สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

“การประเมินแบบเสริมพลัง” เครื่องมือของคนทำงานรุ่นใหม่ “จุดประกาย” การทำงาน


“การประเมินแบบเสริมพลัง”

เครื่องมือของคนทำงานรุ่นใหม่ “จุดประกาย” การทำงาน

มูลนิธิสยามกัมมาจล ดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพ มีสำนึกความเป็นพลเมือง มีจิตอาสา ใช้ศักยภาพให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม แต่การที่เป้าหมายดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้นั้น บุคคลที่มีบทบาทสำคัญ คือ คนทำงาน หรือ “พี่เลี้ยง” ซึ่งทำหน้าที่เป็น "โค้ช" สร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพให้กับเยาวชนในพื้นที่ การสนับสนุนการทำงานขององค์กรภาคี มูลนิธิสยามกัมมาจล จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรภาคี ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเติมความรู้-เครื่องมือในการพัฒนาเยาวชนใหม่ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

การประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลการทำงานโครงการพัฒนาเยาวชนระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 – 11 มิถุนายน 2558 ณ ห้องกินนรี โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ นับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่โครงการในการบริหารจัดการโครงการ และประเมินผลโครงการ โดยใช้เครื่องมือการประเมินแบบเสริมพลัง (Empowerment Evaluation : EE)

สำหรับภาคีที่เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย 1.สงขลาฟอรั่ม ผู้ดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชน (กลุ่มมหาวิทยาลัย) 2.มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ ผู้ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน 3.ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ผู้ดำเนินโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก 4.ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ

นายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ในฐานะผู้ดูแลโครงการฯ ได้กล่าวว่า "เวทีนี้ในครั้งนี้ทางมูลนิธิฯ ได้จัดขึ้น เพื่อหนึ่งเป็นการทบทวนเป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้ในหนึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนกันไปแล้ว เกิดผลอย่างไรบ้าง ตัวชี้วัดที่ออกมามีอะไรบ้าง จุดอ่อน จุดแข็ง อยู่ตรงไหน และสองเป็นการทบทวนกิจกรรมที่ออกแบบนั้นได้ทำอะไรบ้าง แต่ละกิจกรรมที่ทำได้ดีและทำได้ไม่ดี ซึ่งจะนำไปปรับในปีที่ 2 เพื่อออกแบบกิจกรรมใหม่ในปีที่สอง ผ่านการเรียนรู้ของแต่ละทีม โดยการแชร์ความคิดร่วมกันในกระบวนการทั้งสามวันนี้ นำผลลัทธ์ที่ได้ทบทวนแล้วนำไปสู่แผนปีที่สองต่อไป และผู้ที่รู้ดีที่สุดคือผู้ที่ทำโครงการ นี่คือหัวใจของเครื่องมือการประเมินแบบเสริมพลัง (Empowerment Evaluation : EE)”

ทบทวนการออกแบบกิจกรรมของโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยแต่ละทีมร่วมระดมความคิดตลอดทั้งสามวัน....


โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์) นำโดยนายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ (ธเนศ)

โครงการฯ ทำงานใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี รวม 20 โครงการในปีที่ 1 ครอบคลุมหลายประเด็นทั้งการเรียนรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาที่พบตอนเริ่มทำโครงการคือเยาวชนไม่รู้จักชุมชนบ้านตัวเอง ตอนแรกที่คิดโจทย์ทำโครงการ เยาวชนจึงคิดโจทย์ใหญ่เกินกว่าจะทำไหว และการที่เยาวชนมาจากหลากหลายบริบททั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา บ้างเรียนต่างช่วงชั้นกัน และบ้างอยู่ในเมือง บ้างอยู่นอกเมือง พี่เลี้ยงจึงช่วยกระตุ้นให้เยาวชนได้กลับมาสำรวจทุนในชุมชน ลองระดมออกมาผ่านการจัดกิจกรรมเสริมศักยภาพของพี่เลี้ยง จากนั้นพี่เลี้ยงจึงช่วยตั้งคำถามให้น้องเห็นว่าจากฐานทุนเดิมที่มีอยู่ เยาวชนสามารถทำโครงการอะไรได้บ้างตามศักยภาพของตนเอง ก่อนให้น้องได้ทำโครงการร่วมกันต่อไป โดยอาศัยเครือข่ายงานวิจัยเดิมของ สกว. มาเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่

นายชิษณุวัฒน์ มณีศรี กล่าวว่า นับจากอดีตเป็นต้นมา ภูมิภาคตะวันตกมีแกนนำเครือข่ายต่างๆ ขับเคลื่อนงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมมาอย่างต่อเนื่องในรูปของเครือข่ายคนทำงานและประชาคมต่างๆ คอยเป็นกลุ่มติดตามความเคลื่อนไหว ทั้งมีการสร้างคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาความต่อเนื่องดังกล่าวขาดช่วงไป การเข้ามาของโครงการ Active Citizen ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลสนับสนุนร่วมกับ สสส.จึงทำให้เกิดการประกอบสร้างคนทำงานรุ่นใหม่ ซึ่งหมายถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ภูมิภาคตะวันตก ทางศูนย์ประสานงานฯ ซึ่งรับบทบาทเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในภูมิภาคนี้จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีกระบวนการสร้างเครือข่ายเยาวชนมาใช้ในการพัฒนากลุ่มคนทำงานที่เข้าใจเรื่องท้องถิ่น เข้าใจเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็ง สร้างคนรุ่นใหม่ รวมถึงจัดตั้งระบบกลไกของพื้นที่ให้มีกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่ขาดการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่น ขาดความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศน์ในท้องถิ่นซึ่งส่งผลถึงการจัดการในระยะยาวได้

"ที่ผ่านมาเราเน้นที่การแก้ปัญหาที่ผู้ใหญ่มีปัญหาแล้วลุกขึ้นมาอยากแก้ เพราะฉะนั้นมันจะไปสาละวนกับการหาความรู้เพื่อแก้ปัญหา แต่ว่ามันไม่ได้เอาความรู้ไปถ่ายทอดให้เด็ก ซึ่งมันเป็นแค่ส่วนเสริม แต่จริงๆ แล้วมันเป็นระเบิดลูกใหญ่ จริงอยู่ว่าการแก้ปัญหามันแก้ได้ แต่การสืบทอดเจตนารมณ์ของการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนไม่เกิดขี้นกับเด็ก ประจวบกับการที่เด็กต้องเรียนหนังสือ ซึ่งโรงเรียนเองมักดึงเด็กออกนอกชุมชน แต่โครงการ Active Citizen จะทำให้เด็กได้มาเรียนรู้ท้องถิ่นคู่กันไปกับกลไกพี่เลี้ยงชุมชนที่จะถ่ายทอดเจตนารมณ์ข้างต้นสู่ตัวเยาวชนได้ร่วมสืบทอด โครงการจึงเข้ามาอุดช่องว่างของการทำงานที่เรามีอยู่เดิม การขับเคลื่อนจึงเติมเต็มซึ่้งกันและกัน"

นายชิษณุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การที่โครงการ Active Citizen เข้ามายังได้นำเอากระบวนการสร้างพลเมืองเข้ามาเสริมกับเรื่องการเรียนรู้ท้องถิ่น เรียนรู้ระบบนิเวศน์ท้องถิ่น เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าใจเขาก็จะเกิดความรักความหวงแหนพื้นที่ รู้ว่าจะต้องจัดการตัวเองอย่างไรเพื่ออยู่ในความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ทำอย่างไรจะหยุดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ และนำการเปลี่ยนแปลงมาใช้ในเชิงบวก เด็กต้องรู้สิทธิ์ รู้หน้าที่ รู้ความรับผิดชอบที่ตัวเองควรมีต่อสังคม ไม่ใช่เรียนแล้วเอาตัวรอดอย่างเดียว แต่สังคม สิ่งแวดล้อม ไปไม่รอด เขาก็อยู่ไม่ได้ โครงการ Active Citizen จึงเข้ามาพอดีในจังหวะที่เราคิดว่าเราต้องเสริมรอยต่อเหล่านี้ให้เกิดความต่อเนื่อง

"จุดเด่นของโครงการ Active Citizen คือการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้และลงมือทำ มีการถอดบทเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจท้องถิ่น และรู้วิธีการปรับตัวเพื่ออยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง"

โดยผลของการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นพัฒนาการของเยาวชน ผ่านกระบวนการทำงาน ได้ลงมือทำตามแผนงานโครงการ ทำให้เด็กรักและเรียนรู้บ้านเกิดตัวเองมากขึ้น เอาธุระต่อเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในจังหวัด ในพื้นที่ ในโรงเรียน หรือในชุมชนของเขา เขาตื่นตัวที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งร่วมปฏิบัติการ ร่วมให้ความคิดเห็น ร่วมกิจกรรมกับชุมชนให้เกิดมรรคเกิดผลมากขึ้น สิ่งที่ได้ตามมาคือคณะทำงานที่เป็นพี่เลี้ยงชุมชนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนแล้วต้องการทำงานต่อเนื่อง รวมทั้งคณะทำงานของ Node ได้รับการพัฒนายกระดับ มีวิธีคิดวิธีการจัดการกลไกหนุนเสริมเยาวชนอย่างเข้าใจมากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นผลและพยายามผลักดันให้เกิดมากขึ้นคือกลไกในพื้นที่ ทั้งที่เป็นครูและอาจารย์ในสถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน และหน่วยราชการในพื้นที่ ที่เห็นแล้วว่าโครงการได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดแก่ตัวเด็กๆ ได้จริง”

เป้าหมายของโครงการ 3 ปีของโครงการ เป้าหมายที่เราต้องการทำให้ได้ คือ 1.การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีสำนึกของความเป็นพลเมืองผ่านการลงมือทำ 2.การใช้การทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพของทีมงานให้สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ดีขึ้น 3.การพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนในด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง 4.การสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เป็นคนทำงานในรุ่นต่อไป 5.การพัฒนาเครือข่ายคณะทำงานที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งที่มาจากภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ และ 6.ชุดความรู้เผยแพร่สู่สังคมเพื่อนำไปใช้และพัฒนาต่อยอดได้"ทบทวนเป้าหมาย

และเยาวชนที่พึงประสงค์มีคุณลักษณะของความเป็นพลเมืองนั้นทางโครงการฯ ตั้งไว้ดังนี้1.รู้จักชุมชนบ้านตัวเอง 2.รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง 3.ใส่ใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 4.คิดเชื่อมโยงและมองโลกเชิงระบบได้ (เรื่องใกล้ตัวเด็ก) 5.มีความเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมือง (ที่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง) ประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน 6.ร่วมคิดร่วมทำอะไรเพื่อชุมชนหรือจังหวัดของตัวเอง 7.เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมของจังหวัด (หาประเด็นร่วมให้เจอ) 8.มีทักษะการบริหารจัดการโครงการ (การออกแบบกระบวนการ) 9.มีทักษะการเก็บเรื่องราวข้อมูล เรียนรู้ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบโครงการ 10.มีทักษะการสกัดเนื้อหาและสื่อสารผ่านสื่อ / นำเสนอที่สร้างสรรค์

“สำหรับไทม์ไลน์แผนการทำงานในปีที่ 2 จะเริ่มเดือน ก.ค.นัดประชุมทีมพี่เลี้ยงปี 1 ทีมงานโครงการ คณะทำงานจังหวัด ฯลฯ โดยจะดึงคณะทำงานจังหวัดให้มามีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าปีแรก จุดประสงค์ของการประชุมเพื่อทำให้เห็นว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดผลอะไรบ้าง และในวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งเป็นวันเยาวชนแห่งชาติจะมีการจัดงานเทศกาลการเรียนรู้ให้น้องๆ ปี 1 นำเสนอผลงานสู่สาธารณะและเป็นการเปิดรับสมัครน้องๆ ปีใหม่เข้าร่วมโครงการไปพร้อมๆ กัน”

โครงการพลังพลเมืองเยาวชน (กลุ่มมหาวิทยาลัย) ผู้ดำเนินโครงการโดยทีมสงขลาฟอรั่ม ผู้นำทีมโดย นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ หรือ พี่หนู

วิสัยทัศน์ของโครงการคือ "โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเป็นกระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชนที่พัฒนาตนเองและกลุ่มให้มีทักษะชีวิตและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีจิตสำนึกพลเมือง รักและปกป้องบ้านเกิด"

สรุปการเรียนรู้การทำโครงการปี 1 ที่สำคัญคือเรื่องของเวลาและการเปิดเรียนตาม AEC มีผลทำให้การจัดทำโครงการมีอุปสรรค แต่ผลลัทธ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีโครงการที่ขับเคลื่อนอย่างได้ผลจำนวน 10 โครงการ แบ่งออกเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยจำนวน 6 โครงการกลุ่มชุมชนจำนวน 3 โครงการ และกลุ่มเครือข่ายเยาวชน จำนวน 1 โครงการ ซึ่งได้ทดลองโมเดลใหม่ๆ ในการจัดเวทีLerning Festival ที่ลองจัดเป็นเวทีประเด็นตามเนื้อหาของกลุ่มเยาวชนได้แก่ เวทีจิตสำนึกเรื่องขยะในหัวใจพลเมืองรุ่นใหม่

การเปิดเวทีผนึกกำลังกลุ่มเยาวชนที่สนใจเรื่องขยะเป็นรูปแบบการเรียนรู้สัญจรที่อ.ปริก 2.เวทีเยาวชนกับมิติใหม่ในการทำงานกับภาคราชการ เอกชน และภาคพลเมือง ได้แก่กลุ่มต้นกล้ามนุษยศาสตร์ กลุ่มคนสร้างป่า กลุ่มคันทรีเกลอ 3.เวทีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ได้แก่กลุ่มเที่ยวทั่วท่อง ล่องนาวา และ Media Saveklongdan 4.เวทีนายหนังพลเมือง มีการจัดผ้าป่าสามัคคี วันที่ 27 มิ.ย.นี้ 5.เวทีขยะเป็นทอง ซึ่งอยู่ในระหว่างการประสานงาน ทำให้เห็นว่าโมเดลนี้ทำให้ลดอุปสรรคของการนำเสนอโครงการเยาวชนต่อสาธารณะไปได้

สำหรับเยาวชนที่พึงประสงค์ของเมืองสงขลา พลเมืองเยาวชนมีทักษะมีชีวิตในการส่งเสริมการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง 5 ด้าน 1.ด้านการคิด วิเคราะห์วิจารณ์คิดสร้างสรรค์ตัดสินใจและเชื่อมโยง 2.ด้านตระหนักรู้ในตน ความเห็นใจผู้อื่น ความภูมิใจในตน 3.ด้านการจัดการอารมณ์และความเครียด 4.ด้านการสื่อสารสาธารณะอย่างมีพลัง 5.ด้านการมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตสำนึกพลเมือง

ส่วนกระบวนการอบรมพลเมืองเยาวชนเริ่มตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตลอดแม่น้ำสายนี้ มีกระบวนการพัฒนาทักษะต่างๆ อาทิ การจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างกระบวนการพลเมืองเยาวชน โดยการเวิร์คช้อปพัฒนาโครงการ การเวิร์คช้อปพัฒนาจิตสำนึกพลเมือง การลงพื้นที่ติดตามและสนับสนุน (Coaching) การทำโครงการ และการเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากการทำโครงการกระบวนการต่างๆ เหล่านี้เป็นการบ่มเพาะให้พลเมืองเยาวชนสงขลามีทักษะชีวิตและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีจิตสำนึกพลเมือง รักและปกป้องบ้านเกิด

กระบวนการหนึ่งที่สำคัญคือการลงพื้นที่ติดตามและสนับสนุน (Coaching) การทำโครงการของพลเมืองเยาวชนโดยมีเป้าหมาย 1.เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ เสริมความมั่นใจให้เยาวชนก้าวข้ามปัญหาที่พบระหว่างการทำงาน 2.กระตุ้นให้เยาวชนทำงานตามแผนการเชื่อมโยงงานกับสถานการสังคม 3.การชวนคุย ชวนคิด พัฒนางานของน้องและพัฒนาทักษะชีวิต 4.พัฒนาจิตสำนึกพลเมือง การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

"โค้ชแต่ละคนต้องมีบันทึกการเปลี่ยนแปลงของน้องเป็นลักษณะstory telling (การเล่านิทาน)หากพบเจอสถานการณ์อะไร จะนำมาหารือและลงไปปรับแผนในครั้งต่อไป บทบาทโค้ชหรือพี่เลี้ยงที่ต้องมีคือทักษะชีวิต 5 ด้านก่อน ก่อนที่จะไปสอนน้องให้เกิดขึ้นในตัว พี่เลี้ยงต้องทำให้ดูก่อนจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นและมีการพูดคุยกันเพื่อให้น้องๆ เกิดความเข้าใจสามารถให้น้องๆ เห็นคุณค่างานของตนเองและเชื่อมโยงความเป็นพลเมืองและให้เห็นงานเล็กๆ ของน้องมีความสำคัญกับบ้านเมืองอย่างไร"นางสาวนูรอามีนี สาและ (มีนี) กล่าว

นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ “โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญตัวเองภูมิใจในการบุกเบิกในการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกับการทำโครงการมาสามปีและได้รับการหนุนจากสสส. ทำให้บรรยากาศคำนี้กลับมาอีกแต่ต้องทำให้ชัดเพื่อที่จังหวัดอื่นๆ ได้นำกลับไปออกแบบต่อยอดเพิ่มเติมให้เหมาะแก่ตนเองได้ สิ่งที่โครงการทำคือเยาวชนต้องอยากทำประเด็นที่สนใจ ประเด็นใกล้บ้านตนเองและเพราะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น มีการรวมตัวกันเป็นทีมละ 5 คน เราจัดกระบวนการให้เขาทำโครงการสิ่งที่คิดให้ชัด มีแผนอย่างไร มีกระบวนการพัฒนาทักษะความเชื่อการปลุกทักษะชีวิต 5 ตัว ให้งอกงามทั้งพี่เลี้ยงและเยาวชน มีเป็นภูมิไว้ในตัว โดยเฉพาะตัวที่ 5 การมีจิตใจเพื่อส่วนรวมค่อยๆงอกงามจนเป็นส่วนหนึ่งของพลเมือง มีพี่เลี้ยงค่อยๆ เติมการเรียนรู้จากปฏบัติจริง เน้นความงอกงามที่เกิดขึ้นในตัวตนของเยาวชนโดยใช้โครงการเป็นเครื่องมือให้มองเห็นการพัฒนาของน้องๆ ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร ยืนยันได้ว่ารูปแบบลักษณะนี้มีความสำเร็จที่น่าจะ“ต่อยอด”ได้มีอิมแพคที่เกิดขึ้น เช่นเด็กเรียนโปรแกรมพัฒนาชุมชนได้มาเรียนรู้ของจริงมากกว่าท่องในทฤษฏีสองปีผ่านไปทางม.ทักษิณ นำไปบรรจุไว้ในหลักสูตร เยาวชนที่ทำเรื่องหาดสมิหลากลายเป็นศูนย์ข้อมูลหาดเมื่อทำถึงปีที่ 3 เราได้พบว่าเยาวชนได้ขับเคลื่อนประเด็นสู่สังคมและมีความคิดที่ลุ่มลึกขึ้น”

โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ดำเนินโครงการโดยมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ นำทีมโดยพระครูสุจิณนันทกิจ

วิสัยทัศน์พลังพลเมืองเยาวชน จ.น่าน"พลังเยาวชนกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นน่าน" อาทิ การพัฒนาเยาวชนต้นแบบ การปลุกจิตสำนึกรักบ้านเกิด การยกระดับการพัฒนาเยาวชน จ. น่านในท้องถิ่น เป็นต้น

และแกนนำเยาวชนต้นแบบที่พึงประสงค์ ของจ.น่าน ที่โครงการได้วางไว้คือ 1.สำนึกพลเมืองที่มีความภูมิใจ 2.ศักยภาพการบริหารจัดการ 3.มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 4.ทำงานเป็นทีม 5.ความสัมพันธ์กับชุมชน 6.สามารถพึ่งตนและช่วยเหลือผู้อื่น 7.เคารพในความเท่าเทียมของคนต่างวัฒนธรรม 8.ภูมิใจในการรากเหง้าของตัวเอง

สำหรับคุณลักษณะของพี่เลี้ยงที่พึงประสงค์ของ จ.น่าน 1.มีความรู้ ความเข้าใจการทำงานกับเยาวชน 2.สามารถประสานงานระหว่างเยาวชนกับเครือข่ายภายนอกได้ 3.รู้เท่าทันสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนและชุมชน 4.ไม่ชี้นำความคิด และสามารถสนับสนุนกระบวนการทำงานของเยาวชนได้

5.เรียนรู้ร่วมกันกับเยาวชน

“หนึ่งปีผ่านมาได้ปลูกจิตสำนึกความเป็นพลเมืองได้หลายระดับ หนึ่งระดับผู้นำเป็นทางการ(นายกอบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นต้น) และไม่เป็นทางการ (ปราชญ์ชุมชน ผู้ใหญ่ในชุมชน) ในการมาเล่าประสบการณ์ของตนมาเชื่อมวิธีคิดกับน้องๆ เยาวชน สองคนใกล้ตัวเยาวชน เช่น พ่อ แม่ พี่น้องมีความเข้าใจปัญหาในชุมชนมากขึ้น และสามเยาวชนได้กระบวนการเหล่านี้ไปกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด จุดเด่นคือ โครงการนี้ได้มาเสริมกระบวนการทำงาน เครื่องมือถ่ายทอดกิจกรรมแลกเปลี่ยนปัญหาแต่ละพื้นที่ เครือข่าย โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการ ส่งผลต่อการคิดแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมได้ในบริบถของตนเองในมิติเกษตร วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากรป่าต้นน้ำ ทำให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ฝึกวิธีคิด ทำให้เยาวชนเข้าใจตนเองให้เห็นสถานการณ์ปัญหาในชุมชนลดลง การหลงกระแสพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว (ยางพารา ข้าวโพด) ทำให้หันกลับมาฐานทุนเดิมของบ้านตัวเองพืชดั้งเดิม ถ้าหากโครงการนี้ขยายไปทั่วจะทำให้ปัญหาลดน้อยลง”

สำรหับเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการปี 2 เยาวชนต้องประกอบด้วย อาทิ อายุ ระหว่าง 15 - 25 ปี เด็กคิดทำโครงการเอง /มีสมาชิกที่ชัดเจนเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ/ มีความเป็นไปได้ที่โครงการจะสำเร็จ / ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม / ต้องไม่เป็นโครงการที่โรงเรียน องค์กร หน่วยงานทำอยู่แล้ว / มีพี่เลี้ยงประจำ 1 คน และมีที่ปรึกษาอย่างน้อย 1 คน เปิดรับสมัคร ในงานมหกรรมเยาวชน จ.น่าน 18-19 ก.ค.นี้

โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินงานโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ นำทีมโดยนายรุ่งวิชิต คำงาม (รุ่ง)

วิสัยทัศน์โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ “เป็นพลังพลเมืองแห่งการ "ตื่นรู้" ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วย "ความรู้" ภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์”

จังหวัดศรีสะเกษประกอบด้วยกลุ่มคน 4 ชาติพันธุ์ ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน ได้แก่ ส่วย เขมร ลาว เยอ ปีแรกของโครงการมีโครงการเยาวชน 11 โครงการใน 5 อำเภอ ครอบคลุมประเด็นการเกษตร การออม การสืบทอดภูมิปัญญา โครงการฯ นี้เกิดขึ้นเพราะทางศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีฐานทุนเดิมทำงานวิจัยกับผู้ใหญ่มาเป็นเวลานับสิบปี มองเห็นปัญหาที่ขาดช่วงเยาวชนสานต่อโครงการ อีกทั้งผู้ใหญ่มองว่าเยาวชนไม่มีคุณค่า ทำอะไรไม่สำเร็จ เด็กไม่สนใจเรื่องในชุมชน มองเห็นประเด็นปัญหาที่ผู้ใหญ่ไม่เชื่อมั่นในตัวเยาวชน เช่นให้เรียนหนังสือยังเรียนไม่จบ จึงได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ที่มีมูลนิธิสยามกัมมาจล และสสส.เข้ามาหนุนนั่นเอง

นายรุ่งวิชิต คำงาม เผยว่า “พอเข้าโครงการมาแล้วทำให้เห็นความแตกต่างในการทำงานพัฒนาผู้ใหญ่ กับ เยาวชน เลยว่า ถ้าหากเข้ามาสนับสนุนเยาวชนให้แสดงศักยภาพออกมาผู้ใหญ่เห็นก็จะเปิดโอกาสเปิดพื้นที่และเข้ามาช่วยหนุนทันที ผิดกับการเข้าไปหนุนผู้ใหญ่ที่เยาวชนจะเข้ามาร่วมแค่ตามคำสั่งมาเกาะรั้วดูผู้ใหญ่ทำงานเท่านั้น จึงคิดว่าวันนี้มาถูกทางแล้วเพราะเกิดความร่วมมือของผู้ใหญ่และเด็กเพิ่มมากขึ้น จากกระบวนการที่ทางมูลนิธิฯ ได้มาหนุนนั้น ทั้งกรอบคิดเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการมาคัดกรองโครงการและให้เยาวชนได้คิดวิเคราะห์ตาม หรือการใช้ Project Management ทำให้เยาวชนได้พัฒนาตัวเอง ได้ความรู้ ความคิดวิเคราะห์ฐานชุมชนตัวเองว่าสถานการณ์ปัญหาอะไร และตัวเองจะเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างไร ที่ผ่านมาเริ่มจากกลุ่มเยาวชนที่คิดเชื่อมโยงและกำหนดอนาคตตัวเองได้ เช่น น้องเต๋า จากกลุ่มโซดละเวที่ตอนแรกต้องไปเรียนข้างนอกหลังเข้าโครงการก็มาคิดว่าจะไปทำไม มาเลือกเรียนใกล้บ้านจะได้ไม่เสียเงินเยอะและเก็บเงินไว้เรียนต่อมหาวิทยาลัยดีกว่า เด็กเริ่มเปลี่ยนความคิดตัวเอง ทีมพี่เลี้ยงก็ได้ทักษะกระบวนการวิธีการทำงานเพิ่มขึ้น ส่วนชุมชนทีเห็นก็มีการขยับมีปรากฏการณ์ที่ให้บทบาทกับเยาวชนมากขึ้น เช่นโครงการสืบสานภูมิปัญญาการละเล่นดนตรีพื้นบ้านชาวกูย โดยกลุ่มเยาวชนบ้านรงระ ที่ชุมชนชาวกูยและมีนักศึกษา องค์กร หน่วยงานมาดูงานเป็นประจำเมื่อก่อนเยาวชนมีบทเบาทแค่บางส่วนแต่หลังจากชุมชนเห็นว่าเยาวชนมาทำโครงการฯ นี้และเห็นศักยภาพที่มีมากขึ้นจึงให้มีบทบาทในการนำกระบวนการเวลามีคนเข้าศึกษาดูงานในชุมชน”

คุณลักษณะของเยาวชนที่โครงการฯ อยากเห็น 1.มีสำนึกความเป็นพลเมือง 2.เป็นแกนนำพัฒนาชุมชน 3.มีสำนึกท้องถิ่น 4.รู้จักตนเอง 5.คิดวิเคราะห์เชื่อมโยงได้ ใช้ข้อมูลความรู้ในการทำงาน 6.รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น 7.กล้าแสดงออก 8.ทักษะในการจัดการโครงการ 9.รู้เท่าทันสื่อ 10.มีการทำงานเป็นทีม การทำงานแบบมีส่วนร่วม

สำหรับโครงการปีที่ 2 จะมีการประชาสัมพันธ์และเปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

รายชื่อเข้าร่วมครั้งนี้

1.สงขลาฟอรั่ม ผู้ดำเนินโครงการพลังพลเมืองเยาวชน (กลุ่มมหาวิทยาลัย) ได้แก่นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์(หนู) นางสาวนูรอามีนี สาและ (มีนี) นางสาวอาอีเซาะ ดือเระ (เจาะห์) นางสาวนงนุช ปานบัว(ตาล) นายกรกช มณีสว่าง(กช)

2.มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ ผู้ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ได้แก่ พระครูสุจิณนันทกิจ นายวรการณ์ จันอ้น (แดน) นายอภิสิทธิ์ ลัมยศ (ต้น) นางสาวสุทธิรา อุดใจ (มิ้ม) ฐิติรัตน์ สุทธเขต (แต๋ม) เอื้อมพร จันทร์อ้น (เอื้อม)

3.ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม (องค์กรสาธารณประโยชน์) ผู้ดำเนินโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ได้แก่ นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ (ธเนศ) นางสาวพวงทอง เม้งเกร็ด (พวง) นายคำรณ นิ่มอนงค์ (อ้วน) นายกันทรากร จรัสมาธุสร (ปอม) นายสุทธิลักษณ์ โตกทอง (อาร์ท) นายอนุพงษ์ แดงสอน (ต๋อง)

4.ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ได้แก่ นายรุ่งวิชิต คำงาม (รุ่ง) นายประมวล ดวงนิล (มวล) นางสาวเบ็ญจมาภรณ์ แดนอินทร์ (เบ็ญ) นางปราณี ระงับภัย (ติ๊ก)

หมายเลขบันทึก: 591582เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2015 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2015 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นความตั้งใจจริงในการสนับสนุนเยาวชนในโครงการนี้อย่างเข้มแข็งมากๆ...เป็นกำลังใจให้ค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท