ข้าวเม่า ประเพณีถิ่นไทย


นายวิทวัส อันตาผล ผู้เขียน

เก็บ แช่ คั่ว ตำ ฝัด ข้าว คนแก่เฒ่ารักษาไว้

กลิ่นเม่าหอมรัญจวนใจ ข้าวเม่าไทยคงอยู่นาน


ข้าวเม่า เป็นอาหารยอดนิยมในอดีต ชาวไทยเราส่วนใหญ่จะนำข้าวเม่ามาทำเป็นขนมที่นิยมกินมาตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงมีการตำข้าวเม่าขึ้นในแต่ละท้องถิ่น สืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณีตำข้าวเม่า

ประเพณีการตำข้าวเม่า เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว หลังจากที่ชาวนาปลูกข้าวมาได้ระยะหนึ่ง ในระยะที่ข้าวค่อนข้างจะแก่ ใกล้ระยะเก็บเกี่ยว ชาวนาจึงนิยมเก็บเกี่ยวข้าวนั้นมาตำเป็นข้าวเม่า ข้าวที่สามารถนำมาทำข้าวเม่าได้นั้นเป็นได้ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว

ข้าวเม่าจัดเป็นอาหารหวานอย่างหนึ่งของชาวไทยที่ประกอบอาชีพทำนา ชาวนาจะนำข้าวแก่ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ นำมาคั่ว ตำ แล้วนำไปรับประทานได้เลย ถ้าทำสุกใหม่ ๆ ก็จะนิ่ม หรือบางคนก็จะนำไปคลุกเคล้าด้วยน้ำตาลทราย มะพร้าวและเกลือ รับประทานเป็นอาหารว่างแทนขนมหวาน

ปัจจุบัน การตำข้าวเม่ากำลังจะสูญหายไปจากชาวนาไทย เนื่องจากสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป จากสังคมเกษตรกรรม กลายมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม แต่ในบางท้องถิ่นก็ยังคงมีประเพณีตำข้าวเม่า เนื่องจากสภาพชีวิตของชุมชนยังมีความผูกพันอยู่กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

การตำข้าวเม่าเป็นประเพณีหนึ่งซึ่งนอกจากจะนำความสนุกสนานรื่นเริงมาสู่ชาวบ้านแล้วยังทำให้ได้กินของอร่อย และสามารถตากแห้งเก็บไว้กินได้ตลอด ทั้งปี

ยุคก่อนนั้น การตำข้าวเม่ามักจะทำในเวลากลางคืน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นช่วงคืนเดือนหงาย ในระหว่างคั่วข้าวเม่าบนเตาไฟจะมีประเพณีการเล่น เช่น การร้องรำรองแง็ง

การตำข้าวเม่า จะทำในช่วงระยะเวลาที่ข้าวออกรวง เมล็ดข้าวมีสีเหลืองอมเขียวหรือมีสีเหลืองเกือบทั้งรวง ชาวนาก็จะเก็บเกี่ยวและมัดรวมเป็นกำ ๆ จากนั้นก็นำรวงข้าวมาวางบนกระด้งใบใหญ่ ใช้เท้าเหยียบย่ำลงบนรวงข้าวที่นำมากองรวมกัน (เรียกว่า "การนวดข้าว") จนกระทั่งเมล็ดข้าวหลุดร่วงออกมาจากรวงหมด หลังจากนั้นฝัดเอาเมล็ดข้าวที่ลีบออกให้หมด นำไปใส่กระบุง ใช้เกลือป่นโรยลงไปพอประมาณ ต่อจากนั้นก็ก่อไฟ เมื่อไฟติดดีแล้วตั้งหม้อดินหรือกระทะขนาดใหญ่ ใช้ถ้วยแกงตักเมล็ดข้าวในกระบุงหนึ่งถึงสองถ้วย ใส่ลงในหม้อดินหรือกระทะ ใช้ไม้ไผ่เหลาปลายแหลมยาวประมาณศอกเศษ ตรงปลายแหลมเสียบติดกับกาบมะพร้าวที่มีเปลือกติดอยู่ ตัดสั้นขนาดหนึ่งฝ่ามือตามขวาง ใช้สำหรับคนเพื่อให้เมล็ดข้าวในหม้อดินหรือกระทะถูกความร้อนได้ทั่วถึงกัน จนกระทั่งได้ยินเสียงข้าวในหม้อดินหรือกระทะแตก แล้วให้รีบยกลง เทข้าวลงในครกแล้วช่วยกันตำ การตำก็จะตำด้วยสากมือหรือครกกระเดื่อง ซึ่งทำจากไม้แก่น มีความยาวประมาณหนึ่งวา สลับกันตำสองหรือสามคน ลงสากไล่กันไป จนกว่าเม็ดข้าวจะแบนเป็นข้าวเม่า สังเกตเมล็ดข้าวจะมีลักษณะลีบแบนทั่วทั้งหมด แล้วนำมาใส่ในกระด้ง แล้วฝัดแยกส่วนที่เป็นผงหรือป่นมาก ๆ ออก แล้วนำไปเก็บในภาชนะ

ปัจจุบันข้าวเม่าไม่ถือว่าหมดไปจากสังคมไทยเสียเลยทีเดียว เพราะยังมีข้าวเม่าวางขายทั่วไปตามท้องตลาด หากแต่กระบวนการทำ ประเพณีอันงดงาม กลิ่นอายท้องทุ่งนาและความสมัครสมานสามัคคีของผู้คนที่มารวมตัวกัน ในการทำข้าวเม่านั้นหายากเสียเต็มที ชาวบ้านใหญ่ หมู่ที่5 ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ยังคงหลงใหลใคร่ในกลิ่นอายของประเพณีตำข้าวเม่า จึงคงอนุรักษ์ตำข้าวเม่าช่วงปลายมกราคมไว้ตราบเท่าทุกวันนี้


ขอขอบคุณผู้ให้ข้อมูล : นายส้าเหล็น คาวิจิตร นายก้อเส็ม โบบทอง นายชวกร โบบทอง และชาวบ้านใหญ่

หมายเลขบันทึก: 599931เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2016 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2016 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท