“สะท้อนคิดในมุมมองของครูหนึ่ง” (ขวัญข้าวเล่าเรื่อง)


“การเรียนรู้โดยการตั้งคำถาม ต้องให้นักเรียนถามเราไม่ใช่เราถามนักเรียน”

ครูหนึ่ง[1]

จากโจทย์ “พลเมืองนักคิด”ของโครงการคูปองพัฒนาครู สู่กระบวนการเรียนรู้พัฒนาครู ให้จัดการเรียนการสอนพัฒนาผู้เรียน “จัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิด” ทางกลุ่มขวัญข้าวคุณครูกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ระดับประถมศึกษาในจังหวัดพิจิตร ต่างมุ่งมันเอาจริงในการพัฒนาทักษะการสอนของตนเอง เราวางแผนโดยนำโจทย์ “พลเมืองนักคิด” มาวางแผนกันว่าจะนำแนวทางการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนักคิดแก้ปัญหาชุมชน ซึ่งในวันแรกที่เรามารวมตัวกัน หลังจากฟังวิทยากรเล่าเรื่องวิธีการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนักคิดได้อย่างไร พวกเราก็ยังงงๆ กันอยู่กับคำศัพท์ใหม่ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น PLC หรือ PBL หรือ QSCCS แต่ไม่เป็นไรนะ เรามาเรียนรู้กันโดยลงมือทำเลยดีกว่า โดยมีพี่เลี้ยงที่มุ่งมั่นจากศึกษานิเทศก์ไฟแรงแบบไม่มีมอดอย่างพี่วิจารณ์และศน.ปิติ โดยเราได้พี่วินัยหัวหมู่ทลวงฟันอาสาเป็นผู้เริ่มต้นก่อน เราวางแผนกันคร่าวๆ ว่าเราจะไปร่วมกันสังเกตการสอนของพี่วินัย ที่โรงเรียนวัดต้นชุมแสง ต.งิว้ราย อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร มีคุณครูร่วมอุดมการณ์ในการร่วมพัฒนาการสอนทั้งหมด 7 คน ศึกษานิเทศก์ 2 คน อาจารย์มหาวิทยาลัย 1 คน เรานัดกันเช้า 10 โมงวันที่ 28 มิถุนายน 2559 เมื่อทุกคนมาพร้อม เรานัดพูดคุยวางแผนการเรียนรู้กันว่าจะทำอะไรบ้าง โดยพี่วินัยได้เล่าถึงแผนการสอนที่ได้ทำไปแล้ว คือคุยกับนักเรียนร่วมกันตั้งคำถาม เกี่ยวกับเรื่องพันธุ์ข้าว ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนาข้าว โดยให้นักเรียนร่วมกันตั้งคำถามเกี่ยวกับ เรื่อง ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนาข้าว ครูและนักเรียนช่วยกันสรุปจนได้คำถามที่น่าสนใจ 6 ข้อ โดยครูและนักเรียนวางแผนร่วมกัน นัดหมายไปศึกษาเรียนรู้ หาคำตอบประเด็นความสนใจจากชุมชน วัดต้นชุมแสง ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องมีปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องพันธ์ข้าว และพิธีกรรม เช่น คุณพิษณุ อรรคนิวาส ที่ปลูกข้าวโดยเทคนิควิธีการแกล้งข้าว อ่านเพิ่มเติม คุณยายประจวบ หริ่มเทศ คุณลุงบัญญัติ พามี โดยวางแผนให้นักเรียนไปสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้นำในการทำพิธีกรรม เช่น พิธีกรรมรับขวัญท้องข้าว พิธีรับขวัญข้าวเข้ายุ้ง พิธีขอขมาเจ้าที่เจ้านา พิธีขอขมาพระแม่โพสพ โดยครูวินัยได้ออกแบบใบงาน ตามแนวทางของกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมการวิจัย คือให้ ๑)ขั้นตั้งคำถาม นักเรียนมีการตั้งคำถามวิจัย ๒)ขั้นเตรียมการค้นหาคำตอบ ๓) ขั้นดำเนินการค้นหาและตรวจสอบคำตอบ ๔) ขั้นสรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่นักเรียนได้ใช้แหล่งค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตค้นหาความรู้เพิ่มเติม

นักเรียนนำเสนอ เรื่องราวที่สืบค้น พิธีกรรม ความเชื่อแต่ละท้องถิ่น

หลังจากที่เราได้สังเกตการสอนของพี่วินัยเรียบร้อยแล้ว ครูดุ่ย อ.สุรพงษ์ ศรลัมพ์ ทำหน้าที่เป็นประธานในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยได้แนวคิดมากมายจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศน.วิจารณ์ เสนอแนวคิดว่าให้ทุกคนนำแนวทางการสอน ไปเป็นแนวทางการสอนของคุณครูทุกคน และได้แนวทาง ความรู้ ปัญหาและอุปสรรคอย่างไรเราจะนำไปร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ที่โรงเรียนอนุบาลสากเหล็ก ซึ่งเราจะไปสังเกตุการสอนของคุณครูไพศุภา ซึ่งกระบวนการขั้นตอนที่เราไปสังเกตการสอนจะเป็นขั้นตอนที่นักเรียนสรุปองค์ความรู้ในการไปเรียนรู้เรื่องพิธีกรรมและความเชื่อเช่นกัน ทำให้เราได้เรียนรู้ไปกับเด็กๆ ว่าพิธีกรรมและความเชื่อของท้องถิ่นถึงแม้ว่าจะเป็นภาคเหนือตอนล่างเหมือนกัน จังหวัดเดียวกัน แต่ความเชื่อของท้องถิ่นก็จะแตกต่างกัน เช่น ในพิธีกรรมของการ ไหว้แม่โพสพ โรงเรียนวัดต้นชุมแสงจะใช้เครื่องคาวหวาน ส่วนที่ท้องถิ่นโรงเรียนอนุบาลสากเหล็กจะใช้ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเพราะเชื่อว่าแม่โพสพแพ้ท้องจะชอบของเปรี้ยว

จากการไปร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ในหลายๆ เรื่อง อาทิเช่น

“ก่อนสอนคุณครูควรตั้งคำถามให้กับตนเองก่นอว่าเรื่องที่จะสอนนักเรียนจะได้อะไร” วาทะของคุณครูต้อย

“การเรียนรู้โดยการตั้งคำถาม ต้องให้นักเรียนถามเราไม่ใช่เราถามนักเรียน” วาทะของคุณครูต้อย

“ต้องสอนให้นักเรียนเป็นนักคิด เป็นคนเจ้าปัญหา” วาทะของคุณครูต้อย

“ต้องสอนกระบวนการหาความรู้ไม่ใช่ความรู้” วาทะของดร.รุจโรจน์

“การประเมินผลผู้เรียนต้องประเมินผลกระบวนการวิธีหาความรู้” วาทะของดร.รุจโรจน์

“การสอนที่ดีคือคุณครูร่วมเรียนรู้ไปกับผู้เรียน” วาทะของคุณครูวินัย

“คำชื่นชมของคุณครูครือแรงบันดาลใจให้นักเรียนภูมิใจในการเรียนรู้” วาทะของคุณครูต้อย

“อย่าใจร้อน รีบสอนให้จบ สอนเรื่องที่สำคัญๆ” วาทะของศน.วิจารณ์

“ถ้านักเรียนหาความรู้ได้เองเค้าจะสามารถเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง” วาทะของคุณครูวินัย

“สอนน้อยนักเรียนจะเรียนมากขึ้น

“เน้นที่การเรียนของนักเรียนไม่ใช่การสอนของครู” วาทะของ ศน.วิจารณ์

จากโจทย์ พลเมืองนักคิด และกิจกรรมที่เราทำกันมาในห้วงเวลาหนึ่ง ทางกลุ่มตกลงกันว่าเราจะนำองค์ความรู้และการสะท้อนคิดมุมมองในกระบวนการพัฒนาครู สู่การพัฒนาการคิดและวิธีการหาความรู้ของผู้เรียน เราจะเขียนเป็นเรื่องเล่า ในมุมมองของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นคุณครู ศึกษานิเทศก์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงเรียน ทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก โดย เราให้ชื่อหนังสือว่า “ขวัญข้าวเล่าเรื่อง”

สะท้อนผลการสังเกตการสอนและเรียนรู้ ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

ภาคผนวก

วัฒนธรรมการวิจัย หมายถึง การที่กลุ่มบุคคลหรือสังคมมีการแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบ และสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้น ได้แก่

1. ตั้งคำถาม หมายถึง การกำหนดประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การค้นหาคำตอบ

2. เตรียมการค้นหาคำตอบ หมายถึง การกำหนดวิธีดำเนินการหาคำตอบ

3. ดำเนินการค้นหาและตรวจสอบคำตอบ หมายถึง การดำเนินงานเพื่อหาคำตอบตามวิธี ที่กำหนดไว้ แล้วพิจารณาความถูกต้อง ครบถ้วนของการดำเนินงานและคำตอบที่ได้รับตลอดช่วงการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ และปรับปรุง จนได้คำตอบที่สามารถขจัดความขัดแย้งทางความคิดภายในตนเอง ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างบุคคล หรือสามารถขจัดความขัดแย้งระหว่างความคิดกับหลักฐานเชิงประจักษ์

4. สรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ หมายถึง การสรุปผลการดำเนินการค้นหาคำตอบ และรายงานผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย



[1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

หมายเลขบันทึก: 609867เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2016 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2016 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีกระบวนการวิจัย

แนวทางของกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมการวิจัย คือให้ ๑)ขั้นตั้งคำถาม นักเรียนมีการตั้งคำถามวิจัย ๒)ขั้นเตรียมการค้นหาคำตอบ ๓) ขั้นดำเนินการค้นหาและตรวจสอบคำตอบ ๔) ขั้นสรุปและนำเสนอผลการค้นหาคำตอบ....

ชอบใจกับการทำงานร่วมกับชุมชนของมหาวิทยาลัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท