​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๘ : ความหวัง และกำลังใจที่จะเดินต่อ (Counseling Part II)


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๘ : ความหวัง และกำลังใจที่จะเดินต่อ (Counseling Part II)

ในบทความจิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๖ : ได้เขียนเรื่องการฝึกอบรมเป็นที่ปรึกษา โดยมีทีมวิทยากรมาจากศิริราชมาจัดให้ถึงบ้าน (ที่ ร.พ.ม.อ.) เป็นฉบับ "แปะโน้ต" คือกำหนดประเด็นสำคัญเอาไว้กันลืมก่อน ได้มานั่งคิด นั่งใคร่ครวญต่อ ก็เป็นอย่างที่ได้คาดหมายก็คือ มีเนื้อหาสาระสำคัญซ่อนเร้นอยู่อีกมากมายนัก ไม่ควรที่จะ "รีบจบ" ต้องมาเขียนบันทึกต่อ part II อีก ตรงนี้ (ซึ่งก็ไม่น่าจะจบ แต่อยากจะให้เกิดคำถามดีๆเอาไว้หล่อเลี้ยงสมองต่อไปอีกนานๆ)

อาจารย์อรพรรณ ทองแตง ท่านบอกว่า "เป้าหมายการให้คำปรึกษาคือควรจะเกิด hope and self-help" คือ "ความหวัง และกำลังที่จะช่วยตนเองต่อไป" ประโยคนี้มีแรงบันดาลใจเยอะมาก

อะไรคือ "ความหวัง"? เกิดจากอะไร? สร้างได้ไหม? สร้างได้อย่างไร? เติบโตงอกงามโดยอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง? เสื่อมสลายทรุดโทรมถูกทำลายโดยปัจจัยอะไรบ้าง?

Self-help การช่วยเหลือตนเอง (อตฺตานํ อุปมํ กเร ตนจึงเป็นที่พึ่งแห่งตน) เกิดขึ้นในบริบทเช่นไร อะไรเป็นอุปสรรค? อะไรที่จะเป็นดินอันอุดมที่จะผลิดอกออกผลงอกงาม?

เมื่อนำมาคิดดูดีๆ ทั้งสองเรื่องคือความหวัง และกำลังที่จะทำให้ตนเองเดินทางต่อนั้น น่าจะเป็น "เรื่องเล่า" ชีวิตของคนๆนั้น คนเราทุกคนกำลังเล่าชีวิตอยู่ ไม่ได้ออกมาเป็นคำพูดก็ได้ แต่จะออกมาเป็นการดำเนินชีวิต บางคนก็เล่าดุดัน ต้องฝ่าฟัน ปากกัดตีบถีบ บ้างก็เล่าอ่อนโยน ประคับประคอง มีคนอยู่ในอ้อมกอด อยู่ในวงแขน แต่บางคนก็เล่าอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย เป็น lone wolf ไร้เพื่อน ไร้มิตร มีแต่อมิตร มีแต่ศัตรู บางคนก็เล่าเรื่องความรัก ความหวัง ความสงบ บางคนเล่าเรื่องทุกวันที่เต็มไปด้วยความโกรธ ความเกลียด และความกลัว

เวลาคนมาหาหมอ ก็จะมีความทุกข์ทางกาย (และใจ และอื่นๆ) เวลาต้องการคำปรึกษา ปัญหามักจะมีหลายมิติ ทีนี้ถ้าหมอพร้อมแต่จะจัดการเรื่องทางกายอย่างเดียว ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้น เพราะวิธีรักษาทางการแพทย์นั้น บางอย่างรักษากายแต่เพิ่มทุกข์ทางมิติอื่นๆเข้าไปด้วยเสมอ เช่น จะผ่าตัดก็ต้องเสียเงิน เสียทอง เสียเวลา ทั้งกังวล ทั้งกลัว หรือพอบอกคนไข้ว่าคุณเป็นเบาหวาน เป็นความดันโลหิตสูง เพียงคำสั้นๆคำเดียวก็เปลี่ยนชีวิตที่เหลือทั้งชีวิต เพราะเป็นโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่หาย มีคนไข้บางคนถึงกับขอร้องหมอว่า "หมอ... อย่าเรียกว่าผมเป็นมะเร็งเลยได้ไหม ให้เรียกว่า "มีมะเร็ง" แทน เพราะถ้าเป็นมะเร็งน่ะ ผมวางมันไม่ได้ แต่ถ้าแค่ "มี" ละก็ ผมยังพอวางมันลงได้"

ดังนั้นข้อมูลที่หมอบอก ไม่ใช่แค่ information หรือ direction เท่านั้น แต่จะกลายเป็น "ส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า" ชีวิตของคนๆหนึ่ง (จริงๆของอีกหลายๆชีวิต ครอบครัว ญาติ เพื่อน ฯลฯ) เมื่อหมอกำลังสนทนากับคนไข้ หมอจะมี Medical story หรือเรื่องราวทางการแพทย์มากมายที่จะบอก แต่สิ่งที่ไม่ควรจะลืมก็คือ เมื่อบอกไปแล้ว คนไข้จะนำเอา medical story นี้ไปผสมผสานกับ life story ของเขา เกิดเป็นบทใหม่ในหนังสือชีวิตของเขา ซึ่งจะสุขหรือทุกข์ก็ขึ้นกับวิธีปรุง วิธีผสม ส่วนประกอบเหล่านี้นี่เอง ในขณะที่ทุกๆคนยังไม่ทราบ "ตอนจบ" ของเรื่องนี้ แต่ถ้ามันยังมีโอกาสจบดี ชีวิตก็จะพอที่จะ "มีความหวัง" นั่นเอง

ทว่าบางทีหมอก็เอาแต่แจก "ข้อเท็จจริงทางการแพทย์" ไป โดยไม่ได้คิดว่าคนไข้และญาติๆที่นั่งฟังอยู่นั้น อยากจะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ ไปทำเป็นเรื่องเล่าที่พออยู่ได้ ก็อาจจะให้ข้อมูลไปเรื่อยๆแต่ให้ไปให้มา เรื่องเล่ามันไปไม่ได้ มันเต็มไปด้วยทางตัน หรือเต็มไปด้วยหนทางที่น่ากลัว แทนที่จะเล่าแล้วหายทุกข์ ทุกข์แห่งความเป็นไปได้ที่น่ากลัวนี้จะทับถมกับความจริงในปัจจุบันไปอีกอย่างมากมาย คนเป็นหมอจึงต้อง "ไวต่อความรู้สึก" จะได้เท่าทันเหตุการณ์ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังทับถมคนกำลังทุกข์ หรือกำลังช่วยเขากันแน่?

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ บางทีหมอก็เห็นแต่ "ข้อดี" ของข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ว่ามันดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ลืมไปว่าทุกๆการรักษาทางการแพทย์นั้นไม่ได้มีเพียงข้อดี แต่มีข้อเสียด้วยเสมอ ที่เรายังทำอยู่เป็นเพราะข้อดีใันเหนือกว่า คุ้มกว่าข้อเสียเท่านั้นเอง หมอจึงต้องมีสติ และเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงข้อจำกัดและผลข้างเคียงอันไม่พึงปราถนาของวิธีการรักษาต่างๆของตนเองเป็นอย่างดี

ประเด็นสำคัญก็คือ หน้าที่หมอไม่เพียงมีความรู้และความเข้าใจใน medical story เท่านั้น แต่จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆหากหมอจะทราบ life story ของคนไข้ด้วย เพราะเวลาคนไข้จะมองชีวิตตนเอง มันจะเป็นภาพรวมของ medical story + life story ไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นในการให้คำปรึกษาของหมอ หากทำให้คนไข้ "เล่าเรื่องที่พอรับได้" ของชีวิตนั่นคือ "ความหวัง" ได้แล้ว ถ้าหากว่าเรื่องเล่านั้นๆ คนไข้เองยังคงสามารถเป็น "ผู้แสดงนำ" ได้ด้วย ก็จะเกิดทั้งความหวัง (hope) และกำลังใจที่ตนเองเดินต่อไป (self-help) ได้อีกด้วย จะทำอย่างนี้ได้ หมอจะต้องรับรู้ life story ของคนไข้และญาติๆด้วย หรือไม่เพียงแค่รับรู้ หากจะต้องมีความเคารพในเรื่องราว life story ของคนไข้ เคารพในศักดิ์ศรีและวิถีชีวิตของเขาด้วย มองเห็นถึง "ต้นทุนชีวิต" ว่ามีอะไรบ้าง จึงจะช่วยกันเขียนวิถีชีวิตใหม่ท่ามกลางความเจ็บปวดและโรคภัยไข้เจ็บในตอนนั้นได้

ทักษะที่จะช่วยคือ หมอเองก็ควรจะหมั่นมองหา "ต้นทุนชีวิต" ของตนเอง มองให้เห็นว่าตนเองก็มี life story ไม่ได้มีแค่ medical story อย่างเดียว เมื่อหมอเริ่มมองเห็นต้นทุนชีวิตอันมีหลากหลายมิติ พบว่าความสุขของเรานั้นเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง แต่มีคนที่เรารัก คนที่รักเรา คนที่มีความหมายต่างๆนานาต่อชีวิตของเรา มีเรื่องราวแวดล้อมมากมายที่ทำให้เรามี เราเป็น และเราสามารถ หมอจะเริ่มมีชีวิตที่อ่อนโยน อ่อนน้อมต่อสรรพสิ่งต่างๆมากขึ้น ความโอหังอหังการ์ลดลง เรื่องเล่าของหมอจะเริ่มมีส่วนสร้างความสัมพันธ์และกลายเป็นองค์ประกอบที่ดีสำหรับเรื่องเล่าของคนไข้ได้

ในรายละเอียดคงจะมีอีกมากมาย น่าสนใจที่จะใคร่ครวญต่อไปอย่างยิ่ง

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๒๐ นาที
วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 598786เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2015 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2015 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท