​พระ สถิตในดวงใจ


พระ สถิตในดวงใจ


ภาพวาดลายเส้น ผลงานรองศาสตราจารย์อัศนีย์ ชูอรุณ
ราชบัณฑิต ข้าราชการบำนาญ อดีตคณบดีคณะศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล


พระ สถิตในดวงใจ


พระ สถิตในดวงใจ..................ออกตกเหนือใต้
ในหลวงที่สุดหวงแหน

สองพระบาทเสด็จไปทั่วแดน....พสกนิกรแสน-
ซาบซึ้งในพระเมตตา

ห้วยละหานลำธารแนวป่า.........ทรงงานตลอดมา
พระมหากรุณา นิรันดร์

พระองค์ทรงเป็นมิ่งขวัญ..........ปกเกล้าเกศกั้น
อุ่นใต้ร่ม พระบารมี

เสด็จสู่สวรรค์นฤบดี...............ปวงข้าฯน้อมพลี
ทรงสถิต ณ ทิพย์พิมาน เทอญ

ปวงข้าพระพุทธเจ้า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจริยา ไวศยารัทธ์ ประพันธ์
๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙


ขอนำมาบันทึกไว้ว่า วันที่ ๑๓ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ พระ ผู้สถิตในดวงใจ เสด็จสู่ววรรคาลัย ยังความมหาวิปโยคสู่พสกนิกรชาวไทย
ตัวดิฉันเอง ได้รับโอกาสสูงสุดครั้งหนึ่งในชีวิต เขียนกาพย์ฉบัง ๑๖ เพื่อใช้อ่านในพิธีถวายความจงรักภักดีของโรงพยาบาลรามาธิบดี

ในส่วนหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ได้เขียนบทประพันธ์และพิมพ์ฉบับจริงหนึ่งฉบับ ฉบับคำอ่านพร้อมทั้งการเว้นวรรคตอนสำหรับอ่านอีกหนึ่งฉบับ
นำส่งผู้รับผิดชอบเป็นขั้นตอนขึ้นไป

เริ่มจากนำส่ง อาจารย์นฤมล ทวีเศรษฐ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล
และอาจารย์นฤมล นำส่งศาสตราจารย์อร่าม โรจนสกุล รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพและผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์
ผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในพิธี

หลังจากนำส่งบทประพันธ์ไปทางจดหมายเมล์เมื่อเวลา ๙ นาฬิกากับอีกประมาณ ๒๐นาที
เวลา ๑๐ นาฬิกา มีสายเรียกเข้าทางโทรศัพท์จากอาจารย์แอนนา วงษ์กุหลาบ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวัฒนธรรม
ติดต่อมาให้ทราบว่า
ศาสตราจารย์อร่าม โรจนสกุล มอบหมายให้อาจารย์จริยา ช่วยทำหน้าที่อ่านบทประพันธ์นี้ด้วย
และขอให้ลงมาซักซ้อมกำหนดเวลากันก่อนพิธีการจริง

เพราะยังมีงานต้องจัดการให้เสร็จ จึงรีบจัดการและลงไป ณ โถงของอาคารหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธี เมื่อเวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา พิธีจะเริ่มเวลา๑๑.๐๐ นาฬิกา
อาจารย์แอนนาเดินมารับ บอกกำหนดการว่าเราจะขึ้นอ่าน ณ จุดไหนของพิธี ตำแหน่งไมโครโฟนที่ใช้อ่าน
และปิดท้ายด้วยคำถามว่า "ไหวนะคะอาจารย์"

ดิฉันพยักหน้าพร้อมทั้งคำตอบที่หนักแน่น "ไหวค่ะ"

หลังพิธีการเสร็จสิ้น ดิฉันได้จดบันทึกไว้ในสมุดส่วนตัวว่า


..วันนี้มีโอกาสเป็นผู้อ่านบทกวีส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ในพิธีถวายความจงรักภักดี ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ขอขอบพระคุณศ.นพ.อร่าม โรจนสกุล และทีมงานทุกท่าน
ที่มอบหมายให้ทำหน้าที่ ที่ไม่สามารถบรรยายความรู้สึก แต่พร้อมทำให้ถึงที่สุด อย่างที่สุด..

ภูสุภา

๑๖ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


ปล.

๑. งานชิ้นนี้จะครบสมบูรณ์ไม่ได้หากปราศจากคำแนะนำติชมและคำสอนที่สั่งสมมานานนับสิบปีจาก อาจารย์สุธีร์ พุ่มกุมาร ผู้อำนวยการสถาบันกวีนิพนธ์ไทย
ผู้ซึ่งเป็นครูสอนภาษา สอนการเขียนงานร้อยกรองและร้อยแก้วแก่ลูกศิษย์คือดิฉัน ขอขอบพระคุณคุณครูค่ะ

๒. ขอขอบคุณ ภาพวาดลายเส้น ผลงานรองศาสตราจารย์อัศนีย์ ชูอรุณ ราชบัณฑิต ข้าราชการบำนาญ อดีตคณบดีคณะศิลปกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
ผู้ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตนำภาพมาขึ้นต้นบทประพันธ์ อาจารย์ใจดีมาก อนุญาตให้ใช้ได้ ขอขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

๒. งานเขียนบันทึกนี้คือส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนจะนำไปเขียนต่อเป็นฉบับสมบูรณ์สำหรับตีพิมพ์ จึงขอสงวนสิทธิ์ทุกประการ ไว้ก่อนค่ะ

จริยา ไวศยารัทธ์



ความเห็น (4)

รัชกาลที่ ๙

ครองราชย์วันที่ ๙
ปี พ.ศ. ๒๔๘๙
เมื่อพระชนมายุ ๑๙
สวรรคตพระชนมายุ ๘๙
สวรรคตปี พ.ศ. ๒๕๕๙
สวรรคตปี ค.ศ. ๒๐๑๖ {๒+๐+๑+๖} = ๙

เลข ๙ คือ เลขของพ่อของแผ่นดิน

วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ( ร.๙ ) สวรรคต เวลา ๑๕:๕๒ น. ณ โรงบาลศิริราช พระชนมพรรษา ๘๙ ปี ทรงครองสิริราชสมบัติได้ ๗๐ พรรษา


สิ้นสุดรัชสมัย รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์ จักรี
วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีวอก
ชีววาร(ช) อาสยุชมาส อัฐศก จุลศักราช ๑๓๗๘
คริสตศักราช 2016 , มหาศักราช ๑๙๓๘
รัตนโกสินทร์ศก ๒๓๕ , สุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน
จันทรคติ เป็น ปกติมาส อธิกวาร

....

ขอเก็บไว้ในความทรงจำของชีวิต

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/616963

มาอ่าน ผ่านไปเกินหนึ่งปี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท