หลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๘) _ ๐๔ : ปฏิรูปวิธีคิดด้วย "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"


วิชา "๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ในหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) จะเป็นกลไกสำคัญของการปฏิรูป "วิธีคิด" หรือ "Mind Set" หรือแม้แต่ "กระบวนทัศน์" ของนิสิตและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็น "หลักคิด" คิดว่าจะทำอะไรก็ต้องพอเพียง

จากประสบการณ์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ทั้งทางตรงและจากการอ่านที่ผ่านมา ผมพบว่า คนไทยทั่วไปไม่เข้าใจ (คือเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ ปศพพ.) ใน ๕ ประเด็นใหญ่ได้แก่

  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตรเท่านั้น บางท่านเข้าใจว่าหลักปรัชญาฯ ก็คือเกษตรทฤษฎีใหม่
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน การใช้จ่าย ประหยัด อดออม ใช้ของในพื้นที่หรือท้องถิ่น เข้าใจว่า "พอเพียง" คือ "เพียงพอ" ไม่ให้ดิ้นรนขวนขวาย ไม่ให้ขยายทรัพย์สินมากๆ
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องของสังคมคนจน ที่ต้องอดทนทำใจ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ห้ามหรูหรา เข้าใจว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องของความศรัทธาต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือเข้าใจว่าเหตุที่ต้องมาศึกษาแล้วนำมาปฏิบัติ เนื่องเพราะเป็นทฤษฎีของในหลวง เป็นการตอบแทนคุณหรือทำความดีถวายในหลวง ไม่เข้าใจในความห่วงใยต่อประโยชน์สุขของทุกคน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทรงพระราชทาน
  • เข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องใหญ่ไกลตัว เอาไว้ใช้ในการทำงานหรือประกอบอาชีพ หรือเป็นเรื่องของหน่วยงานราชการ หรือเป็นหน้าที่ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

หลังจากเรียนรายวิชานี้แล้ว นิสิตจะเข้าใจว่า แท้จริงแล้ว "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นั้นเป็นทั้ง "หลักคิด" และ "หลักปฏิบัติ" ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน ทุกชนชาติ ทุกเวลา ทุกศาสนา ทุกอาชีพ ทั้งใช้ในกิจวัตรประจำวันหรือใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม ประเทศชาติ โดยเข้าใจตรงกันว่า "จะคิดจะทำอะไรก็ต้องพอเพียง"


ความจริงไม่ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ ก็สามารถมีความเข้าใจได้อย่างถูกต้องตามลำดับ หากทำความเข้าใจกับสไลด์ของ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา (ผอ.ศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ) ด้านล่าง ดังนี้ แล้วนำไปฝึกฝนปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกับตนเอง



  • ไม่ว่าจะคิดสิ่งใดจะทำอะไร ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของคุณธรรมและความรู้
  • ทุกครั้งที่จะตัดสินใจ ให้ใช้หลักคิดพอเพียง ( ๓ ประการ) เสมอ คือต้องพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี
  • โดยมีเป้าหมายว่าจะคิดจะทำอะไรนั้นก็ให้ยั่งยืน คือ สมดุล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง นี่คือเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องให้พิจารณารอบด้านทั้ง ๔ มิติ คือเมื่อพิจารณาแล้วว่าเป็นผลดีไม่มีผลกระทบทั้ง ๔ มิติ ก็จะเกิดความสมดุลยั่งยืน


ปฏิรูปวิธีคิด

เมื่อเปรียบวิธีคิดตามหลัก "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" กับวิธีคิดของคนในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ที่ยอมรับกันดังนี้ว่า

  • คิดถึงประโยชน์ส่วนตนมาก่อนการคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา คือ "มีความโลภมาก"
  • คิดแข่งขัน แก่งแย่ง คดโกง แบ่งแยก ดูถูก เหยียดหยาม ทะเลาะ เกลียด พยาบาท เบียดเบียนกัน คือ "มีควมโกรธมาก"
  • คิดถึงแต่ความสุขชั่วคราว ความทันสมัย สะดวก สะบาย สวยใส ตามกระแสสังคม ตกเป็นทาสของสิ่งเย้ายวน คือ "มีความหลงมาก"

หากเข้าใจและเข้าถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจาก

  • "ความพอประมาณ" จะจัดการกับ "ความโลภ" เปลี่ยนจากการมุ่งกอบโกยสะสมเป็นการให้แบ่งปัน จนเกิดการระเบิดจากภายในมี "จิตใจสาธารณะ" ที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
  • "ความมีเหตุผล" บนพื้นฐานความเป็นจริงและความถูกต้องตามเงื่อนไขคุณธรรม จะทำให้เปลี่ยนเป็นคนมีปัญญาแก้ปัญหาด้วยความรู้และความดี เกิดความรู้ รัก สามัคคี ทำให้มีชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข
  • "ภูมิคุ้มกันที่ดี" ทั้งภายในใจคือ สติ สมาธิ คุณความดี และที่เรานำออกไปใช้ในการวางแผน และการปฏิบัติอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ตรวจสอบประเมินให้รู้ตน และพัฒนาอยู่เสมอ จะทำให้เกิดการวัฒนา เจริญรุ่งเรือง สมดุล ยั่งยืน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

โดยสรุปคือ วิชานี้จะทำให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม "มีปัญญาและเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน" ได้นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 591576เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2015 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2015 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท