ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๕๑ : สรุปผลการประเมินโครงงานบ้านวิทย์น้อย


ผมลองเอาผลการประเมินตามเกณฑ์ "โครงงานบ้านวิทยาศาสตร์น้อย" (ดาวน์โหลดเกณฑ์ได้ที่นี่) ของโรงเรียนเทศบาลเมืองมหาสารคามทั้ง ๗ โรงเรียน มาวิเคราะห์ภาพรวมในแต่ละด้าน เพื่อตีความเป็นข้อเสนอแนะสำหรับก้าวต่อไปของการสร้าง "นักวิทย์น้อย" ต่อไป ดังนี้ครับ

เฉลี่ยร้อยละของคะแนน ตีความเชิงวิพากษ์เพื่อการพัฒนา ได้ดังนี้ครับ

เกณฑ์ข้อแรกได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ ๔๒.๘๖ ไม่ถึงครึ่ง

  • โครงงานเกือบทั้งหมด ครบรอบวัฏจักรนักวิทย์น้อยเพียง ๑ รอบ เด็กได้ฝึกกระบวนการวัฏจักรนักวิทย์น้อยเพียง ๑ รอบ .... เป้าหมายอย่างน้อย ๓ รอบต่อปีการศึกษาครับ
  • โครงงานเกือบทั้งหมดเป็น โครงงานเชิงทดลอง ความจริงควรเรียกว่า โครงงานผลิตเชิงทดลอง หรือ ประดิษฐ์เชิงทดลอง (ผมเรียกเองครับ) เพราะส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมการ "พาผลิต" หรือ "พาประดิษฐ์" ที่เพิ่มตัวแปรอิสระเพื่อทดลองเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น
  • เกือบทั้งหมดเป็นโครงงานที่ยากเกินกว่าเด็กจะคิดได้เองทั้งกระบวนการ ครูต้องไม่ห่วงว่า ต้องเป็นโครงงานที่ "ดูดี" "ดูยาก" หรือ "ซับซ้อน" หรือ "ใหม่" .... หัวใจสำคัญอยู่ที่ เด็กได้คิดและได้ทำเอง ตามระดับความสามารถของตนเอง

ที่มาของโครงการฯ ได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ ๖๖.๖๗

  • ที่มาของปัญหาโครงงานเกือบทั้งหมดมาจากครู หรือครูเป็นผู้สังเกตและกระตุ้นความสงสัยของนักเรียน .... เป้าหมายคือ เด็กเป็นคนสังเกตพบและสงสัยด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้การบ่มเพาะอย่างต่อเนื่องยาวนาน
  • โรงเรียนเทศบาลบ้านส่องนางใยและบูรพาพิทยาคาร เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเอาหัวเรื่องที่เด็กสนใจ สงสัย และอยากรู้อยากเห็น มาเป็นประเด็นในการทำโครงงาน

การมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการ ได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ ๔๗.๖๒

  • ครูเป็นผู้คิดออกแบบกระบวนการทดลอง ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรควบคุม โดยให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมบ้าง ด้วยการตั้งคำถามนำ หรือ การมอบหมายเป็นคำสั่ง ... เป้าหมายคือ เด็กคิดออกแบบกระบวนการเองได้ (คงต้องฝึกอีกหลายปี?)
  • คงต้องค่อย ๆ ปลูกฝังไปครับ ควรเริ่มจากโครงงานสำรวจเหมือนโรงเรียนเทศบาลโพธิ์ศรี เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐาน เช่น การสังเกต การเปรียบเทียบ แยกหมวดหมู่ การวัด ฯลฯ แล้วค่อย ๆ ก้าวไปสู่ โครงงานทดลอง -> ต่อด้วยโครงงานประดิษฐ์หรือผลิต -> และโครงงานเชิงทฤษฎีเมื่อโตขึ้น
  • โครงการบ้านวิทย์ศาสตร์น้อย ออกแบบ วัฏจักรนักวิทย์น้อย ในลักษณะของการ "สำรวจตรวจสอบ" แทนที่จะเขียนว่า "ทดลองพิสูจน์สมมติฐาน" ... ผมตีความว่า การปลูกฝังนักวิทย์น้อยที่เยอรมัน ซึ่งเป็นต้นตำหรับที่เรานำมาใช้ ต้องการให้เน้นที่โครงการสำรวจในระดับอนุบาล
  • อย่างไรก็ดี ... ให้พิจารณาเด็กของเราเป็นหลักครับ ....

ข้อ 4 5 6 และ 7 ได้คะแนนเฉลี่ยสูง บอกว่า

  • เด็ก ๆ ได้ลงมือทำ อันนี้เริ่มได้ดีมากครับ
  • เด็ก ๆ ได้บันทึกข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ เกือบทั้งหมดเป็นการวาดภาพ ตามใบงานที่ครูเตรียมให้
  • ข้อ ๕ ที่ๆ ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ ๑๐๐ แสดงว่า เด็กได้อธิบาย นำเสนอ และสรุปได้สอดคล้อง อย่างไรก็ดี ต้องเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ฝึกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำด้วยตนเองให้มากขึ้น จนถึงขั้นสรุปได้ด้วยตนเอง

ด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของโครงงาน

  • หัวเรื่องของโครงงานส่วนใหญ่ มีที่มาจากหน่วยการเรียนในหลักสูตร หรือเป็นสิ่งที่ครูมีแผนและกำหนดแนวทางไว้แล้ว จึงเป็นโครงงาน "พาทำ" ... หากเป็นความคิดริเริ่มของเด็กจริง ๆ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเรื่องยาก ผมจะให้คะแนนมากกว่านี้แน่นอนครับ

ข้อเสนอแนะ

  • ต้องทำต่ออย่างต่อเนื่องครับ พัฒนาต่อไป จนได้หลักสูตรของโรงเรียนที่กำหนดในแผนการจัดการเรียนการสอนอย่างชัดเจน เช่น อนุบาล ๑ ทำการทดลองชุด A + โครงงานสำรวจ อนุบาลสองทดการทดลองชุด B + โครงงานทดลอง อนุบาล ๓ ทำการทดลองชุด C +โครงงานประดิษฐ์ เป็นต้น
  • ในช่วงที่เดินทางไปรับป้ายพระราชทาน ควรพาครูไปศึกษาดูงานในโรงเรียนต้นแบบด้านการจัดการเรียนการสอนที่ได้รับการยอมรับเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้
  • ควรจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการทดลองใหม่ ๆ ให้ครูอนุบาลเป็นประจำทุกปี (อย่างน้อยในช่วงปีแรก) เพื่อเพิ่มความศักยภาพของครูผู้สอน
  • ทำ PLC ต่อไปครับ

ขอบคุณคุณครูทุกท่านครับ และของแสดงความยินดีด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 609871เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2016 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2016 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท