ   ต้นไม้ตาย  แต่จะยังประโยชน์แก่ป่าต่อไปอีกเป็นศตวรรษ 

ลำต้นข้างบนตาย  แต่ระบบรากอาจยังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหลายศตวรรษ    โดยอาศัยอาหารหล่อเลี้ยงจากรากของต้นไม้ใกล้เคียง ผ่านทางระบบเครือข่ายใยเชื้อราใต้ดิน   

ขอขอบคุณ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้

วิจารณ์ พานิช

๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 631087เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 05:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 05:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วทุกคนแล้วทุกคนก็ต้องมาถึงจุดนี้อยู่ที่ว่าเราจะได้แบ่งปันความรู้ประสบการณ์ให้กับลูกหลานไว้บ้างหรือไม่เพื่อการเรียนรู้ในการปรับปรุงชาติพันธ์ของมนุษยชาติต่อไป ขอบคุณมากค่ะ

ต้นไม้ที่แก่หง่อม เดินทางสู่ความตายจะค่อยๆ ทิ้งยอด ทิ้งกิ่ง    

คนใกล้ตาย ก็คล้ายต้นไม้ ผอม แขนขาลีบ พอตอนวาระสุดท้าย ทิ้งแขนและขาค่ะ

จากประสบการณ์ที่เห็นนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท