สัมมนาผู้นำองค์กรนิสิต : 5 กลไก 5 ประเด็นเชิงรุกการพัฒนานิสิต (ดร.มลฤดี เชาวรัตน์)


ถึงแม้จะเป็นนโยบายที่ผ่านการกลั่นกรองร่วมมาแล้ว แต่รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ก็ยืนยันว่าผู้นำนิสิตสามารถนำไปออกแบบ หรือปรับประยุกต์ได้ตามบริบทของตนเอง

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2559 ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาผู้นำองค์กรนิสิต ประจำปีการศึกษา 2559 ณ อาคารพัฒนานิสิต (กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้นองค์กรนิสิต ประกอบด้วย สภานิสิต องค์การนิสิต สโมสรนิสิต และกลุ่มนิสิต (พรรคพลังสังคม พรรคมอน้ำชี พรรคชาวดิน)





ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ : รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต



หลังพิธีเปิด ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ (รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต) ได้บรรยายต่อเนื่องในประเด็น 5 กลไก 5 ประเด็นเชิงรุกเพื่อการพัฒนานิสิต อันหมายถึงการพัฒนานิสิตผ่านระบบและกลไกของกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือกิจกรรมเสริมหลักสูตร โดยมุ่งเน้นไปยังกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยองค์กรนิสิต (นิสิตเพื่อนิสิต) ดังนี้

5 กลไกหลัก (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ประกอบด้วย เรื่องประเด็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ด้านกีฬา/ส่งเสริมสุขภาพ ด้านบำเพ็ญประโยชน์/สิ่งแวดล้อม ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งสัมพันธ์กับการจัดกิจกรรมตามข้อบังคับ หรือครรลองของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 4 ด้าน คือ

  • บำเพ็ญประโยชน์
  • กีฬา
  • ศิลปวัฒนธรรม
  • วิชาการและนิสิตสัมพันธ์



</span>


ถัดจากนั้นก็เจาะลึกลงในเรื่อง "5 ประเด็นเชิงรุกของการพัฒนานิสิต" อันหมายถึงกรอบแนวคิดของการจัดกิจกรรมที่ต้องการให้นิสิตได้นำไปกหนดเป็นยุทธศาสตร์ของการทำกิจกรรม ซึ่งทั้ง 5 ประเด็นเกิดจากเวทีการระดมความคิดในเวทีประชุมของคณะกรรมการพัฒนานิสิตที่ประกอบด้วยผู้บริหารกองกิจการนิสิต รองคณบดีและเจ้าหน้าที่จาก 2 คณะ รวมถึงผู้แทนองค์กรนิสิต

ด้วยเหตุนี้ ประเด็นเชิงรุก 5 ประเด็น จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากคนเพียงไม่กี่กลุ่มที่กำหนดขึ้นเอง ทว่าเกิดจากการระดมความคิดแบบมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ พร้อมๆ กับการวิเคราะห์ สังเคราะห์จากบทเรียนของปีการศึกษาที่่ผ่านมา ผูกโยงเข้าสู่สถานการณ์จริงในสังคมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้นิสิตรู้เท่าทันต่อสังคม มีทักษะในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า ทั้งต่อตนเองและคนอื่น เสมอเหมือนการรับผิดชอบต่อตนเองคู่กับการรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง




อย่างไรก็ดี ทั้ง 5 ประเด็นนี้ มิใช่การเจาะจงว่าต้องยกระดับเป็นกิจกรรมทั้ง 5 โครงการก็ได้ หากแต่ให้อิสระต่อนิสิต หรือองค์กรนิสิตในการที่จะ "ออกแบบกิจกรรม" หรือออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เรียกได้ว่านิสิตมีพื้นที่ในการคิดและออกแบบด้วยตนเอง โดยมิให้กระทบต่อแผนงานประจำที่ทำๆ กันอยู่

แต่ที่แน่ๆ ประเด็นเหล่านี้จะช่วยหนุนเสริมให้กิจกรรมในแผนประจำดูจะมีคุณค่าและพลังต่อการพัฒนานิสิตมากขึ้น มิใช่จ่อมจมอยู่กับกิจกรรมอันเป็นแผนเชิงประเพณีนิยมเหมือนที่คุนชินกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งล้วนเป็นหลุมดำ หรือกับดักอันสำคัญในการบั่นทอนการพัฒนาตัวเอง




โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นด้วยกับประเด็นที่รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตได้ฝากให้นิสิตได้นำไปขับเคลื่อนเป็นอย่างมาก เพราะต่างล้วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับสถานการณ์ของปัจจุบันและอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย มีความเป็นไทยและความเป็นสากลที่ผู้นำนิสิต/นิสิตต้องเรียนรู้ -รับรู้-และปรับเปลี่ยนอย่างเท่าทัน มิใช่ตกยุคตกสมัยไปราวกับเป็นคนบอดใบ้ ---




และที่ผมเห็นด้วยในอีกเรื่องก็คือ ถึงแม้จะเป็นนโยบายที่ผ่านการกลั่นกรองร่วมมาแล้ว แต่รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ก็ยืนยันว่าผู้นำนิสิตสามารถนำไปออกแบบ หรือปรับประยุกต์ได้ตามบริบทของตนเอง แต่ต้องตอบให้ได้ว่า "ทำแล้วได้อะไร และเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับตัวเอง รวมถึงคนอื่นและสังคมได้รับผลกระทบอย่างไรจากกิจกรรมนั้นๆ"


ซึ่งฟังดูแล้วก็เสมือนย้ำเน้นว่ากิจกรรมที่ดี หาใช่ตอบสนองกิเลสตัวของผู้จัดเท่านั้น หากแต่ต้องตอบสนองต่อสังคมด้วยเหมือนกัน

ใช่ครับ-ฟังดูเหมือน "ศิลปะเพื่อชีวิต" นั่นเอง

ฟังดูก็เหมือนความเป็นจิตอาสา-จิตสาธารณะ นั่นเอง

ฟังดูก็เหมือนกำลังบอกว่า ผู้นำที่ดีในแบบ มมส ก็คือผู้นำที่มีจิตอาสา นั่นเอง





....



เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2559
ห้องประชุม 1 อาคารพัฒนานิสิต ม.มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 617070เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2016 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2016 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เนื้อหาดีมากๆ ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ชอบใจประเด็นเชิงรุกต่างๆที่มหาวิทยาลัยทำ

ในอนาคตจะมีนิสิตที่มีคุณภาพออกมา

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท