วิชาพัฒนานิสิต (๑๗) : กระบวนการนำเข้าสู่การเรียนรู้ในแบบบันเทิงเริงปัญญา


๒-๓ สัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน จะยังไม่เน้นการบรรยายภาคทฤษฎีเลยก็ว่าได้ เน้นกระบวนการละลายพฤติกรรม ปรับทัศนคติการเรียนรู้ นับตั้งแต่การประเมินความคาดหวัง หรือเหตุผลของการลงทะเบียนในรายวิชานี้ จัดกิจกรรมเสริสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน เพื่อให้เกิดความมักคุ้นกันมากขึ้น แนะนำทีมผู้สอน

การเรียนการสอนในรายวิชาการพัฒนานิสิต เป็นการเรียนรู้ในและนอกชั้นเรียนที่มุ่ง “การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม” ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน-ผู้เรียนกับผู้สอน-ผู้เรียนกับชุมชน ผ่านกระบวนการสำคัญๆ คือ “บันเทิงเริงปัญญา”

ในระยะ ๒-๓ สัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน จะยังไม่เน้นการบรรยายภาคทฤษฎี ทว่าจะเน้นกระบวนการละลายพฤติกรรม ปรับทัศนคติการเรียนรู้เป็นหัวใจหลัก นับตั้งแต่การประเมินความคาดหวัง หรือเหตุผลของการลงทะเบียนในรายวิชานี้ ผนวกกับการจัดกิจกรรมเสริสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน เพื่อให้เกิดความมักคุ้นกันมากขึ้น รวมถึงแนะนำทีมผู้สอนที่ประกอบด้วย

  • อาจารย์ประจำกลุ่ม
  • อาจารย์ผู้สอน
  • ทีมกระบวนกร


ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา : ผู้ประสานงานรายวิชาพบปะชี้แจง




นอกจากนั้นยังรวมถึงการชี้แถลงไขถึงแนวปฏิบัติ ตลอดจนการเรียนการสอน-การประเมินผล รวมถึงการแนะนำระบบสารสเทศที่เป็นทั้ง “เว็บไซด์ เฟชบุ๊ค” ที่นิสิตต้องเข้าไปใช้ประโยชน์ เพื่อการเรียนรู้และการสื่อสารกับเพื่อนๆ และคณะผู้สอน หรือกระทั่งการแนะนำแหล่งเรียนรู้เพื่อเติมอันได้แก่ Gotoknow.org





นำเข้าสู่การเรียนรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์ (วีดีทัศน์)

เมื่อนิสิตเข้ามายังชั้นเรียนในระดับหนึ่งแล้ว ทีมกระบวนกรจะออกมาทักทาย “หยิก-แซว” สร้างความผ่อนคลายในแบบบันเทิงเริงปัญญา ขณะที่ทีมกระบวนกรคนอื่นๆ จะทำหน้าที่แจก “ใบงาน” ให้นิสิตในแต่ละคน เพื่อให้นิสิตได้ใช้สรุปผลการเรียนรู้ประจำวัน ซึ่งใบงานที่ว่านี้ ส่วนหนึ่งจะใช้แทนระบบเช็คชื่อ-ขานชื่อในชั้นเรียน –เรียกได้ว่าไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเช็คชื่อ และป้องกันการลงชื่อแทนกันได้อย่างเบ็ดเสร็จ


เมื่อได้เวลาอันนิ่งสงบพอ ทีมกระบวนกรจะนำเข้าสู่การเรียนรู้ด้วยสื่อหรืองานสร้างสรรค์อันเป็นภาพรวมของวิชาการพัฒนานิสิตที่ประกอบด้วยที่มาที่ไป (พัฒนาการ) จุดมุ่งหมาย ประเด็นการเรียนรู้ กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผล หรือกระทั่งผลการเรียนรู้อันเป็นคำสัมภาษณ์ผ่านนิสิตรุ่นเก่าๆ รวมถึงบทสัมภาษณ์ของผู้บริหาร ผู้สอน และทีมกระบวนกร


นี่คือกระบวนการง่ายๆ ที่อาจไม่จำเป็นต้องแจกเอกสาร หรือเสียเวลาอธิบาย-บรรยายให้นิสิตฟัง เมื่อนิสิตดูเสร็จแล้วก็สามารถ “โยนไมค์” เปิดประเด็นซักถามเพิ่มเติมได้ในทันที


ผศ.ดร. จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ : อาจารย์ประจำกลุ่มเข้าพบปะทักทาย



ตาราง ๙ ช่อง : รู้จักฉันรู้จักเธอ (๑)

ถัดจากนั้น ทีมกระบวนกรจะนำเข้าสู่กระบวนการ “ละลายพฤติกรรม” ผู้เรียนร่วมกัน ผ่านกิจกรรมในชื่อ “ตาราง ๙ ช่อง”

  • เริ่มจากการแจกกระดาษให้นิสิตคนละแผ่น ให้นิสิตบริหารจัดการแบ่งกระดาษออกเป็น ๙ ช่อง โดยไม่บอกว่าต้องจัดแบ่งอย่างไร แต่จะเฝ้าสังเกตพฤติกรรมนิสิตว่าบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งมีทั้งพับครึ่งเป็นส่วนๆ บ้างใช้ปากกาลากแบ่งเป็นช่องๆ บ้างใช้ไม้บรรทัด และที่แปลกคือนิสิตไม่ทำเป็นช่อง แต่ทำเป็นบรรทัด ๙ บรรทัด !
  • เมื่อเสร็จแล้ว- จะเป็นกระบวนการ “หยิกแซว” นิสิตผ่านพฤติกรรมดังกล่าว ประมาณว่าการแบ่งช่องตารางจะบ่งบอกอุปนิสัยอย่างไร ประเด็นนี้เน้นความ “ฮา” มากกว่า “สาระ” กระนั้นผมก็มองว่ามีสาระชวนคิดตามไม่ใช่ย่อยเลยทีเดียว



  • ถัดจากนั้นจึงให้นิสิตเขียนหมายเลข ๑-๙ ช่องแต่ละช่อง- เมื่อเขียนเสร็จ ทีมกระบวนกรจะประกาศให้นิสิตได้เดินและวิ่งไปยังเพื่อน เพื่อเขียนชื่อเพื่อนลงในช่องนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด พร้อมๆ กับเปิดเพลงในจังหวะคึกๆ คักๆ สร้างบรรยากาศการกระตือรือร้นไปในตัว


  • เมื่อเสียงเพลงยุติลง- กระบวนการถัดมาจะให้นิสิตแต่ละคน เดิน-วิ่งกลับไปหาคนที่มีชื่ออยู่ในช่องแต่ละช่องตามลำดับหมายเลข โดยแต่ละช่องจะมีคำถามสำคัญๆ ของทีมกระบวนกร เพื่อให้นิสิตนำไปถามเพื่อนคนนั้น เสมือนการสร้างทักษะการถาม การตอบ การบันทึกข้อมูล และการจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งในช่องสุดท้ายนั้นจะเน้นการ "โอบกอดเพื่อน" เป็นหลักสำคัญ รวมถึงสลายกลุ่มแล้วสร้างประเด็นใหม่ให้ไป "กอดคนที่อยากกอด" มากที่สุด -






วาดภาพเพื่อน : รู้จักฉันรู้จักเธอ (๒)

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตาราง ๙ ช่อง : รู้จักฉันรูจักเธอ (๑) ก็ถึงเวลากระบวนการเรียนรู้กันและกันผ่านกิจกรรมภาพวาด (วาดภาพ)

แต่ก่อนจะให้วาดภาพ ทีมกระบวนกร จะชวนให้นิสิตจับคู่กันตามอัธยาศัย ให้แต่ละคนเล่าเรื่องราวของตนเองให้เพื่อนฟัง เป็นการเล่าโดยปราศจากเงื่อนไข แต่เรื่องที่เล่าจะเน้นเรื่องเชิงบวก (พลังบวก) เป็นหัวใจหลัก

การเล่าครั้งนี้ทีมกระบวนกรจะไม่แจ้งกฎกติกามารยาทว่า “ขณะเล่าต้องตั้งใจฟัง จับประเด็น และห้ามซักถาม” ตรงกันข้ามคือทีมกระบวนกรจะปล่อยไปตามธรรมชาติ - เรียกได้ว่าซ่อนนัยสำคัญบางอย่างไว้เงียบๆ เพื่อเตรียมผูกโยงเป็นกระบวนการในช่วงถัดไป




เมื่อเสร็จสิ้นการเล่าเรื่องราวแล้ว- ทีมกระบวนกรจะแจกกระดาษให้คนละแผ่น คราวนี้ให้เล่าเรื่องราวอีกรอบ จะเป็นเรื่องเก่า หรือเรื่องใหม่ก็ได้ แต่มีกติกาง่ายๆ คือ “มีคนพูด-มีคนฟัง” และ “ห้ามซักถามเพื่อนโดยเด็ดขาด”

เมื่อเล่าเสร็จก็ให้แต่ละคนวาดรูปเพื่อนที่จับคู่กัน โดยวาดภาพผ่านเรื่องราวที่เพื่อนเล่านั่นแหละ... พอวาดเสร็จก็ให้คนที่วาดเล่าเรื่องราวในภาพนั้นให้เพื่อนฟัง เสมือน “คืนข้อมูล” (ป้อนกลับ) กลับให้ “เพื่อน” ผู้เป็นต้นเรื่องของภาพอีกรอบ –

กระบวนการดังกล่าวนี้ พอแต่ละคนเริ่มโชว์ภาพขึ้นเท่านั้นแหละ เสียงฮาสนั่นลั่นห้องเลยทีเดียว เพราะภาพส่วนใหญ่ก็ชวนคิด ชวนขำแทบทั้งสิ้น

และจากนั้นก็ให้แต่ละคนได้ทำความรู้จักกันอย่างละเมียดละไมมากกว่าที่ผ่านมา ไม่รีบไม่ร้อน ค่อยเป็นค่อยไป-




ส่งท้าย : กระบวนการเหล่านี้สอนให้รู้ว่า...

เป็นธรรมดาในระยะแรกเริ่มของการเรียนรู้ ทั้งผมและทีมงานยังให้ความสำคัญกับระบบการเรียนรู้ในแบบการสรุปบทเรียนในครรลอง “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...” เพียงแต่แปลงวาทกรรมมาเป็น “กระบวนการเหล่านี้สอนให้รู้ว่า...”

ด้วยความที่เป็นระยะแรกเริ่ม จึงชวนเชิญนิสิตสะท้อนอย่างง่ายๆ ร่วมกันว่าได้เรียนรู้อะไรจากกระบวนการทั้งหมด รวมถึงการสรุปอย่างเป็นทางการจากทีมประบวนกรว่า “กระบวนการทั้งหมดซ่อนนัยสำคัญการเรียนรู้อะไรไว้บ้าง”





แน่นอนครับ-ระยะแรกเริ่มเราสรุปบทเรียนให้นิสิตฟังด้วยตนเอง แต่รับรองว่าถัดจากนี้ไป นิสิตจะเป็นคนสรุปผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งโดยระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่มทีม

ท่านละครับ-คิดว่ากระบวนการทั้งปวงนี้ ได้สอนอะไรแก่นิสิตบ้าง


หมายเหตุ :
ภาพโดย สุริยะ สอนสุระ อติรุจ อัคมูล



</span>

หมายเลขบันทึก: 590948เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2015 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2015 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนรู้แล้วได้อะไรดีดีบ้าง นะคะ ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท