​“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๙ : หนังสือและแรงบันดาลใจจากครูสู่ศิษย์



ถอดบทเรียนจากหลักสูตรแฝงเร้น (hidden curriculum)


ในช่วงแรก คุณครูน้ำผึ้ง และคุณครูนุช ชัญญานุช ส่วนงานมาตรฐานการศึกษาและการเทียบโอน นำเสนอกราฟเจตคติ ของหน่วยภูมิปัญญาภาษาไทยปีการศึกษา ๒๕๕๕ – ๒๕๕๘ ทั้งค่าความรู้สึกว่าอยากเรียน และค่าความรู้สึกว่าเข้าใจ ของนักเรียนชั้น ๑ – ชั้น ๖ พบว่า

ก่อนหน้าปีการศึกษา ๒๕๕๖ ค่าเจตคติของระดับชั้น ๑ – ๖ ของความรู้สึกว่าอยากเรียน และความรู้สึกว่าเข้าใจของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในภาพรวมแล้ว เป็นหน่วยวิชาที่มีค่าติดลบ ซึ่งหมายถึงว่าผู้เรียนกลุ่มใหญ่ยังรู้สึกไม่อยากเรียน และยังรู้สึกว่าไม่เข้าใจ หน่วยวิชาที่ผู้เรียนรู้สึกว่าอยากเรียนและรู้สึกว่าเข้าใจคือกลุ่มวิชาแม่บท ได้แก่ หน่วยวิชาดนตรีชีวิต กีฬา และแสนภาษา ( ศิลปะ)

ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ค่าเจตคติระดับชั้น ๖ ของความรู้สึกว่าอยากเรียน และความรู้สึกว่าเข้าใจ พลิกกลับขึ้นมามีค่าบวกในทุกภาคเรียน ปัจจัยสำคัญของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือการที่ คุณครูใหม่ เข้าไปร่วมเป็นผู้สอน แทนตำแหน่งครูที่ว่างลง เนื่องจากครูท่านนั้นย้ายไปสอนในระดับมัธยม ครูใหม่จึงได้จัดตั้งกลุ่ม Lesson Study โดยมี คุณครูนัท – นันทกานต์ และคุณครูบิ๊ก – พิษณุ ครูผู้สอนในระดับชั้น ๖ เข้าร่วมเป็นสมาชิก

ในปีการศึกษาครูใหม่ได้เริ่มให้คำปรึกษาในเรื่องการทำแผนการเรียนรู้ของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในระดับชั้นอื่นๆ ด้วย

ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ในภาพรวมค่าเจตคติของความรู้สึกว่าอยากเรียน และความรู้สึกว่าเข้าใจ ของระดับชั้น ๑ – ๖ มีค่าเป็นบวก ปัจจัยสำคัญของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นในปีการศึกษานี้คือการที่ คุณครูใหม่ เข้าไปร่วมคิดแผนการเรียนรู้ และจัดตั้งกลุ่ม Lesson Study ร่วมกับคุณครูทุกระดับชั้น ด้วยการจัดสรรเวลาให้คุณครูมีโอกาสมาคิดแผนการเรียนรู้รายสัปดาห์ร่วมกันทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ ๙๐ นาที

ช่วงถัดมา คุณครูเล็ก - ณัฐทิพย์ คุณครูหนึ่ง – ศรัณธร คุณครูนัท – นันทกานต์ คุณครูเกมส์ – สาธิตา คุณครูจูนจุฑาทิพย์ ร่วมถอดบทเรียน คุณครูใหม่


คุณครูเล็ก นำผลงานภาพวาดหอยสังข์ด้วยลายไทยของนักเรียนชั้น ๒ และผลงานภาพวาดป่าประกอบบทพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า ของนักเรียนชั้น ๔ ที่มีความสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย ประณีต งดงาม มาเสนอเพื่อให้เห็นการแสดงออกถึงฉันทะของผู้เรียนที่สะท้อนออกมาในการสร้างชิ้นงานในคาบเรียน

หลังจากนั้น คุณครูนัท ได้เล่าประสบการณ์ตอนที่ได้มีโอกาสเป็นเป็นคู่วิชาของครูใหม่ในปีการศึกษา ๒๕๕๗ ว่า

ปีนั้นพี่ใหม่ไปเป็นบัดดี้ ร่วมสอนนักเรียนชั้น ๖ ด้วยกัน รู้สึกว่าพี่ใหม่เต็มไปด้วยความรู้และศาสตร์หลายแขนง พี่ใหม่ชอบอ่านหนังสือ มีความสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรม มีความสุนทรีย์ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการหลอมรวมให้สามารถคิดแผนการสอนที่สร้างสรรค์ออกมาได้

คุณครูเกมส์ สงสัยว่าทุกครั้งที่ได้พูดคุยกับพี่ใหม่เราจะได้รับความรับรู้มากมาย แต่ไม่เคยรู้สึกว่าถูกสอนอยู่ สงสัยว่าทำไมพี่ใหม่ถึงทำให้เราเกิดความคิด “สอนเหมือนไม่สอน” ขึ้นมาได้

คุณครูใหม่เริ่มต้นจากไม่คิดว่าน้องผิด แผนผิด หรืออะไรผิด แต่จะตั้งคำถามให้ครูตอบว่าทำไมถึงอยากสอนเรื่องนี้ แล้วก็ค่อยๆ ชวนดูกันไปว่าเรื่องที่เรียนเรื่องนี้กับเรื่องก่อนหน้ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้วจะนำพาผู้เรียนไปสู่อะไร เรียนเรื่องนี้แล้วเด็กจะได้อะไร สมรรถนะการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร แล้วก็ตั้งคำถาม ชวนครูคิดหาคำตอบกัน

คุณครูเกมส์ พี่ใหม่เป็นคนที่คอย เอ๊ะ ! และคอยชี้ชวนให้เราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา ทำให้ รู้สึกได้ถึงพลังในตัวพี่ใหม่ ทุกครั้งที่พูดคุยกันจะมีพลังบางอย่างที่ถ่ายทอดมาให้น้องๆ เสมอ พี่ใหม่มีแรงบันดาลใจอะไร หรืออะไรที่ทำให้มาเป็นพี่ใหม่ในวันนี้


คุณครูใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาตอนที่คณะถอดบทเรียนกำลังคิดคำถามของเวทีนี้กันอยู่ว่ามีใครอยากรู้อะไรบ้าง แล้วคุณครูเต่า – สุจิตรา เลขาฝ่ายวิชาการ ก็พูดขึ้นว่า เต่าอยากรู้ว่าเด็กหญิงใหม่มีความเป็นมายังไง มีแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มไหน หรืออะไร ถึงได้กลายมาเป็นครูใหม่ในวันนี้ พอกลับบ้านก็เลยไปหาหนังสือเล่มที่เป็นแรงบันดาลใจเท่าที่หาได้ แล้วถ่ายรูปมาให้ดูกัน

  • หนังสือเทพนิยายเอก ๕๐ เรื่อง ได้หนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญวันเกิดครบ ๗ ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.๑ แล้ว ตอนนั้นคุณอาพาไปร้านหนังสือแล้วบอกว่าให้ไปเลือกหนังสือที่อยากได้มา ๑ เล่ม ก็เลยไปหยิบเล่มนี้มา เพราะเห็นว่ามีนิทานตั้ง ๕๐ เรื่อง เล่มนี้เป็นหนังสือปกแข็งที่ไม่มีภาพประกอบเลย แล้วก็เป็นหนังสือหนาๆ เล่มแรกที่อ่านจบเล่ม

  • ตอนขึ้นชั้นป. ๑ ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย วันหนึ่งคุณครูก็เอาหนังสือสตรีสารภาคพิเศษ ราคาเล่มละ ๕๐ สตางค์ มาแนะนำ แล้วก็ถามว่าใครอยากจะสมัครเป็นสมาชิกบ้าง นอกจากการ์ตูนเรื่องขนฟู สีสวยๆ ที่หน้าแรกแล้ว ข้างในเล่มมีเรื่องเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กที่ทำให้เรา รู้สึกสนุกกับเรื่องราวเก่าๆ แล้วที่โรงเรียนก็ยังให้อ่านหนังสือดีๆ เล่มอื่นอีก เช่น นกกางเขน ที่ทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้นมากกว่าการเรียนในแบบเรียนเพียงอย่างเดียว ตอนเล็กๆ คุณย่าเลี้ยงมาแบบโบราณ ตั้งแต่อ่านหนังสือออก คุณย่าก็ให้อ่านหนังสือให้ฟังเกือบทุกวัน เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์บ้าง เรื่องจากหนังสือต่างๆ บ้าง นี่คงเป็นวิธีประเมินผลการเรียนของคุณย่าที่ทำให้ท่านรู้ได้อย่างชัดเจนว่าหลานอ่านอะไรได้แค่ไหนแล้ว
  • ตอนที่เรียนอยู่ชั้นป. ๔ คุณอาที่เรียนอยู่ชั้น ม.ศ. ๔ ก็เอาหนังสือแบบเรียนที่นักเรียนห้องศิลป์ฝรั่งเศสเรียนกันมาอ่านและมาอ่านให้ฟัง แล้วก็สอนให้รู้จักกับกลบทชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ (หลักภาษา) ทำให้รู้จักกลบทตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็ชอบมากจนคุณอาเรียนจบแล้วและไม่ใช้หนังสือแล้วเราก็ยังขอมาเก็บไว้ พออยู่ชั้นมัธยมก็ไปอยู่ชมรมภาษาไทย แล้วนำกลบทไปสอนเพื่อน สอนน้องๆ เป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งที่ทำให้เห็นความงามของภาษา

  • ตอนเรียนอยู่ชั้นป. ๕ ได้เรียนวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี แต่ในหนังสือตัดตอนมาให้เรียน พอปิดเทอมก็เลยให้คุณพ่อพาไปซื้อหนังสือพระอภัยมณีฉบับเต็มที่สนามหลวง แล้วก็เอามาอ่านเองจนจบเล่ม
  • ตอนเรียนอยู่ชั้นป. ๖ จำได้ว่าพี่ชายเริ่มชอบอ่านหนังสือนิยาย เห็นเขาอ่านอะไรก็จะไปแอบดู พอเขาอ่านจบเราก็มาอ่านต่อ ต่อมาก็แข่งกันอ่าน แลกกันอ่าน ชวนกันอ่าน ทำให้ได้อ่านเรื่องสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเขียนหนังสือสนุกมาก เหมือนเราได้กลับไปอ่านเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กอีกครั้ง แต่คราวนี้มีโครงเรื่องและการพรรณาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก

  • นอกจากนี้คุณอาเขย ยังสะสมหนังสือดีๆ เอาไว้มาก เช่นหนังสือ “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ” นี้ ตอนไปค้างที่บ้านนั้นก็จะไปหยิบมาอ่าน พอโตขึ้นมีสตางค์ก็เลยไปซื้อมาเก็บเอาไว้เอง

  • ตอนที่เรียนอยู่มัธยมต้นก็เริ่มชอบอ่านหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทยๆ “๕ นาทีกับศิลปไทย” เป็นเล่มที่ประทับใจมาก ทำให้ได้รู้จักกับงานช่างที่เป็นฝีมือช่างชั้นครูหลายแขนง แล้วก็เลยติดตามอ่านผลงานของ อ.วิบูลย์ ลี้สุวรรณ มาเรื่อยๆ

  • ตอนที่เรียนอยู่ชั้น ม. ๓ วันหนึ่งไปเดินเที่ยวที่วัดพระแก้ว แล้วก็ไปพบว่าเจ้าหน้าที่กำลังตั้งโต๊ะขายหนังสือชุด ครบรอบ ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์อยู่ ช่วงนั้นเป็นช่วงฉลองกรุงพอดี พอเห็นหนังสือชุดนี้ก็รู้สึกอยากได้ แต่พอไปบอกแม่ แม่ก็บอกว่าหนังสือแบบนี้เราไม่น่าจะอ่านรู้เรื่อง ก็เลยไปแคะกระปุกมาซื้อเองโดยที่แม่ไม่รู้ แล้วแม่ก็ไปซื้อมาให้อีกชุดหนึ่ง

  • ตอนที่เรียนอยู่ชั้น ม.๕ เริ่มเบื่อวิชาภาษาฝรั่งเศส ยิ่งไปเห็นตารางสอนชั้น ม. ๖ ยิ่งเบื่อเข้าไปใหญ่ เพราะมีแต่ชั่วโมงภาษาฝรั่งเศสเต็มไปหมด ก็เลยไปสอบเทียบฯ แล้วก็เลือกสอบเข้าเรียนต่อที่คณะวิจิตรศิลป์วิชาเอกศิลปะไทย ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาเหตุที่เลือกคณะนี้ก็เพราะมีสอบวิชาความถนัดทางด้านศิลปวัฒนธรรม ที่เราสะสมความรู้ด้วยตัวเองมาแล้วพอสมควร ก็มั่นใจว่าเรียนคณะนี้ได้แน่ๆ พอได้เข้าไปเรียนก็รู้เลยว่านี่เป็นเส้นทางที่รู้สึกรัก และทำให้มองเห็นทุกอย่างรอบตัวเราเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม หรือ ภาษาและวรรณคดี


คุณครูเล็ก อยากรู้ว่าครูใหม่นำสิ่งที่สะสมมามาสร้างสรรค์อย่างไร

คุณครูใหม่ ก่อนมาทำงานโรงเรียน เคยทำงานอยู่ที่อยู่บริษัทโฆษณา ในช่วงนั้น รู้สึกว่าตัวเองต้องการใช้ชีวิตที่เข้าถึงความหมายของ “คุณค่าที่แท้จริง” มากกว่าการใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปกับเรื่องของทุนนิยม โชคดีที่ได้มีโอกาสไปทำประชาสัมพันธ์ให้กับโรงเรียนตรีทศทรีเจนเนอเรชั่น ที่ จ.เชียงใหม่ พอกลับมาก็รู้สึกว่าดีจังที่มีคนคิดทำโรงเรียนแบบนี้ ถ้าหากว่าเป็นโรงเรียนไทยคงสมัครไปทำงานด้วยแล้ว แต่โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนนานาชาติที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ และเด็กที่มาเรียนก็เป็นเด็กต่างชาติ หัวหน้างานก็เลยแนะนำว่ามีโรงเรียนแห่งหนึ่งชื่อโรงเรียนรุ่งอรุณ กำลังก่อตั้งอยู่ ถ้าสนใจก็ให้ไปลองสมัครดู จากนั้นก็เลยได้ไปทำงานอยู่ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปทำตำราให้เด็ก แต่ตอนหลังก็ต้องสอนเพราะเขายังหาครูไม่ได้


งานแรกที่ทำคือ การทำหลักสูตรวิชาภาษาไทยชั้นคละ (ป.๒ ป.๓ ป.๔ ) ก็เริ่มจากไปซื้อตำราภาษาไทยของทุกชั้นจากศึกษาภัณฑ์ มาศึกษา เพื่อตอบโจทย์ท้าทายที่ได้รับจากอาจารย์ประภัทร นิยม ว่า “จะทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กรักภาษาไทยอย่างที่คุณรัก” ตอนนั้นยังไม่รู้จักการจัดการความรู้ แต่ก็ลองนั่งคิดว่าตัวเราเรียนรู้ภาษามาอย่างไร เราก็จะพาให้เด็กได้รับประสบการณ์ดีๆ อย่างนั้น แล้วก็นั่งค้นคว้าหาคำกลอนจากหนังสือแบบเรียนสมัยต่างๆ เพื่อดูว่าจะนำมาใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ช่วงไหน อย่างไร ได้บ้าง พอทำเสร็จก็ให้ชื่อว่าหลักสูตรนี้ว่า “ภาษาพาสนุก” แล้วก็เอาไปนำเสนออาจารย์ประภาภัทร และอาจารย์กิตติยวดี บุญซื่อ อาจารย์กิตติยวดีพิจารณาแล้วก็ชมว่ากับอาจารย์ประภาภัทรว่า “ลูกน้องของอาจารย์เก่งมาก” ก็เกิดความมั่นใจ แต่ห้องที่ได้สอนจริงๆ คือนักเรียนชั้น ม.๒ ตอนนั้นก็คิดหลักสูตรภูมิปัญญาภาษาไทยขึ้นมา แล้วก็เอากลบทเข้าไปสอน ตอนนั้นให้เด็กทำภาพลายรดน้ำจากชื่อของนักเรียนแต่ละคนด้วย เพราะเห็นว่าถ้าจะเข้าถึงภาษาต้องไปให้ถึงรากของวัฒนธรรมด้วย แล้วก็ตามนักเรียนชั้นนี้ไปจนพวกเขาเรียนอยู่ชั้น ม.๔ จากนั้นก็ออกมาก่อตั้งโรงเรียนเพลินพัฒนา พอมาอยู่เพลินก็ยังคงใช้หลักสูตรเดิม และยังใช้ชื่อหน่วยวิชาว่า “ภูมิปัญญาภาษาไทย” ต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

คุณครูจูน การทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้เด็กรักภาษา เกี่ยวข้องกับการมีแนวคิดอย่างไรกับการทำให้เด็กมีเจตคติที่ดีในการเรียนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย

คุณครูใหม่ ตอนที่มาชวนครูน้องๆ คิดแผนการเรียนรู้ไม่ได้นึกถึงเจตคติเลย แต่เรื่องที่เข้าไปทำคือการไปทำให้คนที่อยู่รอบข้าง ทั้งครู และเด็ก เกิดความรักและเห็นคุณค่าของภาษาที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับภูมิปัญญาไทย ปีการศึกษานี้ไม่ได้สอน แล้ว ได้แต่ทำงานกับครู แล้วครูไปทำงานต่อกับเด็ก ถ้าหากครูไม่ “อิน” กับสิ่งที่สอน ไม่มีใจให้กับสิ่งที่สอนก็ยากที่เด็กจะรู้สึกรัก หรือมีสมรรถนะที่ดีในการอ่านเขียน ก็เลยต้องทำให้ ครูทั้ง ๑๒ คน ที่สอนนักเรียนชั้น ๑ – ชั้น ๖ ระดับชั้นละ ๒ คนนี้ รู้สึกรักภาษาไทย และเห็นความพิเศษที่มีอยู่ในภูมิปัญญาไทย และภาษาไทยให้ได้ก่อน


เวลาทำงานกับครูก็เลยต้องค่อยๆ ดูว่าเขา “สนใจเรื่องนี้ไหม” “รู้จักเรื่องนี้ไหม” “เข้าใจเรื่องที่จะสอนแค่ไหน” แล้วก็ต้องเข้าใจความแตกต่างของครู ๑๒ คน ด้วยว่าเขาเรียนรู้อย่างไร เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันคิดกิจกรรมการเรียนรู้เรากับให้เด็ก ๆ ในแต่ละห้องให้เหมาะกับความสนใจและความถนัดของครูเพื่อครูจะได้ไปสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็ก แล้วให้พวกเขาได้เติบโตต่อไปได้อย่างที่เขาเป็น ซึ่งหมายความว่ากิจกรรมการเรียนรู้ที่คิดขึ้นนั้นจะต้องเป็นโจทย์ปลายเปิดเพื่อให้เด็กทุกคนคิดสร้างสรรค์ และเปิดเผยความสนใจของเขาออกมาในเงื่อนไขของการเรียนรู้ที่เราวางเอาไว้ได้อย่างเต็มที่


ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มคิดจากคำถามให้ครูเริ่มจากการประเมินชั้นเรียน และประเมินตนเองก่อนว่ามีอะไรอยากบอก มีอะไรอยากเล่า ความรู้เดิมของเด็กเป็นอย่างไร แต่เราจะมีเป้าหมายปลายทางรอไว้ในใจ แล้วค่อยๆ พากันเดินไปข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายปลายทางนี้จะหมายถึงทั้งทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และสมรรถนะ ที่ครูต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็ก หรือแม้แต่สร้างให้เกิดขึ้นกับคุณครูที่เราดูแลอยู่


คุณครูเล็ก อะไรทำให้ครูใหม่เห็นความแตกต่างของเด็กแต่ละคนได้อย่างละเอียด

ตอนอยู่รุ่งอรุณ ได้ทำงานกับเด็กพิเศษ ที่ตอนอยู่ชั้น ม.๒ ชอบอ่านแต่ ไม่ยอมเขียน ทำให้เราต้องใส่ใจมากๆ แล้วหาวิธีค่อยๆพาเขาไปทีละก้าว จากที่ไม่ยอมเขียนเลย ไปจนสามารถนำพาให้เขาสามารถเสนอความคิดออกมาได้อย่างเป็นลำดับ แต่งโคลงสุภาพได้ และเขียนงานในสมุดทุกชิ้นด้วยลายมือตัวอาลักษณ์ ตอนอยู่ชั้น ม.๔


คุณครูหนึ่ง ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ครูที่เห็นคุณค่าของงานแต่เด็กๆ ที่เรียนก็ยังเข้าถึงคุณค่านั้นด้วย เห็นได้จากการที่มีคุณแม่ท่านหนึ่งกลับมาเล่าให้ครูหนึ่งฟังว่า ลูกนำสิ่งที่เรียนในห้องไปบอกต่อให้กับคุณแม่ว่า “คุณแม่คะ...ถ้าได้อ่านได้ฟังอะไรแล้วอย่าทำเป็นกระต่ายตื่นตูม ฟังแล้วต้องพินิจพิเคราะห์” ทำให้อยากรู้ว่ารากแก้วของครูใหม่คืออะไร


ครูครูใหม่ ยังมีหนังสือเล่มสำคัญอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ “เครื่องเขินในเอเชียอาคเนย์” ที่เขียนโดย อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ อาจารย์คือผู้ที่นำพานำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความงามตั้งแต่อาทิตย์แรกที่ไปถึง มช. พอรับเราเข้าคณะไปปุ๊ปอาจารย์จับให้เราใส่เสื้อขาว นุ่งผ้าซิ่น แล้วพาเข้าพิธีสู่ขวัญที่ศาลาธรรม มีอาจารย์มณี พยอมยงค์มาเป็นหมอขวัญ มัดมือให้ เป็นภาวะของการพาเราเข้าสู่สัมผัสที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็น การเปลี่ยนผ่านจิตวิญญาณ ที่เป็นการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมโดยอาศัยทั้งเนื้อทั้งตัวเข้าไปรับรู้ เข้าใจ สืบต่อ สืบสาน

อาจารย์จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นเมื่อปีก่อน พวกลูกศิษย์ก็ช่วยกันซื้อ แล้วอาจารย์ก็ส่งไปรษณีย์มาให้ ในหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ อาจารย์เขียนอวยพรเอาไว้ว่า “ขอให้ใหม่ วิมลศรี มีความก้าวหน้าในชีวิต และเต็มไปด้วยพลังในการสืบต่อความดีงามทางศิลปวัฒนธรรมของชาติต่อไปอย่างมั่นคงและยืนยาว”

แต่ละคนมีเส้นทางที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเราเข้าสู่เส้นทางนี้ เราก็รับคำพรที่อาจารย์ได้ให้ไว้มาเป็นภาระของเราด้วยความเต็มใจ


หนังสือสำคัญอีกเล่มหนึ่งชื่อ “แกะรอยความคิด พินิจความเรียง ของศาตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช” เป็นหนังสือที่ตั้งใจทำให้อาจารย์เป็นของขวัญในโอกาสที่อาจารย์มีอายุครบ ๖ รอบ


ในหนังสือเล่มนี้มีคำที่อาจารย์เขียนเอาไว้ว่า ถึงจะไม่รู้อนาคต เราก็ช่วยกันทำงานเพื่อชีวิตอนาคตที่ดีของคนไทยได้” การเดินทางไปบนความไม่รู้เราต้องใช้ปัญญา ซึ่งเตือนใจเราเสมอว่าถึงเราจะกำลังเดินอยู่บนความไม่รู้ แต่เราก็จะช่วยกันทำเรื่องดีๆ เพื่อเด็กกันต่อไป และการทำงานกับเด็กก็ทำให้เราต้องใช้ย่างก้าวที่ระมัดระวัง

คุณครูเล็ก ครูนัทเคยบอกว่า “มีอะไรบางอย่างในเพลินที่ทำให้เราไปไหนไม่ได้” การพูดคุยในวันนี้ทำให้เราได้รู้ว่าอะไรบางอย่างที่เพลินคืออะไร



คำสำคัญ (Tags): #วิมลศรี ศุษิลวรณ์#เทพนิยายเอก ๕๐ เรื่อง#เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก#เครื่องเขินในเอเชียอาคเนย์#วิถี พานิชพันธ์#วิจารณ์ พานิช#จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์#แกะรอยความคิด พินิจความเรียง ของศาตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช#๕ นาทีกับศิลปไทย#บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ#สี่แผ่นดิน#เจตคติ#ถอดบทเรียน#ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์#นันทกานต์ อัศวตั้งตระกูลดี#จุฑาทิพย์ วงศ์สุรินทร์#ศรัณธร แก้วคูณ#สุจิตรา เลิศพิพัฒน์วรกุล#ชัญญานุช คมกฤส#น้ำผึ้ง วงศ์นุช#กลบท#หนังสืออ้างอิงวิชาภาษาไทย หลักภาษา#หลักสูตรภาษาไทยชั้นคละ#โรงเรียนรุ่งอรุณ#โรงเรียนเพลินพัฒนา#โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย#หนังสือสตรีสารภาคพิเศษ#พิษณุ กมลเนตร์#สาธิตา รามแก้ว#ภาคีพูนพลังครู#ครูเพื่อศิษย์#การออกแบบกระบวนการเรียนรู้#หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย#คณะวิจิตรศิลป์#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่#วรรณคดีไทย#ศิลปวัฒนธรรมไทย#ประภาภัทร นิยม#กิตติยวดี บุญซื่อ
หมายเลขบันทึก: 605181เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2016 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2016 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บทความนี้ละเมียดมาก ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท