ครูประจำชั้นมืออาชีพ


ลักษณะครูประจำชั้นมืออาชีพ[*]

เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ที่คอยคุ้มครองและให้ความอบอุ่นแก่นักเรียน ครูประจำชั้นจึงมีบทบาทไม่แตกต่างจากผู้ปกครอง ที่จะต้องให้ความใส่ใจ ส่งเสริม และพัฒนานักเรียนในด้านการเรียนและชีวิตอย่างเต็มที่ เพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบอยู่ ให้ผ่านพ้น และมีทักษะชีวิตเพิ่มสูงขึ้น จากความสำคัญดังกล่าว งานประจำชั้น จึงมิได้เป็นแต่เพียงการตรวจสอบการมาเรียนหรือการเข้าชั้นเรียน และการแจ้งข่าวสารของโรงเรียนเท่านั้น แต่ครูประจำชั้น ยังต้องหากลวิธีในการช่วยเหลือและส่งเสริมนักเรียนในหลากหลายด้าน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานประจำชั้น ครูผู้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ดูแลนักเรียนจำเป็นจะต้องมีลักษณะหลายประการ ที่เอื้อให้สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างประสบผลสำเร็จ ดังนี้

1. ช่างสังเกต ปัญหาของนักเรียนนั้น มีทั้งปัญหาที่ปรากฏโดยตรง เป็นปัญหาพฤติกรรมที่แสดงออกมาอย่างเด่นชัด เช่น การหนีเรียน การไม่ตั้งใจเรียน การแกล้งเพื่อน เป็นต้น ครูจึงต้องรู้วิธีการสังเกตปัญหาเหล่านี้ รวมถึงปัญหาภายใน อันได้แก่เรื่อง ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งบางครั้ง นักเรียนแสดงออกทางอ้อม ครูจึงต้องสังเกตพฤติกรรมที่บ่งชี้ เพื่อที่จะวิเคราะห์ปัญหาให้ตรงกับสาเหตุที่แท้จริง โดยสรุปแล้ว ครูจึงต้องเป็นผู้ที่ไวต่อความรู้สึกต่าง ๆ ของนักเรียนในชั้นของตนเอง

2. มีความสามารถในการสื่อสาร ครูจำเป็นจะต้องพัฒนาตนเอง ให้เป็นผู้ที่สามารถสื่อสารได้ดี รู้จักใช้ถ้อยคำที่ประกอบด้วยเหตุและผล ไม่ใช่อารมณ์ รู้วิธีการพูดคุย เพื่อจูงใจหรือโน้มน้าว เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความตรึงเครียดต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทั้งกับครู นักเรียน และผู้ปกครอง รวมถึงต้องมีความสามารถในการอธิบาย เล่าเรื่อง หรือจูงใจให้นักเรียนและผู้ปกครองปรับเปลี่ยนความคิดของตนเองในสถานการณ์ต่าง ๆ

3. สร้างความเชื่อมั่นศรัทธา ครูประจำชั้นต้องเป็นผู้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน ด้วยการไม่บอกเล่า หรือเผยแพร่ข้อมูลของนักเรียนที่มาปรึกษาปัญหาต่าง ๆ กับตนเองแก่ผู้อื่น เมื่อนักเรียนมาปรึกษา แสดงว่านักเรียนมีความไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวของครู ดังนั้น ครูประจำชั้นจะต้องไม่ทำลายความไว้วางใจของนักเรียน ด้วยการนำเรื่องของนักเรียนแต่ละคนไปเปิดเผย ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่น และสามารถที่จะปรึกษาและเปิดเผยเรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ครูสามารถเข้าไปดำเนินการให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

4. วางแผนและบริหารจัดการชีวิต ภาระงานในรายวิชาประจำชั้น เกี่ยวข้องกับการจัดภาระงานต่าง ๆ ที่นักเรียนจะต้องจัดการทำและส่งให้ตรงตามเวลาที่กำหนด ครูจะต้องมีทักษะในการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำนักเรียนเรื่องแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การสอนให้เรียงลำดับการทำงาน การจัดลำดับความสำคัญ การจดบันทึก และการนัดหมายการส่งงานต่าง ๆ เป็นต้น โดยครูสามารถแสดงตนเป็นแบบอย่าง เพื่อให้นักเรียนดูวิธีการวางแผนในการสั่ง ส่งและรับงาน ที่ควรดำเนินการอย่างเป็นระบบด้วยเช่นกัน

5. วางตัวอย่างเหมาะสม การติดต่อกับครูผู้สอนวิชาอื่น และผู้ปกครองของเด็ก ตลอดจนนักเรียน ครูจะต้องวางตนอย่างเหมาะสม รู้จักกาลเทศะต่าง ๆ ว่าสิ่งใดควรปฏิบัติต่อผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดความไว้วางใจในตัวครู นอกจากนี้ ครูยังจะต้องรู้จักการวางตัว ว่าควรวางตัวกับเด็กในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไร ในบริบทใดจะต้องใช้ความเข้มงวด หรือในบริบทใดจะต้องใช้ความนุ่นนวล เปลี่ยนบทบาทเป็นมิตร ครูควรจะต้องรู้จักการวางตัว เพราะจะช่วยให้นักเรียนสามารถที่จะพัฒนาตนเอง ในขณะเดียวกันก็ได้รับการสั่งสอนให้ประพฤติตนได้อย่างถูกต้อง

6. รู้จังหวะในการเข้าไปดำเนินการใด ๆ กับนักเรียน นักเรียนเมื่อโตขึ้น พวกเขาย่อมมีความคิด ภาวะหรืออารมณ์ความรู้สึกเป็นของตนเอง โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น เป็นช่วงที่มักจะทำตนแปลกแยกจากสังคม ไม่ชอบให้ใครมาบีบบังคับ หรือเข้ามาจัดการเรื่องชีวิตของตนเองมากจนเกินไป ครูประจำชั้นจึงต้องสังเกตโอกาสหรือจังหวะเวลา ที่ควรจะเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหา หรือให้คำปรึกษา ซึ่งจะต้องเข้าไปในจังหวะที่เหมาะสม ไม่ให้นักเรียนรู้สึกอึดอัด หรือคิดว่าตนเองกำลังถูกจับจ้องอยู่ โดยเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำ เฉพาะในยามที่จำเป็น และไม่พยายามที่จะชี้นำความคิด หรือบีบบังคับความรู้สึกของนักเรียนมากจนเกินไป และควรเปิดโอกาสให้เขาคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน นอกจากนี้ ในบางกรณีที่นักเรียนไม่สามารถที่จะตัดสินใจด้วยตนเองได้ อันเนื่องมาจากความเครียด หรือภาวะกดดัน ที่ทำให้หาทางออกด้วยตนเองไม่ได้ ครูประจำชั้น จะต้องสามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนอย่างทันท่วงที และไม่ปล่อยให้นักเรียนต้องเผชิญปัญหาอยู่เพียงลำพัง

งานประจำชั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นวิชาหรือกิจกรรมที่เปลี่ยนบทบาทของครู ให้กลายเป็นคนในครอบครัวของนักเรียน ที่นักเรียนสามารถที่จะไว้วางใจ รับฟังคำปรึกษา หรือแลกเปลี่ยนความคิดของตนเอง เพื่อที่จะช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในระหว่างการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตทั้งที่บ้านและโรงเรียน ด้วยเหตุนี้ ครูประจำชั้นมืออาชีพ จึงต้องเป็นผู้ที่มีทักษะการสังเกต รู้จักสื่อสารวางตนได้อย่างเหมาะสม ไม่เปิดเผยเรื่องของนักเรียนแก่ผู้อื่น ส่งเสริมให้นักเรียนวางแผนชีวิตของตนเองเป็น และเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนตามจังหวะเวลาและโอกาสที่เหมาะสม

________________________________________________________________________



[*] บทความนี้ได้พื้นฐานแนวคิดจากนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคปลาย ปีการศึกษา 2558 ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาประสบการณ์วิชาชีพครู 1 กลุ่มการเรียนที่ 1 ซึ่งมีผู้เขียนเป็นอาจารย์ผู้สอนประจำกลุ่ม

หมายเลขบันทึก: 601319เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2016 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2016 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ถ้าคุณครูทำได้แบบนี้จริงๆ จะช่วยให้เด็กๆมีที่พึ่งพาและน่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคมในปัจจุบันได้ไม่น้อยเลยนะคะ

ชอบบทความแบบนี้ครับ

เขียนจากความจริงเรื่อจริงที่เกืดขึ้นในการเป็นอาจารย์ผู้สอนประจำกลุ่ม

ขอบคุณมากครับสำหรับเรื่องดีๆ

รออ่านอีกครับ หายไปนานสบายดีไหมครับ

"ครูประจำชั้นมืออาชีพ" เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งออกวางตลาดเช่นกัน ;)...

การเรียนที่เข้มข้นในช่วงหลัง ๆ มา ทำให้มีโอกาสนำงานเขียนของตนเองมาเผยแพร่น้อย อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ลืมว่า ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของตนเองครับ ยังคงทำงาน สอน บรรยาย และอยู่กับลูกศิษย์ที่มีทั้งครูและนักเรียน อย่างสบายดีครับ ขอบพระคุณที่ติดตามและให้ความสนใจครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท