เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน (14) ไปตามเส้นทางของเรา (วรพจน์ พันธุ์พงศ์​)


เราต่างรู้ดีว่าไม่มีใครสามารถซ่อนซุกอยู่ใต้ปีกพ่อแม่ได้ตลอดเวลา ฉะนั้นไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเหน็บหนาวแค่ไหน แต่ถ้าถึงเวลาไป ก็ต้องไป

สี่ห้าปีหลัง, ผมชอบที่จะอ่านความเรียง สารคดีมากกว่าวรรณกรรมประเภทอื่นๆ
หรือนานทีปีหนถึงจะหยิบจับ "นวนิยาย" มาอ่าน โดยเฉพาะนวนิยายที่ออกในแนวพื้นถิ่น มีกลิ่นอายเชิงวัฒนธรรมให้ได้ขบคิดตามท้องเรื่อง รวมถึงหวนคิดทบทวนกลับสู่ "วัฒธรรมท้องถิ่นของตัวเอง"




สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจัดแจงแต่งเวลาเกี่ยวกับการอ่านหนังสือให้กับตัวเอง คราวนี้หยิบเอา "ไปตามเส้นทางของเรา" ของวรพจน์ พันธุ์พงศ์มาอ่าน

สารภาพว่าชอบหนังสือเล่มนี้มานานแล้ว แต่ไม่พร้อมที่จะถือครอง จึงปล่อยให้ล่องไหลไปตามวันเวลาร่วมห้าปีเลยทีเดียว กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 จึงปลงใจคว้ามาเป็นเจ้าของ-


ไปตามเส้นทางของเรา, เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (2551) โดย openbooks มีทั้งหมด 14 เรื่องในรูปลักษณ์ความเรียง-สารคดี-บทสัมภาษณ์




ผมชอบงานของ "วรพจน์ พันธุ์พงศ์" มานานและติตดามอ่านมาเป็นระยะๆ ถึงแม้ระยะหลังงานจะข้นเข้มในเชิงการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็ชอบที่จะอ่าน เพราะผมรู้ดีว่าคำว่า "ชอบ" ของตนเองคืออะไร -

เรื่องทั้งเรื่อง ผมอาจจะชอบเพียงไม่กี่ถ้อยความ หรืออาจชอบทั้งเรื่อง หรือเกือบทั้งเรื่อง แต่ทั้งปวงผมชอบผมก็จะมีเหตุผลของผมเองเสมอว่า ทำไมถึงชอบ !

หนังสือคืองานศิลปะ - หน้าที่ผู้เขียนเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เขียนหนังสือ จะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็เถอะ ผู้อ่านคือคนที่จะทำให้หนังสือเดิทางต่อไปอย่างไร เรื่องบางเรื่องเมื่อเราอ่านแล้ว เราอาจไม่ได้แก่นคิดเฉกเช่นวัตถุประสงค์ของนักเขียน แต่กลับอาจได้มุมคิดใหม่ๆ คนละเรื่องเลยก็เป็นได้ - ซึ่งผมก็ไม่คิดว่า "ผิด"




ผมชอบงานของ "วรพจน์ พันธุ์พงศ์" ด้วยหลายเหตุผล อาทิ กลิ่นอายกวีในถ้อยความ มุมมองต่อเรื่องนั้นๆ ที่มักเบิ่งมองหลากมุม หรือกระทั่งตรงดิ่งมุมเดียว หรือตรงแบบละมุมละไม จนพลอยให้รู้สึกว่าถึงแม้เรื่องจะดูหนักหน่วงแต่กลับมีอารมณ์โรแมนติก-คลาสสิคอยู่ในที

อ่านทีไร เห็นมุมที่หลากหลายของ "โลกและชีวิต" ไปในตัว

ครับ, นี่คือส่วนหนึ่งที่ผมคัดลอกมาแบ่งปัน




ถ้าสามารถเปลือยกายได้ตลอดเวลาสันติสุขจะอยู่คู่กับโลกชั่วกัลปาวสาน แต่ความจริงโลกนี้มีทั้งร้อนและหนาวไม่ว่าจะอย่างไร เสื้อก็เป็นสิ่งจำเป็น และมีอิทธิพลเชิงความคิด
สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตปุถุชนก็คือการเลือกเสื้อ
คิดเอง เลือกเอง ไม่ใช่รอรับบริจาค หรือถูกยัดเยียดให้สวมใส่

(สีเสื้อที่เราสวม)


ความเงียบมิได้หมายถึงปกปิดหากบางทีกลับหมายถึงการสื่อสารอย่างหนึ่ง...

คนทุกคนมีด้านมืด และการจริงใจกับเพื่อนหรือคนรักก็ไม่แปลว่าต้องเล่าทุกเรื่องตรงกันข้าม อาจบางทีต้องเหยียบด้านมืดนั้นไว้ ทำใจแกล้งลืมๆ ไปเสียบ้างและขับเคี่ยวตัวเองให้เดินไปบนวิถีแห่งแสงสว่าง

ไม่ว่าการสื่อสารของโลกจะเจริญก้าวหน้าไปเพียงไรในบางเรื่องความพร่าเลือนคุลมเครือก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมนุษย์ต้องเว้นที่ว่างไว้สำหรับจินตนาการ

(สื่อสารกันมากเกินไปหรือเปล่า)




ถ้าไม่เคยหนาว บางทีเราก็มองไม่เห็นความงามของแสงแดด

(

หนาว)


ผมเชื่อว่าขอทานก็มีศักดิ์ศรีและจรรยาบรรณในแบบของเขา ขอทานดีๆก็มี ขอทานชั่วๆ ก็มาก เหมือนนักการเมือง ครู พระสงฆ์ และในทุกสังคมที่มีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกัน

(คืนนี้ตัวกับใจไม่ตรงกัน)



ไม่มีใครไม่รู้ในพิษสงของสงคราม ว่าที่จริงก็ไม่น่ามีใครในโลกที่รักสงคราม แต่การรบราฆ่าฟันก็ยังเกิดขึ้นเป็นปกติจากซีกโลกนี้บ้าง โลกโน้นบ้าง ไม่เคยหยุดหย่อน
ปีกอิสระของนกป่าอธิบายถึงความสุขสงบสันติและเสรีภาพตลอดเวลาน่าแปลกว่าทั้งที่มองเห็นอยู่ทุกค่ำเช้า ทำไมคนเราจึงไม่เกิดการเรียนรู้

แม่น้ำไหลเย็น แต่นั่นยังไม่ได้ครึ่งในหัวใจผู้คนที่ยังหวาดหวั่นสั่นสะท้าน
ปีกอิสระของนกป่าบินไปมาได้ทั้งสองฝั่งน้ำเช่นเดียวกับไก่ป่าฝั่งพม่าที่ขันสลับตอบรับไปมากับไก่ป่าบ้านฝั่งไทยผมไม่แน่ใจว่าพวกมันพบความลับใดในการดำรงอยู่และยิ่งไม่รู้ว่าทำไมผู้คนจึงค้นหาความรักในมนุษยชาติด้วยกันไม่เคยเจอ

(สาละวิน : ความงดงามในท่ามกลางความขัดแย้ง)





มองๆ ไปนับวันดวงไฟบนพื้นดินก็ยิ่งไม่ต่างจากดวงดาวแปลกอยู่บ้างที่คนบนพื้นดินก็ใฝ่ฝันตะเกียกตะกาย อยากสัมผัสวิถีแห่งดาวขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่บินอยู่เหนือระดับน้ำทะเลไม่รู้กี่พันฟีตกลับใคร่คำนึงถึงบ้านเล็กๆ และซอมซ่ออยู่ชานเมือง

ดูเหมือนไม่เคยเลยที่มวลสารขนาดกว้างคืบ ยาววาอันชื่อว่ามนุษย์จะรู้จักรับและพอใจในสิ่งที่มีและเป็นอยู่

(แสง สีและชีวิต)



วัยหนุ่มสาวคงมีสัญชาตญาณบางอย่างแอบซ่อนอยู่ เพราะในความกลัวเราก็กลัวที่จะลอง ในอารมณ์ถวิลหาพ่อแม่พี่น้องหัวใจเรากลับเรียกร้องให้เดินออกไปจากบ้าน ไปค้นหาดินแดนแปลกใหม่ที่ไหนสักแห่ง

เป็นไปได้, ลึกๆ แล้ว เราต่างรู้ดีว่าไม่มีใครสามารถซ่อนซุกอยู่ใต้ปีกพ่อแม่ได้ตลอดเวลาฉะนั้นไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเหน็บหนาวแค่ไหน แต่ถ้าถึงเวลาไป ก็ต้องไป

(สิ่งนั้นคือการเดินทาง)


ค่านิยมผู้ใหญ่เป็นอย่างนั้น เขาอยากให้ลูกหลานมีการงานประจำ ซึ่งดูมั่นคงกว่าการจับปลาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เหนืออื่นใดคือการเป็นที่รู้กันว่าก่อนหน้านี้ คนในเมืองมักมองชาวเลด้วยหางตา หาว่าเป็นคนชั้นล่าง เป็นพวกเร่ร่อน ไม่มีความเจริญ...
ชาวนาทำนาอยู่ทุกวัน แต่ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ชีวิตบัดซบเรื่อง "ขายข้าวเปลือกไม่ได้ราคา แต่ข้าวสารโคตรแพง" ยังมีอยู่ทุกยุคสมัย เช่นเดียวกับวันฟ้าฝนลมแรง ชาวเลออกเรือไม่ได้ อยากกินปลาแค่ไหนก็ต้องอดทนอดกลั้น

(ฟุตบอลชายหาด ตลาดปลา เด็กชายฟันขาว และผู้เฒ่าทะเล)






....
10 ธันวาคม 2558
มหาสารคาม
หมายเลขบันทึก: 598295เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2018 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

หนังสือที่อ่าน ภาษาที่เขียน สะท้อนตัวตนและวิธีคิดของบุคคล

ครั้งหนึ่งพี่ก็เคยชอบอ่านหนังสือแนว ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตค่ะ

เวลาผ่านไป หนังสือที่อ่านก็เปลี่ยนไปด้วยตามวัย

ไม่รู้คนอื่นเป็นหรือเปล่านะคะ แต่พี่เป็น

คนที่อ่านมากๆ จะเขียนและถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นตัวอักษร "ได้มาก ได้ง่าย และ ได้เร็ว"

พี่ว่าอาจารย์เป็น "คนไม่จนคำ" (นี่มิใช่คำพิพากษาแค่เป็นคำชมค่ะ)

ครับ พี่nui

เวลาผ่านไป หนังสือที่อ่านก็เปลี่ยนไปด้วยตามวัย

..

เห็นด้วยตามนั้นเลยครับ วันวัยเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดวิถีของเราเองในมิติต่างๆ ผมเริ่มอ่านวรรณกรรมในระยะแรกก็กลอนหวิวๆ หวานๆ ตามวัย แต่พัฒนามาเป็นเรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย และเริ่มมาลงตัวที่เรื่องเล่าในมิติต่างๆ

การอ่าน มักช่วยให้เรามองโลกหลากมุมขึ้น เห็นเรื่องราว เห็นสถานที่ เห็นรสชาติของโลกและชีวิต เห็นถ้อยคำที่เราเก็บมาใช้ได้ทั้งในเชิงปรัชญาคิดและพฤติกรรมเชิงรูปธรรมของเราเอง...

ส่วนคำว่า "ไม่จนคำ" ....(ผมไม่แน่ใจครับ 555 เพราะยังอ่อนวัยต่อการเขียนยิ่งนักครับ)








-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาเลียบเลาะตู้หนังสือครับ

-"คนทุกคนมีด้านมืด และการจริงใจกับเพื่อนหรือคนรักก็ไม่แปลว่าต้องเล่าทุกเรื่อง ตรงกันข้าม อาจบางทีต้องเหยียบด้านมืดนั้นไว้ ทำใจแกล้งลืมๆ ไปเสียบ้าง และขับเคี่ยวตัวเองให้เดินไปบนวิถีแห่งแสงสว่าง...."

-ขอบคุณสำหรับแง่คิดจากหนังสือเล่มนี้นะครับ..

ชาวนาทำนาอยู่ทุกวัน แต่ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ชีวิตบัดซบเรื่อง "ขายข้าวเปลือกไม่ได้ราคา แต่ข้าวสารโคตรแพง" ยังมีอยู่ทุกยุคสมัย

....เช่นเดียวกับวันฟ้าฝนลมแรง ชาวเลออกเรือไม่ได้ อยากกินปลาแค่ไหนก็ต้องอดทนอดกลั้น .....

เป็นความจริงค่ะ เกิดเป็นชาวนา และ ชาวเล .... ให้กำลังใจกัน นะคะ

" ขอทานก็มีศักดิ์ศรี......"

คุณมะเดื่อว่า เป็นเรื่องจริง ใครให้ก็เอา ไม่ให้ก็แล้วไป

อย่างน้อย ๆ ขอทานก็ไม่ลักขโมย หรือปล้นจี้ใคร

ไม่เหมื่อนกับพวกหนักสังคมที่สร้างแต่ความเดือดร้อน

ให้ชาวบ้านนะจ๊ะ

มาเยี่ยมอ่านด้วยความชื่นชม และขอเป็นกำลังใจนัก "ปั่นจักรยานเพื่อพ่อ"ทุกท่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท