"อะไรคือ ธรรม คน ตน จิต"


การรู้ตน รู้คน รู้จิต เป็นพื้นฐานไปสู่การรู้สรรพสิ่งแล้วเข้าถึงธรรมด้วย

                                                   

๑) "ธรรม" (Dharma)


                คำว่า "ธรรม" (ไทย) มาจากคำว่า "ธรฺม" (สันสกฤต) บาลีใช้ "ธัมมะ" คือ ภาษาศาสนาทางตะวันออก ที่สอนด้านจริยและจิตาริยะ แปลว่า หน้าที่  รักษา ความจริง ฯ หมายถึง  คำสอนทางศาสนา (พุทธ พราหมณ์) คนไทยและคนเอเชียได้ยินคำนี้บ่อยๆ และใช้สื่อกันประจำ ซึ่งรู้ความหมายทั้งตื้นและลึกแตกต่างกัน   

                 เมื่อสื่อสารคำทางศาสนาผิด ผู้ฟังก็เข้าใจผิดตามด้วย รวมทั้งองค์กรในศาสนาด้วย จึงไม่แปลกที่เราได้ยินคำนี้มาจากหลายกลุ่ม หลายสำนัก หลายคน ที่นิยามความหมาย ความถูกต้องต่างกันไป จนอาจทำให้เกิดความสับสน ไม่เข้าใจ ที่จะมุ่งมั่นไปถึงจุดหมายที่แท้จริง ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและยุ่งยาก ซับซ้อนที่จะศึกษาให้ละเอียดขึ้นไป

                 ขั้นตอนต่อไปที่เราถูกบอกให้ศึกษาต่อไปคือ อ่าน ฟัง ทำ เข้าวัด เข้าวา ศึกษากับครูบาอาจารย์ แต่สุดท้ายก็ยังงงงันเหมือนเดิม เพราะไม่เข้าใจว่า บันไดที่จะไต่ตามอยู่ตรงไหน มีเป้าหมายอะไรบ้าง จะได้อะไร จะเป็นอะไร เหมือนไม่ค่อยเลื่อมใส ศรัทธาในเป้าหมายอย่างแท้จริง จึงทำให้ทิ้งเจตนากลางคัน

                 มีความหมายมากมายตามสำนัก ตามบุคคลที่เสนอความหมายให้เราได้รู้ จนกลาดเกลื่อนตามสื่อ ตามหนังสือ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

                  ๑) วิกีพิเดียให้ความหมายว่า "ธรรม หมายถีง สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม,ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม" (http://th.wikipedia.org/wiki)

               ๒) ท่านพุทธทาสให้คำนิยามไว้ในหนังสือของท่านว่า "ธรรม มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถหาคำพูดที่เป็นภาษาของมนุษย์มานิยามได้ แต่ขอนิยามให้เข้าใจพอสังเขปไว้ด้วยความว่า หน้าที่ เพราะไม่มีสิ่งใดในสากลโลกที่ไม่มีหน้าที่ โดยท่านเรียบเรียงไว้ ๔ ประการคือ  ๑) ตัวธรรมชาติ (สสาร) ๒) กฏธรรมชาติ  (นิยาม) ๓) หน้าที่ของธรรมชาติ (การแสดงออก)  ๔) ผลของธรรมชาติ (ผลลัพธ์)

              ๓) พระพรหมคุณาภรณ์ให้ความหมายว่า "ธรรม คือ สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ สภาวะธรรม, สัจธรรม, ความจริง, เหดุ, ต้นเหตุ, สิ่ง, ปรากฏการณ์ ศีลธรรม จริยธรรม ฯลฯ "

               ๔) คำนิยามธรรม จากพระสงฆ์ เช่น   หลวงพ่อพุธ ฐานิโย  "สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ขึ้นได้ "

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร “ถ้าใจเราเป็นโทษเสียแล้ว จะไปทำบุญทำทานอะไรก็ไม่ได้ผล เหมือนกับเราขนปุ๋ยไปใส่ต้นไม้ที่ตายแล้ว ”

               หลวงตามหาบัว"ธรรมะ ท่านสอนให้ดูตัวเอง ระวังตัวเอง จะได้เห็นความบกพร่องของตนเอง แล้วแก้ไขตัวเองไปเรื่อยๆ จนสมบูรณ์ได้ เราเกิด แก่ เจ็บ ตายในโลกนี้ มาหนักขนาดไหน การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ...ไม่ ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องทุกข์ทั้งนั้น ไม่ปรากฏว่าเป็นความสุขเลย เวลาประกอบความพากเพียรเท่านี้ ทำไมจะเห็นว่าเป็นความทุกข์ เป็นความลำบาก เราจะหาแดนพ้นทุกข์ได้ที่ตรงไหน จุดใดเป็นจุดที่เราจะเกิดความอบอุ่นมั่นใจ ถ้าไม่เกิดขึ้นจากความเพียร ความพยายาม หนักก็เอา เบาก็สู้ เป็นก็สู้ ตายก็สู้ไม่ถอยหลัง ตายเอาดาบหน้าเท่านั้น ทำแบบนี้แลคือลูกศิษย์ตถาคต ให้ถือกิจนี้เป็นสำคัญ นี่แหละแดนแห่งความพ้นทุกข์ อยู่ที่ตรงนี้"

                 หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต  "มองตัวเองให้มากจึงจะเป็นคนดีได้ มัวแต่มองท่านผู้อื่นแล้วไซร้ ก็กลายเป็นคนพาลไปไม่รู้ตัว เพราะนิสัยคนพาล ย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวัตร โบราณท่านกล่าวว่า อุจจาระของตน นั่งดมอยู่ก็พอดมได้ อุจจาระท่านผู้อื่นเล่า มากระทบจมูกเข้าก็เกิดเป็นพิษเป็นภัยขึ้น"

                 หลวงพ่อชา สุภทฺโท  "เวลาในชีวิตของเรามีไม่มากนัก ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องไปพยายามสอนคนอื่น เดินไปเดินมาก็ให้สอนตัวเอง เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะไป จะมา ทุกอย่างจิตกำหนดอยู่เสมอ... ถ้าเราตามดูจิตเรา มันจะเห็นกิเลส มันจะเห็นจิตของเราสม่ำเสมอ สติจะติดต่อเป็นวงกลม ปฏิบัติเช่นี้เร็วเร็วมาก ปัญญามันจะเกิดขึ้น มันจะเห็นตามสภาวะมันเองทุกๆ อย่าง

                 ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก  “ก่อนที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่า ที่จะพูดนี้จำเป็นหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด นี่เป็นขั้นต้นของการอบรมใจ เพราะถ้าเราควบคุมปากตัวเองไมได้ เราจะควบคุมใจได้อย่างไร ”

                  หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร “เวลาที่หมดไปสิ้นไป โดยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวเองบ้าง ในชีวิตที่เกิดมาในโลก และได้พบพระพุทธศาสนานี้....ช่างเป็นชีวิตที่น่าเสียดายยิ่งนัก เวลาแม้เพียงหนึ่งนาที...ที่ผ่านไปนั้น แม้ว่าจะทุ่มเงินจำนวนมหาศาล ก็ไม่สามารถซื้อกลับคืนมาได้ ฉะนั้น สิ่งที่น่าเสียดายในโลกนี้ จะมีอะไรน่าเสียดายเท่ากับปล่อยวันเวลาผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้ว่าจะเพียงแค่นาทีเดียว” 

                                          

                ๕) คำว่า ธรรมของพระพุทธเจ้า อาจหมายถึง จิต คือ  ตัวรู้สภาวะธรรมทั้งปวง เจตสิก คือ สิ่งที่เจือจิต สร้างจิต ประกอบจิต กระตุ้นจิต ให้เป็นไปต่างๆ นานา มรรค คือ เส้นทางเดินที่หลีกเร้นทุกข์ และผล คือ การบรรลุรู้ถึงต้นธาตุทุกข์ และปลายดับทุกข์

                ดังนั้น คำว่า ธรรม จึงมีความหมายมากมาย แล้วแต่ผู้สนใจและเข้าถึงหรือมีธรรมเป็นที่พึ่ง แล้วนิยามออกมาด้วยจิตที่บริสุทธิ์ เราคงได้ยินคำนิยามที่นิยมทั่วไปว่า ธรรมคือ ธรรมชาติ อาจต้องนิยามคำว่า ธรรมชาติออกไปอีกว่าคือ อะไร ธรรมชาติมาจากสองคำคือ ธรรม แปลว่า กฎหรือหน้าที่ และชาติ แปลว่า เกิด อุบัติ รวมกันแปลว่า การเกิดขึ้นของกฎหรือสรรพสิ่ง ซึ่งก็ถูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

                ในสังคมศาสนาคำว่า ธรรม หมายถึง หลักจริยะ จรรยา คำสอน ที่เชื่อว่าเป็น บันไดที่จะนำไปสู่เป้าหมายของชีวิตหรืออุดมคติของชีวิต ซึ่งแน่นอน กฎนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากแต่เกิดมาจากความคิด ความเชื่อ ตามคติของมนุษย์ในศาสนาของตน จะเรียกว่า ธรรมถูกสร้างมาก็ได้

                 คำถามต่อไปคือ เราบัญญัติกฎศีลธรรมเหล่านี้มาเพื่ออะไร คำตอบคือ เพื่อการเข้าถึงแก่นกฎของธรรมชาติแท้ๆ อะไรคือ กฎแท้ๆ หากอิงจากภาพรวมของพระพุทธเจ้าน่าจะหมายถึง การเข้าสู่ภาวะกลางๆ ที่ว่างเปล่า บริสุทธิ์ อย่างรู้เท่าทันโลก โดยมีฐานคือ จิต ที่แน่วแน่น นิ่งพอ ที่จะไม่ไหวหวั่นต่อสิ่งแวดล้อมและปรากฏการณ์ในตัวและรอบตัว แต่ใครจะรู้ภาวะจริงๆ แน่ๆ เช่นนี้ได้ นอกจากผ่านภาษาของบุคคลนั้้น แล้วเราจะเชื่อเขาได้แค่ไหน????

                 หากจะเทียบเอาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่กล่าวถึงธรรมคุณของพระธรรม ที่มีคุณสมบัติ ๖ ประการ เป็นบาทฐานไว้ยืนยันคำว่า ธรรม ไว้เป็นแนวทางได้คือ 

                     ๑) สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม แปลว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว 

                     ๒) สันทิฏฐิโก แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามสามารถได้รับผลตามได้ 

                     ๓) อะกาลิโก แปลว่า ไม่มีเวลากำหนด ฝึกได้ ปฏิบัติได้ทุกลมหายใจ 

                     ๔) เอหิปัสสิโก แปลว่า ท้าพิสูจน์ได้ ทดสอบได้ 

                     ๕) โอปะนะยิโก แปลว่า เมื่อศึกษาเรียนรู้แล้ว ควรโน้มน้อมมาหาตนเอง ศึกษาในจิตตนเองให้แจ้ง 

                     ๖) ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ แปลว่า วิญญูชนหรือปัญญาชน เท่านั้นที่จะบอกได้ว่า เป็นผู้รู้จริง ได้สัมผัสจริง

                 ฉะนั้น จึงขอกล่าวรวมคำว่า ธรรม เป็นเฉพาะไว้ดังนี้ คือ ๑) เป็นกฎสากล ๒) เป็นคำสอนทางศาสนา ๓) เป็นข้อปฏิบัติตาม ๔) เป็นที่เคารพนับถือ ๕) เป็นที่ยึดเหนี่ยว ๖) เป็นช่องนำทางใจ ๗) เป็นคติแห่งอุดมคติ ๘) เป็นแนวทางให้คิด พูด ทำ ตาม ๙) เป็นแหล่งพิธีกรรม ๑๐) เป็นบันได้ไต่ตามให้สูงขึ้นไป

                                                                   


๒) "คน" (Manu)


               คำว่า "คน" คือ อะไร เป็นภาษาชาวโลก ที่สมมติขึ้นมาว่า เป็นสิ่งของ บุคคล นามธรรม รูปธรรม โดยใส่ชื่อ ใส่ภาษาสำทับลงไปให้ง่ายต่อการเรียกขาน ที่มาไม่แน่ใจ ใครรู้บอกทีครับมาจากต้นเค้าใด สันนิษฐานเอาเองว่า น่าจะมาจากคำว่า ๑) "ระคน" ที่แปลว่า ปน เจือ คลุกเคล้า หมายถึง สัตว์ที่เรียกว่า คนนี้มาอยู่รวมกัน ปะปนกัน สมสู่กัน แต่ต้องการเรียกให้สั้นลง จึงเหลือแค่คำว่า "คน" ๒) อาจมาจากคำว่า "คนธ์" (มคธ) แปลว่า กลิ่นหอม ซึ่งอาจมาจากตำนานเก่าที่เล่าว่าคนสมัยก่อนอยู่บนสวรรค์ อยากมาเที่ยวโลกมนุษย์ดูบ้าง 

               พอมาเห็นเข้ากลับติดใจรส กลิ่นหอมของง้วนดิน อินทรีย์ธาตุของโลก จึงเกิดปฏิพัธขึ้นมา ทำให้กายละเอียดกลายเป็นกายหยาบทันที ๓) อาจมาจากคำว่า "คนธรรพ์" คือ พวกเทพบนสวรรค์ชนิดหนึ่ง ที่ชอบเล่นดนตรี บันเทิงเริงรมณ์ในกามคุณบนสวรรค์ วิมาน เมื่อสิ้นบุญ สิ้นกรรมก็เลยลงมาเกิดเป็นคนในโลก ด้วยความสามารถติดตัวมา จึงใช้วิชาดนตรี เล่นให้โลกรื่นเริง บันเทิงใจ จึงกลายเป็นวิชาศิลปะดนตรี นาฏลีลา ท่าทาง ต่างๆ ขึ้นมาบนโลก จึงเรียกพวกนี้ว่า "คน" ก็ได้ (เปลื้อง ณนคร พจนะ สารานุกรม ฉบับทันสมัย, ๒๕๑๘, หน้า ๘๕)

             ๔) อาจเรียกจากกิริยาการของบุคคลิกภาพของมนุษย์ที่มีลักษณะรวมกัน คลุกเคล้า เข้ากัน กิริยาท่าทางนี้ เห็นได้ชัดในพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เราใช้ศัพท์ขึ้นมาใหม่นี้ (มนุษย์ แปลว่า ใจสูง) แต่เดิมอาจจะปะปน คลุกคลีกับสัตว์ป่า ในถ้ำ อยู่กันแบบไม่ได้แยกว่าคนหรือสัตว์ เราอาจถูกเรียกว่า จากอาการคน นี้ก็ได้ 

              สมัยใหม่ดูเหมือนว่า เราไม่นิยมคำว่า คน เป็นภาษาที่สุภาพ เรามักใช้คำว่า ผู้คน หรือมนุษย์มากกว่า อย่างไรก็ตาม เราก็คือ มนุษย์หรือคนเหมือนกัน ต่างกันแค่เผ่าพันธุ์ สีผิว รูปร่างเท่านั้น ส่วนที่เหมือนกันคือ ส่วนภายในคือ อวัยวะและสภาพจิตใจ ใครจะถือว่า ตนเหนือใครก็ตาม ไม่มีใครรอดพ้นกฎของโลกมนุษย์ไปได้ 

               เราพัฒนาคำว่า คน มาเป็นมนุษย์ได้อย่างไร หรือเมื่อไหร่ คงต้องย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์ว่าวิวัฒนาการมาจากไหน เรามาจากน้ำก่อน หรือเราอยู่บนบกก่อนแล้ว หรือเรามาจากตระกูลแอพส์หรือมนุษย์วานร จนกลายเป็นพวกโฮโมอีเรคตัส นั่นคือ การพัฒนาการด้านกายภาพ ส่วนที่สำคัญในการศึกษาคำว่า มนุษย์ มาได้อย่างไร?

                 ด้านพัฒนาการจิต ความคิด จินตนาการ คือ ส่วนที่เราเรียกตัวเองว่า "มนุษย์" ใช่ไหม แต่ก่อนเราอยู่ในดง ในป่า เที่ยวหากินตามธรรมชาติ กลมกลืนไปกับกลไกของวันเวลา ฤดูกาล เผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ ในขณะเดียวกันก็พบปรากฏการณ์ต่างๆไปด้วย ทำให้คิดหวาดกลัว เชื่อว่า มีอำนาจบางอย่างสร้างขึ้น เช่น ไฟไหม้ ฝนตก  ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว อุกกาบาต ฯ จึงเกิดข้อสงสัยและต้องหาทางบำบัดทางจิตใจของตน  เหมือนคนป่าที่ก่อนล่าสัตว์จะต้องทำพิธีก่อน หรือหลังล่าได้ก็จะแสดงพิธีกรรม เพื่อขอบคุณอำนาจลึกลับเหล่านั้น 

               เมื่อคนป่าเหล่านี้เจริญขึ้น ก็เริ่มที่จะหาทางแสดงออกที่สอดคล้องกับธรรมชาติ (กฏธรรมชาติ) มากขึ้น และในที่สุดก็เกิดความเข้าใจว่า ธรรมชาติคือ อำนาจที่เหนือกว่าสิ่งใด จึงแสดงออกด้วยการเข้าใจธรรมชาติด้วยพิธีกรรมที่ละเอียดขึ้น (ไม่ป่าเถื่อน ไม่ฆ่า ไม่บูชายัญชีวิตคนอีก) กลุ่มที่สร้างพิธีกรรม เพื่อการบูชา บวงสรวงนี้เองคือ กลุ่มที่พัฒนาการความคิด การกระทำ ที่เป็นจุดประกายให้มนุษย์เกิดความรู้ ความคิด ความสงสัยขึ้นมา ในเวลาต่อมา 

                                                                               

                เมื่อคิดได้ มีความสงสัย มีความรู้ จึงมองเห็นปรากฏการณ์ที่ใกล้ตัวมากขึ้นกล่าวคือ เห็นการเกิด การเจ็บป่วย ความตาย ที่พวกตนประสบพบเจอบ่อยๆ จึงเกิดข้อกังขาว่า ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น อย่างพวกนักคิด นักปรัชญา นักศาสนา ลัทธิในสมัยก่อน ต่างก็แสวงหาความจริง ความรู้ที่วิเศษขึ้นไป เพื่อบรรลุเป้าหมายของอุดมคติตน 

                 เมื่อเห็นจุดสร้างสรรค์ความคิด มองเห็นแนวทางในการแสวงหาความจริงดังกล่าว จึงต่างก็คิดค้น ประดิษฐ์วิธีการฝึกฝน หาทางเข้าถึงจุดหมายปลายทางดังกล่าว อย่างไม่หยุดหย่อน ด้วยความพยายามของคนกลุ่มนี้เอง ที่สร้างแรงบันดาลใจหรือเป็นการกรุยทางไปสู่การแสวงหาทางพัฒนา ให้ก้าวหน้าต่อไป ในที่สุด จึงมาเป็นบทสรุปคำว่า "ศาสนา" ที่แปลว่า ที่พึ่ง ที่อาศัย ที่เดินทาง ที่พัฒนา ในเวลาต่อมา

                  นี่คือ จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การพัฒนาด้านในคือ การมอง การเห็น การเข้าใจ สิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์รอบตนเองดีขึ้น จนสามารถนำไปสู่การพัฒนาจิตในด้วย โดยเฉพาะกลุ่มนักปรัชญา ที่สร้างแรงขับเคลื่อนได้อย่างเข้มข้น เพราะกล้าคิด กล้าท้าทายอำนาจทัศน์เดิมๆ มีการตอบโต้ ย้อนแย้งกันไปมา อย่างตรงไปตรงมา จึงเป็นเหตุให้เกิดพหุทัศน์มากขึ้น จนกลายเป็นหลักการ ทฤษฎี คำสอนขึ้นมา

                  ในขณะเดียวกัน ศาสนาก็พยายามพัฒนาหลักการของตนเองไปพร้อมด้วย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวโยงด้านปรัชญาไปด้วย บางจุดก็แย้งกัน เช่น นักปรัชญาตะวันตก คิดไปนอกเหนือศาสนาคริสต์ที่เชื่อว่า พระเจ้าอยู่เหนือสรรพสิ่ง บางกลุ่มก็ยังเชื่อภายใต้อำนาจของเยื่อใยพระเจ้าอยู่ จนกระทั่งบัดนี้ สองกลุ่มนี้ ก็ยังปรากฏอยู่คือ เชื่อพระเจ้า และไม่เชื่อพระเจ้า บางทีก็นำเอาสองส่วนมาหลอมรวมกัน เช่น โทมัส อไคนัส

                  ส่วนศาสนาตะวันออกมีความเชื่อเรื่องพระเจ้าเหมือนกันเช่น ศาสนาฮินดู ที่เชื่อว่า พระพรหมคือ  ผู้สรา้งสรรพสิ่ง จุดนี้ต้องถามพระเจ้าทั้งสองศาสนา (ครสิต์ พราหมณ์) ว่า พระพรหมและพระเจ้า ตกลงกันอย่างไร ทะเลาะกันหรือไม่ในการสร้างสรรพสิ่ง รวมถึงพระอัลเลาะด้วย การคิด การก้าวกระโดดไปแบบเหนือจักรวาฬนี้ ทำให้มองเห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของสมองมนุษย์ด้วย

                 กลับมาถามจุดเริ่มคือ เราเป็นมนุษย์เมื่อไหร่ คำตอบน่าจะมาจาก ศาสนานี่เองในเบื้องต้นครับ เนื่องจาก มนุษย์สร้างศาสนาขึ้นมาเพื่อรับรองจิตใจตนเอง ให้เกิดความเข้มแข็ง มีอำนาจเท่าเทียมกับอำนาจลึกลับ หรืออาจอาศัยสะพานศาสนาพาไปสู่พระเจ้าก็ได้ แต่พอนานเข้า ก็ไม่อยากติดต่อพระเจ้าโดยตรง จึงตั้งตนเหนือพระเจ้าหรือแสดงบทบาทแทน (ทรงเจ้า) ทำให้มนุษย์มีจิตที่กล้าขึ้น

                 ที่สุดนักวิเคราะห์อย่างกลุ่มมาร์กซิสต์ ก็วิพากษ์ วิจารณ์กลุ่มศาสนาว่า อ่อนแอ เหมือนติดยาเสพติดไป ทำให้ศาสนาเองก็ต้องพัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับโลกนิยมหรือเข้ากับคนทั้งโลกให้ได้ ยิ่งกว่านั้น ศาสนาก็หันไปพึ่งพิงวิทยาศาสตร์มาเป็นเสาหลักอิงไปก็มี จึงทำให้ศาสนามีเหตุ มีผลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มนต์ขลัง พลังลึกลับของศาสนาก็ยังคลุกกรุ่นในจิตที่มืดมนของคนที่ขาดปัญญาหรือไม่พัฒนาอยู่จนบัดนี้

                  จากกรณีดังกล่าว ที่ศาสนาตะวันตกอิงปรัชญาและวิทยาศาสตร์นั้น ก็ยังไม่ทิ้งเรื่องพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้ก็ยังกัดกัน ตอดกันอยู่บ้างว่า พระเจ้าไม่มี ไม่เชื่อพระเจ้า มีแต่ศาสตร์แห่งโลกสสารเท่านั้น โดยยืนยันจาก เดโมเคตุสและอริสโตเติ้ล กาลิเลโอ ไอน์ไตน์ ฯ กระนั้น ก็พูดไม่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ไม่มีพระเจ้าจริง

                  ส่วนศาสนาในอินเดีย กลับหาทางพัฒนาอีกมุมหนึ่งของโลก ที่เกิดศาสนาอารยธรรมใหม่ขึ้นมามากมายเช่น ฮินดู พุทธ เชน ซิกส์ ฯ ในบรรดาศาสนาทั้งหมด ขอยกเอาสองศาสนามากล่าวคือ ศาสนาพราหมณ์ ที่เชื่อว่า มนุษย์มีแก่นที่เรียกว่า "อัตตาหรือปุรุษ" ในฐานะแก่นของชีวะ อัตตาเดิมนี้ มีความสะอาดบริสุทธิ์ แต่เมื่อมาสิงประกฤติคือ กายโลก ทำให้อัตตานั้นเสียพรหมจรรย์ไปด้วย หน้าที่ของนักบวชจึงต้องแสวงหาทางเข้าสู่ความบริสุทธิ์ให้ได้ เรียกว่า "วิโมกข์" หรือ "ปรมาตมัน" 

                   ส่วนพุทธศาสนาก็อยู่ในแวดวงของสังคมพราหมณ์ แต่เพราะเห็นว่า แนวคิดของพราหมณ์หลงผิดคิดว่า จบจิต จบทุกข์อย่างสิ้นเชิงไปแล้ว ในสมัยนั้น จึงมีกระแสเรื่องการพัฒนาด้านจิตใจอย่างเข้มข้น เพื่อเอาชนะกันและเพื่อท้าทายกัน เนื่องจากว่า ลัทธิในสมัยนั้น มีมากมาย จึงมีลักษณะแย่งชิงมวลชนกันบ่อย ท้าทายกันถึงขนาดโต้แย้งกันไปมา แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ถูกท้าทายหลายครั้ง  แต่นั้นก็ใช่ประเด็นในจุดที่ว่า จะพัฒนาจิตให้เป็นอริยะอย่างไร

                     พระพุทธศาสนา กำเนิดมาจากการพัฒนาด้านจิตใจ ที่มุ่งแสวงหาทางดับทุกข์ที่เรียกว่า รู้แก่นของชีวิต และหยุดการเวียนเกิดดับอีกต่อไป การเข้าใจ เข้าถึง จนนำไปสู่การพัฒนาจิตเรียกว่า มหาจิต เหนือปราการณ์ของชีวิตได้ การเข้าใจคือ การพัฒนาจิตคน ให้มาเป็นอริยภาวะ อย่างที่พวกชาวอารยันเชื่อกันว่า จิตได้พัฒนาสุกเต็มแล้ว  นี่คือ การพัฒนาจิตคนไปสู่จิตอาริยะหรือที่เรายกภาวะตัวตนว่า มนุษย์ (มน+อุษย) พุทธศาสนาจึงเน้นที่ตัว "มนุษยศักย์" มิใช่พระเจ้า

                  อย่างไรก็ตาม คนหรือมนุษย์ทั้งโลก มิได้มีภาวะทางจิตใจเท่าเทียมกัน จึงมีพฤติกรรมต่างกัน มีความคิด ทัศนะต่างกัน แล้วเราจะถืออะไรเป็นมาตรฐานว่าเป็นคนหรือมนุษย์เหมือนกัน ฉะนั้น จึงขอนิยยามความเป็นคนไว้กว้างๆ ดังนี้

                  ๑) เป็นสัตว์โลก ๒) รู้สึกร่วมกับคนอื่น ๓) คิดปรุงแต่ง จินตนาการได้ ๔) เลือกทำ เลือกอยู่ เลือกเชื่อได้ ๕) ถ่ายทอด กอดเกาะสายพันธุ์ ๖) สร้างพิธีกรรม เทวาลัย ศาสนสถาน ๗) กิน นอน อยู่ เสพ กลัว ๘) สะสม ประสบการณ์ ทักษะ แยกแยะ ๑๐) สำนึก ตระหนักในจิต อารมณ์ และกรรมตนเอง

                                           

๓) "ตน" (Oneself)       

              คำว่า "ตน" แปลว่า ตัวตน ร่างกาย ชีวิต แก่น ใจ จิต มักจะกล่าวเป็นคำซ้อนอีกคำคือ ตัว ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน เมื่อรวมกันจึงได้ความหมายที่สมบูรณ์เต็มคำและความหมายที่หมายถึง ตัวตนคนเรา ซึ่งอาจหมายถึงทั้งรูปร่างหน้าตา นิสัย จิตใจด้วย อะไรคือ สัญลักษณ์เด่นที่เราถูกเรียกว่า ตนเอง หรือตัวตนแท้ๆ สมมติเรามองเห็นชายหรือหญิงคนหนึ่ง เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวตน ของคนนั้นจริงๆ บางทีเราอาจทักผิดหรือเรียกผิด แสดงว่า ตัวตน (ร่างกาย) มิได้เป็นสัญลักษณ์จริงใช่ไหม

                  หากศึกษารูปทรง รูปร่างของเราตั้งแต่ยังเด็กๆ เราจะพบว่า รูปทรงองค์ตัวเรา เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่เหมือนเด็ก ยิ่งอายุมาก รูปทรง ตัวตนภายนอก ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปด้วย แสดงว่า ร่างกาย ตัวตนที่เราเรียกว่า ตัวเอง  นั้น ไม่ได้มีแก่นแท้แน่นอนใช่ไหม ถ้าเช่นนั้น เราเรียกตัวตนว่าอย่างไรบ้าง

                   หลวงพ่อพุทธทาสบอกว่า "ตัวกู" นั้น มิได้หมายถึง รูปร่าง ทางกายภาพ แต่เป็นรูปร่างทางจิต ที่คิดและเชื่อว่า ตันเองมีความเป็นตัวตนแท้ๆ และมั่นคง ไม่เสื่อมไป อะไรทำให้เราคิดเช่นนั้น ท่านพุทธทาสแก้อย่างไร ที่เราเชื่อว่า เรามีตัวตนอัตตา หรือที่เราอ้างบ่อยๆ ตามซิกมันด์ ฟรอยด์ว่า อิด และอีโก คือ ตัวตนคนแท้ แท้จริงแล้ว มันเป็นเพียงมายาแห่งกายภาพเท่านั้น เหมือนที่พราหมณ์เชื่อว่า กายคือ มายา ส่วนปุรุษหรือัตตา คือ สิ่งจริงแท้

                 สิ่งที่ส่งเสริมให้เราเชื่อและคิดว่า ตัวกู ของกู ตามหลวงพ่อพุทธทาสว่านั้น มีหลายสาเหตุคือ ๑) เราหลงว่าเรามีตัวตนจริง เพราาะไม่รู้จริงในเบื้องหลังของมัน ๒) เรามีความเชื่อ ความคิด ความรู้ หลงในภูมิของตน ในกำลังของตน ในสมบัติของตน ในรูปร่างหน้าตาของตน ที่ผู้คนชื่นชมสรรเสริญ ยกยอ ปอปั้นให้ จึงไหลไปตามกระแสสรรเสริญนั้น ๓) เพราะเรามีชื่อที่เรียกว่า นั่น นี่ จนมีคนรู้จักมากมาย ชื่อจึงถูกยกขึ้นมาแทนตัวตน จนทำให้เราหลงว่าชื่อ คือ ตัวแทนตนด้วย

                  อ. สนิท ศรีสำแดง บอกว่า เรายึดตัวตนได้ เพราะ ๑) เราเรียกชื่อตัวแทนตนเอง ๒) เราสมมติให้โลกรู้จักเรา ๓) เราแสดงการกระทำที่มีผลต่อคนอื่นได้หรือเป็นตัวแทนรับผล (สนิท ศรีสำแดง, ปรัชญาเถรวาท, ๒๕๔๔, หน้า ๔๓) ที่แท้จริง เรามีเพียงสมมติว่ามีตัวตนเท่านั้น  ก็มีบางนักคิดเถียงว่า ถ้าไม่มีตัวตนจริง เราก็ไม่มีบาปบุญ คุณ โทษกับตัวเรา เราก็อิสระ ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของเรานะสิ ซึ่งนั่นก็เหมือนจะแย้งที่น่าคิดว่า เข้าใจผิดแบบอุจเฉททิฏฐิไป 

                   เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและถกเถียงกันมายาวนานตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลแล้ว สมัยพุทธกาลก็เถียงเรื่อง อัตตา ชีวะ เที่ยง ไม่เที่ยง มีไม่มี ฯ กันอย่างเข้มข้นอยู่ พราหมณ์เชื่อว่า "พรหมัน" (Ultimate truth) คือ สิ่งสูงสุด สิ่งนิรันดร์ สิ่งที่เป็นอมตะ เมื่อปรากฏในร่างกายมนุษย์หรือมายาแห่งโลก กายนี้ย่อมไม่ใช่ของจริง ไม่จีรัง จึงอาจทำให้อัตมันที่ฝังอยู่ในร่างกายมนุษย์เสียศูนย์ไปด้วย เสียความบริสุทธิ์ด้วย กระนั้น อัตมันนี้ ก็มิอาจถูกทำลายด้วยกาย หากแต่ต้องไปหาร่างใหม่อาศัยอีก 

                    ในพุทธศาสนา อ.สนิทกล่าวว่า อัตตาน่าจะหมายถึง อาตมันในของพราหมณ์ ส่วนร่างกายที่เห็นเป็นรูปร่าง หมายถึง เบญจขันธ์นั่นเอง การรู้จักขันธ์ห้าดี จึงเป็นเหมือนประตูไปรู้ตัวตนแท้ได้ แต่ต้องอาศัยการรู้เบญจขันธ์นี่อย่างถ่องแท้แน่นอน ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ มิใช่แค่การคะเนหรือเห็นทางตาเนื้อ แต่ต้องบรรลุด้วยตาปัญญา เหมือนกับวิธีของพราหมณ์ในอุปนิษัทบอกว่าว่า จิตที่บริสุทธิ์ย่อมเป็นที่รองรับในการเข้าถึงพรหมัน เหมือนผ้าที่สะอาด ย่อมเป็นที่รองรับสีย้อมได้ดี 

                    ชวนให้คิดย้อนไปถึงนักปรัชญาชาวกรีกที่ชื่อ เพลโต ที่บอกว่า สรรพสิ่งล้วนหลั่งไหลมาจาก "แบบอันบริสุทธิ์" (Pure ideas) ทุกสิ่งจึงเหมือนถูกถอดแบบมาจากต้นแบบที่แท้จริง แต่สิ่งที่เลียนแบบมานั้น กลับไม่เหมือนต้นแบบซะงั้น เขามองว่า เป็นการเลียนแบบที่ไม่เหมือนแบบเดิม เพราะถูกเบ้าหลอมจากสสารของโลก ของอวิชชาห่อหุ้มอีกชั้นหนึ่งนั้นเอง สิ่งต่างๆ จึงไม่ใช่ตัวตนแท้ๆ 

                     โชเปนฮาวเออร์ เป็นนักปรัชญาตะวันตกชาวเยอรมันมองว่า ตัวตนคนเราเป็นแค่มายาทางกาย ที่สะท้อนมาจากภายในนั่นคือ "เจตจำนง" (The Will) คือ พลังที่ขับเคลื่อนความอยาก ความต้องการ ความอยู่รอดของกายและเจตจำนงมันเอง โดยผ่านกาย กายจึงเป็นเหมือนทาสหรือทางผ่านของเจตจำนงที่มีความอยากไม่สิ้นสุด กายของเราที่ดิ้นรนค้นหา ความสุข ความอยาก เพราะเจตจำนงผลักดันนั่นเอง 

                    พระพรหมคุณาภรณ์กล่าวว่า "นิพพานก็ไม่เป็นอัตตา ขันธ์ ๕ ก็ไม่เป็นอัตตา ไม่ได้มีอัตตาแท้จริงอยู่ที่ไหนทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าขันธ์ ๕ เป็นไป จะมีอัตตาขึ้นมา ไม่ได้มีอัตตาที่จะเกิดขึ้นและดับสลายไป อัตตาไม่มี มีแต่การยึดถือว่า มีอัตตา คืออัตตามีอยู่เพียงในการยึดถือ เมื่อหมดการยึดถือ การยึดถือหายไป อัตตาที่ไม่มี ก็ไม่มีไปตามเดิมภาพอัตตาก็หายไป 

                    เพราะฉะนั้น คำว่า “อัตตา” นี้ ในบาลี เมื่อแปลลึกลงไป จึงหมายถึงการ ยึดถืออัตตา เช่น ในพุทธพจน์ที่ตรัสเรียกพระอรหันต์ว่าเป็น “อัตตัญชโห” แปลแค่ตามรูปศัพท์ว่า “ผู้ละอัตตา” แต่ความหมายคือ “ผู้ละไร้ความยึดถืออัตตา” เพราะไม่มีอัตตาที่จะไปละ เมื่อละความยึดถืออัตตาได้ อัตตาที่ไม่มีอยู่แล้วก็หมดภาพที่สร้างใส่ให้ไว้แก่ชื่อของมัน ภาพอัตตาที่ยึดไว้ถือมาก็ลับตาหายไป..."  (http://www.watnyanaves.net/th/book_detail/544)

                    อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอสรุปคำว่า ตันตน เอาไว้ตามทัศนะส่วนตัวว่า ที่เรารับรู้ ยืนยัน มั่นหมาย แสดงตัว อวดตน ว่าเป็นคนตนแท้นั้น เพราะเรามีสภาวะที่เป็นองค์ประกอบหลายสิ่งดังนี้ ๑) เพราะเรามีร่างกาย ๒) เรามีชื่อเรียกตนเอง ๓) เรามีนิสัย พฤติกรรมย้ำตน ๔) เรามีความเชื่อส่วนตัวว่า ตนคือตัวเอง ๕) เรามีความคิด ความเชื่อในตนเอง ๖) เรามีความรู้สึกว่าเราคือเรา ๗) เรามีสิ่งของยืนยันว่าคือ เรา เช่น บ้าน บัตร รถ ฯ ๘) เรามีสิทธิตามกฏหมายบ้านเมืองจึงยืนยันตัวเอง ๙) เราสามารถมีชีวิตอยู่บนโลกอยู่ ๑๐) เรามีภาพ มีเสียง มีหลักฐาน มีภาษาของตนเป็นที่ยืนยัน ทั้งหมดคือ องค์ประกอบของการเรียกว่า "ตัวตนคนเรา"

                                                                 

๔) "จิต" (Mind)


                     คำว่า "จิต" ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ถกเถียงกันมาในอดีตกาล ที่นักคิด นักปรัชญา นักศาสนา นักวิชาการ ได้ตอบโต้ ขัดแย้ง แข่งขันกันเสนอแนวคิดเฉพาะออกมาสู่สังคม มีมากมายหลายหลากรากเหง้าเค้ามูลของที่มาเรื่อง จิต ไม่ว่ามาจากพระเจ้า มาจากแบบแท้ มาจากพรหมัน มาจากเจตจำนง มาจากรรม มาจากความว่างเปล่า มาจากวิญญาณบรรพบุรุษ มาจากดวงดาว อาทิตย์ ธรรมชาติ สัตว์ เทวดา ฯลฯ

                    ในด้านนักปรัชญาฝ่ายตะวันตกมองว่า มาจากพระเจ้า ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป บอกไม่ได้ มาจากแบบที่อยู่ไหนก็ไม่รู้ แต่เป็นอมตะ มาจากพระเจ้า มาจากสสาร และที่สุดจิตมิได้อุบัติมาเอง หากแต่เป็นผู้อาสัยเกิดจากกายนั่นเอง ตามทัศนะของพวกสสารนิยม ส่วนพวกจิตนิยมก็มองว่า จิตคือ ต้นกำเนิดของชีวะ เมื่อเถียงกันแล้วหาข้อยุติไม่ได้ก็มีฝ่ายที่บอกว่า ทั้งสองนั้นอาศัยกันเรียกว่า "ทวินิยม"

                    ในด้านศาสนาส่วนมากจะเชื่อในเรื่องพระเจ้า คือ ผู้เป็นใหญ่ในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งขึ้นมา แต่ปัญหาคือ พระเจ้าองค์ไหนระหว่างพราหมณ์และคริสต์ สร้างสรรพสิ่งกันแน่หรือท่านแบ่งหน้าที่กัน ตะวันตกมองว่า จิต หลั่งไหลมาจากพระเจ้าประทานให้ ติดตัวมาแต่กำเนิด โดยมอบเสรีภาพให้มาด้วย แต่เพราะมนุษย์มีบาปกำเนิดจากอาดัมและอีวา จึงถือว่า มีจิตไม่บริสุทธิ์อยู่ด้วย 

                     ในส่วนของศาสนาพราหมณ์ จิตคือ อาตมันหรืออัตตาที่ถาวร เป็นอมตะ ที่กำเนิดมาจาก "พรหมัน" เมื่อจิตมาจุติที่กายโลก ก็ทำให้กายและจิตมัวหมองแปดเปื้อนไปด้วยมลทินต่างๆ เพราะอวิชชา ความไม่รู้ของจิตหรือปุรุษนี้เอง จึงทำให้เกิดจิตตาบอด หลงทางกลับอาณาจักรอัตมันเดิมของตน จนเกิดตาย ว่ายวนอยู่ในวงวนของโลก จนหาทางไปสู่โมกษะไม่ได้ 

                  

                     ด้านพุทธศาสนามองว่า จิต เกิดมาจากวิญญาณเดิมของตน ที่ยังไม่บรรลุนิพพาน ที่วนเวียนวนเกิดตายในภพต่างๆ เนื่องจากสร้างกรรมไม่ดีไว้ นั่นคือ จิตแห่งภพ แต่จิตในชาติ คือ จิตหรือวิญญาณที่สถิตในร่างกายมนุษย์ ที่เรียกว่า วิญญาณ ต่างจากจิตของภพ จิตที่เรียกว่า วิญญาณ มาจากระบบการทำงานของอายตนะภายในและภายนอกร่วมกัน โดยมีศูนย์กลางที่สมองเป็นที่ทำงาน กระนั้น นักวิชาการพุทธหลายคนก็ไม่เชื่อเช่นนี้ ว่าจิตอยู่ที่สมอง นอกจากนี้เรายังเรียกคำต่างๆ แทนจิตนี้ด้วยเช่น จิต วิญญาณ มโน ภวังค์ หทัย

                 ในอดีตสำนักโยคาจารเชื่อว่า  จิตเท่านั้นมีอยู่ โดยมีลักษณะ รู้เก็บ รู้ก่อ รู้ปรุง สำนักนี้เชื่อว่า จิตหรือวิญญาณมีมากมาย ตามทรรศนะเรื่องวิญญาณได้จำแนกวิญญาณออกเป็น ๘ ชนิด คือ ๑) จักขุวิญญาณ ๒) โสตวิญญาณ ๓)  ฆานวิญญาณ ๔) ชิวหาวิญญาณ ๕) กายวิญญาณ ๖)  มโนวิญญาณ ๗) กลิษฎมโนวิญญาณ (มนัส) และ  ๘) อาลยวิญญาณ

                    วิญญาณทั้งหมดนี้ โยคาจารเชื่อว่า อาลยวิญญาณสำคัญที่สุดเนื่องจากว่า  "เป็นมูลฐานแห่งสิ่งทั้งปวง ถ้าไร้อาลยวิญญาณนี้แล้ว สิ่งทั้งปวงก็ไม่มี เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นเงาสะท้อนออกมาหรือเป็นพฤติภาพของอาลยวิญญาณ นักปรัชญาโยคาจารยุคแรกมีท่านอสังคะและท่านวสุพันธุ์ เป็นต้น ถือว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเพียงความคิดของเรา สิ่งทั้งปวงอยู่ในจิตของเรา ครั้นมาถึงยุคหลังสมัยท่านธรรมปาละ ท่านเทิงนาคะได้สอนต่างออกไป คือสอนว่า สิ่งที่ดำรงอยู่ภายนอกจิตก็มีเหมือนกัน แต่ทุกสิ่งมีมูลกำเนิดมาจากจิตหรืออาลยวิญญาณ

                   ที่ว่าทุกสิ่งมีมูลกำเนิดมาจากอาลยวิญญาณนั้น โยคาจารอธิบายว่า อาลยวิญญาณมีภาวะเป็นอัพยากฤต เกิดดับสืบเนื่องเป็นสันตติมาตั้งแต่กาลอันไม่ปรากฏ ภายในอาลยวิญญาณ ได้เก็บเอาพีชะหรือพืชแห่งรูปธรรม นามธรรมกุศล อกุศล สาสวะ และอนาสวะไว้ เมื่อประจวบกับปัจจัยอันสมควรให้ผลก็สำแดงพฤติภาพออกมา ปฏิจสมุปบาทของนิกายนี้ถือเอาพืชต่างชนิดเป็นเหตุส่วนวิสัยภายนอกเทียบด้วย 

                      ปัจจัยมาเร่งเร้าให้เหตุนั้นสำแดงพฤติภาพออกมาแม้วิสัยภายนอกที่เป็นปัจจัย มาเร้าให้เหตุนั้นสำแดงพฤติภาพออกมาแม้วิสัยภายนอกที่เป็นปัจจัยมาเร้าก็คง เป็นของเกิดด้วยพืชในอาลยวิญญาณนั้นอีกชั้นหนึ่ง ต่างอาศัยซึ่งกันและกันดังนี้ วิญญาณ ๗ ข้างต้นก็เป็นเพียงการิยะหรือผลของอาลยวิญญาณเท่านั้นเหมือนกัน

                      หน้าที่ของอาลยวิญญาณ ท่านนิยามความไว้สั้น ๆ ว่า “เก็บก่อ” เก็บคือเก็บเอาพืชของสิ่งทั้งปวงไว้ เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์ผลไม้ย่อมเก็บเอาลำต้นกิ่งก้านสาขาตลอดจนผลไว้หมด รอการนำลงปลูกรดน้ำพรวนดินตลอดจนรอรับแสดงอาทิตย์เป็นปัจจัยเร่งเร้า ก็จักโตวันโตคืน แตกดอกออกผลโดยลำดับ ก่อคือก่อสร้างพฤติภาพต่าง ๆ ให้เกิดมีขึ้นเป็นขึ้น เช่น โตเป็นลำต้น มีใบมีดอก" 

(http://wirotephilosophy.blogspot.com/2010/01/blog-...

                 ดังนั้น จิตดังกล่าวเหมือนเป็นแอ่งโอ่งที่สะสมผลกรรมทางกายและจิต ที่แสดงบทบาทออกมาด้วยเจตนาต่างๆ กระนั้นหรือ คำถามคือ เราสามารถทำลายอาลยวิญญาณนี้ได้ด้วยปัญญาในชาตินี้ไหม และผลกรรมต่างๆ ที่สะสมมาจะล่วงหลุดไปด้วยไหม อนึ่ง คำว่า จิต ที่เราจะสามารถถือครองหรือยืนยันหมั่นหมายว่า เป็นของชีวิตนี้ โดยเด็ดขาดย่อมกระทำได้ใช่หรือไม่ ดูเหมือนสำนักนี้จะผูกขาดเรื่องจิตอย่างเด็ดเดี่ยว โดยไม่อ่อนโอนต่อกายภาพเลย จึงไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริงของชาวโลก

                   ท่านสันติกโรภิกขุ ศิษย์หลวงพ่อปัญญานันทะ หลวงพ่อชา และหลวงพ่อพุทธทาส เป็นชาวสหรัฐอเมริกาบอกว่า จิตมีลักษณะ ๖  ประการคือ ๑) จิตมีความสามารถคิดได้สารพัดเทียบได้กับคำว่า Mind ๒) จิตรู้สึกได้ เช่น รู้สึกเย็น ร้อน ตื่นตัว เทียบได้กับคำว่า Consciousness ๓) จิตสามารถจำได้ นึกได้ จากอายตนะ เทียบได้กับคำว่า Memory ๔) จิตมีอารมณ์แสดงออกได้ มีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆได้ เช่น กลัว โกรธ รัก หึง เทียบได้กับคำว่า Heart ๕) จิตสามารถรู้ได้ รู้วิเคราะห์ได้ว่าคือ อะไร เป็นอะไร เทียบกับคำว่า Intellect และ ๖) จิตสามารถมีอิสระในตัวเอง มีสภาวะกลางๆ ว่างโปร่งโล่งเบา ท่านถือว่า เป็นจิตเดิมแท้ ท่านหาคำเทียบไม่ได้ แต่พออนุโลมกับคำว่า Spirit ได้

                    ท่านยังได้กล่าวถึงสมองกับจิตไว้เช่นกันว่า สมองมนุษย์มี ๓ ระดับคือ ๑) สมองแบบสัญชาตญาณ ที่ทำงานโดยอัตโนมัติ ๒) สมองที่แสดงด้านอารมณ์ ความรู้สึกออกมา ๓) สมองที่พวกมนุษย์แอพส์ ที่แสดงความคิด จินตนาการ การวางแผน อย่างไรก็ตามท่านเทียบสมองเราเหมือนสัตว์ทั่วไปอยู่ด้วยเช่น ๑) สมองตะกวด ๒) สมองแมว ๓) สมองคน 

                                                                     

                  ดังนั้น ท่านจึงได้สรุปจิตที่เหนือกว่าสัตว์ โดยท่านได้นำคำว่า "ธาตุ" มาอธิบายจิตว่า จิตคือ ธาตุที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ ที่หมายถึงวัตถุ สสาร จิตยังมีลักษณะเป็นธาตุเฉพาะคือ เรียกว่า "วิญญาณธาตุ" หรือเรียกอีกอย่างว่า "โพธิจิต" (หน้า ๔๓-๔๗)

                    ส่วนนายแพทย์ประเวศ วะสี บอกว่า จิตคือ จิตวิญญาณ ซึ่งก็แปลกที่เรียกสองคำมาผสมกัน ทั้งๆ สองคำต่างกัน โดยท่านกล่าวว่า จิต หมายถึง ความรู้สึก นึกคิด ส่วน วิญญาณ หมายถึง สภาพที่รู้ ทางตา ทางหู ฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจิต (หน้า ๕๗)  กระนั้น ท่านก็ยืนยันว่า จิตวิญญาณคือ พลังสร้างสรรค์ให้มนุษย์บรรลุวิมุตติสุข อิสรสุข และนิพพานสุข (หน้า ๕๙) (จากหนังสือ ธรรมชาติของสรรพสิ่ง การเข้าถึงความจริงทั้งหมด, ประเวศ วะสีและคณะ, ๒๕๔๗)

                     

                     สำหรับผู้เขียน ขอนิยามจิตตามทัศนะส่วนตัวดังต่อไปนี้ ๑) จิตคือ นามรูป ๒) จิตคือ แหล่งความรู้สึก ๓) จิตคือ แหล่งวิทยาญาณ ๔) จิตคือ ศูนย์การควบคุม ๕) จิตคือ แหล่งพลังงานขับเคลื่อน ๗) จิตคือ แก่นของชีวิต ๘) จิตคือ แหล่งจินตนาการ ๙) จิตคือ ตัวตนแห่งภพแห่งชาติ ๑๐) จิตคือ เวทีแห่งมายา

                     ดังนั้น เรื่อง "ธรรม คน ตน จิต" มีช่องทางมากมายที่ทุกคนสามารถตีกรอบ ขยายไอเดีย ความคิดเห็น ทัศนะได้ ไม่มีผิด ไม่มีถูก แล้วแต่รากฐานความรู้ ความเชื่อในตัวท่านจะขับออกมา ให้เป็นระบบระเบียบ สอดคล้องกับสหวิทยากรของโลกและสังคมยุคนี้ได้อย่างไร นิยามที่กล่าวมานี้ มิได้เป็นมาตรฐานที่จะกล่าวได้ว่า ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพียงเสนอแง่มุมองของนักเขียนคนหนึ่งเท่านั้นครับ

-----------------------(๗/๘/๕๗)-----------------------

คำสำคัญ (Tags): #ธรรม คน ตน จิต
หมายเลขบันทึก: 573987เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2014 01:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2014 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จากการที่พี่เคยเรียนในสมัยเด็ก ๆ กับคำว่า "มนุษย์" คือ สัตว์ประเสริฐ ปัจจุบันยังมีอยู่อีกหรือเปล่า? เพราะบางเหตุการณ์ที่พี่เห็นมา มนุษย์บางคนแย่ยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก...สัตว์เพียงแต่ไม่มีความคิด คนมีความคิด แต่บางครั้งก็ใช้ความคิดไปในทางที่ผิด มีให้เราเห็นอยู่มากมาย ไม่รู้ว่าใช่หรือเปล่า?

ชอบมากๆๆค่ะ ...... ธรรมะ..คน..ตน...จิต


“ก่อนที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่า ที่จะพูดนี้...จำเป็นหรือเปล่า ...ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด ...นี่เป็นขั้นต้นของ...การอบรมใจ เพราะ...ถ้าเรา...วบคุมปากตัวเองไม่ได้.... เราจะควบคุมใจได้อย่างไร ”


สอนดีมากๆๆค่ะ .... ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท