​PMAC 2016 : 4. เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพสุขภาพ


เป้าหมายหลักของการศึกษาวิชาชีพสุขภาพคือออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างสุขภาวะที่ดี ให้แก่ผู้คนในสังคม และสร้างความเป็นธรรม หรือความเท่าเทียม ด้านสุขภาพ (health equity) ซึ่งหากไม่ระวัง อาจพลาด กลายเป็นสร้างความไม่เป็นธรรม (health inequity)

PMAC 2016 : 4. เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพสุขภาพ

เช้าวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๙ ใน Side Meeting เรื่อง After the commission report and WHA resolution : What happens and what’s next on Transformative Health Workforce Education and Training to support UHC? มีการพูดกันถึงด้านบวกและด้านลบของวิชาชีพ ทั้งโดย Prof. Lincoln Chen และโดย ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา

สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคย การประชุม Side meeting นี้ เป็นเรื่องความคืบหน้าของการพัฒนาการศึกษา ของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ ที่ผมบันทึกไว้มากมาย ที่นี่

ดูจากสไลด์ข้างล่าง จะเห็นว่าในหลายกรณีสิ่งที่เป็นโทษก็คือด้านบวกของวิชาชีพนั่นเอง แต่มีมากเกินพอดี เช่นความรักความภูมิใจในเทคโนโลยีของวิชาชีพ เมื่อมีมากเกินไป กลายเป็นลัทธิคลั่งวิชาชีพ (professional chauvinism)

การมีความรู้เป็นสิ่งดี ยิ่งแบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้อื่นยิ่งดี แต่หากมีความรู้แต่รักและหวงแหนความรู้ไว้กับตน ปกปิดไม่ให้ผู้อื่นได้รับความรู้นั้น ก็เป็นด้านลบ

ด้านดีของวิชาชีพคือการให้บริการ แต่หากเบี่ยงเบนไปเน้นการทำมาหากินเพื่อความมั่งคั่งเกินควร จนเบียดเบียนผู้อื่นและสังคม ก็กลายเป็นด้านลบ

การมุ่งเน้นคุณภาพของบริการเป็นสิ่งดี แต่เมื่อเลยเถิดไปเป็นแบ่งสาขาเชี่ยวชาญจนเกินไป (over-specialization) ก็เป็นผลร้ายต่อระบบสุขภาพมากกว่าผลดี

เป้าหมายหลักของการศึกษาวิชาชีพสุขภาพคือออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างสุขภาวะที่ดี ให้แก่ผู้คนในสังคม และสร้างความเป็นธรรม หรือความเท่าเทียม ด้านสุขภาพ (health equity) ซึ่งหากไม่ระวัง อาจพลาด กลายเป็นสร้างความไม่เป็นธรรม (health inequity)

ในการประชุมนี้ เราได้ฟัง keynote speech เรื่อง Lancet Commission : Five Years Afterwards ของ Prof. Lincoln Chen ที่กล่าวย้ำประเด็นสำคัญ ของความร่วมมือของระบบสุขภาพและระบบการศึกษา เพื่อหมุนวงล้อของความเจริญก้าวหน้าของสุขภาพ สู่ health equity

ท่านได้ยกตัวอย่างระบบสุขภาพของประเทศจีน ที่เกิดความผิดพลาดในการดำเนินการเชิงระบบ ทำให้เกิดวงจรแห่งความตกต่ำ (vicious cycle) ที่ตัวต้นเหตุอยู่ที่ขาดแคลนบริการสุขภาพปฐมภูมิ ผู้ป่วยต่างก็วิ่งเข้าหาโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ทำให้โรงพยาบาลมีคนแน่นล้นเกิน หมอมีเวลาตรวจและพูดกับคนไข้น้อยมาก มีคนไข้ไม่พอใจถึงกับทำร้ายหมอก็มี



หลังจากนั้นเป็นการนำเสนอของวิทยากร ๔ ท่าน ได้แก่

  • Transformative Health Workforce Education and Training to Support UHC : Community – Engaged Medical Education โดย Professor Roger Strasser, Professor of Rural Health, Dean and CEO, Northern Ontario School of Medicine, Canada เล่าเรื่องหลักสูตรการศึกษาแบบที่เรียกว่า Community Engaged Medical Education สำหรับผลิตแพทย์เพื่อทำงานในภาคเหนือของรัฐออนทาริโอ ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ มีคนอยู่กระจายในชนบท หลักสูตร ๔ ปี (นักศึกษาต้องจบปริญญาตรีมาก่อน) จัดเป็น Theme ไม่ใช่จัดเป็นวิชา (Subject)
  • โครงการวิจัยและพัฒนาที่อำเภอห้วยยอด จ. ตรัง เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ทางสุขภาพ โดย ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เป็นเรื่องที่จะลงบันทึกในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
  • How to reform health workforce education and research to support UHC through demographic transition in Japan? โดย Professor Kenji Shibuya, Professor and Chair, Department of Global Health Policy, Graduate School of Medicine, The University of Tokyo, Japan เล่าเรื่องทีมคิดระบบสุขภาพใน ๒๐ ปีข้างหน้าของญี่ปุ่น ท่านเป็นหัวหน้าทีมคือ Health Care 2035 ของประเทศญี่ปุ่น ที่ท่านคุยกับ รมต. สาธารณสุขทุกวัน คุยกับนายกรัฐมนตรีทุกเดือน
  • Transformative Health Workforce Education at Karolinska Institute (Sweden) with a Nordic Network Dr. Tanja Tomson, Director, Center for Clinical Education at Karolinska Institute, Stockholm, Sweden เล่ากิจกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน เพื่อผลิตบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ ให้เป็นแบบ Transformative Learning

ผมได้รับ feedback จากอาจารย์ไทยที่มาร่วมว่า ทำให้ได้แรงบันดาลใจต่อการเปลี่ยนแปลง และเห็นลู่ทางนำวิธีการไปใช้ และมีนักศึกษาแพทย์วุฒิภัทร เอี่ยมมีชัย เอาหนังสือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง มาให้เซ็นชื่อ และบอกว่า สนใจเรื่องการเล่นละครเป็นเครื่องมือของ transformative learning

ผมได้ความคิดว่า สังคมต้องมี “พื้นที่” ให้คนที่มีความฝันทำเพื่อสังคม ได้มาชุมนุมกัน และ PMAC ได้ค่อยๆ เข้ามาทำหน้าที่นี้สำหรับวงการสุขภาพ

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ม.ค. ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 600028เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2016 05:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2016 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบคำนี้ "ลัทธิคลั่งวิชาชีพ"
อาการรีบ หากิน แบบหวงแหน
คุณภาพ เฉพาะทาง ดูไม่แมน
ทิ้งแร้นแค้น ทิ้งธรรม นำไม่ไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท