รูปแบบการจัดการเรียนรู้การเรียนแบบร่วมมือ เทคนิค LT (Learning Together)


"ร่วมเรียนร่วมรู้ มุ่งสู่ความสำเร็จของกลุ่ม"

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือนับว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้กระบวนการกลุ่มให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์และเกิดความสำเร็จร่วมกันของกลุ่ม ซึ่งการเรียนแบบร่วมมือไม่ใช่เป็นเพียงจัดให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม ผู้สอนทำหน้าที่สรุปความรู้ด้วยตนเองเท่านั้น แต่ผู้สอนต้องพยายามใช้ กลยุทธ์วิธีทำให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการประมวลความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำกิจกรรมต่างๆ จัดระบบความรู้สรุปเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือผู้สอนจะต้องเลือกเทคนิคการจัดการเรียนที่เหมาะสมกับผู้เรียน และผู้เรียนจะต้องมีความพร้อมที่จะร่วมกันทำกิจกรรมรับผิดชอบงานของกลุ่มร่วมกัน โดยที่กลุ่มจะประสบความสำเร็จได้ เมื่อสมาชิกทุกคนได้เรียนรู้บรรลุตามจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือการเรียนรู้เป็นกลุ่มหรือเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตนเอง และส่วนรวม เพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด จึงขอนำเสนอในแต่ละหัวข้อดังนี้

ความหมายของการเรียนรู้แบบร่วมมือ

จิราภรณ์ ศิริทวี (2542 :33-38) ได้ให้ความหมายการเรียนแบบร่วมมือว่า หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการร่วมมือ ร่วมแรงกันระหว่างสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ความสำเร็จของทุกคนขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของสมาชิก

วัฒนาพร ระงับทุกข์ (2542 :34) ให้ความหมาย การเรียนแบบกลุ่มร่วมมือเป็นวิธีการจัดการกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้แก่ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน โดยที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการเรียนรู้และในความสำเร็จของกลุ่ม ทั้งโดยการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น การแบ่งปันทรัพยากรการเรียนรู้ รวมทั้งกรเป็นกำลังใจแก่กันและกัน คนที่เรียนเก่งจะช่วยเหลือคนที่อ่อนกว่า สมาชิกในกลุ่มไม่เพียงแต่รับผิดชอบต่อการเรียนของตนเองเท่านั้นหากแต่จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเพื่อนสมาชิกทุกคนในกลุ่ม

ทิศนา แขมมณี (2548 :42) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบร่วมมือ มีหลายรูปแบบซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการหลัก ได้แก่ การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนนและระบบการให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ต่างก็มีวัตถุประสงค์ในทิศทางเดียวกันคือ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุด โดยอาศัยการร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน และแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่ม ความแตกต่างจะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระ วิธีการเสริมแรง

อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 29) ได้กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือหรือแบบมีส่วนร่วม หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถต่างกัน ได้ร่วมมือกันทางานกลุ่มด้วยความตั้งใจและเต็มใจรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ในกลุ่มของตน ทาให้งานของกลุ่มดาเนินไปสู่เป้าหมายของงานได้

จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ หมายถึง การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นการจัดการเรียนรู้ที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ สมาชิกในกลุ่มแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความสนุกสนานในการเรียนรู้แบบกระบวนการกลุ่มร่วมมือ ทำให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ นักเรียนมีความรับผิดชอบทั้งในส่วนตนและส่วนรวม ทั้งยังเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในชั้นเรียนและเพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้


หลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ

ทิศนา แขมมณี (2548 : 49) ได้อธิบายถึงหลักการเรียนแบบร่วมมือไว้ว่า หลักการเรียนรู้แบบร่วมมือผู้เรียนควรร่วมมือในการเรียนรู้มากกว่าการแข่งขันซึ่งมีหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการดังนี้

1. การเรียนรู้ต้องอาศัยหลักการพึ่งพาอาศัยกัน กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ จะต้องตระหนักว่าทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกันและจะต้องพึ่งพากัน เพื่อความสำเร็จร่วมกัน ดังนั้นทุกคนต้องรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตนและในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่มด้วยเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

2. การเรียนรู้ที่ดีต้องอาศัยการหันหน้าเข้าหากัน มีปฏิสัมพันธ์กัน การที่สมาชิกในกลุ่มมีการพึ่งพาอาศัยกัน เป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลและการเรียนรู้ต่าง ๆ สมาชิกในกลุ่มจะห่วงใย ไว้วางใจ ส่งเสริมและช่วยเหลือกันในการทำงานต่าง ๆ ร่วมกัน ส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

3. การเรียนรู้ร่วมกันต้องอาศัยทักษะทางสังคม การที่สมาชิกในกลุ่มต้องทำงานร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การทำงานจะประสมผลสำเร็จได้ต้องอาศัยทักษะที่สำคัญ ๆ เช่น ทักษะการทำงานกลุ่ม ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งการยอมรับไว้วางใจกันและกันงานจึงจะดำเนินไปได้

4. การเรียนรู้กันควรมีการวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ จะต้องมี การวิเคราะห์กระบวนการทำงานของกลุ่มเพื่อช่วยให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น เช่น การวิเคราะห์วิธีการทำงานของกลุ่มพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มและผลงานของกลุ่ม

5. การเรียนรู้ร่วมกันจะต้องมีผลงาน หรือผลสัมฤทธิ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มที่สามารถตรวจสอบและวัดประเมินได้ (Individual Accountability) สมาชิกในกลุ่มการเรียนรู้ทุกคนจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ และพยายามทำงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถไม่มีใครที่จะได้รับผลประโยชน์โดยที่จะไม่ทำหน้าที่ของตน ดังนั้นกลุ่มจึงจำเป็นต้องตรวจสอบผลงาน ทั้งที่เป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม อาจจัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือจับคู่ เพื่อจะได้มีโอกาสเอาใจกันและกัน การสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในกลุ่ม

จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือจะประสบผลสำเร็จได้นั้นสมาชิกแต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อกลุ่มโดยจะต้องช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและในการทำงานร่วมกันสมาชิกต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันยอมรับไว้วางใจกัน รวมทั้งมีการตรวจสอบผลงานของสมาชิกในกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน


องค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ

สุวิทย์ มูลคำ (2546 : 56) ได้สรุปองค์ประกอบสำคัญดังนี้

1. การมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในทางบวก (Positive Interdependence) หมายถึง การที่สมาชิกในกลุ่มมีการทางานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน มีการแข่งขันมีการใช้วัสดุอุปกรณ์และข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกัน มีบทบาทหน้าที่และประสบความสำเร็จร่วมกัน รวมทั้งได้รับผลประโยชน์หรือรางวัลโดยเท่าเทียมกัน

2. การปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างการทำงานกลุ่ม (Face to Face Promotion Interaction) เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกในกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อธิบายความรู้ให้แก่เพื่อนสมาชิกในกลุ่มฟัง และมีการให้ข้อมูลย้อนกลับซึ่งกันและกัน

3. การตรวจสอบความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน (Individual Accountability) เป็นกิจกรรมที่ตรวจเช็คทดสอบให้มั่นใจสมาชิกมีความรับผิดชอบต่องานกลุ่ม หรือไม่ เพียงใด โดยสามารถที่จะทดสอบเป็นรายบุคคล เช่น การสังเกต การทำงาน การสุ่มถาม ปากเปล่า เป็นต้น

4. การใช้ทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interdependence and Small Group Skills) ในการเรียนรู้แบบร่วมมือนี้เพื่อให้งานกลุ่มประสบความสำเร็จ ผู้เรียนควรจะได้รับการฝึกฝนทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่ม เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเป็นผู้นำทักษะการตัดสินใจ การแก้ปัญหา และทักษะการทำงานกลุ่ม เป็นต้น

5. กระบวนการกลุ่ม (Group Process) เป็นกระบวนการทางานที่มีขั้นตอน ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะต้องทำความเข้าใจในเป้าหมายการทำงาน มีการวางแผน ดำเนินงานตามแผน ประเมินผลงานและปรับปรุงงานร่วมกัน


อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 122) กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้ว่า ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในการให้ผู้เรียนทำงานกลุ่ม ดังข้อต่อไปนี้

1. มีการพึ่งพาอาศัยกัน (Positive Interdependence) หมายถึง สมาชิกในกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกัน มีส่วนรับความสำเร็จร่วมกัน ใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน มีบทบาทหน้าที่ทุกคนทั่วกัน ทุกคนมีความรู้สึกว่างานจะสำเร็จได้ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

2. มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในเชิงสร้างสรรค์ (Face to Face Promotive Interaction) หมายถึง สมาชิกกลุ่มได้ทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด เช่น แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อธิบายความรู้แก่กัน ถามคำถาม ตอบคำถามกันและกัน ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน

3. มีการตรวจสอบความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน (IndividualAccountability) เป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องตรวจสอบว่า สมาชิกทุกคนมีความรับผิดชอบต่องานกลุ่มหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เช่น การสุ่มถามสมาชิกในกลุ่ม สังเกตและบันทึกการทำงานกลุ่ม ให้ผู้เรียนอธิบายสิ่งที่ตนเรียนรู้ให้เพื่อนฟัง ทดสอบรายบุคคล เป็นต้น

4. มีการฝึกทักษะการช่วยเหลือกันทำงานและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interdependence and Small Groups Skills) ผู้เรียนควรได้ฝึกทักษะที่จะช่วยให้งานกลุ่มประสบความสำเร็จ เช่น ทักษะการสื่อสาร การยอมรับและช่วยเหลือกัน การวิจารณ์ความคิดเห็น โดยไม่วิจารณ์บุคคล การแก้ปัญหาความขัดแย้ง การให้ความช่วยเหลือ และการเอาใจใส่ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การทำความรู้จักและไว้วางใจผู้อื่น เป็นต้น

5. มีการฝึกกระบวนการกลุ่ม (Group Process) สมาชิกต้องรับผิดชอบต่อการทำงานของกลุ่ม ต้องสามารถประเมินการทำงานของกลุ่มได้ว่า ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะเหตุใด ต้องแก้ไขปัญหาที่ใด และอย่างไร เพื่อให้การทำงานกลุ่มมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม เป็นการฝึกกระบวนการกลุ่มอย่างเป็นกระบวนการ

จากการศึกษาองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ จึงสรุปได้ว่าการเรียนรู้แบบร่วมมือนั้นมีองค์ประกอบ 5 ประการด้วยกัน คือ

1. มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยสมาชิกแต่ละคนมีเป้าหมายในการทำงานกลุ่มร่วมกันซึ่งจะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อความสำเร็จของการทำงานกลุ่ม

2. มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในเชิงสร้างสรรค์ เป็นการให้สมาชิกได้ร่วมกันทำงานกลุ่มกันอย่างใกล้ชิด โดยการเสนอและแสดงความคิดเห็นกันของสมาชิกภายในกลุ่ม ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน

3. มีความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน หมายความว่า สมาชิกภายในกลุ่มแต่ละคนจะต้องมีความรับผิดในการทำงาน โดยที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความมั่นใจ และพร้อมที่จะได้รับการทดสอบ เป็นรายบุคคล

4. มีการใช้ทักษะกระบวนการกลุ่มย่อย ทักษะระหว่างบุคคล และทักษะการทำงานกลุ่มย่อย นักเรียนควรได้รับการฝึกฝนทักษะเหล่านี้ก่อน เพราะเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ เพื่อให้นักเรียนจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. มีการใช้กระบวนการกลุ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการวางแผนปฏิบัติงานและเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน โดยจะต้องดำเนินงานตามแผนตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน


ประเภทของการเรียนรู้แบบร่วมมือ

ทิศนา แขมมณี (2545 : 102) ได้อธิบายถึงประเภทของกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้

ว่า กลุ่มการเรียนรู้ที่ใช้กันโดยทั่วไปมี 3 ประเภท ดังนี้

1. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างเป็นทางการ (Formal Cooperative) กลุ่มประเภทนี้ครูจัดขึ้นโดยการวางแผน จัดระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีการและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ร่วมมือกันเรียนรู้สามารถต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องอาจเป็นหลาย ๆ ชั่วโมงติดต่อกัน หลายสัปดาห์จนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่กำหนด

2. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือแบบไม่เป็นทางการ (Informal Cooperative) กลุ่มประเภทนี้จัดขึ้นชั่วคราว เฉพาะกิจ โดยสอดแทรกการสอนปกติ โดยเฉพาะการสอนแบบบรรยาย ครูสามารถจัดกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือสอดแทรกเข้าไปเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมุ่งความสนใจ

3. กลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมืออย่างถาวร (Cooperative Base Groups) กลุ่มประเภทนี้เป็นกลุ่มการเรียนรู้ที่สมาชิกกลุ่มมีประสบการณ์การทำงานและการเรียนรู้รวมกันมานานจนกระทั่งเกิดความสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น สมาชิกกลุ่มมีความผูกพันห่วงใย ช่วยเหลือกันและกันอย่างต่อเนื่อง


รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ

ทิศนา แขมมณี (2548 : 102) ได้อธิบายถึงรูปแบบการเรียนรู้การสอนแบบร่วมมือว่า รูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือมีหลายรูปแบบจะมีวิธีการหลัก ๆ ซึ่งได้แก่ การจัดกลุ่มการศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนน และระบบการให้รางวัล แตกต่างกันออกไปเพื่อสนองวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดต่างก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ หลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการและมีวัตถุประสงค์มุ่งตรงไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุดโดยอาศัยการร่วมกัน ช่วยเหลือกันและแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน ความแตกต่างของรูปแบบแต่ละรูปจะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระและวิธีการเสริมแรงและการให้รางวัล รูปแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือที่นิยมใช้ทั่วไปในปัจจุบันมี 8 รูปแบบดังนี้

1. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบจิ๊กซอร์ (JIG - SAW) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มและความสามารถ (เก่ง - กลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คน กลุ่มนี้เรียกว่า กลุ่มบ้าน(Home-group) มอบหมายเนื้อหาให้ข้อย่อยแตกต่างกันแล้ว กลับไปกลุ่มที่มีเนื้อหาเดียวกัน เรียกว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เมื่อศึกษาเนื้อหาอย่างละเอียดก็กลับไปกลุ่มบ้านสอนเพื่อนในกลุ่มในเรื่องสาระของตน สมาชิกของกลุ่มได้รายละเอียดของเนื้อหาทั้งหมดและทดสอบ นำคะแนนทดสอบรายบุคคลมารวมกันหาค่าเฉลี่ยเป็นคะแนนของกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับรางวัล

2. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ เอส.ที.เอ.ดี (STAD) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละกันตามความสามารถ (เก่ง - กลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คนเรียนว่า กลุ่มบ้านของเราสมาชิกในกลุ่มรับเนื้อหาสาระศึกษาร่วมกันเป็นหลายตอนและสมาชิกในกลุ่มทำแบบทดสอบแต่ละตอนเก็บคะแนนไว้แล้วหาค่าเฉลี่ยของตนไว้ สมาชิกทดสอบรวมยอดครั้งสุดท้าย เอาคะแนนรวมยอดลบคะแนนเฉลี่ยก็จะได้คะแนนเฉลี่ย คะแนนพัฒนาการมารวมกันในกลุ่ม กลุ่มใดได้คะแนนสูงได้รับรางวัล

3. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ แอล.ที (LT) (Learning Together) จัดกลุ่มผู้เรียน เข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง - ปานกลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คน ศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกันโดยกำหนดบทบาทให้แต่ละคนมีหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มในการเรียนรู้ กลุ่มสรุปคำตอบร่วมกันส่งคำตอบเป็นผลงานของกลุ่ม ผลงานกลุ่มได้คะแนนเท่าไร สมาชิกทุกคนในกลุ่มนั้นจะได้คะแนนเท่ากันทุกคนในการทำกิจกรรมครั้งนี้ได้ใช้เทคนิคการเรียนรู้รูปแบบแอล.ที (LT)

4. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ จี.ไอ (G.I) (Group Investigation) รูปแบบนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนช่วยกันสืบค้นข้อมูลมาใช้ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีขั้นตอนเริ่มจากจัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง - ปานกลาง - อ่อน) กลุ่มละ 4 คน ศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกัน โดยแบ่งหัวข้อย่อยให้สมาชิกไปศึกษาหาคำตอบ โดยให้ผู้เรียนอ่อนเลือกก่อนเมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็มาให้กลุ่ม กลุ่มอภิปรายร่วมกัน สรุปผลการศึกษา นำเสนอหน้าชั้น

5. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ที.เอ.ไอ (TAI) (Team Assisted Individualization) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-ปานกลาง-อ่อน) เรียกกลุ่ม “บ้านของเรา” สมาชิกในกลุ่มได้รับเนื้อหาสาระศึกษาร่วมกัน และสมาชิกจับคู่ทำแบบฝึกหัดแล้วใครทำแบบฝึกหัดได้ 75% ไปรับการทดสอบรวบยอด นักเรียนไม่ช่วยเหลือกัน คนที่ซ่อมต้องช่วยจนทำได้จึงจะได้จึงจะได้ทดสอบรวบยอด เพื่อแต่ละกลุ่มแข่งขันเสร็จ เอาคะแนนสมาชิกของตนมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม

6. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ที.จี.ที (TGT) (Team Games Tournament) จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ (เก่ง-ปานกลาง-อ่อน) กลุ่มละ 4 คน เรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มบ้านของเรา สมาชิกในบ้านรับเนื้อหาสาระศึกษาร่วมกัน สมาชิกในกลุ่มแยกย้ายไปแข่งขันกับกลุ่มอื่นตามความสามารถคือ คนเก่งแข่งกับคนเก่ง คนอ่อนแข่งกับคนอ่อน และรวมคะแนนของตนได้ตามโบนัสที่กำหนด เมื่อแต่ละกลุ่มแข่งขันเสร็จเอาคะแนนสมาชิกของตนมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม

7. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ ซี.ไอ.อาร์.ซี (CIRC) (Co-operative Integrated Reading and Composition) เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ใช้สอนอ่านและเขียน โดยเฉพาะมีขั้นตอนดังนี้ แบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถในการอ่าน สมาชิกในกลุ่มมี 4 คน มีพื้นความรู้เท่ากัน 2 คน อีก 2 คน แตกต่างกัน ครูจะเรียกคู่ที่มีระดับความรู้เท่ากันมาสอนให้กลับเข้ากลุ่มแล้วเรียกคู่ต่อไปที่มีความรู้ต่างกันมาสอน และทดสอบรายบุคคลคะแนนที่ได้เป็นทั้งรายบุคคลและทีม

8. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Instruction) รูปแบบนี้คล้ายคลึงกันรูปแบบ จี.ไอ ซึ่งมีขั้นตอนคือ จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ(เก่ง-ปานกลาง-อ่อน) กลุ่มรับเนื้อหาสาระมาร่วมกันไปศึกษาสืบค้นโดยสมาชิกรับเนื้อหาตามความสามารถให้คนอ่อนเลือกเนื้อหาก่อน เมื่อแต่ละคนศึกษาเนื้อหาแล้ว กลับเข้ากลุ่มเอาคำตอบให้กลุ่มร่วมกันอภิปราย และสรุปผลการศึกษา เสนอผลงานหน้าชั้น

จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า วิธีเรียนแบบร่วมมือที่มีวิธีการหลัก ๆ ที่แตกต่างกัน เช่น การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนน ระบบการให้รางวัล แต่ไม่ว่าการเรียนรู้แบบร่วมมือรูปแบบใดก็จะมีหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือที่เหมือนกันอยู่ 5 ประการดังกล่าวมาแล้ว


การเรียนแบบร่วมมือเทคนิค LT (Learning Together)

ความหมายของการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค LT

ไสว ฟักขาว (2542 : 151) ได้อธิบายความหมายของเทคนิคที่ใช้ในการเรียนแบบร่วมมือแบบ LT (Learning Together) ไว้ว่า เป็นวิธีที่เหมาะสมกับการสอนที่มีโจทย์ปัญหา การคำนวณ หรือ การฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ เป็นรูปแบบที่มีการกำหนดสถานการณ์และเงื่อนไขให้นักเรียนทำผลงานเป็นกลุ่ม ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันเอกสารการแบ่งงานที่เหมาะสม และการให้รางวัลกลุ่ม

สุวิทย์ มูลคำ (2546 : 90) ได้ให้รายละเอียดการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือรูปแบบร่วมเรียนร่วมรู้(Learning Together : LT) เป็นวิธีการที่เหมาะสมกับเนื้อหากิจกรรมการเรียนที่มีลำดับขั้นตอนแน่นอน ผู้เรียนทำงานร่วมกันภายในกลุ่มโดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างเด่นชัดเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานกลุ่ม

ทิศนา แขมมณี (2548 : 69-70) ได้อธิบายถึงการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้โดยใช้เทคนิค LT ไว้ว่า เป็นการเรียนรู้แบบร่วมมืออีกรูปแบบหนึ่งที่มีกระบวนการที่ง่ายไม่ซับซ้อนที่แบ่งกลุ่มผู้เรียนกลุ่มละ 4 คน โดยจัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถทั้งเก่ง ปานกลาง อ่อน อยู่ด้วยกัน กลุ่มย่อยกลุ่มละ 4 คน ศึกษาเนื้อหาร่วมกันโดยกำหนดให้แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ช่วยกลุ่มในการเรียนรู้ เช่น สมาชิกคนที่ 1 : อ่านคำสั่ง สมาชิกคนที่ 2 : หาคำตอบ สมาชิกคนที่ 3 : หาคำตอบ สมาชิกที่ 4 : ตรวจคำตอบ กลุ่มย่อยสรุปคำตอบร่วมกันส่งคำตอบนั้นเป็นผลงานของกลุ่ม ผลงานของกลุ่มได้คะแนนเท่าไรสมาชิกทุกคนจะได้คะแนนนั้นเท่ากันทุกคน ดังนั้นผู้สอนจะต้องใช้เทคนิคการเสริมแรง เช่น ให้รางวัล คำชมเชย เป็นต้น สมาชิกกลุ่มจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ช่วยเหลือกัน เพื่อความสำเร็จของกลุ่ม

อาภรณ์ ใจเที่ยง (2550 : 23) ได้เรียกรูปแบบร่วมเรียนร่วมรู้ว่า กลุ่มเรียนรู้ร่วมกัน (Learning Together : LT) กลุ่มเรียนรู้ร่วมกัน เป็นเทคนิคการจัดกิจกรรมที่ให้สมาชิกในกลุ่มได้รับผิดชอบ มีบทบาทหน้าที่ทุกคน เช่น เป็นผู้อ่าน เป็นผู้จดบันทึก เป็นผู้รายงานนาเสนอ เป็นต้น ทุกคนช่วยกันทำงาน จนได้ผลงานสำเร็จ ส่งและนำเสนอผู้สอน

จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การเรียนแบบร่วมมือแบบ LT (Learning Together) เป็นเทคนิคที่มีกระบวนการในการสอนที่ไม่ยุ่งยากและซับซ้อน โดยกระบวนการคือให้สมาชิกในกลุ่มช่วยกันศึกษาเนื้อหาร่วมกัน โดยกำหนดให้แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ช่วยกลุ่มในการเรียนรู้ และสรุปคำตอบร่วมกันเป็นผลงานของกลุ่ม โดยสมาชิกในมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้กลุ่มประสบความสำเร็จ


วัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค LT

สุวิทย์ มูลคำ (2546 : 91) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของเทคนิค LT ดังนี้

1. เพื่อฝึกทักษะเฉพาะเรื่อง เช่น การทดลอง การแก้ปัญหา หรือการสรุปผล

2. เพื่อปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในด้านความรับผิดชอบการทำงานร่วมกับผู้อื่น

ทิศนา แขมมณี (2548 : 69-70) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของเทคนิค LT ดังนี้

1. เพื่อมุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ ด้วยตนเอง และด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ

2. เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะทางสังคมต่าง ๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นทักษะการสร้างความสัมพันธ์

3. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการแสวงหาความรู้ ทักษะการคิด การแก้ปัญหา


ขั้นตอนการการจัดการเรียนรู้แบบ LT

David Johnson and Robert Johnson (1991) ได้เสนอการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนด้วยกัน ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีความคล้ายคลึงกับรูปแบบการสอนแบบสืบสวนสอบสวน (Group Investigation) ซึ่งรูปแบบการเรียนด้วยกันนี้ จะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มคละความสามารถ เน้นการสร้างกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมก่อนที่จะทำงานร่วมกันจริง และเน้นการอภิปรายในกลุ่มว่าสมาชิกทำงานช่วยกันได้ดีเพียงใด การเรียนรู้แบบการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนด้วยกัน มีลักษณะการเรียนรู้ ดังนี้

1. ครูกำหนดงานให้นักเรียนทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่นักเรียนเคยเรียนมาก่อนกำหนดว่าให้ทำงานอะไร แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดของงาน เพื่อให้นักเรียนได้มีความคิดสร้างสรรค์ผลงานเอง อาจจะเป็นงานขนาดใหญ่ที่ต้องทำทั้งชั้นเรียน แต่ต้องมีการแบ่งงานกันทำในส่วนต่าง ๆ และนำมารวมกัน และจะต้องรับรู้ในงานส่วนอื่น ๆ ของเพื่อนนักเรียนคนอื่นที่ทาด้วย

2. การจัดนักเรียนเข้ากลุ่ม โดยคละความสามารถ ซึ่งแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3– 5 คนและทำงานตามที่ครูได้กำหนดไว้ให้ จากนั้นร่วมกันวางแผนการทำงาน มอบหมายบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนให้ชัดเจน

3. งานที่ทำนั้นมีลักษณะที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน สมาชิกกลุ่ม มีความรับผิดชอบในงานส่วนของตนเอง เมื่องานในส่วนของตนเองเสร็จแล้ว จะนำงานของทุกคนมารวมเป็นงานของกลุ่ม ดังนั้นความสำเร็จของกลุ่มเกิดจากความร่วมมือของสมาชิกกลุ่มทุกคน

4. มีการนำเสนอผลงานเมื่องานเสร็จสิ้นลง โดยสมาชิกกลุ่มได้ร่วมปรึกษาถึงวิธีการนำเสนอผลงานและวิธีการทำงานของกลุ่ม

5. ครูเป็นผู้ประเมินผลการทำงานของกลุ่ม โดยเน้นผลงานและกระบวนการทำงาน ซึ่งมีวิธีการประเมินโดยคัดเลือกตัวแทนกลุ่มออกมาสอบถามเกี่ยวกับงานที่ได้ทำ และกระบวนการทำงานของกลุ่ม

วัฒนาพร ระงับทุกข์ (2542 : 39) ได้อธิบายขั้นตอนการเรียนรู้แบบร่วมมือรูปแบบ LT ไว้ดังนี้

1. ครูและนักเรียนอภิปราย สรุปเนื้อหาที่เรียนในคาบที่แล้ว

2. แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มคละความสามารถกัน กลุ่มละ 4-5 คน

3. ครูแจกใบงานกลุ่มละ 1 แผ่น

4. แบ่งหน้าที่ของผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มดังนี้

คนที่ 1 อ่านคำสั่งหรือขั้นตอนในการดำเนินงาน

คนที่ 2 ฟังขั้นตอนและจดบันทึก

คนที่ 3 อ่านคำถามและหาคำตอบ

คนที่ 4 ตรวจคำตอบ (ข้อมูล)

5. แต่ละกลุ่มส่งกระดาษคำตอบเพียงแผ่นเดียวหรือส่งงาน 1 ชิ้น ผลงานที่เสร็จ และส่งเป็นผลงานที่ทุกคนในกลุ่มยอมรับ ซึ่งทุกคนในกลุ่มจะได้คะแนนเท่ากัน

6. ปิดประกาศชมเชยกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด

ไสว ฟักขาว (2547 : 11) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค LT ไว้ดังนี้

1. ครูและนักเรียนทบทวนเนื้อหาเดิม หรือความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

2. ครูแจกแบบฝึกหรือใบงานให้ทุกกลุ่ม กลุ่มละ 1 ชุดเหมือนกัน นักเรียนช่วยทำงานโดยแบ่งหน้าที่แต่ละคน เช่น

นักเรียนคนที่ 1 อ่านคำแนะนำ คำสั่งหรือโจทย์ในการดำเนินงาน

นักเรียนคนที่ 2 ฟังขั้นตอนและรวบรวมข้อมูล

นักเรียนคนที่ 3 อ่านสิ่งที่โจทย์ต้องการทราบแล้วหาคำตอบ

นักเรียนคนที่ 4 ตรวจคำตอบ

3. แต่ละกลุ่มส่งกระดาษคำตอบหรือผลงานเพียงชุดเดียว ถือว่าเป็นผลงานที่สมาชิกยอมรับ และเข้าใจแบบฝึกหรือการทำงานชิ้นนี้แล้ว

4. ตรวจคำตอบหรือผลงานให้คะแนนด้วยกลุ่มเองหรือครูก็ได้ กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รางวัลหรือติดประกาศไว้ที่บอร์ด


ข้อดีของการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค LT

สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2545 : 175) ได้ศึกษาข้อดีของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ (LT) ไว้ดังนี้

1. ผู้เรียนมีความเอาใจใส่รับผิดชอบตัวเองและกลุ่มร่วมกับผู้อื่น

2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้นำ

3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันได้เรียนรู้ร่วมกัน

4. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกและเรียนรู้ทักษะทางสังคมโดยตรง

5. ผู้เรียนมีความสุข สนุกสนานกับการเรียนรู้

ชาญชัย ยมดิษฐ์ (2548 : 135) ได้ศึกษาข้อดีของกระบวนการกลุ่มร่วมมือกันเรียนรู้ ไว้ดังนี้

1. นักเรียนทุกคนในกลุ่มมีความรับผิดชอบร่วมกันในการทำงานและการเรียนรู้

2. นักเรียนรู้ทักษะของการอยู่ร่วมกันในสังคม

3. นักเรียนซึ่งมีปฏิกิริยาต่อกันและกันนั้นได้เกิดการเรียนรู้ในเจตคติ ค่านิยมและความรู้ซึ่งกันและกัน

4. นักเรียนได้ฟังความคิดเห็นจากคนอื่น ทำให้มีความคิดกว้างขวาง


ข้อจำกัดของการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค LT

สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2545 : 175) ได้ศึกษาให้ข้อกำจัดของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ (LT) ไว้ดังนี้

1. ถ้าผู้เรียนขาดการเอาใจใส่และความรับผิดชอบส่งผลให้ผลงานกลุ่มและการเรียนรู้ไม่ประสบผลสำเร็จ

2. เป็นวิธีการที่ผู้สอนจะต้องเตรียมการดูแลเอาใจใส่กระบวนการเรียน

ชาญชัย ยมดิษฐ์ (2548 : 135) ได้ศึกษาข้อจำกัดของกระบวนการกลุ่มร่วมมือกันเรียนรู้ ไว้ดังนี้

1. ถ้านักเรียนขาดความรับผิดชอบ ขาดความเอาใจใส่ ขาดความกระตือรือร้น จะส่งผลต่อกลุ่มการเรียนรู้ไม่ประสบความสำเร็จ

2. ในการทำงานร่วมกัน คิดร่วมกัน คนอ่อนไม่ออกความคิดหรือคิดช้า เป็นผลต่อ การทำงานกลุ่มทำให้คนคิดช้าไม่ประสบความสำเร็จ

จากการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า ข้อดีและข้อเสียของการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมมือกันการเรียนรู้ (LT) มีดังนี้

1. ข้อดี

1.1 ส่งเสริมให้ผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันได้เรียนรู้ร่วมกันมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

1.2 ส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทักษะทางสังคม การทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข

1.3 ส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนฝึกทักษะความเป็นผู้นำ มีความเชื่อมั่นในตนเองและรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น

1.4 ปลูกฝังให้นักเรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่น / กลุ่ม

1.5 ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักช่วยเหลือเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกันและร่วมมือกัน

2. ข้อเสีย

2.1 ถ้านักเรียนคนหนึ่งขาดความรับผิดชอบจะส่งผลต่อกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือไม่ประสบผลสำเร็จ

2.2 นักเรียนบางส่วนขาดการยอมรับความคิดเห็นของนักเรียนที่เรียนอ่อน

สรุปได้ว่าการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค LT เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่นักเรียนได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้ผลงานกลุ่ม ในขณะที่ทำงานนักเรียนต้องช่วยกันคิดและช่วยกันตอบคำถาม พยายามทำให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมและทุกคนเข้าใจที่มาของคำตอบโดยให้นักเรียนขอความช่วยเหลือจากเพื่อนก่อนที่จะถามครู และครูชมเชยหรือให้รางวัลเป็นกลุ่มตามผลงานของกลุ่มนั้น ๆ



บรรณานุกรม

กรมวิชาการ. (2535). ความคิดสร้างสรรค์ หลักการ ทฤษฎีการเรียนการสอนการวัดผล

ประเมินผล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

กระทรวงศึกษาธิการ. (2543). เอกสารชุดเทคนิคการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา กรมศาสนา.

จิราภรณ์ ศิริทวี. (2542). “โครงงานการสร้างทางเลือกใหม่ของการสร้างปัญญา,” วารสารวิชาการ.

2(8) : 33-38.

ทิศนา แขมมณี. (2548). รูปแบบการเรียนการสอนทางเลือกที่หลากหลาย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์

แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

วัฒนาพร ระงับทุกข์. (2542). แผนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ :

ไทยวัฒนาพานิช.

สุวิทย์ มูลคำ. (2546). 19 วิธีจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.

ไสว ฟักขาว. (2544). หลักการสอนสาหรับการเป็นครูมืออาชีพ. กรุงเทพฯ :

สถาบันราชภัฎจันทรเกษม.

อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2550). หลักการสอน. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

หมายเลขบันทึก: 598284เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้ดีที่ใช้ในการทำรายงานได้

นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตร

มีการรวบรวมข้อมูลได้ดีมาก มีการอ้างอิงที่เป็นระบบ ขออนุญาตใช้ข้อมูลในการทำรายงานค่ะ :)

ขอบคุณครับ ข้อมูลชัดเจนมีการอ้างอิง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท