​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๔: "หมอครับ ขอผมตายที่บ้าน"


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๔: "หมอครับ ขอผมตายที่บ้าน"

วิชาชีพแพทย์เป็นวิชาที่ทำให้แพทย์มี "อภิสิทธิ์" บางประการที่วิชาชีพอื่นๆไม่มี ไม่ใช่เพราะสูงส่งกว่า หรืออะไร แต่เพราะ "ความจำเป็นของงาน" นำมาซึ่งสิทธิ์ที่ว่านี้ ว่ากันตั้งแต่คำถามที่เราถามคนป่วยที่พึ่งเคยเจอหน้ากันครั้งแรก ก็เต็มไปด้วยเรื่องส่วนตัวที่คนธรรมดาๆ วิชาชีพอื่นๆเค้าจะไม่ถาม ไม่คุยกัน ถ้าใครถามหรือพูดเรื่องเหล่านี้กับคนที่พึ่งเจอะเจอหน้ากันครั้งแรกจะกลายเป็นหยาบคาย ไม่สุภาพไปเลย
อาทิ "ประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไหร่ครับ?"
"ในอาทิตย์ที่ผ่านมามีเพศสัมพันธ์กับใครบ้างไหมครับ?"
"ตกขาวลักษณะเป็นอย่างไรครับ คันไหม มีกลิ่นไหม?"
ฯลฯ
ถามแล้ว คนถูกถามก็ยอมตอบโดยดุษณี พอถามเสร็จหมอก็เชิญต่อ "เชิญขึ้นไปนอนบนเตียงตรวจนะครับ ถอดเสื้อผ้าออกให้หมด" คนไข้ก็ปฏิบัติตามโดยดี ซึ่งก็ไม่มีอาชีพไหนทำแบบนี้ได้เหมือนกัน เสร็จแล้วหมอจะตรวจ ลูบ คลำ ล้วง ฯลฯ ก็ทำไป
อภิสิทธิ์เหล่านี้มีได้เพราะเหตุผลประการเดียว คือ "หมอทำแล้ว เขาร่วมมือแล้ว หวังว่าหมอจะทำให้เขาหายทุกข์ บรรเทาทุกข์ลง" นี่คือที่มาทั้งหมดของอภิสิทธิ์ที่ว่ามาข้างต้น

แต่เรื่องความทุกข์ บางทีก็ยากที่จะทราบว่ามันคืออะไร ประเด็นนี้บางครั้งมันซับซ้อน เพราะทุกข์ไม่ได้มีแค่ เจ็บ ปวด ทางร่างกายเท่านั้น ยังมีทุกข์ทางใจ ทางสังคม และทุกข์ระดับจิตวิญญาณ ที่ไม่อาจจะวินิจฉัยได้ง่ายๆ เหมือนอ่านฟิล์มเอกซเรย์ อ่านผลแลบ หรืออ่าน EKG ซึ่งทุกข์ที่ "อ่านได้" ง่ายๆเหล่านี้ ก็จะติดตามผลการรักษาง่ายกว่า ชัดเจนกว่า และ "ตรง" มากกว่า

ลักษณะของทุกข์ทางจิตใจ สังคม และทางจิตวิญญาณเป็นนามธรรมก็จริง แต่ก็มีผลออกมาทางพฤติกรรม ได้ ทำให้เราสามารถสังเกตเห็นได้ และนำมาใช้ในการติดตามการรักษาได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังว่าเราสังเกตถูกหรือไม่ มันเชื่อมโยงกับทุกข์จริงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องอาศัยทักษะอีกประการคือ "การห้อยแขวนการด่วนตัดสิน suspension of assumption" เอาไว้ก่อน

"หมอครับ... ขอผมกลับไปตายที่บ้านเถอะครับ"

ประโยคนี้ก็เป็นความปราถนาของผู้ป่วยในระยะท้ายหลายๆคน ซึ่งหมอฟัง ก็อยากจะให้ผู้ป่วยสมความปราถนา แต่บางทีก็ทำไม่ได้ เพราะอาจจะมีเรื่องคนดูแลที่บ้าน มีเรื่องการไม่สามารถจะเคลื่อนย้ายออกจาก ร.พ. เรื่องการที่มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทันทีที่เอาเครื่องมือเครื่องไม้ออกจากตัว

แต่นี่คือการตีความตามตัวอักษรที่เราได้ยินเท่านั้น ประโยคข้างบน อาจจะมีนัยยะอีกหลายประการ ลองดูความเป็นไปได้ดังต่อไปนี้

@ ตาย "ที่" บ้าน
@ ตาย "เหมือนอยู่ที่" บ้าน

@ ตาย "ที่" บ้าน ก็คือหมายถึงกลับไปที่บ้านที่เคยอยู่จริง ตามที่อยู่ดั้งเดิม ซึ่งอาจจะมีได้หลายความหมายอีก
๑) อยากจะนอนข้างหน้าต่างบานเดิม เห็นต้นไม้ที่ปลูก ทักทายกับนกที่บินมาเกาะกิ่ง
๒) อยากจะเห็นเงาพระปรางค์วัดอรุณตอนเย็นๆ
๓) อยากจะเห็นเงาตึกที่ในหลวงประทับอยู่ทุกวัน
๔) อยากจะให้มีคนข้างๆบ้านที่คุ้นเคยมาหาบ่อยๆ
๕) อยากตายที่ที่เกิด
๖) ไม่อยากตายที่ ร.พ.
๗) ไม่อยากถูกทำหัตถการอะไรอีกแล้ว
๘) ไม่อยากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกต่อไป
๙) คิดถึงบ้าน คิดถึงสัตว์เลี้ยง คิดถึงต้นไม้
๑๐) อยากทำสมาธิ อยากทำพิธีกรรม (ที่ ร.พ.ไม่อนุญาตให้ทำ)
ฯลฯ มีอีกมากมาย เกินกว่าจะทำรายการได้หมด

@ ตาย "เหมือนอยู่ที่" บ้าน ในที่นี้คำว่า "บ้าน" ไม่ใช่รูปธรรมอีกต่อไป แต่เป็น "คุณลักษณะของบ้าน" สำหรับแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน
๑) บ้านหมายถึง "คนที่อยู่ในบ้าน" นั้นๆ ที่ทำใหนที่นั้นกลายเป็นบ้าน
๒) บ้านหมายถึง "บรรยากาศ" แบบผ่อนคลาย ไม่มี protocol แบบสบายๆ
๓) บ้านหมายถึง "ที่ที่ฉันเป็นนาย เป็นเจ้าของ" ไม่ใช่คนมาอยู่อาศัย
๔) บ้านหมายถึง "รากเหง้าที่มา" ของฉัน หมายถึงภูมิลำเนา
๕) บ้านหมายถึง "สถานที่ที่มีคนเคารพฉัน เห็นใจฉัน รักฉัน"

ฯลฯ

ทุกความหมาย แฝงอยู่ในคำว่า "บ้าน" ได้ทั้งสิ้น บางคนก็อาจจะผสมๆกันมากกว่าหนึ่งความหมาย แต่นัยยะสำคัญก็คือ พอเราแตกความหมายโดยนัยยะออกมาแล้ว เกิด "ความเป็นไปได้" ของความปราถนาในข้อนี้มากขึ้น

เอาต้นไม้มาวางข้างเตียงได้ไหม
นอนอยู่ในตึกใน ร.พ.ศิริราชบางอาคาร ก็อาจจะเห็นพระปรางค์วัดอรุณ
อนุญาตให้คนมาเยี่ยมให้สะดวกมากขึ้น
คุยเรื่อง advance directives สิ่งที่ไม่พึงปราถนาให้แพทย์ทำ
คุยเรื่องค่าใช้จ่ายว่ามีอะไรหลายประการที่เบิกได้ หรือประกันจ่าย
อนุญาตให้ทำพิธีกรรมที่ไม่ไปรบกวนผู้อื่น
ให้ "คนที่ทำให้เหมือนบ้าน" มาอยู่เฝ้าได้ตลอดเวลา
จัดบริเวณให้สงบ ร่มรื่น ห่างจากการบริการที่ดุเดือดเผ็ดมันของรายอื่นๆ
แพทย์ พยาบาลรักคนไข้เหมือนญาติพี่น้อง

ในทำนองกลับกัน ถ้านำเอาผู้ป่วยกลับไปบ้านได้จริงๆ แต่เราไปตกแต่งทำห้องที่บ้านจนเหมือนห้อง ICU ที่ ร.พ.ขนาดย่อส่วน ความหมายของ "กลับบ้าน" ก็อาจจะหมดไป ทั้งๆที่คนไข้กลับบ้าน ก็รู้สึกเหมือนไม่ได้กลับบ้าน ในเรื่องนี้ทุกความหมายในหมวดที่สอง (ตาย "เหมือนอยู่ที่" บ้าน) จะมีกับดักแบบนี้ทั้งหมด

บางทีที่เราทำอะไรไปโดยอ้างว่าเรามี "ความรักและเมตตา" แต่ถ้าเราขาดทักษะในการห้อยแขวน ไม่ด่วนตัดสิน เราอาจจะทำร้ายคนอื่นด้วยความรักและเมตตา (แบบด่วนตัดสิน) ของเราเองก็ได้ และในทำนองกลับกัน ถ้าเราสามารถรับรู้ถึงความหมายที่ไม่ใช่แค่ผิวเผินของความปราถนาของคนไข้ เราอาจจะคิดถึงทางออกได้มากกว่าทางตัน

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๙ นาฬิกา ๓ นาที
วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 598291เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท