ชีวิตที่พอเพียง ๒๓๘๕. แก่แบบหด กับแก่แบบยืด



ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ศ. นพ. อวย เกตุสิงห์ บรรยายเรื่อง แก่อย่างสง่า ที่ศิริราช เป็นที่ฮือฮากันมาก แม้ในหมู่พวกผมที่ยังเป็นอาจารย์วัยเอ๊าะๆ ยังไม่เคยคิดว่าสักวันตัวเองก็จะเป็นคนแก่เหมือนกัน

บทความนี้อยู่ในเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน ที่นี่

ตอนนี้ผมอยู่ในวัยพอๆ กับอาจารย์หมออวยในตอนนั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตเรื่อง "แก่สองแบบ" คือ "แบบหด" กับ 'แบบยืด" สิ่งที่หดหรือยืดคือเรื่องที่สนใจ หรือเรื่องที่ยึดถือเป็นสาระในชีวิต ไม่เกี่ยวกับอวัยวะใดๆ ของร่างกาย ที่ไม่ใช่แค่หด แต่ถึงกับ "เหี่ยว" เอาทีเดียว

นอกจากไม่เหี่ยวแล้ว จิตใจของคนแก่ยังสามารถสดใสลุกโพลงอยู่ด้วยความหวัง หากเอาจิตใจพุ่งไปที่เรื่องราวสำคัญๆ ของชุมชน/สังคม/บ้านเมือง

นี้คือเคล็ดลับ "แก่แบบยืด" คือยืดความสนใจ ความเอาใจใส่มุ่งมั่น ให้ขยายออกจากตนเอง หรือรอบๆ ตัว ให้ออกไปสู่ผลประโยชน์ของบ้านเมือง

ในกรณีของผม ผมก็เอาใจใส่ศึกษาเพื่อการนี้ เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมากมาย รวมทั้งช่วยให้ตนเองทันสมัย ในเรื่องนั้นๆ ด้วย ยิ่งเอาประสบการณ์อันยาวนานของคนแก่ใส่เข้าไปเพื่อตีความในความหมายใหม่ๆ ยิ่ง "สนุกเป็นบ้า"

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการ "แก่อย่างสนุก" เสริม "แก่อย่างสง่า" ของท่านอาจารย์หมออวย

เสริมเกร็ดการอบรมน้องใหม่ของศิริราช ในปี ๒๕๐๕ ตอนผมโดนอบรมน้องใหม่ ๗ ชั่วโมง non-stop พี่ปี ๔ คนหนึ่งสั่งสอนว่า ต้องเคารพอาจารย์ ห้ามเอาชื่อหรืออะไรๆ ของอาจารย์มาล้อเล่น และห้ามเรียกอาจารย์หมออวยว่า "ครูอวย" เด็ดขาด เรียกชื่ออาจารย์คนอื่นด้วยคำนำหน้านามว่าครูได้ แต่ห้ามใช้กับชื่ออาจารย์หมออวย

เสริมอีกเกร็ดครับ เป็นประเพณีที่ยึดถือกันมาว่าแพทย์จะถือรุ่นพี่เป็น "อาจารย์" เราจะไม่เรียกแพทย์ที่อาวุโสกว่าว่า "หมออวย" "หมอสุด" เพราะนั่นเป็นการเรียกแพทย์ที่อาวุโสเท่ากันหรือต่ำกว่า กับแพทย์ที่อาวุโสกว่า เราเรียกด้วยคำนำหน้านาม ว่า อาจารย์ทุกคน เช่นอาจารย์หมอสงคราม ไม่เคยสอนผมเลย แต่ผมและหมอรุ่นน้องของท่านเรียกอาจารย์ทุกคน

คำว่า "คุณหมอ" เป็นคำที่หมอจะไม่ใช้เรียกหมอที่อาวุโสกว่า ตรงกันข้าม เป็นคำที่หมออาวุโสใช้เรียกหมอที่เด็กกว่า และอาจารย์และรุ่นพี่ จะเรียกพวกเราตั้งแต่เข้าเรียนแพทย์ปี ๑ ว่า "คุณหมอ" โก้เป็นบ้า



วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 588588เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2015 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2015 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณอาจารย์หมอมากๆครับ สำหรับบทความบทนี้ สั้นแต่ให้ความรู้และมีความหมายมาก ขออนุญาตินำเป็นเผยแพร่ต่อด้วยครับ

นับถืออย่างสูง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท