โรงเรียนแห่งความสุข : จากสมุดบันทึก (ทำมือ ๒๕๕๕) สู่กล่องไปรษณีย์มิตรภาพ (ทำมือ ๒๕๕๗)


ผมเชื่อว่าเราสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงกลับสู่ตัวตนของนักศึกษาเหล่านี้ได้ ทั้งภาพ ทั้งสี หรือกระทั่งข้อความที่ร่ำระบายอยู่บนกล่องจดหมายที่ว่านั้น ล้วนมีความหมายบางอย่างซุกซ่อน หรือโลดแล่นอยู่ในนั้น

๒-๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ผมเดินทางมาเป็นวิทยากรกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และปีนี้ (๒๕๕๗) ผมได้รับเกียรติให้กลับมาเยือนที่นี่อีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้มาคนเดียว หากแต่พ่วงพา เจ้าพ่อกระบวนกร (ขวัญใจชาว Gotoknow)  มาด้วย นั่นก็คือ อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง

แต่ทั้งปวงนั้น ต้องยกเครดิตให้นักประสานผู้ชำนาญการผู้พ่วงพามาดขรึม ลึกลับอย่าง อ.
Wasawat Deemarn  เพราะนำพาผมมาพบเจอเด็กๆ และพบเจออาจารย์ขจิตฯ  และที่สุดคือต้องขอบคุณ Gotoknow  ที่ทำให้เราและเราได้มาเจอกัน  เรียนรู้ร่วมกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคมร่วมกัน-

เวทีครั้งนี้มีชื่อว่า โครงการครูดี คนดี พลเมืองดี ซึ่งเป็นกระบวนการหนุนเสริมภายใต้โครงการหลักที่ชื่อ โครงการ “ผลิตและพัฒนาครูสู่ความเป็นเลิศ” โดยรุ่นนี้เป็นรุ่นบุกเบิก นักศึกษากำลังย่างเข้าปีที่ ๓  ยังเกาะกลุ่มเหนียวแน่นทั้ง ๔๑ ชีวิต และทุกชีวิตล้วนเป็นคนพื้นเพทางเหนือ (ภาคเหนือ) ทุกคน

นี่คือกระบวนทัศน์ของการสร้างคนกลับสู่ท้องถิ่น สร้างครูกลับสู่แผ่นดินเกิด ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมถือว่าเป็น “ต้นแบบ” ที่น่าสนใจอย่างที่สุด



ปี ๒๕๕๕ : เวทีครั้งนั้น เหมือนการขับเคลื่อนภายใต้การลองผิดลองถูก พอมาถึงวันงานจริงๆ ผมออกแบบกระบวนการต่างๆ แบบ “ด่วนดิบ” ด้วยความที่รู้ว่าเด็กๆ เพิ่งจากพรากจากอ้อมกอดแห่งบ้านเกิดมาสดๆ ร้อนๆ เกือบครึ่งค่อนกลุ่ม นี่คือครั้งแรกๆ ของการไกลบ้านไกลเรือนนอน ถูกห้อมล้อมด้วยความแปลกใหม่ทั้งคน สถานที่ วัฒนธรรม หลายต่อหลายคนเคว้ง เหงา อ่อนไหว ร่ำไห้ไม่หยุดไม่หย่อน...

ครับ, ผมปรับกลยุทธหนุนเสริมให้กับพวกเขาอย่างเร่งด่วน  เป็นการหนุนเสริมการเรียนรู้ในเวทีจริง  เพราะหากจะพึ่งพิง "เวลาในเวทีจริง"  ก็ไม่เพียงพอต่อการบำบัด เยียวยาภาวะแปลกใหม่ที่พวกเขากำลังเผชิญหน้า –




ผมงัดเอาประสบการณ์ “คนค่าย” ของตนเองมาใช้กับเด็กๆ มอบหมายงานให้เด็กๆ จัดทำสมุดบันทึกฉบับ “ทำมือ” ขึ้นมาคนละเล่ม ตกแต่งสีสันตามจินตนาการและความทรงจำของเขาเอง โดยปลุกเร้าให้รู้ว่านี่คือจดหมายเหตุชีวิตเล่มแรกของการเรียนรู้สู่เส้นทางแห่งการเป็น “ครูของแผ่นดิน”

แน่นอนครับ ผมคงไม่ได้อธิบายให้เด็กๆ รับรู้ว่าการทำสมุดบันทึกเช่นนั้นคือกระบวนการเรียนรู้ หรือก่อให้เกิดทักษะอะไรบ้าง หากแต่เชื่อว่าเมื่อลงมือทำแล้ว คุณค่าและมูลค่าจะก่อเกิดขึ้นเอง และพวกเขาจะสัมผัสได้ด้วยตนเอง โดยย้ำเน้นให้แต่ละคนวางสมุดบันทึกไว้หน้าห้อง เพื่อให้เพื่อนๆ ได้หยิบจับมาอ่าน หรือกระทั่งขีดเขียน ทักทายกัน

กลับมาวันนี้ – ผมถามถึงหนังสือทำมือเหล่านั้น เกือบทั้งหมดยืนยันหนักแน่นว่า “ยังคงอยู่” ....


ครับ, ผ่านมายาวนานมิใช่น้อย หลายร้อยวัน หลายหมื่นล้านวินาทีแห่งการเรียนรู้ของสมุดเล่มนั้น – มันน่าชื่นใจจริง แต่กระนั้นก็มิอาจก้าวล้ำถามทักว่า ยังเขียนต่ออยู่ไหม หรือยังคงหยิบจับมาอ่านอยู่หรือเปล่า

กลับมาวันนี้- ผมชวนเชิญให้พวกเขาได้ทำ “จดหมายถึงเพื่อน” – เป็นจดหมายฉบับทำมือเหมือนสมุดบันทึกที่เคยทำเมื่อปี ๒๕๕๕ โดยกระตุ้นให้แต่ละคนเขียน “จดหมายน้อย” ถึงกันและกัน จะเขียนในมิติห้วงอารมณ์ใดก็เถอะ ผมไม่มีกติกา เพราะเชื่อว่าพวกเขาโตพอที่จะเรียนรู้แล้วว่า สิ่งใดควรเขียน สิ่งใดไม่ควรเขียน

ครับ, พวกเขาฮือฮาตื่นตัวทำตามที่เราเชื้อเชิญอย่างน่ารัก (น่าเอ็นดู) ใช้เวลาเพียงอึดใจ “กล่องไปรษณีย์แห่งมิตรภาพ” ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน




โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าเราสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงกลับสู่ตัวตนของนักศึกษาเหล่านี้ได้ ทั้งภาพ ทั้งสี หรือกระทั่งข้อความที่ร่ำระบายอยู่บนกล่องจดหมายที่ว่านั้น ล้วนมีความหมายบางอย่างซุกซ่อน หรือโลดแล่นอยู่ในนั้น ---

แน่นอนครับ ผมเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมเสมอ- เด็กๆ บอกว่าจะเปิดครั้งเดียวในวันปิดค่าย (ผมไม่มีปัญหา) และจากนั้นก็เริ่มทะยอยๆ เขียนจดหมายน้อยหย่อนลงกล่องไปรษณีย์กันเป็นระยะๆ กระบวนการเหล่านี้ หนุนเสริมการเรียนรู้ในเวทีได้เป็นอย่างดี จรรโลงบรรยากาศการเรียนรู้ได้อย่างมหัศจรรย์ ฝึกทักษะหลายๆ อย่าง

ขณะหนึ่งมันอาจเป็นพื้นที่ที่ใครซักคนอยากสารภาพบางอย่างกับเพื่อนด้วยก็เป็นได้ เพราะถามชัดแล้วว่าอยู่หอพักก็ไม่ได้มีกิจกรรมทำนองนี้เลย ซึ่งผมก็ได้แต่หยิกแซวว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้วิทยากรมาชวนทำ แต่ทุกคนสามารถสร้างกิจกรรมนี้ขึ้นมาได้ด้วยตนเอง จะไปพึ่งพิงแต่ Facebook หรือเทคโนโลยีอันทันสมัยเสมอไปก็ไม่ไหว คืนกลับความเฉิ่มเชยบ้างก็น่าจะดี (เหมือนกัน)



๗  สิงหาคม ๒๕๕๗
มรภ.เชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม (สะลวง-ขี้เหล็ก)
อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 573993เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2014 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2014 05:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ว่องไวปานกามนิตหนุ่ม 555

น่ารักจังเลยค่ะ ..มีความตั้งใจมากๆๆ นะคะ

อบอุ่น อบอวล ทั้งมิตรภาพของหน่ออ่อนของควาเป็นครู และมิตรภาพของ 3 พ่อครูต้นแบบนะคะ อิ อิ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี