รศ.ดร.ปรีชา เนาว์เย็นผล : ยอดครูผู้สอนคณิตศาสตร์


รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ปรีชา เนาว์เย็นผล

พ.ศ. 2495 - 2559

ศาสตร์การสอนคณิตศาสตร์ท่านปราดเปรื่อง คิดทำเรื่องยากเป็นง่ายคลายสงสัย

วิธีสอนท่านสร้างสรรค์ได้ฉับไว ถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ไม่ปิดบัง

หวังให้เลขเป็นวิชาน่าเรียนรู้ ท่านสร้างครูคณิตฯให้ได้ดังหวัง

ท่านสืบสานงานสอนอย่างจริงจัง ทุกทุกครั้งทำด้วยใจรักวิชา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์อภิรักษ์ อนะมาน
สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


รองศาสตราจาย์ ดอกเตอร์ปรีชา เนาว์เย็นผล เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 ที่บ้านตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรคนโตของนายชุบ และนางบุญปลูก เนาว์เย็นผล มีน้อง 6 คนคือ นายเชาว์ นางสมร รื่นกมล นางลัดดา มาตย์วงศ์ นายชาญชัย และนายอำนาจ
เนาว์เย็นผล

รองศาสตราจารย์ปรีชาเข้าเรียนระดับประถมที่โรงเรียนบ้านบางกระทึก"นครรัฐประสาท"(ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดดอนหวาย) จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ใน พ.ศ. 2508 เรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนงิ้วรายบุญมีรังสฤษดิ์ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใน พ.ศ. 2511
แล้วศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา) จังหวัดพระนคร สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา(ป.กศ.) พ.ศ. 2513 และได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง(ป.กศ.ชั้นสูง)วิชาเอกคณิตศาสตร์ พ.ศ. 2515 จากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนคร สำเร็จได้รับพระราชทานปริญญาการศึกษาบัณฑิต(กศ.บ.)วิชาเอกคณิตศาสตร์ใน พ.ศ.2517 และภายหลังจากรับราชการได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สำเร็จได้รับพระราชทานปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต
(กศ.ม.) สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ใน พ.ศ.2521 และต่อมาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน สำเร็จได้รับพระราชทานปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต (กศ.ด.)สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ใน พ.ศ.2544

รองศาสตราจารย์ปรีชาเริ่มเข้ารับราชการใน พ.ศ.2517 ในตำแหน่งอาจารย์วิทยาลัยครูเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.2529 โอนมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ แขนงวิชาหลักสูตรและการสอน วิชาเอกคณิตศาสตร์ โดย พ.ศ.2534 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ พ.ศ.2537 เป็นรองศาสตราจารย์ จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ.2555 โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ต่ออายุราชการให้จนถึงแก่อนิจกรรม และระหว่างรับราชการตั้งแต่ พ.ศ.2523 จนหลังเกษียณอายุราชการยังได้รับเชิญจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญสมทบด้านคณิตศาสตร์ศึกษา ช่วยปฏิบัติงานด้านพัฒนาหลักสูตร หนังสือเรียน คู่มือครู สื่อเสริมอื่นๆ งานอบรมครูคณิตศาสตร์ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งได้เป็นกรรมการสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย
รองศาสตราจารย์ปรีชาเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความโดดเด่นได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นต้นแบบด้านการสอนคณิตศาสตร์ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และในระดับมหาวิทยาลัย(ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก) เป็นผู้ทุ่มเท เสียสละกำลังกาย กำลังสติปัญญา ในการสอนคณิตศาสตร์ อบรมพัฒนาครูคณิตศาสตร์ ผลิตสื่อและสร้างสรรค์กิจกรรมการสอนคณิตศาสตร์ ทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ผลิตผลงานทางวิชาการทั้งตำรา หนังสือ บทความ งานวิจัย สื่อการสอนในรูปแบบต่างๆเผยแพร่อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก นับเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูสูงยิ่งคนหนึ่ง
รองศาสตราจารย์ปรีชาเป็นนักบูรณาการการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และศิลปะที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง กล่าวคือ เป็นคนที่ชอบแต่งโคลง กลอน ชอบถ่ายภาพ และชอบคิดชอบเขียน ดังนั้นเมื่อไปพบไปเห็นเรื่องราวหรือสถานการณ์ต่างๆก็จะคิดและสร้างสรรค์ออกมาเป็นโจทย์ปัญหาสำหรับจัดการเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์ พร้อมมีภาพประกอบในหลายๆเรื่อง หลายๆมิติ ซึ่งได้จัดทำไว้เป็นจำนวนมาก โดยพยายามทำเรื่องที่ยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำให้ผู้เรียน ผู้เข้ารับการอบรม เกิดความสนุกสนาน ชอบและสนใจเรียนในวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งคือการนำสถานการณ์จากชีวิตจริงมาตั้งเป็นโจทย์ปัญหาชวนคิดทางคณิตศาสตร์สอนเรื่องสมการ ที่รองศาสตราจารย์ปรีชาคิดขึ้น ซึ่งปรากฏในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพรองศาสตราจารย์ปรีชา เนาว์เย็นผล คือ
"เรื่องคุณแม่ลูกสาม

คุณแม่พาลูกน้อย 3 คน วัยใกล้เคียงกัน กำลังซนน่ารักไปเดินเล่น ใครเห็นก็อดทักทายไม่ได้ เพื่อนบ้านท่าทางเฉลียวฉลาดคนหนึ่งถามว่า "อายุกี่ขวบแล้วครับ" คุณแม่ตอบว่า "ผลคูณของอายุทั้ง 3 คนเท่ากับ 144 และคนโตเป็นคู่แฝดค่ะ"

คุณทราบอายุของเด็กน้อยทั้งสามคนไหม

ข้อมูลที่ทราบคือ "ผลคูณของอายุทั้งสามคนเท่ากับ 144" แต่จำนวนสามจำนวนที่มีผลคูณเป็น 144 มีอยู่หลายชุด เช่น

144 = 2 x 2 x 36

144 = 2 x 3 x 24

144 = 3 x 3 x 16

144 = 3 x 4 x 12

144 = 3 x 6 x 8

จากข้อมูล "คนโตเป็นคู่แฝดค่ะ" ทำให้สนใจพิจารณาเฉพาะกรณีที่มีจำนวนคู่หนึ่งที่เท่ากัน คูณกับอีกจำนวนหนึ่งที่น้อยกว่า คือ

144 = 12 x 12 x 1 และ 144 = 6 x 6 x 4

และจากข้อมูล ลูกน้อย 3 คน วัยใกล้เคียงกัน ทำให้ได้คำตอบว่า ลูกสองคนแรกเป็นคู่แฝด มีอายุคนละ 6 ขวบ และคนเล็กมีอายุ 4 ขวบ" ฯลฯ
และตัวอย่างการเขียนโจทย์ปัญหาแบบคำกลอน ปรากฏในหนังสือเล่มเดียวกัน เช่น
1.การสอนวิธีเรียงสับเปลี่ยน(มีภาพประกอบ)
“ร่มห้าคัน จับสลับ เรียงสับเปลี่ยน จัดหมุนเวียน ลำดับใหม่ มิให้เหมือน
วันละแบบ สลับงาม ได้สามเดือน จริงไหมเพื่อน ใครเห็นด้วย ช่วยชี้แจง”
2.การหาผลบวกของจำนวนคี่ n ตัว(มีภาพประกอบ)
“จำนวนคี่ ติดต่อกัน สรรค์จากหนึ่ง บวกกันถึง ตัวที่สี่ ดีสดใส
ผลเป็นสี่ กำลังสอง มองต่อไป เป็นเท่าไร ถ้าบวกเล่น ถึง
n ตัว”
ฯลฯ
รองศาสตราจารย์ปรีชาเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของการเรียนการสอนโครงงานคณิตศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องยากสำหรับครูในเวลานั้น เพราะไม่ได้มีข้อบังคับและเขียนไว้ในหลักสูตรอย่างชัดเจน รองศาสตราจารย์ปรีชาได้เดินสายออกไปบรรยายเผยแพร่แนวคิด และให้ตัวอย่างการทำโครงงานคณิตศาสตร์อย่างง่ายๆ ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจครูและนักเรียน ได้เขียน รวบรวมตัวอย่างโครงงาน บทความ และภาพการถ่ายทอดศิลปะกับคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันออกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง โดยรองศาสตราจารย์ปรีชาจะกระตุ้นครูและนักเรียนด้วยข้อความต่อไปนี้เสมอว่า “เราทำโครงงานเพื่อสร้างความตระหนักให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียนคณิตศาสตร์ รักการค้นคว้า และมุ่งมั่นหาคำตอบอย่างอดทน”
มีผู้เขียนถึงความรู้ความสามารถและคุณความดีดังกล่าวของรองศาสตราจารย์ปรีชาไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน จำนวนหลายคน อาทิ
รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์อรรณพ จีนะวัตน์ ผู้เคยเป็นประธานกรรมการประจำสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวตอนหนึ่งว่า
"ในบทบาทหน้าที่ของครู ผมยืนยันได้ว่าพี่ปรีชาเป็นครูที่พรั่งพร้อมด้วยจิตวิญญานของความเป็นครูอย่างสูงยิ่ง พี่ปรีชาจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับกิจกรรมการเรียนการสอนศิษย์ที่อยู่ในความดูแล ตลอดจนให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาครูคณิตศาสตร์ พี่จึงมีคุณูปการกับการพัฒนาคุณภาพครูคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก กิจกรรมประจำและเห็นจนคุ้นชินเมื่อเดินทางไปยังที่ต่างๆคือ พี่จะถ่ายรูปเก็บภาพต่างๆจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อนำมาเป็นสื่อการสอน เป็นโจทย์ทางคณิตศาสตร์ พี่ปรีชาจะมองสิ่งรอบตัวในมิติของคณิตศาสตร์ได้เก่งมาก พี่จึงเก็บมาใช้ประโยชน์ในการสอน การฝึกอบรม ทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องไม่ยากและเป็นเรื่องใกล้ตัว นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง พี่จึงได้รับการชื่นชมจากลูกศิษย์และครูคณิตศาสตร์ที่ผ่านการอบรมอยู่เสมอ นอกจากนั้นพี่ปรีชายังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมลูกศิษย์ โดยมักจะเลือกศิษย์ที่มีความพร้อมร่วมเป็นวิทยากรเพื่อหวังให้สืบทอด และส่งเสริมให้เขาได้พัฒนาวิชาชีพอีกทางหนึ่งด้วย"
รองศาสตราจารย์กมล เอกไทยเจริญ ผู้เคยเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์แก่รองศาสตราจารย์ปรีชาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และเป็นผู้ร่วมงานคนหนึ่งในเวลาต่อมา กล่าวตอนหนึ่งว่า
"ครูคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักรองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา เนาว์เย็นผล เพราะตลอดชีวิตการรับราชการของ ดร.ปรีชา ได้ทุ่มเทเวลาให้ให้กับการเป็นวิทยากรในเรื่องการสอนคณิตศาสตร์ ทั้งทางด้านโครงงานคณิตศาสตร์ และทักษะกระบวนการคณิตศาสตร์ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย"
รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์สมวงษ์ แปลงประสพโชค ผู้เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
" เขาคือสุดยอดของครูคณิตศาสตร์ต้นแบบ สามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนได้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจอยากเรียนรู้ อยากศึกษาค้นคว้า ป้อนคำถามที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคำถามปลายเปิด และคำถามในรูปโคลงกลอนที่เขาถนัด ซึ่งหาได้น้อยในครูคณิตศาสตร์ เขาใช้สื่อประกอบการสอนที่ทันสมัยประกอบการสอนทำให้ตื่นตาตื่นใจกับเรื่องใหม่ๆ เตรียมเอกสารและวิธีดำเนินการสอนอย่างเป็นระบบ ชักชวนให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น เล่าประสบการณ์ได้สนุกอย่างมีสาระ เขาเป็นคนหนึ่งที่ริเริ่มนำเกมมาใช้ประกอบการสอนคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหา"
นางชมัยพร ตั้งตน ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาคณิตศาสตร์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
เป็นครูผู้มุ่งมั่นในการพัฒนาการสอนคณิตศาสตร์ สร้างความตระหนักให้ครูและนักเรียนสามารถเชื่อมโยงและเห็นความสำคัญของคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน อาจารย์เป็นผู้สร้างครูคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ผู้หยิบยื่นโอกาสให้ลูกศิษย์ และเพื่อนร่วมงานทุกคน เข้าใจ เห็นใจลูกศิษย์ สามารถเป็นต้นแบบของครูคณิตศาสตร์ได้ในทุกๆการกระทำ”
ฯลฯ
รองศาสตราจารย์ปรีขาได้ชื่อว่าเป็นครูที่มุ่งมั่นตั้งใจสอนและให้ความรักความเมตตา ดูแลเอาใจใส่ศิษย์อย่างจริงใจ จึงเป็นที่รัก เคารพ และยอมรับนับถือจากศิษย์เป็นอย่างยิ่ง เช่น นายถนอมเกียรติ งานสกุล ศิษย์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า
"ที่จริงแล้วผมเป็นศิษย์ของอาจารย์ผ่านบทความทางวิชาการที่ท่านเขียนไว้ในวารสารคณิตศาสตร์ของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และตำราต่างๆมาก่อน เมื่อได้มีโอกาสมาเรียนที่ มสธ.ได้เรียนรู้วิธีการถ่ายทอดความรู้ของอาจารย์อย่างมีกลวิธีที่แยบยล สามารถสอนสิ่งที่ยากให้เรียนรู้ได้ง่าย รวมทั้งคอยให้ความเอื้ออาทรต่อศิษย์อยู่เสมอ บ่อยครั้งที่พบว่าอาจารย์ติดตามให้กำลังใจศิษย์ที่ยังตกค้างการทำวิทยานิพนธ์โดยการไปแวะเยี่ยมเยียนถึงโรงเรียนและที่ทำงาน ระยะหลังอาจารย์มีการให้กำลังใจผ่านเฟสบุ๊คด้วย ถ้าเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาเรียกวิธีการแบบนี้ว่าระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความเมตตากรุณาที่เต็มเปี่ยมอยู่ในจิตวิญญาณความเป็นครูของท่านอาจารย์เสมอมา...ยังจำบทกลอนบทหนึ่งที่อาจารย์เขียนเพื่อต้อนรับศิษย์ มสธ.ในรุ่นหลังๆ ที่แสดงถึงความเมตตา เอื้ออาทร ความเอาใจใส่ต่อศิษย์ นับเป็นความหวังดีจากครูสู่ศิษย์ ที่ศิษย์ทุกคนควรนำไปปฏิบัติต่อศิษย์ตนในโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง
คุณครูพร้อม แล้วหนอ รอรับศิษย์ สร้างนักคิด จากแดนไกล ด้วยไออุ่น
ก้าวเข้ามา เติมวิชา ครูการุณย์ ขอต้นทุน ความขยัน ความมั่นใจ"

นางสาวรัชดา ยาตรา นักวิชาการฝ่ายโอลิมปิกวิชาการฯสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ซึ่งเป็นศิษย์อีกคนหนึ่ง เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า

"รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา เนาว์เย็นผล ผู้เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาแก่ทุกคนที่ผ่านมา อาจารย์เป็นผู้ใหญ่ใจดี มีเมตตา เป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ฟุ่มเฟือย มีความรักและความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน แม้กระทั่งอาจารย์เกษียณอายุราชการแล้ว อาจารย์ยังคงขยันสอนศิษย์ทั่วประเทศอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย นับได้ว่าอาจารย์เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือและทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นมาทั้งชีวิต"
ผลงานทางวิชาการ รองศาสตราจารย์ปรีชามีผลงานทางวิชาการมากมาย อาทิ
1. ตำรา ได้แก่ เอกสารการสอนวิชาคณิตศาสตร์ และเอกสารการสอนวิชาการวิจัยหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก
2. หนังสือ ได้แก่ คู่มือครูและสื่อเสริมทางคณิตศาสตร์ หนังสือเกม ของเล่นคณิตศาสตร์ โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตัวอย่างโครงงานคณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นต้น
3. บทความ เขียนบทความเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ตีพิมพ์ในวารสารคณิตศาสตร์ของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และวารสารอื่นๆอย่างต่อเนื่อง
4. งานวิจัย ได้จัดทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง


เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานคือ มหาวชิรมงกุฏ ประถมาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญจักรพรรดิมาลา

รองศาสตราจารย์ปรีชา เนาว์เย็นผล สมรสกับนางสาวเอื้อมพร บุญสิงห์ ใน พ.ศ.2529 มีบุตร 1 คนคือ นายตะวัน เนาว์เย็นผล

รองศาสตราจารย์ปรีชาจะสนุกและทุ่มเทเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์มาอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย จนปลาย พ.ศ.2557 มีอาการผิดปกติในร่างกาย จากผลการตรวจพบว่ามีเนื้องอกในสมอง จึงได้รับการดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่อง จนวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2559 เกิดภาวะแทรกซัอน เริ่มไม่รู้สึกตัว และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2559 สิริอายุ 63 ปี 10 เดือน 27 วัน

นายธเนศ ขำเกิด ผู้เรียบเรียง

ข้อมูลอ้างอิง

1.หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพรองศาสตราจารย์ปรีชา เนาว์เย็นผล ม.ว.ม.,ป.ช.
ณ วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ.2559

2.หนังสือสู่เส้นชัย งานแสดงมุทิตาจิตแด่ผู้เกษียณอายุราชการ 21 กันยายน 2555 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

3.นางเอื้อมพร เนาว์เย็นผล(ภรรยา) ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

หมายเลขบันทึก: 628602เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2017 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท