ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๘. แบ่งเนื้อหาเป็นท่อนๆ



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง


ภาค ๓ สอนสาระ


ภาค ๓ นี้ มี ๓ ตอน ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching บทที่ ๓ Conducting Direct Instruction บันทึกที่ ๘ แบ่งเนื้อหาเป็นท่อนๆ นี้เป็นตอนแรกของภาค ๓ ตีความจาก Element 6 : Chunking Content


ขอย้ำว่า ตอนที่ ๘ - ๑๐ เป็นเรื่องของการสอนสาระหรือเนื้อหาความรู้โดยตรง โดยที่ผู้เขียนหนังสือ คือ Robert Marzano ให้ข้อมูลหลักฐานจากการประมวลผลการวิจัย (mata-analysis) ว่า การสอนเนื้อวิชาโดยตรง (direct instruction) ให้ผลต่อการเรียนรู้ไม่ด้อยกว่าวิธีเรียนแบบตั้งคำถาม (inquiry method) ซึ่งเรื่องนี้คงจะถกเถียงกันได้มาก และในตอนต่อๆ ไป จะเห็นว่าเขาแนะนำวิธีสอนแบบตั้งคำถามเข้าไว้ด้วย


หลักการสำคัญของการสอนสาระความรู้โดยตรงคือ ครูต้องเลือกเฉพาะส่วนที่ “จำเป็น” (essential) เท่านั้น สำหรับนำมาสอน โดยที่ถ้าเขตพื้นที่การศึกษาได้กำหนดสาระความรู้ที่จำเป็นของเขตพื้นที่ไว้ (ตอนที่ ๕) การทำงานส่วนนี้ของครูก็จะง่ายขึ้นมาก และขอเตือนความจำว่า เครื่องมือกำหนดสาระส่วนที่จำเป็นคือ “สเกลความเข้าใจ” ที่กล่าวถึงแล้วในตอนที่ ๒ นั่นเอง โดยความรู้ที่จำเป็นต้องสอนคือ ความรู้ในส่วนความเข้าใจระดับ 2.0, 3.0 และ 4.0


คำถามเพื่อการออกแบบกระบวนการสอนสาระโดยตรง (ภาค ๓ ตอนที่ ๘ - ๑๐) คือ “เมื่อนักเรียนเรียนความรู้ใหม่ ครูจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจสาระส่วนที่สำคัญและความเชื่อมโยงของสาระส่วนนั้นๆ ได้อย่างไร”


คำถามเพื่อการออกแบบการสอนตอนที่ ๘ คือ “ครูจะแบ่งเนื้อหาเป็นท่อนสั้นๆ ที่นักเรียนพอจะย่อยทีละตอน ได้อย่างไร”


เนื่องจากการเรียนความรู้ใหม่ เป็นการเพิ่มเนื้อความรู้เข้าไปในความรู้เดิม และสมองของนักเรียนสามารถรับความรู้ใหม่ได้ทีละน้อย ด้วยความจำกัดของ “ความจำใช้งาน” (working memory) ครูจึงต้องคิดแบ่งความรู้ที่จะสอนออกเป็นท่อนๆ ตามความเหมาะสม แล้วสอนแบบหยุดเป็นระยะๆ ตามท่อนความรู้นั้น โดยมีแนวทาง/ยุทธศาสตร์ และรายละเอียดของการสอนของครู ดังนี้




ขั้นตอนในตารางข้างบนต้องทำเรียงตามลำดับ โดยยุทธศาสตร์แรก เป็นการหาข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน ว่ามีความพร้อมที่จะเรียนรู้ความรู้ใหม่ชิ้นนี้มากน้อยเพียงใด โดยที่ครูอาจตั้งคำถามเชิงประเมินความรู้เดิม ให้นักเรียนตอบอย่างไม่เป็นทางการ หรืออาจออกข้อสอบให้นักเรียนตอบในกระดาษคำตอบก็ได้


ในยุทธศาสตร์/ขั้นตอน ที่สอง เมื่อครูสอนโดยแบ่งท่อนความรู้ตามที่วางแผนไว้ และพบว่านักเรียนสับสน เรียนไม่ทัน ครูต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์เป็นแบ่งท่อนความรู้ให้เล็กลง และให้เวลา และทำกระบวนการ “ย่อย” ความรู้ มากขึ้น


หากยุทธศาสตร์/วิธีการแบ่งเนื้อหาเป็นท่อนๆ ให้ผล นักเรียนจะแสดงพฤติกรรมต่อไปนี้


  • นักเรียนประมวลความรู้อย่างเอาจริงเอาจัง ในแต่ละท่อนความรู้
  • นักเรียนอธิบายได้ว่า ทำไมครูหยุด ณ จุดใดจุดหนึ่ง ระหว่างสอนความรู้ใหม่
  • นักเรียนแสดงความเข้าใจความรู้แต่ละท่อน



วิจารณ์ พานิช

๒ เม.ย. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 628604เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ


คำแนะนำในบันทึกนี้น่าสนใจมากค่ะ หนูจะลองนำความรู้ชุดนี้ไปทดลองปฏิบัติในเรื่องที่สอนยากที่สุดคือ เรื่องการสอนอักษรสามหมู่ ให้กับนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๓ และจะพยายามให้คุณครูทำบันทึกละเอียดเอาไว้ด้วยค่ะว่าทำอย่างไร เกิดผลเช่นไร


ด้วยความเคารพ

ครูใหม่



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท