ประสบการณ์นอนโรงพยาบาล


ตามปกติเราเป็นคนสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วยถึงขั้นนอนโรงพยาบาลมาก่อน แต่ก็ม๊โรคเรื้อรังที่ต้องควบคุมตลอดไป อย่างไรก็ตาม ช่วงสี่เดือนที่ผ่านมาต้องแอดมิทถึงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2558 ป่วยด้วยการติดเชื้อในกระแสโลหิต เพาะเชื้อพบ เชื้อ สเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป บี มีอาการไข้หนาวสั่นอยู่สองวันถ่ายปัสาวะทั้งคืน กินยาพารา ก็ไม่รู้สึกว่าดีขึ้นเลย รุ่งเช้าเห็นท่าจะไม่ใช่ไข้ธรรมดา รีบแต่งตัวเตรียมเสื้อผ้า เครื่องใช้ กะว่าต้องขอหมอนอนโรงพยาบาล แล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุดคือ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีอาจารย์หมอเป็นผู้ดำเนินการตรวจรักษาทั้งสิ้น ค่าใช้จ่ายนอกจากเสียค่าแพทย์และบริการแล้ว ก็เก็บในอัตราของโรงพยาบาลมหาราช(สวนดอก) ใช้สิทธิเบิกตรงได้ ดังคาดหมอให้เข้าพักรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากเพิ่งเปิดใหม่ อาคารสถานที่ เครื่องมือใหม่เอี่ยม ห้องพักหรูเริด เราน่าจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ประเดิม ทำให้มีความน่ารื่นรมย์มากกว่าความหดหู่เศร้าหมองที่ต้องเข้าโรงพยาบาล อีกประการหนึ่งเมื่อเราถึงมือหมอซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์แล้วก็เกิดความเชื่อมั่นว่าเราจะปลอดภัย

เมื่อเข้าพักเรียบร้อยแล้วก็เริ่มมีทีมพยาบาลมาเก็บตัวอย่างเลือด และปัสสาวะหลายกระบอก และให้ยาฆ่าเชื้อและโปตัสเซียม ก่อนที่จะรู้ผลการเพาะเชื้อซึ่งต้องใช้เวลาสามวัน และมีการตรวจวัดต่าง ๆถี่มาก ระยะนี้ปรากฏว่าผิวหนังบริเวณน่องและเท้าแดงจัดและบวม ปวดเมื่อยเจ็บไปทั้งตัว วันทีสามมีแพทย์ติดเชื้อเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของไข้ มีทีมแพทย์สมอง หัวใจ ปอด ไตเข้ามาตรวจ และใช้เครื่องมือต่าง ๆตรวจวัด เมื่อปรากฏเชื้อที่แน่นอนแล้วแพทย์ติดเชื้อก็เปลี่ยนยา และโดสยา ปรากฏว่าเชื้อที่เราได้รับเป็นกลุ่มที่รุนแรงถ้ามาไม่ทันก็อาจจะวิกฤติได้ เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ดาราฉัตรไชย เปล่งพานิชเคยติดซึ่งกรณีของเขารุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ของเราเกิดอาการที่ผิวหนัง และก่อนหน้านั้นไม่นานก็มีข่าวนักศึกษาคนหนึ่งต้องตายหลังจากกินหมูกะทะไม่นาน และแพทย์ตรวจพบการติดเชื้อ สเตร็ปโตคอคคัส กรุ๊ป บี ตัวเดียวกันนี้

ผลการตรวจระบบต่าง ๆแล้วทุกระบบปลอดภัย เชื่้อยังไม่ไปทำลายระบบเหล่านั้น แพทย์ติดเชื้อโล่งอกไปขั้นหนึ่ง และชมว่าเรามาโรงพยาบาลเร็วและแพทย์เจ้าของไข้ที่แอดมิทเราก็ให้การรักษามาถูกทางตั้งแต่แรกทำให้อาการไม่รุนแรงเหมือนกรณ๊อื่น ๆ และการลุกนั่งของเราดูแข็งแรงกว่าที่ควร ทั้ง ๆที่เรามีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ระยะนี้อาการบวมแดงก็ยังไม่ทุเลาเบาบางมากนัก แต่ไม่มีอาการอื่นใดที่รบกวน ไม่ปวดหัวตัวร้อน คลื่นไส้ อาการปวดเมื่อยหายไปในสองสามวัน แต่ทานอาหารไม่ค่อยได้(เพราะไม่อร่อยเลย) นอกจากผลไม้แก้วมังกร และน้ำข้าวต้มสี่ห้าช้อน น้ำหนักหายไปหลายกิโลทีเดียว ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่พึงปรารถนา

นอนให้ยาทางเส้นเลือดอยู่ทั้งสิ้นสิบสองวัน เมื่อเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแล้ว และขาหายบวมแดงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หมอก็ให้กลับมารักษาทางยาต่อที่บ้าน โดยนัดมาพบทุกสัปดาห์อยู่ 5 ครั้ง ขณะนี้หมอให้ฉีดวัคซนป้องกันไข้หวัด สี่สายพันธุ์(ซึ่งไม่รวมเมอร์ส) เข็มต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็น วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ ฉีดเข็มเดียวมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต เสียค่าใช่้จ่ายรวมทั้งสิ้น สามพันบาทนับว่าคุ้มมาก กันไว้ดีกว่าแก้ จะต้องแนะนำให้ญาติ ๆมาฉีดด้วย ถามหมอเรื้องฉีดวัคซีนไข้เลือดออก หมอบอกว่ายังไม่มี จะมีปีหน้า ตอนนี้ให้ระวังยุงลายทั้งกรุงเทพและเชียงใหม่มียุงลายชุกชุม

ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลเราก็ระมัดระวังตัวมากขึ้นในการใช้ชีวิต ไม่ค่อยออกไปอยู่ในที่มีคนมากมายมาชุมนุมกัน ไปรับยาที่ รพ นั่งเครื่องบินก็ไม่ลืมที่จะเอาหน้ากากอนามัยมาปิดปากปิดจมูกไว้ การกินอาหารต้องให้ร้อนและสุก งดของหมักดอง อาหารทะเลเช่นกุ้งไปอีกนาน ๆตามคำแนะนำของแพทย์

แต่แล้วเมื่อกลางเดือนนี้ต้องเข้าแอดมิทอีกครั้งด้วยโรคอาหารเป็นพิษ หลังจากอาเจียนและถ่ายไม่หยุดสามวันรวด กินยาก็ไม่ดีขึ้น นึกกลัวการติดเชื้อร้ายแรงอีก และคิดว่าสัมพันธ์กับการติดเชื้อคราวที่แล้วหรือเปล่า เลยรีบแจ้นไปโรงพยาบาลเดิม หาหมอคนเดิม เนื่องจากหมอตรวจแล้วมีอาการอ่อนเพลียมากก็สั่งนอนให้กลูโคสและเกลือแร่ และเพาะเชื้อ เพียงสองวันก็มีอาการดีเกือบปกติจึงขอออกมาทำธุระที่นัดหมายไว้ก่อน หมอไม่อยากให้ออกแต่ก็อนุญาต ตอนนี้ทราบแล้วว่าเพาะเชื้อไม่พบอะไรร้ายแรงเป็นเพียงอาหารเป็นพิษเล็กน้อย

อาหารที่กินก่อนหน้าเกิดอาการคือ มะขามหวาน และอ่อมเครื่องในหมู ไม่น่าเลยเรา เข็ดแล้ว จะไม่ขอกินอีกต่อไป

ประสบการณ์นอนโรงพยาบาลของเราถือว่าไม่เลวร้ายเกินไป ขณะที่นอนรักษาตัวระยะแรกเราห้ามสุภาพบุรุษที่เฝ้าไข้เราบอกเพื่อนฝูงและญาติเพราะความเจ็บไข้ทำให้ไม่อยากพูดคุยรับแขกเลย อยากอยู่เงียบ ๆ พยาบาลแต่ละคนน่ารักมากยิ้มแย้มพูดคุย เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ต่อเมื่อหลังจากหกเจ็ดวันผ่านไปจึงบอกพีน้องที่อยู่กรุงเทพ ฯให้ทราบและบอกว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ไม่ต้องมาเยี่ยม แต่พวกเขาก็ผลัดมากันสองชุด ชุดละสามคน มานอนเฝ้าไข้เราที่ห้องนั่นเอง เมื่อมาก็เห็นว่าเราสดชื่นดี จึงออกไปเที่ยวเชียงใหม่กัน หาซื้อของกินอร่อย ๆมายั่วเรา ข้อดีที่สุภาพบุรุษเฝ้าไข้เราชอบมากก็คือได้กลับไปนอนบ้าน และเลี้ยวแมวสิบตัวโดยไม่ต้องรีบร้อนกลับมาโรงพยาบาล

มาคิดทบทวนดูว่าเราคิดฟุ้งสร้านเรื่องใดบ้างหรือไม่ขณะที่นอนเงียบ ๆอยู่คนเดียว ก็พบว่าเราไม่มีอะไรที่รบกวนจิตใจเลย ไม่ได้คิดเรื่องใดเลย จิตใจเฉย ๆ นิ่ง ๆ เป็นไปได้หรือ อย่างน้อยก็ควรคิดถึงความเจ็บป่วยของตนเองบ้าง คิดถึงอนาคต วางแผนชีวิตหลังจากนี้ แต่ไม่เลย นับว่าแปลก หรืเราเป็นอัลไซม์เมอร์อย่างอ่อน ไม่นะ เอาแบบประเมินที่เคยได้มาทำ ก็ปรกติดี

วันนี้เราคิดถึงเรื่องการบริการของโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทั่วไป เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกโรงพยาบาลใหญ่มักจะมีคนไข้มารอรับการรักษามากมายทำให้แพทย์ให้เวลากับคนไข้ได้น้อย และดูท่านต้องรับภาระหนักในแต่ละวัน ผิดกับโรงพยาบาลที่เราไปรักษา คนไข้มีจำนวนพอดี และแพทย์จะตรวจรัษา ซักถามอย่างละเอียด ให้เวลากับคนไข้ได้หลายนาที อยากให้มีสถาพเช่นนี้ทุกโรงพยาบาล นั่นหมายถึงต้องกระจายแพทย์ และโรงพยาบาลให้ทั่วถึง ให้อัตราส่วนแพทย์ ต่อคนไข้ต่ำลงให้ได้ ไม่ต้องรอจนประเทศนี้เป็นประเทศร่ำรวย

ห้องพักคนไข้ในสำหรับคนไข้ทั่วไปที่เรียกว่าคนไข้อนาถาควรมีสภาพดีกว่าปัจจุบันอีกหลายเท่า มีจำนวนเตียงพอเพียง และถ้าไม่ปรับอากาศ ก็ควรมีการระบายอากาศที่ดี มีพัดลมทั่วถึง ไม่น่าภาคภูมิใจนักที่เรามีสถานพยาบาลที่มีห้องพักราคาแพงลิบลิ่วกว่าโรงแรมห้าดาวเพื่อคนไข้ หนึ่งคนแต่ไม่มีเตียงให้คนไข้อีกจำนวนมากที่ต้องนอนรออยู่ตามช่องว่างข้างลิฟท์ ตามระเบียง แพทย์ และพยาบาลทั่วไปก็คงต้องการสภาพการทำงานที่เหมาะสมเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 599936เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2016 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2016 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอให้มีสุขภาพดีตลอดไปครับ

โรงพยาบาลของรัฐบางที

คนไข้มาก

รอคิวยาว นอนล้นมานอกตึก

แต่ของเอกชนบางแห่งแพงมากเหมือนโรงแรม 5 ดาว

ต่างกันจริงๆครับ

โล่งใจที่สุขกายสบายดีแล้ว เป็นกำลังใจให้นะคะ...ได้เรียนรู้สาเหตุของโรคนี้ด้วย ...

ขอให้ท่านอาจารย์แข็งแรงตลอดไปนะครับ ความเจ็บป่วยไม่เข้าใครออกใครเลย บันทึกของอาจารย์ทำให้เกิดเหตุการณ์จริงไปด้วย ทำให้เห็นว่า ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ แต่เมื่อป่วยแล้ว ได้เรียนรู้และแบ่งปันเรื่องราวด้วยยิ่งประเสริฐมากขึ้น ด้วยความเคารพครับ

Oh, I was wondering about you. Now we know.

Good recovery!

Hospitals (that I went to) had given me new sense of 'our' world. Armies of associated service providers (or workers) tend to us like we are queens (in a swarm).

And yes last time I went a provincial hospital in Thailand (for an allergy complaint), I got a completely different sens. As you say

"...ห้องพักคนไข้ในสำหรับ คนไข้ทั่วไปที่เรียกว่าคนไข้อนาถาควรมีสภาพดีกว่าปัจจุบันอีกหลายเท่า มีจำนวนเตียงพอเพียง และถ้าไม่ปรับอากาศ ก็ควรมีการระบายอากาศที่ดี มีพัดลมทั่วถึง ไม่น่าภาคภูมิใจนักที่เรามีสถานพยาบาลที่มีห้องพักราคาแพงลิบลิ่วกว่าโรงแรม ห้าดาวเพื่อคนไข้ หนึ่งคนแต่ไม่มีเตียงให้คนไข้อีกจำนวนมากที่ต้องนอนรออยู่ตามช่องว่างข้าง ลิฟท์ ตามระเบียง แพทย์ และพยาบาลทั่วไปก็คงต้องการสภาพการทำงานที่เหมาะสมเช่นกัน..."

I have no doubts that doctors and nurses and other hospital staff will love to work in better environment. Patients and their relatives of course would have nothing but better facilities.

But for now, take it easy. Keep in health! You hear?

ดีใจที่อาจารย์หายป่วยไข้สบายดีแล้วนะคะ

มุมมองคนไข้ของอาจารย์ต่อการมองภาพรวมบริการสุขภาพประเทศเราชัดเจนมากค่ะ

หลายระดับ หลายฝ่าย ยังต้องช่วยกันพยายามอีกมากค่ะ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำนั้นจะแคบลง

สำคัญมากที่เราเองต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุดนี่ละคะ

ให้เหลือปัจจัยกำหนดสุขภาพที่ควบคุมได้น้อยนั้น ... น้อยที่สุด

ลดโอกาสที่ต้องฝากชีวิตไว้กับระบบสุขภาพ ที่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท