สสส.หนุนชุมชนเป็นฐาน ควบคุมสูบบุหรี่-หยุดนักสูบหน้าใหม่


แม้ทุกคนจะรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ แต่ก็ยังเกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุมาจากความอยากรู้อยากลอง เพื่อนชักชวน ทำตามเพื่อน หรือสูบเพื่อนให้เพื่อนในกลุ่มยอมรับ รวมไปถึงครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่คนภายในครอบครัวสุบบุหรี่จนเมืองว่าเป็นเรื่องปกติ หรือสูบเพื่อเข้าสังคม อิทธิพลของสื่อโฆษณาชวนเชื่อ และชุมชนมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ เป็นต้น

นักวิชาการชี้มาตรการควบคุมบุหรี่ภาครัฐยังเข้าไม่ถึงพื้นที่ห่างไกล หนุนระบบบริการเลิกยาสูบโดยมีชุมชนเป็นฐาน สร้างนโยบายและระเบียบระดับชุมชน ทำงานเชิงรุกหยุดนักสูบหน้าใหม่


รศ.ดร.มณฑา เก่งการพินิช อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(ศจย.) ในฐานะผู้จัดการโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า บุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด โดยปี พ.ศ.2551 บุหรี่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากกว่า 5 ล้านคน และคาดว่าในปี พ.ศ.2573 หากยังไม่มีมาตรการใดๆ จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคนต่อปี ซึ่งผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2557 พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ จำนวน 11.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 20.7 แยกเป็นเพศชาย 10.75 ล้านคน และเพศหญิง 6.17 แสนคน ซึ่งช่วงวัยอายุที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือตั้งแต่ 25-59 ปี และมีแนวโน้มของผู้สูบบุหรี่เป็นครั้งคราวมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยปี 2534 มีผู้สูบบุหรี่เป็นครั้งคราวเพียง 590,528 คน แต่จากข้อมูลการสำรวจเมื่อปี 2557 เพิ่มขึ้นถึง 1,360,924 คน โดยภูมิภาคที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนิยมบุหรี่มวนมากกว่าบุหรี่โรงงานถึง 60% อัตราเฉลี่ยสูบบุหรี่ 11.5 มวนต่อวัน

ทั้งนี้บุหรี่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์เท่ากับ 74,884 ล้านบาท และมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มาแล้วไม่น้อยกว่า 50,737 คน ซึ่งโรคปอดอุดกลั้นเรื้อรังเป็นสาเหตุการตายหลักของโรคที่เกิดจาการสุบบุหรี่ รองลงมาคือโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมองและโรคทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ตามแม้ทุกคนจะรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ แต่ก็ยังเกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุมาจากความอยากรู้อยากลอง เพื่อนชักชวน ทำตามเพื่อน หรือสูบเพื่อนให้เพื่อนในกลุ่มยอมรับ รวมไปถึงครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่คนภายในครอบครัวสุบบุหรี่จนเมืองว่าเป็นเรื่องปกติ หรือสูบเพื่อเข้าสังคม อิทธิพลของสื่อโฆษณาชวนเชื่อ และชุมชนมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ เป็นต้น


รศ.ดร.มณฑา เปิดเผยอีกว่า แม้ว่าทางภาครัฐจะออกมาตรการควบคุมบุหรี่มากมาย เช่น การขึ้นภาษี การออก พรบ.ควบคุมยาสูบ พรบ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ การทำระบบบริการเลิกบุหรี่ มาตรการคำเตือนบนซองบุหรี่ และการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย แต่พบว่ามาตรการต่างๆ นั้นยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่นัก เพราะยังมีปัจจัยที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ให้แพงขึ้น แต่โรงงานผลิตบุหรี่ก็จะผลิตยี่ห้อใหม่ที่มีราคาถูกลงเพื่อเอาใจคนสุบบุหรี่ที่มีรายได้น้อย ซึ่งบางยี่ห้อเราไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยนอกจากจะพบเห็นตามพื้นที่ต่างจังหวัดเท่านั้น ขณะเดียวกันบุหรี่เถื่อนที่เต็มท้องตลาดโดยเฉพาะจังหวัดติดชายแดน ขณะเดียวกันมาตรการการส่งเสริมให้คนเลิกสุบบุหรี่ก็เป็นไปอย่างล่าช้าเพราะเจ้าหน้าที่มีงานประจำมากพออยู่แล้ว และนโยบายยังลงไปไม่ถึงพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล เช่น การประชาสัมพันธ์ การติดป้ายคำเตือน หรือการออกหน่วยให้บริการยังมีน้อยและขาดการกระตุ้นทำให้ผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่ไม่สนใจที่อยากจะเลิก ซึ่งในเขตชุมชนเมืองมาตรการรณรงค์ต่างๆ เข้าถึงได้ง่าย แต่พื้นที่ชนบทยังคงเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นจะต้องมีวิธีการที่พลิกแพลงออกไปมากกว่าวิธีการเดิมๆ และการจะแก้ปัญหานี้ได้ต้องทำงานเชิงลึกมากกว่านี้ เช่น ระบบบริการเลิกยาสูบโดยมีชุมชนเป็นฐาน ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุข และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเชิงลึก

โดยมี 5 แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเลิกบุหรี่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน คือ

1.ชุมชนต้องทำนโยบายด้วยการจัดเวทีพูดคุย เพื่อออกนโยบายการควบคุมวบคุมบุหรี่ในชุมชนร่วมกัน แล้วติดป้ายประกาศให้ทุกคนรู้

2.ต้องจัดสิ่งแวดล้อม สถานที่ต่างๆ ตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เช่น ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ทุกแห่ง รวมถึงร้านค้าต้องมีป้ายไม่จำหน่ายให้กับเด็กและมีการอบรมกฎหมายให้ผู้ขายด้วย

3.ต้องเข้าถึงคนสุบบุหรี่และช่วยเลิก ปรับพฤติกรรมบุคคล ทำงานเชิงรุก โดยการทำโมบายคลินิกลงไปหมู่บ้านเพื่อคัดกรองผู้สูบบุหรี่แล้วช่วยเขาเลิกสูบบุหรี่ ในส่วนนี้ถือว่าเป็นกระบวนการค้นห้าผู้สูบบุหรี่ เพราะคนสูบเขาจะไม่เข้ามาหาเราก่อน

4.ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง อบรมแกนนำ อสม. ให้เข้าไปช่วย มีความรู้ร่วมกัน อบรมพัฒนาศักยภาพร่วมกัน

5.ต้องปรับระบบบริการให้ผู้สูบบุหรี่เข้าถึงบริการได้ บูรณาการกิจกรรมของ รพ.สต. ให้นำเอากิจกรรมการเลิกสูบบุหรี่เข้าไปร่วมด้วย

“มาตรการเลิกสุบบุหรี่โดยให้ชุมชนเป็นฐานจะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึง และประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง โดยเราไม่ต้องบังคับใช้กฎหมายระดับประเทศ เพียงแต่ให้กฎระเบียบของชุมชนดำเนินควบคู่กันไป ซึ่งตัวอย่างของพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น จ.นครราชสีมา ภายใน 1 ปีสามารถทำให้ผู้เลิกสูบบุหรี่ถาวรไปแล้ว 2,000 กว่าคน และมีผู้ลดปริมาณการสูบลงอีกว่า 7,000 คน ครอบคลุนพื้นที่ 40 ตำบลทั่วทั้งจังหวัด” รศ.ดร.มณฑา กล่าว

หมายเลขบันทึก: 609862เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2016 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2016 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท