หลักสูตรกับผลไม้


หลักสูตรกับผลไม้: กรณีเปรียบเทียบการพัฒนาหลักสูตรกับการปลูกมะม่วง

มะม่วง

มะม่วงเป็นพืชที่ปลูกเพื่อรับประทานผล สามารถทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก มะม่วงสามารถปลูก และผลิดอกออกผลได้ดีในพื้นที่ทุกจังหวัด และทุกภาคของประเทศ แต่จะให้ผลแตกต่างไปตามสภาพของท้องที่ เช่น สภาพอากาศ สภาพดิน และน้ำ มะม่วงมีหลากหลายพันธุ์ เช่น เขียวเสวย อกร่อง อกร่องทอง แก้ว แก้วขมิ้น ฟ้าลั่น น้ำดอกไม้ น้ำดอกไม้มัน มะม่วงหลายพันธุ์ยังเป็นผลไม้ที่ตลาดต่างประเทศต้องการอีกด้วย เช่น มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และมหาชนก (สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย)

ผลมะม่วงนำมารับประทานได้ทั้งดิบและสุก มะม่วงดิบเปลือกเขียว เนื้อสีขาวส่วนใหญ่มีรสเปรี้ยว ยกเว้นบางพันธุ์ที่เป็นมะม่วงมัน เช่น เขียวเสวย ฟ้าลั่น มันหนองแซง ส่วนผลสุกจะมีเนื้อสีเหลืองรวมทั้งเปลือกก็เป็นสีเหลืองด้วย สามารถทานสดหรือนำไปทำเป็นอาหาร เช่น น้ำพริกมะม่วง ยำมะม่วง ทานกับข้าวคลุกกะปิ ข้าวเหนียวมะม่วง นอกจากนั้นแล้วยังสามารถนำมะม่วงไปแปรรูปได้ เช่น มะม่วงดอง มะม่วงแผ่น มะม่วงอบแห้ง มะม่วงแช่อิ่ม น้ำมะม่วง แยมมะม่วง ไอศกรีมมะม่วง เค้กมะม่วง เป็นต้น

นอกจากผลมะม่วงที่นิยมรับประทานแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของต้นมะม่วงก็นำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน เช่น เนื้อไม้นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ ยอดอ่อนนำมาเป็นเครื่องแนมกับอาหาร เช่น ขนมจีน ผลอ่อนนำมาทำอาหาร เช่น น้ำพริก ยำต่างๆ

เมื่อเรานำผลไม้มะม่วงมาเปรียบเทียบกับหลักสูตร เราจะเห็นถึงความสอดคล้องกันระหว่างหลักสูตรกับมะม่วง ดังนี้

  • มะม่วงมีหลากหลายพันธุ์เป็นไปตามสภาพแวดล้อม และแหล่งที่ปลูก เหมือนกับหลักสูตรที่ออกแบบมาต้องเป็นไปตามความต้องการและความเหมาะสมของท้องถิ่นนั้น
  • มะม่วงมีหลากหลายรสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน รับประทานผลดิบ หรือผลสุก ผู้บริโภคก็จะเลือกรับประทานตามความชอบของตน เช่นเดียวกับผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ เช่น ลีลาการเรียนรู้ การศึกษาและประสบการณ์ของผู้เรียน ระดับความสามารถในการปฏิบัติงาน ดังนั้น ในการพัฒนาหลักสูตรต้องทำการวิเคราะห์ผู้เรียนโดยภาพรวม เพื่อนำมาวางแผน และออกแบบหลักสูตรให้สามารถจัดการเรียนการสอนสนองตอบความต้องการจำเป็นของผู้เรียน พัฒนาหลักสูตรให้ยืดหยุ่นที่สามารถสนับสนุนให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในจุดหมายของการเรียนรู้
  • มะม่วงเป็นผลไม้ที่ปลูกในประเทศ และยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ จะเห็นได้ว่ามะม่วงที่ปลูกในประเทศเปรียบเสมือนหลักสูตรท้องถิ่นที่ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม ของท้องถิ่นนั้น ๆ และมะม่วงยังได้รับการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีความพร้อมในกระบวนผลิตให้ได้มาตรฐานทุกด้าน เพื่อให้สามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้ เช่นเดียวกับการออกแบบหลักสูตรที่ต้องมีแนวคิดการศึกษามาตรฐานสากล และทำอย่างไรหลักสูตรนั้นจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนทุกคน ให้ผู้ที่มีความแตกต่างกันสามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุด

กรณีเปรียบเทียบการพัฒนาหลักสูตรกับการปลูกมะม่วง

การเปรียบเทียบการพัฒนาหลักสูตรกับการปลูกมะม่วงนี้ ใช้การพัฒนาหลักสูตรตามแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model ของ รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ

แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model

การปลูกมะม่วง

1. การวางแผนหลักสูตร คือการวางแผนในการกำหนดจุดมุ่งหมายทางการศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหวังของผู้เรียนและสังคม

1. การเตรียมการปลูกมะม่วง โดยการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของมะม่วง ได้แก สภาพดิน น้ำ อากาศ พันธุ์มะม่วงต่าง ๆ และศึกษาจุดประสงค์ในการปลูกมะม่วงว่าต้องการปลูกเพื่ออะไร ปลูกไว้รับประทานเอง ปลูกเพื่อขายในท้องถิ่น หรือปลูกเพื่อการส่งออก

2. การออกแบบหลักสูตร เป็นการเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ และจัดระบบระเบียบประสบการณ์การเรียนรู้

2. การเตรียมแหล่งปลูก สภาพพื้นที่ สภาพดิน ฟ้า อากาศ ว่ามีความเหมาะสมกับการปลูกมะม่วงหรือไม่ เพราะมะม่วงบางสายพันธุ์ต้องการปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตแตกต่างกัน และมีอิทธิพลต่อคุณภาพมะม่วง เช่น ความกรอบ ความแน่นเนื้อ รสชาติ เป็นต้น

2. การเตรียมพันธุ์มะม่วง ศึกษาและวิเคราะห์พันธุ์มะม่วงที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่ต้องการปลูก

3. การเตรียมการตลาด ต้องวิเคราะห์ความต้องการของตลาดว่ามะม่วงพันธุ์อะไรที่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

3. การจัดหลักสูตร จะจัดประสบการณ์ทางการศึกษาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเป็นระบบ มีความสอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้

ขั้นตอนนี้เป็นการจัดการการปลูกมะม่วง จะทำอย่างไรให้ได้ผลมะม่วงเป็นไปตามความคาดหวัง ให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ ซึ่งต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ได้แก่

1. การเตรียมพื้นที่ปลูก ต้องศึกษาว่าพื้นที่ปลูกมะม่วงนั้นเป็นพื้นที่ดอนหรือพื้นที่ลุ่ม เพราะต้องมีการปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ หรือต้องยกร่อง การเตรียมพื้นที่ปลูกลักษณะนี้เพื่อให้ปลูกมะม่วงได้สะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุน

2. วิธีการปลูก และขั้นตอนการปลูก ต้องกำหนดระยะปลูกมะม่วงว่าควรปลูกในระยะทั่วไป หรือ ระยะการปลูกชิด เมื่อได้ระยะปลูกแล้วก็มาดำเนินการ ปลูกมะม่วง

3. การดูแลรักษา เป็นการให้น้ำ การกำจัดวัชพืช ตัดแต่งกิ่ง ป้องกันศัตรูพืช เพื่อให้มะม่วงมีกิ่งที่แข็งแรง และมีใบที่สมบูรณ์เพื่อการเจริญเติบโต

4. การประเมินหลักสูตร เป็นการประเมินผลประสิทธิภาพของประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

ขั้นตอนนี้เปรียบได้กับการดูแลและบำรุงต้นมะม่วงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

1. การบำรุงต้นมะม่วงให้สมบูรณ์ เพื่อให้มะม่วงสมบูรณ์เต็มที่ ต้องรู้รอบระยะพัฒนาการของผลมะม่วง เป็นการประเมินเป็นระยะ ๆ ตามรอบการพัฒนาการของผลมะม่วง

2. การดูแลช่อดอกมะม่วงให้ติดผลดีขึ้น เป็นการประเมินระยะแรก เพื่อตรวจสอบว่าผลผลิตจะเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่

3. การเก็บเกี่ยว เป็นการประเมินว่าผลผลิตมีความสมบูรณ์แล้วหรือไม่ ต้องเก็บให้ถูกต้อง เพื่อให้ผลมะม่วงที่ได้มีคุณภาพดี

4. การบำรุงต้นมะม่วงหลังการเก็บผล เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องบำรุงต้นมะม่วงให้สมบูรณ์หลักจากที่เก็บผลแล้ว เพื่อให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรง สามารถจะให้ผลในปีต่อไปได้

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่า หลักสูตรกับผลไม้: กรณีเปรียบเทียบการพัฒนาหลักสูตรกับการปลูกมะม่วง เริ่มจากการมองลักษณะของผลไม้และหลักสูตร ต่อมาได้เปรียบเทียบการพัฒนาหลักสูตรตามแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model กับการปลูกมะม่วง ซึ่งจะเห็นกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการปลูกมะม่วงที่เป็นระบบ มีการวางแผน การออกแบบ การจัดการและการประเมิน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด

เอกสารอ้างอิง

การปลูกมะม่วง. โครงการพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ

พระเจ้าอยู่หัว ดำเนินการโดย ศูนย์ประสานงานสารนิเทศ สาขาเกษตรศาสตร์ ศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติและศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร. สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย. (2012). Retrieved December, 1 2015 https://th-th.facebook.com/

MangoAssociation.

สุเทพ อ่วมเจริญ. (2557). การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฎีและการปฏิบัติ (พิมพ์ครั้งที่ 6). นครปฐม:

โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.


วิเคราะห์โดย นางสาวรัศมี รัตนประชา

สาขาการสอนภาษาอังกฤษ 57254913

หมายเลขบันทึก: 598285เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท