ธรรมะในสถานศึกษา : (อีกหนึ่งความท้าทาย) ว่าด้วยการผ่องถ่ายแผนงานสู่องค์กรนิสิต


ผมและทีมงานคิดบนฐาน “เรียนรู้ธรรมะผ่านชีวิตประจำวัน” ไม่ใช่เอาประเด็นธรรมะชูหรามาตั้งแต่ต้น หากแต่เอาความเป็นจริงในแต่ละวันมาเป็นประเด็นขบคิดและถอดรหัสว่าพฤติกรรมเหล่านั้นกระทบต่อตนเองและสังคมอย่างไร รวมถึงร้อยรัดกับหลักธรรมอย่างไร ซึ่งเรื่องหนึ่งเรื่องที่ถูกหยิบยกมานั้นย่อมกระตุกต่อมให้นิสิตได้เรียนรู้เรื่อง “หลักธรรม” และ “คติธรรม” ที่อาจหมายถึงสำนวน คำพังเพย สุภาษิตไทยไปพร้อมๆ กัน



ว่าไปแล้วก็จำไม่ได้เลยว่าโครงการธรรมะในสถานศึกษาจัดมากี่ครั้งกันแล้ว หรือเริ่มต้นขึ้นมาครั้งแรกเมื่อไหร่ เห็นทีต้องหาเวลาสืบค้นจริงๆ จังๆ สักวัน

แต่ที่แน่ๆ จำได้ว่า ณ วันที่คิดโครงการนี้ขึ้นครั้งแรกกับทีมงาน เรามีจุดมุ่งหมายชัดเจนเรื่องการบ่มเพาะประเด็นทางความคิดในเรื่อง “คุณธรรมจริยธรรมแก่ผู้นำนิสิต” เป็นหัวใจหลัก โดยออกแบบกิจกรรมเป็น 2 โครงการ คือ....

  • บรรยายธรรมะในรั้วมหาวิทยาลัย
  • บรรยายธรรมะและออกค่ายเรียนรู้เรื่องธรรมะนอกสถานที่




ระยะหลังๆ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อนุมัติให้ดำเนินการเพียง 1 โครงการ โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติจะเน้นการจัดกิจกรรมในสถานมหาวิทยาลัยฯ ทั้งๆ ที่ผมเองได้พยายามนำเสนอว่าอีกหนึ่งกิจกรรมนั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะเป็นการนำนิสิตไปฝังตัวปฏิบัติธรรมตามวัดในชุมชน (ไม่ได้เน้นวัดที่ใหญ่โตหรูหรา)

แน่นอนครับผมเชื่อว่าการไปฝังตัวเช่นนั้น จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นิสิตตื่นตัวที่จะเรียนรู้ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยฯ ให้มากขึ้น เรียนรู้ธรรมะและปรัชญาชีวิตจากสถานการณ์จริงในชุมชน ทั้งนี้ทั้งนั้น

การฝังตัวดังกล่าวยังแฝงด้วยแนวคิดการ “บริการสังคม” ไปแบบเนียนๆ ด้วยอีกต่างหาก เพราะได้กราบนิมนต์ “พระนักเทศน์” มา “แสดงธรรม” ให้ชุมชนได้รับฟังและปฏิบัติธรรมร่วมกับนิสิต





หยิบยกชีวิตประจำวันเป็น “ธรรมะ”

แนวคิดหลักการจัดโครงการธรรมะในสถานศึกษาคือการหยิบยกเรื่องราวชีวิตประจำวันของนิสิต ตลอดจนปรากฏการณ์จริงในสังคมที่กำลังเป็นกระแสหลักมาบอกเล่าและเทียบเคียงเข้ากับ “หลักธรรม”

กระบวนคิดเช่นนี้ ผมและทีมงานคิดบนฐาน “เรียนรู้ธรรมะผ่านชีวิตประจำวัน” ไม่ใช่เอาประเด็นธรรมะชูหรามาตั้งแต่ต้น หากแต่เอาความเป็นจริงในแต่ละวันมาเป็นประเด็นขบคิดและถอดรหัสว่าพฤติกรรมเหล่านั้นกระทบต่อตนเองและสังคมอย่างไร รวมถึงร้อยรัดกับหลักธรรมอย่างไร ซึ่งเรื่องหนึ่งเรื่องที่ถูกหยิบยกมานั้นย่อมกระตุกต่อมให้นิสิตได้เรียนรู้เรื่อง “หลักธรรม” และ “คติธรรม” ที่อาจหมายถึงสำนวน คำพังเพย สุภาษิตไทยไปพร้อมๆ กัน

และนั่นยังหมายรวมถึงลักษณะการแสดงธรรมต้องบูรณาการในแบบบันเทิงเริงปัญญา ไม่มีการเรี่ยไรเงินกัณฑ์เทศน์ เว้นแต่ความสมัครใจของนิสิตที่จะดำเนินการเอง การแสดงธรรมคือการบรรยายประกอบสื่อ หรืออื่นๆ ที่ไม่ใช่การร้องเพลง (เพราะระยะหลังพบเห็นชัดเจนว่าพระนักเทศน์บางรูปประยุกต์การแสดงธรรมผสมปนเปไปกับการขับร้องเพลง)






ปีนี้ (2558) – ประเด็นการแสดงธรรมะในสถานศึกษาเกี่ยวกับโยงกับเรื่อง “อัตลักษณ์นิสิต” (ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ซึ่งร้อยรัดอยู่กับ “จิตอาสา” หรือ “จิตสาธารณะ” อันเป็นคุณธรรมประเภทหนึ่งและเป็นประเด็นที่ยึดโยงกับปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

นอกจากนี้แล้วพระวิทยากรฯ ยังบูรณาการด้วยการนำเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันเข้ามาหนุนเสริมเรียนรู้ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างออกรสออกชาติในแบบบันเทิงเริงปัญญา เช่น สถาบันทางครอบครัว ความกตัญญู บทบาทของนิสิต ฯลฯ


พระมหาศุภชัย สุภกิจโจ : พระวิทยากร (มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น)


จุดเด่นของปีนี้ที่ผมมองเห็นในเรื่องวิทยากรน่าจะเป็น “วิทยากรที่เป็นศิษย์เก่า” (พระมหาศุภชัย สุภกิจโจ พระวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น)ด้วยความที่เป็นศิษย์เก่าจึงทำให้ท่านมองเห็น “ความเป็นตัวตนของนิสิต มมส” และรู้ว่าเรื่องราวใดเหมาะควรต่อการนำมากระตุกกระตุ้นการรับรู้ของนิสิต ไม่ใช่หยิบยกเรื่องหรูหราสูงลอยเด่นไกล แต่แตะต้องสัมผัสไม่ถึง

และนั่นยังไม่รวมถึงทักษะความสามารถของพระวิทยากรที่เต็มไปด้วยศาสตร์และศิลป์ที่สามารถสร้างสรรค์บรรยากาศของการเรียนรู้ได้อย่างไม่เบื่อ มีการถามตอบ มีการแชร์ความคิดร่วมกับนิสิตเป็นระยะๆ เสมือนการกระตุ้นและประเมินการเรียนรู้ของนิสิตอยู่ตลอดเวลา





ธรรมะในสถานศึกษา : บทบาทและสถานะที่สัมพันธ์กับนิสิต

ปัจจุบันโครงการธรรมะในสถานศึกษา มีสถานะที่เริ่มเด่นชัดและเป็นรูปธรรมขึ้นในวิถีของการพัฒนานิสิต กล่าวคือ ไม่ได้จำกัดกลุ่มเป้าหมายอยู่แค่ “ผู้นำนิสิต” เหมือนในอดีต แต่กลายเป็นฐานการเรียนรู้ที่ขยายวงรองรับการเรียนรู้ในหลักสูตรของ “รายวิชาการพัฒนานิสิต” และ “รายวิชาภาวะผู้นำ” ไปอย่างเสร็จสรรพ ดังจะเห็นได้จากแทนที่จะบรรยายในชั้นเรียนที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้เรียน” โดยตรง ก็ยกฐานะเป็น “ห้องเรียนสาธารณะ” ด้วยการเชิญชวนให้ผู้เรียน ผู้นำนิสิต หรือนิสิตและบุคลากรทั่วไปได้ก้าวเข้ามาสัมผัสและเรียนรู้ร่วมกันอย่างไม่มีชนชั้น

ขณะที่บางปีก็ถึงขั้นเชิญชวนชาวบ้านจากชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยฯ เข้ามาร่วมด้วยอีกต่างหาก หรือกระทั่งปีนี้ (2558) ก็เพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่เข้ามา นั่นก็คือ “ดาว-เดือน” ของแต่ละคณะ



นอกจากนี้แล้ว ผมยังมองว่าโครงการธรรมะในสถานศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้นำนิสิต เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เรื่องศาสนพิธีนั้นกลายเป็นงานในหน้าตักของผู้นำองค์กรนิสิต (ชมรมพุทธศาสน์,ชมรมพุทธศาสนาและสมาธิ) ที่ต้องรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพในการเป็น “โยมอุปถัมภ์” นับตั้งแต่จัดสถานที่โต๊ะหมู่บูชา นำสวดมนต์ไหว้พระ ถวายสิ่งของ รับ-ส่งพระวิทยากร ฯลฯ

เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ที่เทใจ “อาสา” (จิตสาธารณะ : เยาวชนจิตอาสา) เข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดเตรียมสถานที่ เช่น องค์การนิสิต สภานิสิต ชมรมรุ่นสัมพันธ์ ชมรมสานฝันคนสร้างป่า กลุ่มนิสิตมอน้ำชี ฯลฯ ต่างก็ขันอาสามาเป็นเรี่ยวแรงตระเตรียมสถานที่อย่างน่ารัก โดยไม่มีเงื่อนไขของคะแนน หรือชั่วโมงกิจกรรมเหมือนที่ “กยศ.” กำลังทำเรื่อง “จิตอาสา” ซึ่งหากเข้าร่วมไม่ครบตามเกณฑ์ก็จะถูก “ระงับทุน”



ครับ-ผมมองว่านี่คือสถานะใหม่ของโครงการธรรมะในสถานศึกษาที่มีบทบาทต่อการสร้างการเรียนรู้แก่นิสิตที่หลากหลายขึ้น ทั้งในมิติการเรียนในหลักสูตร (วิชาการพัฒนานิสิต-วิชาภาวะผู้นำ) มิติการเรียนนอกหลักสูตรที่มุ่งไปยังผู้นำองค์กรนิสิตที่มีทั้งการมาร่วมรับฟังและการเป็น “เจ้าภาพ” ช่วยทำโน่นทำนี่ตามความสนใจและความถนัด (ศาสตร์) ของตนเอง

สิ่งเหล่านี้คือสถานะใหม่ที่เริ่มเด่นชัดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้นำองค์กรและองค์กรนั้นๆ มีตัวตนในเวทีสาธารณะมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องงอมืองอเท้ารอปรากฏกายแต่เฉพาะวาระที่เป็นกิจกรรม/โครงการของตนเองฯ




ธรรมะในสถานศึกษา : หมุดหมายใหม่ในอนาคต

จวบจนบัดนี้-ในฐานะที่เคยร่วมบุกเบิกและริเริ่มให้มีโครงการนี้ขึ้น พร้อมๆ กับการเฝ้าสังเกตการณ์แบบเงียบๆ เรื่อยมาเป็นระยะๆ พลอยให้ต้องขบคิดใหม่ว่า บางทีอาจถึงเวลาของการส่งมอบมรดกทางกิจกรรมนี้ไปยัง “นิสิต” หรือ “องค์กรนิสิต” อย่างแท้จริง

การส่งมอบในมุมของผมหมายถึงการมอบแผนงานนี้ให้กับองค์กรนิสิตได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง กระตุ้นให้มีการบรรจุเป็นแผนพัฒนานิสิตในระดับขององค์กรนิสิต มิใช่เป็นโครงการที่กองกิจการนิสิตจะต้องมาจัดเอง ซึ่งอาจจัดขึ้นโดยเครือข่ายชมรมในด้านวิถีพุทธ หรือเครือข่ายจิตอาสาอื่นๆ รวมถึงจัดโดยองค์การนิสิต สภานิสิต หรือสโมสรนิสิตของแต่ละคณะก็ได้ทั้งนั้น

การผ่องถ่ายเช่นนี้ผมมองเป็นอีกหนึ่งช่องทางการยกระดับแผนพัฒนานิสิตด้วยซ้ำไป ไม่เชื่อมาลองสำรวจตรวจทานแผนงานขององค์กรนิสิตดูสิครับว่าส่วนใหญ่เป็นแผนงานในลักษณะใด “บันเทิงเริงปัญญา” หรือ “ดู แดก ดิ้น” กันแน่




ลองดูครับ- ผมว่าไม่เสียหลายอะไร บางทีนิสิตอาจออกแบบกิจกรรม “ธรรมะในสถานศึกษา” ในสไตล์ใหม่ที่เข้ากับ "วันวัยของนิสิต" บางทีอาจทำให้เห็นภาพความเป็นเครือข่ายในองค์กรนิสิตแจ่มชัดและแน่นหนามากยิ่งขึ้น และอื่นๆ อีกจิปาถะที่ผมเองก็ไม่อาจหยั่งชี้ได้ เพราะต้องรอให้มันเกิดขึ้นภายใต้ระบบและกลไกของนิสิตอย่างแท้จริงเสียก่อน ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับนิสิตว่ามันสำคัญต่อเขาอย่างไร -

แต่ที่แน่ๆ ผมเชื่อว่า เมื่อนิสิตเป็นเจ้าของโครงการฯ นี้เอง นิสิตจะได้เรียนรู้การเป็นคนกล้าคิด (brave to think) กล้าทำ (brave to take action) และกล้ารับผิดชอบ (brave to take responsibility) ต่อการงานของตนเอง มิหนำซ้ำยังอาจหมายถึงการเกิดภาวะศรัทธาต่อตนเอง (Self-esteem) และเชื่อมั่นต่อคนรอบข้าง (Trust-for others) ได้ไม่แพ้โครงการอื่นๆ

ลองดูครับ--- การผ่องถ่ายแผนงานเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย ในอดีตเรายังเคยมอบหมายภารกิจการบริจาคโลหิตให้แต่ละคณะได้ดำเนินการเอง รวมถึงการผ่องถ่ายแผนงานวันขอบคุณนักกิจกรรมและโครงการลมหายใจปัญญาชนคนชาวค่ายให้องค์การนิสิตเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนมาแล้ว

ครับ-- ไม่ใช่เรื่องใหม่
ผมว่า ท้าทายไม่ใช่ย่อยเลยทีเดียว !



หมายเหตุ
1.โครงการธรรมะในสถานศึกษา จัดเมื่อ 26-27 สิงหาคม 2558
2.ภาพ : งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต / นิสิตจิตอาสา


หมายเลขบันทึก: 598781เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2015 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2015 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

-สวัสดีครับอาจารย์

-การส่งเสริมธรรมะในสถานศึกษาถือเป็นการย้ำเตือนให้กับนักศึกษาให้ปฏิบัติดีนะครับ

-สถานศึกษา...มีอะไรให้น้องๆ ได้"ศึกษา"มากมาย..

-เห็นภาพน้องๆ แล้ว...น่ารักทุกคนเลยนะครับ..

กิจกรรมดีมากเลยครับ

นิสิตได้ฝึกหลายอย่าง

ขอบคุณครับ

น่าติดตามค่ะ ธรรมะสมัยใหม่ใกล้ชิดวัยรุ่น

ครับ เพชรน้ำหนึ่ง

อย่างน้อยที่สุด กิจกรรมนี้ก็พอจะบอกได้ว่า สถาบันอุดมศึกษา ไม่ได้ห่างไกลจากกิจกรรมบ่มเพาะธรรมะ โดยมี "พระ" เป็นวิทยากรเหมือนนิยมจัดในระดับมัธยมศึกษาหรอกนะครับ เพียงแต่ว่า รูปแบบ วิธีการ เนื้อหาในการแสดงธรรมะจะออกมาในรูปแบบใด

และสำคัญคือ ในเวทีนั้นๆ ได้ส่งเสริม หรือสร้างพื้นที่ให้นิสิตกลุ่มหนึ่งฝึกทักษะอะไรบ้าง ซึ่งเวทีนี้นิสิตบางกลุ่มก็ได้เรียนรู้เช่นนั้นจริงๆ ...





ใช่ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

นิสิตกลุ่มคนทำงาน ได้ฝึกทักษะเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพดูแลโน่นนี่ตามภารกิจหน้าตักที่ได้รับมอบหมายไป ขณะที่กลุ่มผู้ตามทั่วไป ก็คงได้คิดตามบ้างกระมังครับว่า สิ่งที่ได้ฟังนั้น เกี่ยวโยงกับความเป็นจริงในสังคมแค่ไหน และะเกี่ยวโยงกับความจริงที่ตนเองประพฤติปฏิบัติอย่างไร...

กลุ่มนี้คงเน้นการคิดเชื่อมโยงชีวิตกับธรรมะ และเน้นการทบทวนตัวเอง....




ครับพี่หมอ ธิรัมภา

ตอนนี้กิจกรรมนี้ ก็บูรณาการเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ในรายวิชาพัฒนานิสิตและภาวะผู้นำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเจาะประเด็นคุณธรรมของผู้นำนิสิต โดยแทนที่จะบรรยายภาคทฤษฎี ก็เน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการในเวทีนี้ลยครับ

จากนั้น จึงให้นิสิตกลับไปอ่านทบทวนภาคทฤษฎีจากเอกสารเพิ่มเติม หรือกระทั่งเชื่อมโยงมาสู่ธรรมะที่พระท่านได้เทศนา บ่มเพาะ-

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท