ตักบาตรช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม : อีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้เรื่องจิตอาสา


ต้องยอมรับว่านิสิตเหล่านี้ทำงานกันได้ดีมาก ผมแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย ได้แต่ถามทักผ่านไลน์กลุ่ม และหนุนเสริมกำลังใจ หรือกระทั่งแอบประสานส่วนงานที่เกี่ยวข้องรองรับเป็นระยะๆ ก่อนส่งต่อให้นิสิตเข้าไปติดต่อประสานงานด้วยตนเอง

เช้าตรู่ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ก่อนการเดินทางไปร่วมงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 17 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ผมถือโอกาสแวะเข้าไปสังเกตการณ์และให้กำลังใจแก่คณะนิสิตที่เรียกชื่อกลุ่มว่า “นิสิตจิตอาสาทำความดีเพื่อแผ่นดิน” หรือ “ทำความดีเพื่อพ่อ” หรือจะเรียกอีกชื่อก็ผิดว่า “นิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม” ที่ประกอบด้วย

  • กลุ่มนิสิตมอน้ำชี
  • ชมรมสานฝันคนสร้างป่า
  • ชมรมรุ่นสัมพันธ์
  • ชมรมพุทธศาสนาและสมาธิ
  • ชมรมสานสายใยร่วมชายคา

พวกเขาทั้งหลายก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำงาน “จิตอาสา” บนโจทย์ หรือกระแสหลักทางสังคมในภาวะที่หลายจังหวัดในภาคใต้ประสบอุทกภัย รวมถึงการประกาศเจตนารมณ์ที่จะทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงภูมิพลรัชกาลที่ 9




ก่อนนี้ร่วมเดือนเศษ ผมเชิญนิสิตและผู้นำนิสิตมาหารือเกี่ยวกับกระบวนการเหล่านี้ เน้นความพร้อมทางจิตใจมากกว่าการสั่งการผ่านระบบ หรือโครงสร้าง ใช่-ผมเน้นการขับเคลื่อนในโมเดลเดิมๆ คือ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”

หลังประชุมแยกย้าย พวกเขาทั้ง 5 องค์กรเดินเข้ามาคุยนอกรอบอีกครั้งประมาณว่า “ทำไม ผมไม่กำหนดรูปแบบการทำงานให้ชัดไปเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง”

สิ่งที่ผมเกริ่นกล่าวย้อนความกลับไปยังนิสิต ก็ประมาณว่า “ผมยังไม่อยากกำหนดรูปแบบ หรือทิศทางอันใดจากตัวผมเอง ผมแค่อยากให้นิสิตได้ลองศึกษาบริบท หรือสถานการณ์ของวิกฤตเหล่านั้นอีกสักนิด รวมถึงศึกษาตัวตนของผู้ร่วมงาน ซึ่งบางทีแต่ละกลุ่มอาจมีวิธีการที่ตนเองมีอยู่แล้ว หรือถนัดอยู่แล้ว ก็ขอให้เอาออกมาแชร์กัน”




ใช่ครับ-ผมยืนยันว่าสื่อสารประมาณนั้นจริงๆ เป็นการสื่อสารที่เชื่อว่านี่คือกระบวนการที่จะกระตุ้นให้นิสิตแต่ละกลุ่มได้ทบทวนต้นทุนทางสังคม หรือต้นทุนทางปัญญาของตนเอง เป็นการทบทวนแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อกำหนดเป็นกลวิธีการทำงานร่วมกัน ---

สรุป คือ เบื้องต้น แต่ละกลุ่มก็แบ่งสายงานกันทำตามที่คุ้นเคย หรือที่ถนัด ยกตัวอย่างเช่น ชมรมในโซนหอพักก็ปักหมุดเป็นศูนย์เล็กๆ สื่อสารไปยังนิสิตในกลุ่มหอพัก ชมรมอื่นๆ ก็ขยับในวงกว้างออกมา เช่นเดียวกับชมรมพุทธศาสนาฯ ก็ระดมทุนและสิ่งของผ่านการตักบาตรช่วยผู้ประสบภัย นั่นยังไม่รวมถึงกิจกรรมในเวทีกลางที่พวกเขานัดหมายขับเคลื่อนร่วมกัน




สารภาพว่าช่วงนี้ผมมีราชการเดินทางต่างจังหวัดยาวเหยียด ไม่ได้ลงมาขลุกอยู่กับพวกเขา แต่พยายามแอบมองการทำงานอย่างเงียบๆ เห็นปัญหาแล้วเข้าไปให้กำลังใจและคลี่คลายในบางส่วน พยายามสังเกตกระบวนการทำงานของพวกเขาว่าทะลุความเป็นปัจเจกระดับองค์กรสู่องค์รวมได้แค่ไหน หรือแต่ละกลุ่มก้อนยังก้ามข้ามพ้นตัวเองออกมาไม่ได้ เช่นเดียวกับการยกห้องทำงานให้พวกเขาไปบริหารจัดการด้วยตนเอง

ในทำนองเดียวกันก็มอบหมายให้พวกเขาทำบัญชีสิ่งของกันเอง “ถือเงิน” กันเอง ผูกโยงไปถึงการชวนคิดชวนคุยว่าพวกเขาจะส่งต่อ “ข้าวของ” ทั้งปวงนี้อย่างไร ...




กรณีการตักบาตรของวันนี้ก็เช่นกัน พวกเขายังคงทำงานกันเป็นกลุ่ม แต่ละองค์กรประสานใจเข้าหากัน มอบหมายหน้าที่กันตามความสันทัดและความสมัครใจของแต่ละคน หรือกระทั่งแต่ละทีม

ผมขออนุญาตต่อผู้บริหาร (ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ : รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต) เพื่อให้น้องๆ นิสิตได้ทำงานในแบบ “อิงระบบ” เป็นการทำงานบนสถานการณ์จริงอันเร่งด่วน ไม่ต้องมาวิ่งเต้นร้อนรนขออนุมัติโครงการ รวมถึงการประสานไปยัง พี่แอน (ฉันทลักษณ์ สาชำนาญ) ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ หรือกระทั่งกัลยาณมิตรอย่างคุณสวนีย์ แท่นทอง เจ้าหน้าที่หอพัก เพื่อคลี่คลายประเด็นสถานที่และอุปกรณ์ในการจัดกิจกรรม โดยเบื้องต้นผมอธิบายถึงที่มาที่ไปและอธิบายถึงกลวิธีที่อยากให้นิสิตได้เรียนรู้ –




เหนือสิ่งอื่นใด ต้องยอมรับว่านิสิตเหล่านี้ทำงานกันได้ดีมาก ผมแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย ได้แต่ถามทักผ่านไลน์กลุ่ม และหนุนเสริมกำลังใจ หรือกระทั่งแอบประสานส่วนงานที่เกี่ยวข้องรองรับเป็นระยะๆ ก่อนส่งต่อให้นิสิตเข้าไปติดต่อประสานงานด้วยตนเอง พอตกเย็นก็ถามทักความคืบหน้าอีกรอบ ดึกๆ พอกลับจากราชการก็แวะไปดูสถานที่อย่างเงียบๆ พอเช้ามาก็ออกมาดู “หน้างาน” ร่วมชั่วโมง จากนั้นจึงออกเดินทางไปราชการ

โดยสรุปแล้ว ผมมองว่าการพัฒนาตนเองผ่านกิจกรรมสาธารณะ หรือการเป็น “ผู้ให้” ผมเชื่อว่าคนเราย่อมมีพลังบวกอย่างมหาศาล และการทำงานในแบบบูรณาการทีม ย่อมช่วยให้นิสิตได้สัมผัสถึงประสบการณ์แปลกใหม่จากองค์กรอื่นๆ และเห็นความท้าทายของการ “รวมกระบี่” จากแต่ละองค์กรเข้าสู่การเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายหลักร่วมกัน




ในฐานะของคนเชื้อเชิญให้พวกเขาลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ และในฐานะที่เฝ้ามอง ผมยืนยันว่า พวกเขาสอบผ่าน และรอเวลาที่จะตกผลึกแล้วเบ่งบานอีกครั้งอย่างมหัศจรรย์

นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวของจิตอาสา หรือจิตสาธารณะเล็กๆ ในครรลองการบ่มเพาะให้นิสิตมีค่านิยมตามที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้กำหนดไว้คือ “พึ่งได้” (พึ่งตนเองได้และเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้) หรือกระทั่งการบ่มเพาะเรื่องอัตลักษณ์นิสิตที่กล่าวไว้ว่า “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน”

ใช่ครับ วันเวลาและเส้นทางยังดูอีกยาวไกล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเริ่มต้นเช่นนี้ก็งดงามและมีพลังอย่างมหาศาล !

หมายเลขบันทึก: 622567เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2017 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2017 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อยากพบ. ชมรม..คนสานฝันสร้างป่า...เจ้าค่ะ..ทำไงเจ้าคะ...

สวัสดีครับ

คุณ ยายธี

เบื้องต้นติดต่อผ่านผมก่อนก็ได้ครับ เดี๋ยวจากนั้น ผมจะให้นิสิตติดต่อโดยตรง เพื่อได้ช่วยเติมเต็มความคิดและพลังปัญญาให้กับพวกเขา

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านและให้กำลังใจน้อง ๆครับ

-การได้เรียนรู้ด้วยวิธีการปล่อยให้น้องๆ ได้เรียนรู้แบบนี้เป็นการส่งมอบพลังแห่งการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่ครับ

-ขอบคุณครับ


ชื่นชมและเป็นกำลังใจร่วมด้วยครับ

ครับ

เพชรน้ำหนึ่ง


ส่วนหนึ่งคือผมติดราชการต่อเนื่องและยาวเหยียดเลยครับ

และส่วนหนึ่งก็คิดว่าจะใช้สถานการณ์นี้ในการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ลงมือคิดและทำด้วยตนเอง แล้วเราก็เฝ้ามองเป็นระยะๆ และเลือกที่จะคลี่คลายเฉพาะเรื่องที่คิดว่าเขายังทำกันไม่ได้ เท่านั้นเอง

ขอบพระคุณครับ

ดร. เมธา หริมเทพาธิป


ตอนนี้มองข้ามไปเรื่องการจัดกิจกรรมเยียวยาผู้ประสบภัยฯ แล้วครับ รอเครือข่ายจากภาคใต้ยืนยันสถานที่และเวลามาเท่านั้นเอง ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท