688. เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก "สามก๊ก" (ตอนที่ 18)


ตอน "เสียงกระซิบจากบรรพกาล"

สามก๊กเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า ที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้แปลมา คุณพ่อของผมก็แนะนำให้อ่าน แสดงว่าสามก๊กต้องมีอะไรดี เวลาอ่านสามก๊ก ผมรู้สึกได้ว่าคนโบราณได้ส่งเสียงกระซิบข้ามกาลเวลามา มาบอกพวกเราว่าเราจะอยู่กับโลกธรรม 8 อย่างไร พวกเขาไม่ว่าจะเป็นเล่าปี่ ซุนกวน โจโฉ และวีรบุรุษท่านอื่นๆ ต่างใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน หลายคนล้มหายไปทั้งตระกูล พ่ายต่อโลกธรรม เสียงกระซิบนั้นบอกว่า “มาศึกษาดูนะ ชีวิตของพวกข้า มาดูให้ดีๆ ดูให้ลึกๆ ดูทั้งภาพไกล้และภาพไกล แล้วเจ้าจะเห็นสัจธรรม ”

ผมเองตอนแรกก็อ่านสามก๊ก และยังตามอ่านบทวิจารณ์ของท่านอื่นๆ และเมื่อมาเป็นอาจารย์ MBA รู้ทฤษฎีด้านการจัดการมากขึ้น แถมไปได้ Diploma ด้าน Positive Psychology (จิตวิทยาบวก) มาอีกตัว สามปีก่อนไปบวชมาอีก ได้อ่านชาดก รู้สึกว่าก็น่าสนใจ ผมเลยเกิดความคิดว่าจะลองมองสามก๊กผ่านเลนส์ในแบบต่างๆ สามเลนส์ เพื่อที่จะทำความเข้าใจเสียงกระซิบของคนโบราณจากบรรพกาลนี้

ผมเลยเริ่มต้นจากการทำ Workshop ให้นักศึกษาที่เรียนสามก๊กกับผมแบ่งกันอ่านสามก๊ก 1,500 หน้า นักศึกษา 40 คน ก็จะประมาณคนละเกือบ 40 หน้า จากนั้นตลอดสามสัปดาห์ ผมให้ทุกคนอ่านทฤษฎีด้านการจัดการ จากนั้นเอามาแชร์กัน โดยพยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่อ่านมา และก็ทำอย่างเดียวกับเรื่องจิตวิทยาบวก (ผมเลือกเรื่อง Character Strenghts หรือบุคลิกที่เป็นจุดแข็ง เพราะเป็นพฤติกรรมแบบสร้างสรรค์มีอยู่ 24 แบบ) และชาดก โดยผมได้บันทึกการค้นพบแต่ละครั้งไว้ในบทความนี้

เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 14) เป็นการมองสามก๊กผ่าน Positive Psychology

เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 15) มองสามก๊กผ่านทฤษฎีการจัดการ

เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอน 16) มองสามก๊กผ่าน "ชาดก"

วันนี้ผมจะมาสังเคราะห์ทั้งสามตอนรวมกันทีเดียว

จะว่าไปที่ผ่านมา ผมทำเหมือนการถอดรหัส DNA ของมนุษย์ และที่สุดผมก็เจออะไรที่น่าตื่นเต้น ผมสามารถเห็นรูปแบบบางอย่างของเหตุการณ์ในสามก๊ก เริ่มตั้งแต่ยุควุ่นวาย เราค้นพบเหตุแห่งความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้นำ เอาเป็นว่าเมื่อมองผ่านสามปัจจัยเราเห็นความลึกว่าแต่ละเหตุการร์ผู้นำต้องใช้กลยุทธ์อะไร เราเห็นพฤติกรรมของเขาแต่ละช่วง ที่สามารถสรุปผ่านแนวคิดการประเมินบุคลลิกภาพของคนผ่านมิติการประเมินบุคลิกภาพคนแบบจิตวิทยาบวก หรือ VIA Character Strenghts และสุดท้ายเราเห็นลีลาชีวิตผ่านมิติของจิตวิญาณ เมื่อเรามองผ่านชาดก ลองดูบทสรุปจากการค้นพบในภาพข้างล่างนี้ครับ

แต่ละช่วงที่เห็นไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหน ผู้นำในสามก๊กก็ต้องบริหารชีวิต บริหารโอกาสด้วยกระบวนการที่น่าสนใจ เริ่มจาก Management จะต้องใช้หลายกระบวนยุทธ์ แต่ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นช่วงใด วีรบุรุษที่ประสบความสำเร็จจะถือว่า คนคือสินทรัพย์สำคัญ จะเห็นว่าทั้งเรื่องการแย่งคน หรือการค้นหาคนเก่งมาเข้าก๊กดูเหมือนจะครองพื้นที่ประวัติศาสตร์สามก๊กเกือบทั้งเรื่อง ซึ่งสอดคล้องกัยแนวคิดเรื่องคนคือสินทรัพย์มีค่าของ Peter Drucker มาก และเมื่อได้คนมาก็ต้องบริหารให้ได้ อย่างเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ตรงนี้จะเห็นวิธีการที่สอดคล้องกับ The Theory of Adminstrative Management ของ Fayol ชัดมากๆ และถึงแม้จะพร้อมแต่เมื่อออกรบจริง ก็มีพลาดบ้าง ตรงนี้จะเห็นว่าเหล่าผู้นำพยายามทำ PDCA (Plan Do Check Act) ตมแนวคิดของ Demming เราจะเห็นว่าแม้กระทั่งเตียวหุย ขุนพลที่ดูบ้าเลือดที่สุดของเล่าปี่ก็ยังทบทวนตนเอง ที่สุดสามารถรบได้อยู่างมีคุณภาพ มีชั้นเชิง จนหลอกโจโฉได้

แต่ถามว่าพอไหม ไม่พอครับ ลิโป้จอมทรยศก็ดูทำได้นะ เพราะดึงดูดกุนซือที่เก่งไปช่วยได้ แต่ทำไมแพ้ ตรงนี้ทฤษฎีด้านบริหารการจัดการคงไม่พอ ผมเลยพยายามมองผ่านทฤษฎีด้านบุคลิกภาพของจิตวิทยาบวก ก็เจอครับว่าลิโป้มีบุคลิกไม่ดีครับ ดูเหมือนลิโป้จะขาดจุดแข็งเชิงบุคลิกภาพหลายเรื่องเช่น ความฉลาดทางสังคม เช่นตอนท้ายๆ ภัยมาประชิดตัว กุนซือก็แนะนำแผนแล้ว ทหารก็พร้อม แต่กลับไปใจอ่อนเชื่อภรรยา ที่สุดทำให้ทหารหมดศรัทธา แล้วระบบทุกอย่างในระบอบของลิโป้ก็พังครืน นี่เรียกว่าไม่รู้เรื่องเลย ไม่มี EQ ชัดๆ

ในภาพรวมเมื่อมองดูวีรบุรุษที่ประสบความสำเร็จจะเห็นบุคลิกภาพดีๆเยอะ เช่นภาวะผู้นำ ซึ่งในทางจิตวิทยาหมายถึงการสามารถดึงจุดแข็งของตนและผู้ใต้บังคับบัญชาไปสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงให้องค์กร นี่ชัดมากๆ และที่สุดในภาพรวมเราเห็นเลยความเป็นผู้นำในสามก๊กยังมีบุคลิกภาพสองอย่างที่มาคู่กันได้แก่ มีปัญญา คือประมาณว่ามีประสบการณ์สั่งสมมา แล้วเอาไปแก้ปัญหาได้อีก แถมไม่พอยังรอบคอบอีก ตรงนี้ไปด้วยกัน

แต่ว่าถ้ามองไปอีกผมว่าจิวยี่ นายพลหนุ่มผู้เก่งกล้าแห่งง่อก๊ก ก็ได้หมดน๊า ทั้ง Management และบุคลิกภาพ แต่ทำไมกระอักเลือดตาย หลังเสียรู้ขงเบ้ง ที่ซ้อนกลจนเสียน้องสาวซุนกวนไปเป็นฮูหยินให้เล่าปี่ แถมจะแก้มือก็รบแพ้อีก ที่สุดกระอักเลือดตาย

แสดงว่าขาดอะไรไปหน่อยไหม ดูไปดูมาน่าจะอธิบายได้ด้วยเรื่องจิตวิญญาณ คือเห็นชัดมากว่าปัญญาของจิวยี่ในหลายสถานการณ์ดูไม่เข้าท่า เหมือนหลายครั้งเจอโทสะบังตา จนนำมาสู่ความคิดที่ไม่รอบคอบ ในขณะที่เล่าปี่ดูเหมือนจะค่อยๆคิด ใช้ปัญญา แถมเข้าใจตนเองว่าไม่ฉลาดสุด ก็ยืมปัญญาขงเบ้งช่วย แถมเมื่อตกอยู่ในยามคับขัน ก็ยังฉลาดทันคน และแสดงให้เห็นความรอบคอบในหลายครั้ง แต่แน่นอนตอนพังเล่าปี่ก็โกรธเหมือนจิวยี่ และดูเหมือนจะเดินตามรอยไปสู่การไม่ใช้ปัญญา ขาดความรอบคอบ และพังเพราะเสียรู้ศัตรูในที่สุด

ผมเลยมองว่าผู้นำสามก๊กจะสำเร็จได้ต้องมีทั้ง Soul (จิตวิญญาณ) Strengths (บุคลิกภาพที่เข้มแข็ง) ซึ่งจะนำไปสู่การมีกลยุทธ์ การกระทำที่ถูกช่องถูกทางคือทำงานได้ผล คนเป็นสุขก็คือ Strive นั่นเอง และเมื่อ Soul Strenghts Strive ไปถูกทางก็ทำให้เกิดความสำเร็จ (Sucess) ผมลองเขียน Model ผู้นำยุคสามก๊กจนเห็นภาพดังนี้

Soul Strengths และ Strive ที่ประสานกันเป็นหนึ่งนี้เองที่นำพาเล่าวีรบุรุษให้ประสบความสำเร็จ (Sucess) และพากันผงาดขึ้นมาเป็นสามก๊ก และแน่นอนเมื่อตัวใดตัวหนึ่งหายไปโดยเฉพาะ Soul ที่เหลือก็พังคลืน ส่วนพวกพังเร็ว ตายก่อนใครนี่ดูเหมือนจะมีแค่ Strive ขาด Soul และ Strenghts อย่างลิโป้

ตอนนี้ดูเหมือนเสียงกระซิบที่แผ่วเบาจากบรรพกาลที่ผมเคยได้ยิน เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ผมเห็นความสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่ง จากบทเรียนที่พิสูจน์ด้วยชีวิตนี้ สามก๊กจึงควรค่าแก่การใคร่ครวญ และดำเนินรอยตามอย่างมีสติ

คุณล่ะคิดอย่างไร

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจาณาดูนะครับ

บทความโดยดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ อาจารย์ MBA KKU ผู้ก่อตั้ง www.aithailand.org

หมายเลขบันทึก: 592808เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2015 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2015 07:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Soul Strengths Strive = Success

ชอบมาก ๆ ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท