​สุขภาพดีอยู่ไม่ไกล ถ้าเราใส่ใจการป้องกัน (ศุจินทรา แสนศรีมนต์)


รู้สึกสุขใจกับกิจกรรมที่ได้ทำ โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้เรื่องจิตอาสาและเรื่องการเป็นผู้นำผ่านวิชาเรียนที่ต้องลงมือทำจริงๆ ยิ่งได้เห็นว่า ‘น้องทำได้ น้องเข้าใจ’ ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะเหมือนได้ช่วยปูทางเดินให้กับน้องๆ ในถนนสายสุขภาพ



โครงการ ‘รู้ก่อน ปลอดภัย ห่างไกลโรค’ เป็นโครงการที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงเรียนบ้านดอนหน่อง เทศบาลตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม วัตถุประสงค์หลักคือ การถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพหรือสุขอนามัยเบื้องต้นแก่นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 รวมถึงการให้ความรู้ในเรื่อง ‘โรคติดต่อเชื้อไวรัสซิกา’ หรือ ‘โรคไข้ซิกา’ ที่เกิดกับหญิงมีครรภ์และมียุงเป็นพาหะนำโรค







เลือกพื้นที่ : ต่อยอดในพื้นที่ที่คุ้นเคย



สาเหตุที่เลือกโรงเรียนบ้านดอนหน่องเป็นสถานที่จัดกิจกรรม สืบเนื่องจากหนูและเพื่อนบางคนในกลุ่มเคยได้ไปจัดกิจกรรมที่นั่นมาบ้างแล้วในสมัยที่เรียนวิชาจิตวิทยา ซึ่งเป็นวิชาในหมวดศึกษาทั่วไปเหมือนวิชาภาวะผู้นำ

ครั้งนั้นเคยได้ไปทำกิจกรรมเรื่องการจัดการขยะ พอเสร็จก็ตั้งใจไว้ว่ายังไงเสียจะหาโอกาสมาจัดกิจกรรมที่นี่อีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและอนามัยของเด็กๆ กระทั่งได้มาลงเรียนในวิชาภาวะผู้นำ จึงลองนำเสนอต่อเพื่อนในกลุ่ม ด้วยการบอกเล่าให้เพื่อนสมาชิกในกลุ่มฟังว่าน้องๆ นักเรียนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพอยู่มาก เมื่อสมาชิกลงมติเห็นด้วย เราจึงนัดหมายกันลงพื้นที่เพื่อสอบถามถึงปัญหาและความต้องการของโรงเรียนร่วมกัน

พอได้ลงมาดูพื้นที่และพบปะพูดคุยกับคณะครู ทั้งนิสิตและคณะครูต่างมองในเรื่องนี้ตรงกัน เช่น ปัญหาความสะอาดของข้าวของเครื่องใช้ คุณภาพของอาหาร หรือกระทั่งความตระหนักของน้องๆ ในเรื่องการดูแลสุขภาพ โดยที่เห็นกับตาเลยก็คือน้องๆ หยิบของที่ตกพื้นขึ้นมารับประทาน ปัญหาเหล่านี้คณะครูก็อยากให้นิสิตได้มาช่วยให้ความรู้แก่นักเรียนและผลิตสื่อที่แตกต่างไปจากที่มีในโรงเรียน เผื่อจะได้กระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ของน้องๆ นักเรียนช่วยในอีกช่องทางหนึ่ง






กิจกรรมเชิงรุกและหนังสือเล่มยักษ์ 3 ประเด็น



ด้วยเหตุนี้หนูและเพื่อนๆ จึงออกแบบกิจกรรมที่จะไปถ่ายทอดความรู้ให้แก่น้องๆ ดังนี้ 1) ความรู้เรื่องสุขอนามัย 2) การปฐมพยาบาลอุบัติเหตุเบื้องต้น 3) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยในแต่ละประเด็นจะเน้นการถ่ายทอดความรู้ในแบบบันเทิงเริงปัญญาให้ได้ทั้งความรู้และความสนุก เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับน้องๆ และเน้นการเรียนรู้ระหว่างน้องๆ ด้วยกันเอง

ทั้งนี้ก่อนการจัดกิจกรรมจะมีการประเมินความรู้ของน้องๆ ก่อน ในระหว่างการให้ความรู้จะมีกิจกรรม ‘ถามตอบ’ เพื่อเช็คความสนใจและความเข้าใจของน้องๆ เป็นระยะๆ เสร็จกิจกรรมก็จะให้น้องๆ ทำแบบทดสอบหลังเรียน




นอกจากนั้นยังเน้นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติผ่านสถานการณ์จำลองอุบัติเหตุ เพื่อให้น้องๆ ได้ฝึกการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยตนเองในเรื่องต่างๆ เช่น เป็นลมวิงเวียนหมดสติ หกล้มมีบาดแผล แผลจากไฟช็อต แผลจากงูกัด โดยให้น้องปรึกษาหารือกันภายในกลุ่มเพื่อปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน


สำหรับเรื่องของสื่อการเรียนรู้ที่คณะครูอยากให้เราได้ช่วยออกแบบและจัดทำขึ้น กลุ่มเราได้จัดทำขึ้น 3 ชุดในเรื่องการดูแลสุขภาพหรือสุขอนามัยที่เน้นในเรื่อง ‘กินร้อนช้อนกลาง-การล้างมือ’ เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและที่เสริมเข้ามาก็คือเรื่อง ‘โรคติดต่อเชื้อไวรัสซิกา’ จากแม่ถึงลูก โดยสื่อเหล่านี้ดิฉันตั้งชื่อว่า ‘หนังสือเล่มยักษ์ (Big book : สนุกกับการอ่าน) เราทำลักษณะเหมือนหนังสือ แต่เล่มใหญ่มาก ในนั้นจะมีข้อมูลวิชาการในรูปของภาพการ์ตูนและภาษาที่เด็กอ่านหรือดูแล้วเข้าใจง่าย ซึ่งพวกเราได้ช่วยกันวาดประกอบอย่างสุดความสามารถ







ปัญหา อุปสรรค : แนวทางการแก้ไข



เรื่องปัญหา/อุปสรรค น่าจะไม่ต่างไปจากกลุ่มอื่นๆ เช่น เวลาของสมาชิกภายในกลุ่มไม่ตรงกัน เนื่องจากแต่ละคนก็อยู่ต่างคณะต่างสาขา รวมถึงปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีทัศนคติที่ต่างกัน เป็นปัญหาที่สำคัญต่อการประสานงานและการทำงานร่วมกัน นอกจากนั้นก็เป็นประเด็นที่น้องๆ ขาดความรู้พื้นฐานในเรื่องของสุขภาพ เด็กส่วนมากไม่รู้จักโรคซิกาและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเลยก็ว่าได้




ต่อกรณีดังกล่าวนี้ สมาชิกในกลุ่มก็พยายามที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น ปรึกษากันภายในกลุ่มและจัดแบ่งเวลา ใครว่างเวลาไหนก็มารวมกลุ่มกันทำงาน โดยเริ่มจากการพูดคุยกันและปรับทัศนคติร่วมกัน เน้นการเปิดใจพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกัน มอบภารกิจให้ทำช่วยกัน ทั้งทำแบบทดสอบก่อนเรียน แบบทดสอบหลังเรียน การให้ความรู้ ทักษะ ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติทั้งในเรื่องของสุขภาพ โรคซิกา และการปฐมพยาบาลร่วมกัน เพื่อจะได้ช่วยสื่อสาร หรือถ่ายทอดความรู้ร่วมกันอย่างเป็นทีม

เช่นเดียวกับการขอความช่วยเหลือจากบุคลากรภายในโรงเรียน เพื่อร่วมกำหนดวันที่และเวลาในการจัดกิจกรรมที่ชัดเจน ซึ่งการติดต่อประสานงานกับทางโรงเรียนบ้านดอนหน่องค่อนข้างลำบาก เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดเทอม






เรียนรู้คู่บริการ : เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ


โดยส่วนตัวแล้วหนูได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เป็นการเรียนรู้ในความหมายของการเรียนรู้คู่บริการที่เน้นการลงมือทำจริง เป็นต้นว่า

  • การนำความรู้ในวิชาชีพที่เรียนในคณะแพทย์ฯ ไปประยุกต์ใช้กับน้องนักเรียน
  • เทคนิคการถ่ายทอดความรู้และการสร้างสื่อเรียนรู้ที่ง่ายต่อการเข้าใจและนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
  • ฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น ค้นหาความรู้เพิ่มเติมจากพี่ๆ เจ้าหน้าที่และอาจารย์ในโรงยาบาลสุทธาเวช ค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ ใบปลิว แผ่นพับ
  • ฝึกการเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ เช่น การทำท่าประกอบกิจกรรม การทำแบบทดสอบ เกมและสันทนาการในแบบบันเทิงเริงปัญญา
  • ฝึกการทำงานเป็นทีมและแก้ปัญหาอย่างเป็นทีม เช่น เวลาไม่ตรงกันก็ไม่ได้จัดหน้าที่ที่ตายตัว เรานัดทำงานกันทุกวันในตอนเย็น ใครว่างก็มา แต่มีข้อตกลงว่าทุกคนจะต้องติดตามความคืบหน้าของงาน จะต้องรู้ข้อมูลโครงการเท่าๆ กันไป




และที่เห็นได้ชัดก็คือหนูมีทักษะการทำงานกับชุมชนและเพื่อนๆ นิสิตด้วยกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก และรู้สึกสุขใจกับกิจกรรมที่ได้ทำ โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้เรื่องจิตอาสาและเรื่องการเป็นผู้นำผ่านวิชาเรียนที่ต้องลงมือทำจริงๆ ยิ่งได้เห็นว่า น้องทำได้ น้องเข้าใจ ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะเหมือนได้ช่วยปูทางเดินให้กับน้องๆ ในถนนสายสุขภาพ ... นี่ก็ถือว่าเป็นความสุขและความสำเร็จสำหรับหนูแล้วนะคะ






วิชาภาวะผู้นำ : ลงมือปฏิบัติจริงนอกห้องเรียน



การทำงานใดๆ ย่อมมีอุปสรรคไม่มากก็น้อย แต่ทีมของพวกเราได้รับรู้ถึงความสามัคคีต้องมาก่อน ประกอบกับความรับผิดชอบของแต่ละคน การที่เราลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่ห้องเรียนสี่เหลี่ยมไม่สามารถมอบให้เราได้

การทำกิจกรรมในครั้งนี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราทำในสิ่งอันเป็นความปรารถนาของเราที่มีต่อคนอื่น เป็นการให้ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า ทั้งแก่ตัวเราและชุมชน

หากถามว่าเราได้อะไร สิ่งที่เราได้เป็นผลพลอยได้จากกิจกรรม เราได้เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้และเพิ่มพูนศักยภาพตัวเองเพื่อต่อยอดทักษะการทำงานรองรับการใช้ชีวิตในอนาคตต่อไป

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณรายวิชาภาวะผู้นำที่ให้โอกาสพวกเราได้ทำอะไรเพื่อสังคม ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยให้โครงการผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี ตลอดระยะเวลาที่พวกเรารวมกลุ่มกันทำงาน จะเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และรอยยิ้มที่พวกเรามีให้กัน มันเป็นภาพแห่งความประทับใจตลอดระยะเวลาการทำงาน อย่างน้อยที่สุดก็ได้มิตรภาพของความเป็นเพื่อน...ความเป็นพี่และความเป็นน้อง





เรื่อง : ศุจินทรา แสนศรีมนต์ ชั้นปีที่2 สาขาเวชกิจฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์
ภาพ : นิสิตวิชาภาวะผู้นำ

หมายเลขบันทึก: 618372เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2016 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2016 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนอาจารย์ แผ่นดิน ได้หยิบเครื่องมือ 9 แนวคิด ไปใช้ในการวิเคราะห์ความเข้มแข็งชุมชน

กรุณาไปเติมเต็มด้วย

-สวัสดีครับอาจารย์

-ปีนี้มีเป้าหมายลงชุมชนเพื่อดำเนินโครงการนี่้ครับ

-ขอคำชี้แนะแนวทางการเสริมหนุนกิจกรรมนี้ด้วยนะครับอาจารย์

-คงมีโอกาสได้ขอคำแนะนำจากอาจารย์นะครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท