โครงการพัฒนาสุขภาพชุมชน : ว่าด้วยการถ่ายทอดความรู้ในมิติ "เรียนรู้คู่บริการ"


การขอรับองค์ความรู้จากชุมชนเช่นนี้คือหลักคิดที่เชื่อและศรัทธาว่า “ชุมชนคือคลังความรู้” และการเรียนรู้คู่บริการเช่นนี้ คือมิติของการจัดการความรู้ร่วมกัน เป็นการลดช่องว่าง หรือลดความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนไปในตัว



วันที่ 20 ธันวาคม 2558 เป็นอีกวันที่โครงการพัฒนาสุขภาพชุมชนถูกออกแบบกิจกรรมเต็มวัน

ภาคเช้าประกอบด้วยการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลระบบสุขภาพของสัตว์เลี้ยง โดยนิสิตจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ และกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพยาธิตืด (พยาธิตัวตืด) โดยนิสิตคณะแพทยศาสตร์

ส่วนภาคบ่ายเป็นกิจกรรมอบรมเกี่ยวกับการบริหารกายแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายและเรื่องคุณและโทษจากการใช้ยาสเตียรอยด์ โดยนิสิตคณะแพทยศาสตร์

และอีกหนึ่งคณะ คือ คณะวิทยาการสารสนเทศที่ต้องนั่งคิ้วขมวดปวดนิ้วกับการนำข้อมูลลงโปรแกรมเพื่อจัดทำแผนที่ GIS ให้กับชุมชน โดยปักฐานทัพทำงานกันที่ อบต.นาดี




สัตวแพทย์ : เติมความรู้คู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

แรกเช้า- เปิดเวทีด้วยกิจกรรมของนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องสำคัญๆ คือ การดูแลและปฐมพยาบาล เบื้องต้นเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง โดยเน้นไปที่สัตว์ใหญ่ที่ศึกษาจากชุมชน คือ “โค” (วัว) เช่น ท้องอืด มดลูกทะลัก รกค้าง คลอดยาก รวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดยาคุมกำเนิดสุนัขและแมว (ทั้งผลดีและผลกระทบ) ตลอดจนเรื่อง “พรบ.ที่ว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์”



ด้านกระบวนการ- นิสิตเน้นการบอกเล่าและบรรยายผ่านสื่อที่ฉายเด่นขึ้นจอโปรเจคเตอร์ ซึ่งมีทั้งที่เป็นอักษรและภาพประกอบ ช่วยให้ชาวบ้านเห็นภาพความเป็นจริง หรือกรณีศึกษาควบคู่กันไป ผสมผสานกับการตอบข้อซักถามและการถามกลับไปยังชุมชนเกี่ยวกับ “ความรู้-ภูมิปัญญา” ที่ชาวบ้านใช้ในการเลี้ยงและรักษาอาการต่างๆ ของสัตว์เลี้ยง




ว่าไปแล้ว – นั่นคืออีกหนึ่งกระบวนการของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (knowledge sharing) อย่างน่าชื่นใจ หรือในอีกมิติก็คือการเรียนรู้คู่บริการ (Service Learning) อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะทั้งนิสิตและชุมชนล้วนเป็น ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ไปพร้อมๆ กัน เสมือนการบูรณาการระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นั่นเอง

และนั่นยังไม่รวมถึงกระบวนการหนุนเสริมเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมอื่นๆ เช่น การแจกของรางวัลให้กับชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม-ตอบข้อซักถาม-แบ่งปันความรู้ ซึ่งทั้งปวงนั้นได้ช่วยเสริมแต่งบรรยากาศในเวทีให้คึกคักและมีชีวิตเป็นอย่างดียิ่ง

เสียดายก็แต่กิจกรรมนี้ยังไม่สามารถสกัดความรู้สู่เอกสาร หรือโปสเตอร์ได้ทัน ผมจึงได้แต่ฝากข้อคิดกับนิสิตและอาจารย์ที่ดูแลในทำนองว่า “...หากสมารถจัดทำชุดความรู้เป็นสื่อได้ จะเกิดประโยชน์กับชุมชนค่อนข้างมาก เพราะชาวบ้านสามารถถือกลับไปอ่านเพิ่มเติมที่บ้านได้ บางส่วนก็สามารถขยายผลไปสู่สื่อการเรียนรู้ในระดับแกนนำชุมชน หรือเผยแพร่เข้าสู่โรงเรียน หรืออื่นๆ ได้อีก...”




ตัวตืด : ภัยเงียบแห่งบ้านปอแดง

เรื่องของพยาธิตัวตืดเป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่ค้นพบจากการศึกษาชุมชนและวินิจฉัยชุมชนในแบบ A-I-C โดยหลักๆ แล้วมาจากการบริโภคโคและหมูแบบดิบๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบที่เลี้ยงกันในชุมชน

การถ่ายทอดความรู้ในประเด็นนี้เป็นความรับผิดชอบของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งนิสิตได้ตั้งประเด็นผ่านวาทกรรม “พยาธิตัวตืด : ภัยเงียบแห่งบ้านปอแดง”



กระบวนการเน้นการนำเสนอผ่านสื่อคล้ายๆ กับที่นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ ด้วยการบรรยาย/บอกเล่า ตั้งคำถาม-ตอบข้อซักถาม-แจกของรางวัล

นอกจากนี้ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็จะเป็นแผ่นชาร์ต-โปสเตอร์ประกอบการบรรยาย มีคลิป หรือที่เรียก “หนังน้อย” มาให้ชาวบ้านได้ดูได้ชมกันแบบใกล้ชิด บางเรื่องและบางภาพถึงขั้นทำเอาแต่ละคนเกิดอาการคลื่นไส้จะอาเจียนกระอักกระอ่วนที่จะทานข้าวเที่ยงไปตามๆ กัน

แต่ทั้งปวงนั้นก็ทำให้รู้และเข้าใจโดยง่ายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของโรคพยาธิตัวตืด วงจรการเติบโตและการแพร่ระบาดของพยาธิ อาการของผู้ป่วย หรือผลกระทบที่มีต่อระบบสุขภาพ ฯลฯ

หรือกระทั่งพอรู้สึกว่าชาวบ้านเหนื่อยและอ่อนล้า ก็หยุดกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้แล้วหันมาร้องเพลงให้ฟังแทน !



และที่ผมชอบมากก็คือ ในขณะจัดกิจกรรมจะมีการกระจายนิสิตยืนเป็นวงห้อมล้อมอยู่ด้านหลัง คอยกระตุ้นการมีส่วนร่วม หรือกระทั่งคอยประเมินพฤติกรรมการถ่ายทอดความรู้ของนิสิตและการรับรู้ของชาวบ้าน

รวมถึงที่ชื่นชอบอีกประการคือ ก่อนการจัดกิจกรรมจะมีแบบทดสอบก่อนการเรียนรู้ (Pre test) พอจัดกิจกรรมเสร็จก็ประเมินซ้ำอีกรอบ (Post test) ซึ่งถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ที่สำคัญมาก และเท่าที่สังเกตเห็นชาวบ้านที่ลำบากต่อการอ่านหนังสือ ทั้ง “อ่านไม่ออก” และ “อ่านออก-แต่มองไม่ค่อยเห็น” ก็จะมีนิสิตเข้าประกบทำหน้าที่อ่านให้ฟังและทำแบบสอบถามตามปากคำของชาวบ้าน -



กระบวนการเช่นนี้ดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อนซ่อนปมอันใดนัก แต่ก็ใช้ได้ดีในแง่ของการประเมินผลการเรียนรู้ในแบบสดๆ ร้อนๆ หรือ “ตีเหล็กขณะที่กำลังร้อนๆ” ซึ่งเข้าใจว่านิสิตก็แบ่งบทบาทหน้าที่กันมาค่อนข้างชัด ตั้งแต่จับไมค์เป็นพิธีกร อธิบายภาพรวมเกี่ยวกับกระบวนการ แจกแบบสอบถาม จนถึงประมวลผลแบบสอบถาม ฯลฯ

ครับ-น่าสนใจ เพราะไม่ใช่การประเมินผลว่า “พึงพอใจ” ทว่าเป็นการประเมินผลการเรียนรู้เชิงลึกเชิงคุณภาพไปในตัว นิสิตเองก็ได้เรียนรู้ทักษะหลายๆ อย่างผ่านกระบวนการนี้ – ผมเชื่อเช่นนั้น




บันเทิงเริงปัญญา : เรียนรู้คู่บริการ

สรุปภาคเช้าสองกิจกรรมนี้ คือภาพสะท้อนของการจัดกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพชุมชนในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” เพราะไม่ใช่การสื่อสาร หรือถ่ายทอดองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการขอรับองค์ความรู้อื่นๆ จากชุมชนด้วยเช่นกัน

การขอรับองค์ความรู้จากชุมชนเช่นนี้คือหลักคิดที่เชื่อและศรัทธาว่า “ชุมชนคือคลังความรู้” และการเรียนรู้คู่บริการเช่นนี้ คือมิติของการจัดการความรู้ร่วมกัน เป็นการลดช่องว่าง หรือลดความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนไปในตัว

ยิ่งออกแบบกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมในแบบเรียนรู้คู่บริการ ยิ่งเป็นประหนึ่งการเร่งให้ชุมชนเกิดปฏิกิริยาในการที่จะทบทวนต้นทุนทางปัญญาหรือต้นทุนทางสังคมของตนเองไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับการสอดแทรกกิจกรรมผ่านสื่อต่างๆ ผ่านกิจกรรมนันทนาการสนุกสนาน มีของแถมของแจก ยิ่งช่วยให้เวทีดูมีชีวิตชีวา เป็นกันเอง ได้ทั้งความรู้และความสนุกคลุกเคล้ากันไปในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา”




เหนือสิ่งอื่นใด -

แต่สำหรับนิสิตก็คงต้องทบทวนตัวเองเช่นกันว่า ในเวทีดังกล่าวนิสิตเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง อะไรคือความรู้ อะไรคือทักษะ หรือกระทั่งอะไรคือทัศนคติ-กระบวนทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้นจากเวทีแห่งการเรียนรู้คู่บริการ ---

รวมถึงอื่นๆ เป็นต้นว่า ความเหมาะของสื่อ ทักษะการสื่อสาร ความเหมาะสมของสิ่งของรางวัล ฯลฯ

หรือเอาง่ายๆ เลยนะ กิจกรรมเหล่านี้ก่อเกิดหรือสอดรับกับการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมแล้วหรือยัง สอดคล้องกับอัตลักษณ์นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) แล้วหรือยัง

ครับ- มิใช่ประเมินแต่ชุมชน แต่หลงลืมที่จะประเมินตนเอง ประหนึ่ง "รู้เขา แต่ไม่รู้เรา"

---- สู้ๆ ครับ -------------


หมายเลขบันทึก: 598788เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2015 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2016 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบใจบันเทิงเริงปัญญา

ทั้งชุมชนและนิสิตได้เรียนรู้ด้วยกัน

ดูแล้วมีความสุข ขอบคุณมากๆครับ

ครับ อ. ขจิต ฝอยทอง

ส่วนหนึ่งที่ผมไม่ได้พูดถึงในบันทึกก็คือ...
เวที/กิจกรรมทำนองนี้ ประหนึ่งการรายงานหน้าชั้นเรียนของนิสิตนั่นเอง
เพียงแต่เปลี่ยนจากห้องเรียนจากมหาวิทยาลัยมาเป็นห้องเรียนในชุมชน
เปลี่ยนจากเพื่อนๆ นิสิตและอาจารย์ผู้สอนมาเป็นชุมชน -เท่านั้นเอง

ขอบคุณครับ

ลุ่มลึกเช่นเคยค่ะ อ.แผ่นดิน

หากได้นั่งเงียบ ๆ ทบทวนอยู่กับตัวเอง เขียนไว้ แล้วบอกเล่าสู่กันฟังทันใดหลังกิจกรรม

น้อง ๆ ได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองแน่นอนค่ะ ^_,^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท