​กระบวนการเรียนรู้ 3 มิติ : สู่การสร้าง “อาสาสมัคร-จิตอาสา” (กรณีศึกษา จาก  ม.มหาสารคาม)


การบ่มเพาะ “อาสาสมัคร –จิตอาสา-จิตสาธารณะ” จำต้องสร้างพื้นที่ทางเลือกให้หลากหลายแก่นิสิต จึงมุ่งบูรณาการผ่านระบบชีวิตของนิสิต ผ่านการเรียนรู้ใน วิชาชีพ การเรียนรู้ นอกวิชาชีพ (นอกหลักสูตร) และการเรียนรู้ผ่าน พันธกิจสถาบัน เพื่อให้นิสิตเกิดความตระหนักรู้ โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง



ย้อนกลังไปยังวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตที่เคยกำกับดูแลงาน “บริการวิชาการแก่สังคม” หรือ “งานวิชาการรับใช้สังคม” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการอาสาสมัครนักศึกษาเพื่อการเรียนการสอนและการทำงานเพื่อสังคม” ขึ้นในระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องปทุมวัน ชั้น 2 โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับเครือข่ายจิตอาสา (Volunteer Spirit Network) และองค์การหน่วยอาสาสมัครอังกฤษ (Voluntary Service Oversea : VSO)





ครั้งนี้ ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา เดินทางไปในฐานะคณะกรรมการบริหารโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” และโครงการ “วิจัย มมส เพื่อชุมชน” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งทั้งสองโครงการคือส่วนหนึ่งในพันธกิจอันหลากหลายของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีต่อการรับใช้สังคมบนฐานคิดหลักแห่งการ “เรียนรู้คู่บริการ” รวมถึงแนวคิดอื่นๆ ที่ยึดโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นต้นว่า

  • เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน)
  • อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยหรือสังคมและชุมชน)
  • ค่านิยมนิสิต (MSU FOR ALL: พึ่งได้)
  • ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)






เวทีดังกล่าวเป็นการจัดอบรมรมในหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาศักยภาพอาจารย์และบุคลากรในสังกัดสถาบันอุดมศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการสร้างอาสาสมัครและการสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่นิสิตนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อการรับใช้สังคมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลผ่านงานด้าน “อาสาสมัคร” หรือ “จิตอาสา-จิตสาธารณะ” โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมการเรียนรู้จำนวน 15 สถาบัน







ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา ได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบและกลไกการจัดการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมโดยการบูรณาการ 3 มิติเข้าด้วยกัน (3 In 1) อันหมายถึงการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในหลักสูตร หรือในวิชาชีพ (Curricular) กิจกรรมนอกหลักสูตร (Excurricular) และกิจกรรมอันเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัย (Mission) ซึ่งทำให้นิสิตเกิดทางเลือกของการเรียนรู้สู่การเป็น “อาสาสมัคร” อย่างหลากหลายและมีแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้คู่บริการโดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนและเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่มทีม ยกตัวอย่างเช่น

  • กระบวนการเรียนรู้ในหลักสูตรผ่านวิชาการพัฒนานิสิต วิชาภาวะผู้นำ วิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งการเรียนรู้ 3 มิติคือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้ผ่านกิจกรรม และเรียนรู้โดยใช้ชุมชนและมหาวิทยาลัยเป็นฐานการเรียนรู้ (ห้องเรียน)
  • กระบวนการเรียนรู้นอกหลักสูตรผ่านกิจกรรมฝ่ายพัฒนานิสิต ทั้งที่จัดโดยมหาวิทยาลัยและที่จัดโดยองค์กรนิสิต กอปรด้วยกิจกรรมเชิงประเพณีนิยมประจำปีและกิจกรรมเชิงรุก เช่น โครงการหนึ่งชมรมหนึ่งชุมชน โครงการหนึ่งคณะหนึ่งหมู่บ้าน โครงการกฐินโบราณ โครงการหนึ่งองค์กรหนึ่งจิตอาสา
  • กระบวนการเรียนรู้ผ่านพันธกิจของมหาวิทยาลัย เช่น การบริการวิชาการ (โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (โครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม) งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น งานวิจัย มมส เพื่อชุมชน หรือกระทั่งกลุ่มอาสาสมัคร (ชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์) ที่ทำงานร่วมกับหน่วยสวัสดิภาพนิสิต (กู้ชีพนครินทร์) ที่จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัย




นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีศึกษาอื่นๆ เช่น กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างอาสาสมัครผ่านวิกฤตทางธรรมชาติ (อุทกภัย-วาตภัย) โดยขับเคลื่อนทั้งในระดับต้นน้ำ (ป้องกัน) กลางน้ำ (ท่ามกลางสถานการณ์) ปลายน้ำ (บัดบัดเยียวยา) ซึ่งชุมชนในบางพื้นที่หลังประสบภัยทางธรรมชาติแล้ว มหาวิทยาลัยกับชุมชนได้ผนึกกำลังยกระดับการเรียนรู้คู่บริการผ่านกิจกรรม “ค่ายอาสาพัฒนา” จากนั้นก็ยกระดับขึ้นสู่ “งานบริการวิชาการ”และพัฒนาเป็น “งานวิจัย” ในที่สุด ทั้งนี้ในหลายๆ กิจกรรมต่างล้วนบูรณาการบนฐาน “วัฒนธรรมชุมชน” เป็นหัวใจหลัก รวมถึงการเน้นระบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน และภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด

เช่นเดียวกับการสะท้อนถึงประเด็นการหนุนเสริม (เสริมพลัง) แก่นิสิตเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นอาสาสมัครในมหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด “ความดีและคนดีไม่สมควรเดินทางอย่างเดียวดาย” โดยมีกระบวนการต่างๆ เข้ามาเกื้อหนุน เป็นต้นว่า

  • การสร้าง "ต้นแบบ” และวัฒนธรรมการ “สอนงานสร้างทีม” จาก 3 เสาหลัก (ผู้บริหาร อาจารย์/เจ้าหน้าที่ และนิสิต/ผู้นำนิสิต)
  • การเกาะติดสถานการณ์ทางสังคม/ใช้สถานการณ์ทางสังคมเป็นโจทย์การเรียนรู้ เช่น ภัยธรรมชาติ สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  • สร้างระบบและกลไกการจัดการความรู้แก่นิสิต
  • สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ (นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส)
  • ติดอาวุธทางปัญญา
  • เรียนรู้บนฐานวัฒนธรรมชุมชน (ฮีต 12 คองกิจกรรม)
  • การเชิดชูเกียรติ (ทุนนักกิจกรรม ทุนภูมิพล รางวัลคนดีศรี มมส รางวัลช่อราชพฤกษ์ วันขอบคุณนักกิจกรรม)





นี่คืออีกหนึ่งเวทีของความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ได้รับเกียรติเป็นกรณีศึกษาที่ว่าด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้สู่ความเป็นอาสาสมัครของนิสิต อาจารย์และบุคคลในครรลองของการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามตระหนักว่าการบ่มเพาะ “อาสาสมัคร –จิตอาสา-จิตสาธารณะ” จำต้องสร้างพื้นที่ทางเลือกให้หลากหลายแก่นิสิต จึงมุ่งบูรณาการผ่านระบบชีวิตของนิสิต ผ่านการเรียนรู้ใน วิชาชีพ การเรียนรู้ นอกวิชาชีพ (นอกหลักสูตร) และการเรียนรู้ผ่าน พันธกิจสถาบัน เพื่อให้นิสิตเกิดความตระหนักรู้ โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง เพื่อก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ตกผลึกหลากล้นด้วยทักษะต่างๆ ทั้งที่เป็น “Hard skill & Soft skill”



หมายเหตุ

พนัส ปรีวาสนา สุริยะ สอนสุระ และทีมงาน

หมายเลขบันทึก: 609877เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2016 01:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2016 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาศึกษาเรียนรู้

มีประเด็นน่าสนใจของจิตอาสา

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ ดร. ขจิต ฝอยทอง


กรณีนี้ อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นว่า ใน มมส สามารถบูรณาการการเรียนรู้ได้หลากหลาย ทั้งในวิชาชีพ-นอกวิชาชีพ-พันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย (วิจัย-บริการ-ทำนุ) เพื่อเป็นสนามชีวิตให้นิสิตได้เรียนรู้สู่การเป็นอาสาสมัครได้หลากหลายช่องทางครับ

นิสิต-ผู้เรียนเองก็สามารถเลือกเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ได้หลากหลายช่องทาง แต่ระบบและกลไกยังเป็นเรื่องใหญ่ครับ นโยบาย (ระบบ) ชัดแค่ไหน และคนภายใต้นโยบาย (กลไก) มีใจนำพา ศรัทธานำทางที่จะทำงานเหล่านี้จริงจังแค่ไหน ตื่นตัวต่อการเรียนรู้แค่ไหน นี่ก็เป็นโจทย์สำคัญเลยครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท